อพท. อีกแล้ว ชาวบ้านลงชื่อกว่าพันคน ลุกฮือต้านโครงการอุทยานช้างในผืนป่าสุเทพ-ปุย

 

 

ประชาไท—1 ก.ค. 2549 ชาวบ้าน 3 ตำบลในพื้นที่ติดเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ลุกฮือประท้วงไม่เอาโครงการอุทยานช้าง ล่ารายชื่อกว่าพันคนเข้ายื่นหนังสือถึง อบต.หนองควาย จี้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ม.290 และ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล ม.70 ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม ตรวจสอบการทำงานของ อพท. หลังเจ้าหน้าที่แอบนำเลื่อยยนต์ตัดต้นไม้ รถแบคโฮเข้าตัดผืนป่าเพื่อใช้เป็นทางเดินช้าง พร้อมยืนกรานย้ำเป็นโครงการทำลายวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก

 

เมื่อบ่ายวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีชาวบ้านจาก ต.หนองควาย ต.บ้านปง อ.หางดง และ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ประมาณ 200 คน ในนามเครือข่ายประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการอุทยานช้าง ศูนย์ประสานงานคณะทำงานพิทักษ์สิทธิชุมชนท้องถิ่นรวมตัวกันประท้วง กรณีรัฐดำเนินการโครงการอุทยานช้าง ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โดยจะใช้พื้นที่ป่าเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย จำนวน 6,000 กว่าไร่ หรือ 10.56 ตารางกิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล คือ ต.หนองควาย ต.บ้านปง และ ต.แม่เหียะ

 

โดยล่าสุด ชาวบ้านได้ไปพบว่า มีเจ้าหน้าที่ได้นำป้ายแสดงจุดที่จะสร้างหมู่บ้านควาญช้าง ส่วนแสดงสัตว์ และปักหลักแสดงแนวเขต พร้อมกับมีการนำรถแบ็คโฮ ไปสร้างถนนบริเวณกิ่วผาตั้ง นอกจากนั้น ยังมีการสร้างที่พักสำหรับชุดสำรวจอุทยานช้าง จำนวน 3 หลัง บริเวณสวนสมเด็จย่าและสวนป่าสิริกิตติ์ ซึ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล ต่างออกมาแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าและเข้าไปดำเนินการโดยคนในชุมชนไม่ได้มีส่วนรับรู้แต่อย่างใด

 

กระทั่ง ชาวบ้านทั้ง 3 ตำบลได้มีการล่ารายชื่อกว่าพันคนเข้ายื่นหนังสือคัดค้านโครงการดังกล่าว ต่อนายสงวนศักดิ์ ใจสม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองควาย ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 290 ที่กำหนดไว้ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการ เข้าไปมีส่วนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่และนอกเขตพื้นที่เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่

 

นอกจากนั้น ยังขอให้ อบต.ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล มาตรา 70 ที่กำหนดให้ อบต.มีสิทธิได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากทางราชการในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของทางราชการในตำบล

 

นายประสิทธิ์ กาบคำ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ และเป็นแกนนำกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้าน กล่าวว่า ที่ต้องพากันมายื่นหนังสือ ก็เนื่องจากว่า ชาวบ้านไปพบเจ้าหน้าที่นำเลื่อยยนต์เข้าไปตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่า พร้อมกับนำรถแบ็คโฮเข้าไปทำถนนลึกเข้าไปในพื้นที่ป่าเกือบ 2 กิโลเมตร และเตรียมจะตัดผืนป่าเข้าไปในเขตรอยต่อของ 3 ตำบล เพื่อเตรียมดำเนินโครงการอุทยานช้าง ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ เพราะหวั่นเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา จนต้องมารวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านและเพื่อให้ทาง อบต.เข้าไปตรวจสอบ

 

"ตนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการเข้าไปทำลายผืนป่าซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเห็นได้จากการที่เจ้าหน้าที่นำเลื่อยยนต์เข้าไปตัดต้นไม้และนำรถแบ็คโฮเข้าไปทำถนนเพื่อเป็นทางเดินช้าง ก็เห็นชัดเจนว่า มันทำลายป่าไปมากน้อยเพียงใด และหากมีการนำช้างจำนวนกว่า 200 เชือกเข้ามาอยู่อีก ก็ยิ่งจะทำให้ผืนป่า 6,000 กว่าไร่เสียหายหนักยิ่งขึ้น และยังจะต้องเกิดผลกระทบในเรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้านซึ่งแต่เดิมเคยเข้าไปหาของป่า ก็จะไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ป่าตรงนั้นอีกต่อไป"

 

นายประสิทธิ์ ยังแสดงความวิตกกังวลในเรื่องปัญหาการแย่งชิงน้ำอีกว่า ปัจจุบัน ปริมาณน้ำในพื้นที่ของแต่ละหมู่บ้านก็ขาดแคลนไม่พอใช้อยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ทางเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ให้ช้างอีกหลายจุด ซึ่งการสร้างอ่างเก็บน้ำเอาไว้ ทำให้ชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้านต้องได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ในขณะที่นางศรีรักษ์ โตเทียน แกนนำชาวบ้านแม่เหียะใน ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงต้องมาดำเนินโครงการอุทยานช้างในพื้นที่ป่าผืนนี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2537 ชุมชนบ้านแม่เหียะใน ได้ร่วมกัน ปลูกป่าดูแลป่ากันมาตลอด กระทั่งได้รับหนังสือชมเชยจากนายผ่อง เล่งอี้ อธิบดีกรมป่าไม้ในสมัยนั้น แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า รัฐกลับมีความคิดสวนทางกับชาวบ้าน มาเป็นผู้ทำลายป่าเสียเอง โดยนำโครงการอุทยานช้างเข้ามา ซึ่งตนไม่เห็นด้วย

"นอกจากจะกระทบต่อผืนป่ากว่า 6,000 ไร่แล้วนั้น ชาวบ้านทุกคนต่างวิตกกังวลกันว่า หากเกิดโครงการอุทยานช้างขึ้นมา จะทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน ไม่ว่าในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เรื่องน้ำ หรือเรื่องมลพิษจากมูลช้าง และที่สำคัญ ที่ผ่านมา โครงการต่างๆ ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ไม่เคยมีการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่เลย"

 

ในขณะที่ นายสงวนศักดิ์ ใจสม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองควาย ได้ออกมารับหนังสือพร้อมกับกล่าวว่า ไม่เคยรู้เรื่องมามาก่อนเลยว่ามีการนำเครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่ เพื่อเตรียมก่อสร้างอุทยานช้างแล้ว และไม่เคยได้รับการติดต่อ หรือได้รับข้อมูลประสานงานใดๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบเลย ว่าจะมีการดำเนินโครงการสร้างอุทยานช้างในจำนวนพื้นที่กี่ไร่ ซึ่งทาง อบต.ขอยืนยันว่าไม่ได้รับรู้ข้อมูลตรงนี้สักนิดเดียว ว่ามีการเข้าไปดำเนินการสร้างโครงการอุทยานช้าง

 

"ซึ่งหลังจากได้รับเรื่องนี้ จะเร่งเข้าไปดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะว่าอยู่ในเขตรับผิดชอบของ อบต.หนองควายโดยตรง และจะต้องขึ้นอยู่กับมวลชน ถ้าชาวบ้านไม่เอา ไม่ให้สร้าง ผู้ที่รับผิดชอบก็ต้องมาคุยกับชาวบ้านให้รู้เรื่อง ก่อนที่จะดำเนินการอะไรลงไป"

 

ด้านนายชัยพันธ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน กล่าวว่า ชาวบ้านรับรู้ว่าจะมีการสร้างอุทยานช้าง ซึ่งเป็นโครงการของนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีใครกล้าจะคัดค้าน แต่ขณะนี้เชื่อว่าชาวบ้านเริ่มรู้และเข้าใจกันแล้วว่า เมื่อมีอุทยานช้างถึง 6,000 ไร่ มีช้างเข้ามาถึง 200 เชือกย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านอย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท