Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีงานเสวนาในหัวข้อ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น" จัดโดยคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการครบรอบ 74 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 และเพื่อเป็นแสดงความยินดีกับอาจารย์มาลินี คุ้มสุภา เจ้าของผลงาน "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น" ที่ได้รับรางวัล "ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์" สาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ประจำปี 2549 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา


 


และนี่คือมุมมองความคิด ความรู้สึกของ อาจารย์มาลินี คุ้มสุภา ที่มีต่อหนังสือ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น"


 


0 0 0


 


ในแง่ของความรู้สึกที่ได้ทำงานกับหนังสือเล่มนี้คือความยาวนานของมัน ตอนเป็นวิทยานิพนธ์ใช้เวลานานมาก เพราะเลือกหัวข้อที่จะทำด้วยความรู้สึก เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่อยากจะให้ทำ จึงทำให้รูปธรรมมองไม่ค่อยเห็น ก็ต้องไปหาอะไรมา support ความรู้สึกของตัวเองมันก็เลยยาก แต่มันก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจ เพราะตอนมันเป็นวิทยานิพนธ์ คณะกรรมการตัดสินให้ได้รับเป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น กล่าวว่ามันเป็นงานที่ค่อนข้าง Original ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ก็เลยอยากทิ้งความรู้สึกไว้เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจของคนที่อยากทำงาน Original ก็คืออาจจะยากลำบากในแง่ของการที่มันไม่ได้กองไว้อย่างง่ายดายให้เราเข้าไปหยิบ แต่เราต้องใช้เวลากับมัน


 


ในส่วนของเนื้อหา มีอยู่ 2-3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นที่การพูดถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มันเป็นแรงใจที่เกิดจากการพยายามนั่งนึกคิดว่า หัวข้อของการทำวิทยานิพนธ์ช่วงนั้นว่า การเมืองไทย ทำไมเขาสนใจสิ่งที่มันเป็นทางการ มันอธิบายได้ แล้วในที่สุดในเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ การเมืองที่เป็นทางการ ที่เราเรียนมาจากตะวันตกทั้งหลายมันมาจบลงที่ถนน ตอนนั้นช่วงหลังพฤษภา 2535 การเมืองไทยมันร้อนแรงมาก เพราะคนอยู่บนถนน ประเด็นของดิฉันก็คือว่า ไม่ว่า พ.ศ.2475 จะผ่านไปเท่าไหร่ รัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปเท่าไหร่ แล้วทหารกำลังจะถอยออกไปจากการเมือง แต่คนที่อยู่บนถนนต่างหากที่ทำให้สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงกำลังจะเข้ามาแทนที่ ไม่ใช่อยู่ที่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเลย ดิฉันจึงสนใจในสิ่งที่มองไม่เห็นหรือจับต้องไม่ได้ ก็คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


 


หลังจากที่คิดได้ว่า เราน่าจะพยายามอธิบายมันอย่างเป็นรูปธรรม ดิฉันสนใจสิ่งที่เชื่อมโยงสองอย่าง สิ่งนั้นเรียกว่าระบบสัญลักษณ์ ระบบสัญลักษณ์เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยคาดคิดว่ามันมีความหมายต่อชีวิตเราและทำหน้าที่อย่างไร เช่น คำนำหน้าชื่อของคำว่า นาง นางสาว เด็กหญิง เด็กชาย มันก็สะท้อนว่าสิ่งเหล่านั้นมันผูกพันคนๆ นั้นกับสัญลักษณ์ที่อยู่ใกล้ๆ เพราะฉะนั้นดิฉันจึงสนใจสิ่งที่เรียกว่า Symbolic หรือ Semiotic ในทางทฤษฎี


           


ในขณะเดียวกัน ดิฉันสนใจว่าสัญลักษณ์ในการเมืองไทย มันสามารถทำงานในจิตใจของคนไทยได้อย่างไร เช่น เราพูดว่า เรามีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หมายความว่าประเทศเราเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า มันเป็นเรื่องเดียวกันไหม เรามีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญเราล่ะ มี 16 ฉบับ มันฉีกบ่อยมาก และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ ดิฉันก็เลยสนใจว่า สัญลักษณ์พวกนี้มีการทำงานอย่างไร


           


ทีนี้สิ่งที่สนใจมากกว่านั้นก็คือ ระบบสัญลักษณ์ไม่ได้ทำหน้าที่แต่เพียงรูปธรรม แต่อยู่ในความคิด และในความคิดเหล่านี้ โดยเฉพาะการที่เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมัน มันสามารถทำงานในระดับจิตสำนึก (Conscious) ของเราด้วย อย่างที่มีนักคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernist) พยายามอธิบายเรื่องของการเข้าไปทำงานในจิตใต้สำนึกของเรา ดิฉันจึงสนใจสิ่งที่เป็น "สัญลักษณ์" (Symbolic) มาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่า "พื้นที่" หรือ "Space"


           


พื้นที่ที่ดิฉันสนใจ ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่เราใช้ชีวิตหรือมองเห็นเท่านั้น แต่เป็นการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันระหว่างพื้นที่ๆ เรามองเห็นกับพื้นที่ทางความคิดของเรา ดิฉันจึงสนใจพื้นที่บนถนนราชดำเนินหรือพื้นที่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เรามองเห็น กับพื้นที่ในความคิดของเราในระดับจิตสำนึกว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร เพราะฉะนั้นสองส่วนนี้จึงเป็นกรอบชี้นำให้ดิฉันเข้าไปสนใจศึกษา


           


ทีนี้การศึกษามันน่าแปลก เพราะอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อนบอกว่าโคตรใหญ่ เต็มถนนเลย แต่ปรากฏว่ามันไม่มีหลักฐานเลย ไม่มีใครเก็บบันทึก ไม่มีการพูดถึงการสร้าง มีแค่พิธีวางศิลาฤกษ์ พ.ศ.2482 และพิธีเปิดปี พ.ศ.2483 ในงานวันชาติ เพราะฉะนั้นมันยากมาก ดิฉันจึงค้นคว้าหลักฐานจากเอกสารจำนวนมาก เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การหาตัวตนและความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์โดยการเข้าไปนั่งค้นหาเอกสารที่หอจดหมายเหตุและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะได้สัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เพราะน่าจะล้มหายตายจาก ไม่อย่างนั้นก็คงมีความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก เอกสารจำนวนมากไม่ได้พูดถึงตรงๆ จึงต้องค่อยๆ แกะรอย การแกะรอยนั้น ถ้าใครชอบดูสารคดีจะรู้ว่า แต่ละรอยจะมีรอยเชื่อมต่อไปหาบางสิ่งบางอย่างเรื่อยๆ ดิฉันก็พอจะรู้ว่าเอกสารพวกนี้จะนำไปสู่การหาความหมายของมันอย่างไร


 


ดิฉันมีคำถามอยู่คำถามเดียวที่จะต้องไปให้ถึงก็คือ คำถามที่ว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับกระบวนการประชาธิปไตยไทยอย่างไร บางคนมองว่าเป็นอนุสาวรีย์ของประชาธิปไตยที่ตายแล้ว บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นอนุสาวรีย์ของความไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะของความหยามหยันอยู่ ซึ่งพบว่า ความหมายที่สำคัญของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเชื่อมโยงอยู่กับ 4 สิ่งที่แยกกันไม่ได้อย่างเด็ดขาดนั่นคือ ชื่อของอนุสาวรีย์


 


