Skip to main content
sharethis

โดย ไพบูลย์  อุปัติศฤงค์


 


 


มีข่าวว่าค่าไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นมาในเร็วๆ นี้ ผมก็เลยขอเล่าเรื่องการปรับค่าไฟฟ้ามาให้ทราบในสัปดาห์นี้


 


ค่าไฟฟ้ามีองค์ประกอบหลักสามองค์ประกอบด้วยกันคือ ค่าไฟฟ้าฐานบวกด้วยค่าเอฟทีบวกกับค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม


 


ค่าไฟฟ้าฐานจะสะท้อนถึงต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จะปรับทุกๆ 3 ถึง 5 ปี


 


ค่าเอฟที คือค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัต ซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงจากค่าไฟฟ้าฐาน


 


ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดในอัตราร้อยละ 7 ของมูลค่าไฟฟ้ารวม


 


ค่าเอฟทีได้ขึ้นมาเป็นลำดับดังนี้


 


ค่าเอฟทีประจำเดือน        ค่าเอฟที                         เปลี่ยนแปลง


            ต.ค.43-ม.ค.44                0.00


ก.พ.44-พ.ค.44               24.44                            24.44


มิ.ย.44-ก.ย.44                27.13                            2.69


ต.ค.44-ม.ค.45                22.77                            (4.36)


ก.พ.45-พ.ค.45               21.95                            (0.82)


มิ.ย.45-ม.ค..46               21.95                           -


ก.พ.46-พ.ค.46               26.12                            4.17


มิ.ย.46-ม.ค.47                26.12                           -


ก.พ.47-ก.ย.47                38.28                            12.16


ต.ค.47-พ.ค.48                43.28                            5


มิ.ย.48-ก.ย.48                46.83                            3.55


ต.ค.48-ม.ค.49                56.83                            10


ก.พ.49-พ.ค.49               75.84                            19.01


 


จะเห็นว่าค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ ครั้งละสิบกว่าสตางค์ โดยเราไม่สังเกตุ คณะกรรมาธิการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจวุฒิสภาได้ติงเรื่องนี้ว่าการที่จะให้รัฐวิสาหกิจเข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ต้องระวังเรื่องอำนาจการผูกขาด เพราะอำนาจการผูกขาดจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน


 


เพราะรัฐบาลอ้างว่าจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเน้นให้แข่งขันกับเอกชนได้


 


แต่ลืมไปว่ารัฐวิสาหกิจมีอำนาจการผูกขาดไว้เยอะเช่น ปตท.มีการผูกขาดท่อก๊าซธรรมชาติ ไม่มีเอกชนรายไหนมีสิทธิทำท่อก๊าซธรรมชาติจากปากบ่อไปยังโรงไฟฟ้าแข่งกับปตท.ได้


 


ปตท.ก็เลยไม่มีคู่แข่งคิดค่าผ่านท่อโดยไม่มีการลดราคา หากให้มีเอกชนรายอื่นทำท่อก๊าซแข่งกับปตท.มีหรือที่จะได้กำไรเป็นแสนล้าน


 


พอประชาชนโวยมากๆ ปตท.ก็เลยทำโฆษณาใหญ่โตว่าเป็นบริษัทติดอันดับโลก ทำกำไรนับแสนล้าน


 


เป็นเงินของพวกเราที่จ่ายค่าไฟฟ้าเอฟทีให้ท่านทั้งนั้น เพราะค่าเอฟทีที่ขึ้นมาท่านได้ไปโดยผ่านทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้นเอง


 


เพราะค่าไฟฟ้าส่วนใหญ่แปดสิบเปอร์เซ็นต์ใช้เป็นค่าก๊าซธรรมชาติทั้งสิ้น


 


นี่ดีนะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)โดนศาลปกครองเบรคเสียก่อนไม่ให้เข้าตลาด มิฉะนั้นค่าเอฟทีจะไม่รู้จะขึ้นไปอีกเท่าไร


 


เรียกว่าโดนสองเด้ง เด้งแรกเด้งจากปตท. เด้งที่สองเด้งจากกฟผ.


 


เพราะอำนาจการผูกขาดของ กฟผ.ก็คือสายส่งไฟฟ้านั่นเอง


 


คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าไม่รู้จะทำหน้าที่ได้จริงหรือเปล่า


 


เพราะหลายครั้งพอประชาชนโวยขึ้นมาท่านก็บอกว่าเป็นเรื่องของราคาตลาดโลก


 


ทั้งๆที่ค่าผ่านท่อก๊าซน่าจะลดลงได้มากกว่านี้ ไม่เชื่อไปเปรียบเทียบนานาประเทศดูว่ามีองค์การควบคุมดูแลการผูกขาดอย่างไร


 


นี่ปล่อยให้ปตท.คิดค่าผ่านท่ออย่างไม่ยั้งมือ ตั้งบริษัทลูกนับหลายสิบบริษัท ไม่รู้ว่าเงินไปไหนบ้าง


 


ถึงขนาดตั้งบริษัทในหมู่เกาะเวอร์จิ้นไอร็แลนด็กันแล้ว นะโยม


 


เป็นต่างประเทศเขาไม่มีปล่อยให้ทำกำไรเป็นแสนล้าน แล้วประชาชนเดือดร้อนขนาดนี้


 


เขียนถึงค่าไฟฟ้า ไหนโผล่มาเขียนเรื่องก๊าซธรรมชาติได้อย่างไรกันนะ


 


ก็เพราะมันอึดอัดใจมานานแล้ว ยิ่งท่านโฆษณาสรรพคุณ ปตท.เยอะมันคันไม้คันมือ มันเจ็บใจเพราะเป็นเงินของเราเหมือนกัน


 


ทำไมไม่เอาท่อก๊าซธรรมชาติแยกออกมาจากปตท. แน่จริงอย่าเอาอำนาจผูกขาดไว้ในมือ แล้วปล่อยให้เอกชนรายอื่น เช่นกฟผ.ทำท่อก๊าซแข่งกับปตท.ดีไหม


 


แล้วกฟผ.ซึ่งเป็นของรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ต้องแปรรูปจะไม่ต้องขึ้นค่าไฟเลยก็ยังทำได้ ขยายโรงไฟฟ้าโดยไม่ต้องให้รัฐคำประกันยังได้เลย


 


ฝากท่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดูแลด้วย แต่ไม่รู้ว่าพณฯยังถือหุ้นปตท.อยู่หรือเปล่า แล้วท่านจะกล้าผ่าตัดระบบการคิดค่าผ่านท่อหรือ?


 


หรือแม้กระทั่งปลัดกระทรวงพลังงานผู้กำกับดูแลท่านจะกล้าดูแลค่าผ่านท่อหรือเปล่า เพราะท่านยังเป็นประธานปตท.อยู่


 


นี่เขาเรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า ใครช่วยตอบที


 


ขออย่างเดียวอย่าอ้างแต่ว่าไม่ขึ้นค่าผ่านท่อมาเลยหลายปีแล้ว แล้วท่านคิดลดราคาบ้างหรือเปล่า ท่านคิดให้เกิดการแข่งขันบ้างหรือเปล่า


 


เพราะกฎหมายการแปรรูปเขาให้กำหนดระยะเวลาในการผูกขาดเอาไว้ ท่านทำอะไรแล้วหรือยัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net