Skip to main content
sharethis

โครงการอาหารทะเล หรือซีฟู้ดแบงก์ (Sea Food Bank) ของกรมประมง  จัดทำขึ้นตามนโยบายแก้ปัญหาความยากจน การดำเนินงานตั้งอยู่ในฐานหลักความคิดการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนผสมผสานเข้ากับความต้องการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งประมง และการลดลงของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และเพื่อเป็นการพัฒนาฐานการผลิตอาหารของทะเลในประเทศขึ้นใหม่ ทดแทนผลผลิตจากธรรมชาติ


 


อย่างไรก็ตามปัจจุบันพื้นที่ตามแนวชายฝั่งประมาณ 130,106 ไร่ มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม และปลาน้ำกร่อยแล้ว ซึ่งกรมประมงได้ประเมินศักยภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทย พบว่า เรายังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเพาะเลี้ยงอีกประมาณ 154,386 ไร่!


 


โครงการนี้จึงหยิบเอาแนวคิดของการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน มาใช้จัดการบริหารพื้นที่ชายฝั่ง ด้วยการจัดทำและเอกสารสิทธิการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ในพื้นที่ 284,492 ไร่ที่จะทำการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง ทั้งนี้เงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้เพาะเลี้ยงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมประมงกำหนด ส่วนการสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในรูปแบบที่ครบวงจร ก็จะอยู่ในรูปแบบระบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming)


 


นายไพโรจน์ โลกนิยม รองผู้อำนวยการสำนักงานการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (สปท.) กล่าวว่า สถานะโครงการซีฟู้ดแบงก์ในปัจจุบันเป็นเพียงหลักการแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นจึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการแจกจ่ายโฉนดน้ำเพื่อนำชาวประมงเขาสู่ระบบสินเชื่อ หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน อย่างไรก็ตามการใช้คำเรียกสั้นๆ ว่า ธนาคารอาหารทะเล หรือ โฉนดน้ำ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าจะมีการนำเอาทรัพยากรทางทะเล มาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล


 


นายไพโรจน์ ชี้แจงว่า พื้นที่ทรัพยากรชายฝั่งทะเลเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเวลานี้ก็มีการจับจอง และมีคนได้รับอนุญาตเข้าใช้ประโยชน์จนเกือบเต็มพื้นที่ เพียงแต่ยังไม่มีการจัดระเบียบทำให้แหล่งทรัพยากรในบางพื้นที่หลุดไปอยู่ในมือของนายทุน ดังนั้นการที่กรมประมงเอาเรื่องแปลงสินทรัพย์เป็นทุนมาใช้จึงเป็นโอกาสที่จะล้างของเก่า และเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรมากขึ้น


 


"หากมองในแง่ดีนโยบายนี้จะเป็นโอกาสทำให้พี่น้องชาวประมงมีรายได้จากทรัพยากรทางทะเล โดยการใช้ประโยชน์จากการจัดสรรที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีมาตรฐาน มีการคุ้มครองสภาพแวดล้อมที่ดีได้ สปท.ก็ยินดีที่จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำนโยบายนี้ให้เป็นจริง และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ"


 


นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ เลขาธิการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า ความพยายามรักษาอันดับ1ใน10 ผู้ส่งออกสินค้าประมงสูงสุดของรัฐบาล เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดจำนวนลง ทั้งยังทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรชาวบ้านด้วยความร่วมมือของประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน ได้พยายามหาช่องทางใหม่ในการเพิ่มผลผลิต และจัดระเบียบในการจับปลา เลิกใช้เครื่องมือทำลายล้างทรัพยากรอย่างอวนลาก อวนรุน หรือการใช้ทรัพยากรอย่างเกินกำลังการผลิต จนสภาพแวดล้อมฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ


 


ต่อมาเมื่อกรมประมงนำแนวคิดนี้มาเสนอชาวบ้านก็เริ่มเกิดข้อกังวล โดยเฉพาะชาวมุสลิม ซึ่งกฎหมายอิสลามบัญญัติว่าทุกคนมีสิทธิใช้ประโยชน์ท้องทะเลอย่างเท่าเทียมกัน จึงไม่มีใครมีอำนาจยกทะเลให้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลได้ ยิ่งไปกว่านั้นชาวประมงจากอ่าวปัตตานียังเคยผ่านบทเรียนอันเจ็บปวดจากโครงการส่งเสริมการเลี้ยงหอยแครงของกรมประมง ซึ่งมีลักษณะการดำเนินงานคล้ายคลึงกับซีฟู้ดแบงก์ กล่าวคือ เริ่มต้นมีการแจกจ่ายสิทธิการเพาะเลี้ยงกับชาวบ้านหรือชาวประมงที่ยากจน แต่สุดท้ายสิทธิทั้งหมดก็ตกอยู่ในมือของนายทุนเพียง 2 ราย ที่นิยมจ้างแรงงานต่างด้าวแทนคนไทยในพื้นที่


 


ส่วนวัตถุประสงค์ของโครงการในการแก้ปัญหาความยากจนและพื้นฟูความเสื่อมโทรมของทรัพยากรนั้น นายสะมะแอ แย้งว่า นอกเหนือจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว อาจเร่งการเสื่อมโทรมของทะเลไทยทั้งหมด เพราะการเลี้ยงปลาจำนวนมาก ย่อมหมายถึงต้องใช้อาหารปลาจำนวนมาก ปัจจัยนี้จะผลักดันให้มีการใช้อวนลากเพื่อจับปลาขนาดเล็กมาผลิตเป็นอาหาร ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศน์ของทะเลอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องการแก้จนจะสำเร็จหรือไม่ ให้ย้อนไปพิจารณานโยบายแก้จนอย่างกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ว่าเป็นการช่วยให้ชาวบ้านพ้นวิกฤติหรือเป็นการเพิ่มหนี้กันแน่


 


"การเลี้ยงปลา เลี้ยงหอยรัฐบาลควรส่งเสริม แต่ควรทำให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน กิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ควรเกิดจากขบคิดร่วมกันพร้อมกับคนในท้องถิ่น ไม่ใช่การใช้อำนาจสั่งการลงไปในพื้นที่"


 


รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยถึงแนวคิดเรื่องการปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้จัดการตัวเองนั้น ได้รับการยอมรับในหลายๆ ประเทศ อย่างกรณีการเพิ่มผลผลิตกุ้งในญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงไปให้ทะเลจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการเพาะเลี้ยง ซึ่งไทยก็มีประสบการณ์จากการเพาะพันธุ์ปลาทู และปล่อยลงทะเลในปี 2510 จนถึงปัจจุบันอ่าวไทยก็ยังมีปลาทูให้บริโภคอยู่ หรือกรณีการปล่อยลูกกุ้งในทะเลสาบสงขลา ซึ่งสามารถเพิ่มกำไรแก่ชาวประมงได้ถึง 5 เท่าตัว ดังนั้นการทำให้ทะเลให้เป็นทรัพย์สินสาธารณะจะเป็นประโยชน์มากกว่า


 


รศ.ดร.เริงชัย กล่าวเสริมว่า ความเสื่อมโทรมจากการใช้ทรัพยากรทางทะเลเป็นประเด็นที่รัฐต้องพิจารณา เพราะไม่เพียงกระทบชาวประมง แต่ยังผลไปถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ อาทิ ห้องเย็น แม่ค้า การส่งออก เป็นต้น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารสัตว์ทุกชนิด ซึ่งพึ่งพิงวัตถุดิบจากทะเลเป็นหลัก นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งคือการกำหนดให้ Contract farming เป็นส่วนเกี่ยวพันหนึ่งของซีฟู้ดแบงก์ โดยแผนการดำเนินงานระบุให้องค์การสะพานปลาเป็นผู้รับชอบ และภายหลังจะมีการแปรรูปองค์กรผ่านตลาดหลักทรัพย์ อาจประสบปัญหาเช่นเดียวกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)


 


"กรณีซีฟู้ดแบงก์กำลังกลายเป็นความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร รัฐบาลต้องระวังให้ดีโดยเฉพาะความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ ความเชื่อ จนอาจลุกลามเป็นปัญหาด้านความมั่นคงไป ส่วนตัวคิดว่า แนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและทะเลน่าจะเป็นทางออกที่ดี และมีตัวอย่างความสำเร็จหลายแห่งในอ่าวไทย เช่น อ่าวบ้านดอน อ่าวพังงา ทะเลสาบสงขลาบางส่วน ฯลฯ"


 


อาจารย์สอรัฐ มากบุญ นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การจัดสรรพื้นที่น้ำมีความแตกต่างจากพื้นที่บก เนื่องจากพื้นที่น้ำนั้นสิ่งมีชีวิตในน้ำมีการเคลื่อนย้าย ในขณะที่บนบกนั้นการเคลื่อนย้ายมีไม่มาก แต่โครงการทางน้ำของรัฐยังมองการจัดสรรพื้นที่น้ำโดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งมีชีวิตในน้ำ ซึ่งอีกแง่หนึ่งกลายเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทำลายทรัพยากรในน้ำได้


 


ในอดีต ท้องทะเลเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพร่วมกัน แต่โครงการจัดสรรพื้นที่ทางทะเลของรัฐนั้น แม้ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าในการใช้พื้นที่ให้มากขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดตามมาด้วย ทั้งนี้เพราะการให้กรรมสิทธิ์พื้นที่ส่วนรวมเป็นของส่วนบุคคล ย่อมทำให้คนอีกจำนวนมากได้รับผลกระทบ ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความรักความสามัคคีของคนในชุมชน


 


"ที่ผ่านมาการจัดสรรพื้นที่ทางน้ำ เช่น เพื่อการเลี้ยงหอยก็มีอยู่แล้ว แต่เป็นระบบที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ไม่มีความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามโครงการจัดสรรพื้นที่ทางทะเลอาจทำได้ แต่ต้องพึงระลึกว่า โครงการนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่สมควรทำ คืนพื้นที่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันจะดีกว่า"


 


เชื่อว่าการผลักดันและดำเนินงานโครงการนี้ในอนาคต คงเป็นอีกหนึ่งนโยบายประชานิยมของภาครัฐ  แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือข้อท้วงติงจากหลายฝ่ายๆ  ว่าจะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้จริงหรือ  หรือกลายเป็นความขัดแย้งการช่วงชิงทรัพยากรอีกระลอก.                


 


ธีรมล บัวงาม


สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net