ดิฉันค้นพบว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นอนุสาวรีย์แรกที่ไม่มีชื่ออนุสาวรีย์จารึกไว้ที่อนุสาวรีย์ เพราะอนุสาวรีย์ส่วนใหญ่ในประเทศ อนุสาวรีย์แรกที่ก่อสร้างขึ้นแบบฝรั่งก็คือสร้างใน พ.ศ.2451 สมัยรัชกาลที่ 5 คือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วสองปีถัดจากนั้นคือ พ.ศ.2453 รัชกาลที่ 5 ก็เสด็จสวรรคต ก็เลยมีการคิดว่า การสร้างอนุสาวรีย์เป็นลางสังหรณ์ว่า ถ้าสร้างให้กับบุคคลจะทำให้บุคคลเสียชีวิต หลังจากนั้นอนุสาวรีย์ก็เกิดมามากมายแต่อยู่ในรูปของบุคคล (ที่เสียชีวิตแล้ว) ทั้งสิ้น โดยจะจารึกชื่อของบุคคลนั้นใกล้ๆ และมีชีวประวัติประกอบ แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่มีคำจารึกอะไร มีแต่ชื่อเรียกขาน ที่คนในสังคมเอ่ยถึงและรู้จักมัน ทีแรกก็คงไม่รู้จักประชาธิปไตย หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคืออะไร อย่างที่มีคนเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญคือลูกพระยาพหลพลพยุหเสนา และอนุสาวรีย์ก็คงเป็นอนุสาวรีย์ลูกพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงมีความสับสนตั้งแต่ช่วงต้นๆ


 


แต่คำว่า "ประชาธิปไตย" ของอนุสาวรีย์ ทำให้อนุสาวรีย์มีความหมาย คือมันสามรถเชื่อมโยงความเป็นประชาธิปไตยไทยในแต่ละรูปแบบ ในช่วงเวลายาวนานตั้งแต่มันก่อสร้างขึ้นมา จนกระทั่งดิฉันสิ้นสุดการศึกษาไว้ที่ พ.ศ.2540 ชื่อเหล่านี้ได้พันธนาการให้การเปลี่ยนแปลงความหมายมันเกิดขึ้นได้มากเพราะคำว่า "ประชาธิปไตย" นั่นเอง


 


นอกจากนี้ การที่ชื่อของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปอยู่บน "พื้นที่ตั้ง" ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน พื้นที่ของถนนราชดำเนิน มีความหมายทางการเมืองมาก อนุสาวรีย์นี้ในชั้นแรก ดิฉันคิดว่า มันน่าจะเกี่ยวข้องกับขบวนการประชาชนเท่านั้น แต่ปรากฏว่า อนุสาวรีย์นี้ถูกใช้ในหลายกิจกรรมก่อนหน้านี้ โดยเริ่มต้นจากการเกี่ยวข้องกับการสวนสนามของกองทัพบก ซึ่งกองทัพบกใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันกองทัพบก และเปลี่ยนมาเป็นวันกองทัพไทย หลังจากนั้น พิธีทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ในช่วงต้นๆ ใช้อนุสาวรีย์นี้มาอย่างต่อเนื่อง


 


จนกระทั่งถึง พ.ศ.2516 ที่พวกเราทุกคนจดจำเหตุการณ์ได้ดี คือ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นพื้นที่ที่นักศึกษาและประชาชนใช้เป็นที่ชุมนุมให้รัฐบาลถนอมตัดสินใจในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ การใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมันถูกเบียดขับโดยภาคประชาชนเพื่อเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย


 


เหมือนดังเช่นอาจารย์ท่านหนึ่ง เคยพูดถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไว้ว่า "ความหมายที่มันเกิดขึ้นได้ มันเป็นประชาธิปไตยมาก เพราะมันถูกสร้างโดยขบวนการประชาชน" เพราะก่อนหน้านั้น มันถูกสร้างโดยทางการต้องการครอบงำ เพราะอนุสาวรีย์นี้ต้องการที่จะขาย พ.ศ.2475 ขายคณะราษฎรให้กับประชาชนได้รู้จัก ว่าเรามีอนุสาวรีย์นี้แล้วนะ เราเปลี่ยนการปกครองแล้ว แต่คนไม่มี Senses นี้ คนไม่รู้จักประชาธิปไตย คนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้ว่าจะมีอนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ก็ตาม แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ พ.ศ.2516 และ พ.ศ.2535 ดิฉันค่อนข้างเชื่อว่า ความหมายของอนุสาวรีย์นี้ได้แนบแน่นหรือสนิทกับกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเป็นวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


 


ในหนังสือเล่มนี้ ได้พยายามพูดว่า พิธีของรัชกาลที่ 9 ในการฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ.2539 ทางราชการ ไม่สามารถใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่ในพื้นที่ๆ สำคัญของการเฉลิมฉลองได้ แม้ว่ารัชกาลที่ 9 จะเคยยืนอยู่บนอนุสาวรีย์นี้มาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านั้นก็ตาม เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ พ.ศ.2516 และ พ.ศ.2535 ไม่สามารถที่จะทำให้ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทำให้พระมหากษัตริย์ยืนอยู่บนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเหมือนที่เคยยืนมาได้อย่างสนิทใจ เพราะ พ.ศ.2516 และ พ.ศ.2535 มันได้เป็นประชาธิปไตยในแบบใหม่แล้ว ซึ่งมันไม่เข้ากับพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ที่จะใช้ยืนอยู่บนนั้นได้


 


ซึ่งดิฉันได้เลือกนำเสนอในปีนั้น (ปีที่นำเสนอวิทยานิพนธ์) แต่ไม่สามารถทราบได้ว่าวันที่ 9 มิถุนายน ประชาชนจะไหลบ่าจากพระที่นั่งอนันตสมาคมเรื่อยมาจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ทราบได้เพราะกล้องอาจจะแพนมาไม่ถึง...เพราะฉะนั้นดิฉันเชื่อว่า ความหมายของมันที่เกิดจากพื้นที่ตั้ง หรือตำแหน่งที่มันตั้ง น่าสนใจ เป็นตัวที่สร้างตัวตนให้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้มันมีความหมายต่างไปจากอนุสาวรีย์อื่นๆ อย่างไม่มีใครบงการ และอย่างเป็นประชาธิปไตย


 


ดิฉันได้ค้นพบอีก 2 เรื่องที่มีส่วนในการสร้างตัวตนของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่มีการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับอนุสาวรีย์นี้ เรื่องราวที่เขียนใน "งานเขียน" จำนวนมากสร้างความหมายในแต่ละชุด แต่ละวาทกรรมมาต่อสู้กัน ซึ่งมันเบี่ยงความหมายที่เกิดจากทางการ มาเป็นอนุสาวรีย์ในความหมายของมหาชน ด้วยเรื่องราวที่ผูกหรือเขียนขึ้นนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราวหรือความหมายของอนุสาวรีย์จะอยู่ในใจของผู้คนต้องผ่านการอ่านหรือการให้ความสนใจ


 


มีบางอย่างที่ง่ายกว่านั้นและสร้างความหมายให้กับอนุสาวรีย์ได้ดีนั่นคือ "ภาพ" ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งภาพแต่ละชุดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกเผยแพร่ในสังคมแตกต่างกันไป และภาพที่ทรงพลังที่สุดเป็นภาพของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีผู้คนยืนอยู่ตรงนั้นจำนวนมากทำให้อนุสาวรีย์สามารถเป็นอนุสาวรีย์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง


 


เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงได้ข้อสรุปจำนวนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด ดิฉันหวังว่าถ้ามีคนที่เจอหลักฐานที่เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอาจสร้างเรื่องของมันขึ้นมาแทนที่ก็อาจเป็นได้ แต่เท่าที่ดิฉันใช้เวลาและเอกสารจำนวนหนึ่ง สามารถสร้างความหมายได้ 4 จุดเอามาเรียบเรียง ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายเบื้องต้น ที่อยู่บนฐานของการศึกษา 4 จุดนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net