Skip to main content
sharethis

29 มิ.ย. 49 ผู้จัดการรายวันรายงานคำกล่าวของ นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงวุฒิจากกรมควบคุมโรคว่า โอกาสที่ไข้หวัดนกจะระบาดจากคนมาสู่คนเกิดขึ้นแน่แต่ไม่ทราบว่าเมื่อใด ซึ่งผลการศึกษาย้อนหลังไข้หวัดใหญ่จะระบาดใหญ่ทุก 10-40 ปี คาดการณ์ว่าถ้าประชากรไทย 65 ล้าน ติดเชื้อร้อยละ 10 จะมีผู้ป่วย 6.5 ล้านคน อัตราตาย 600,000 คน ดังนั้น การมีแผนรองรับทั้งภาคธุรกิจและราชการจะลดความสูญเสียลงมาก


 


ไข้หวัดนกก็คือไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกประเภทนกนั่นเอง โดยพบว่าเชื้อไข้หวัดนกบางสายพันธุ์สามารถติดต่อถึงคนได้ โดยในปี 2540 เริ่มพบคนติดเชื้อและป่วยเป็นไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ในฮ่องกง ต่อมาพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่อื่นและกระจายลุกลาม โดยมีอัตราการป่วยตายสูงถึง 50% ขณะนี้พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกเกือบทั่วโลก เริ่มจากทวีปเอเชียไปทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกา คาดว่าในปลายปีหน้าเชื้อไข้หวัดนกจะแพร่ระบาดไปทวีปอเมริกาเหนือและทวีปออสเตรเลียได้


 


"สิ่งที่เรากลัวคือ การติดเชื้อไข้หวัดนกจากคนสู่คน และจะผสมกับไข้หวัดใหญ่เกิดเป็นการระบาดไปทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาโลกนี้มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่เป็นช่วงๆทุกๆ 10-40 ปี หากเชื้อหวัดนกผสมกับหวัดใหญ่ในคน เกิดการติดต่อจากคนสู่คน การระบาดจะรุนแรงมาก นี่เป็นปัญหาที่ทุกประเทศ ทุกภาคส่วนต้องเตรียมป้องกัน คาดว่าถ้าเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นในประเทศไทย ประชากร 10-40% หรือประมาณ 6.5-26 ล้านคนจะป่วย และในจำนวนนี้ 1% จะเสียชีวิต หรือประมาณ 65,000-260,000 คน ซึ่งเป็นการคาดการณ์โดยทั่วๆ ไป"


 


นพ.ศุภมิตร กล่าวถึงโอกาสที่เชื้อหวัดนกจะกลายพันธุ์ติดจากคนสู่คนว่า ขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา กรณีครอบครัวมีผู้ป่วยด้วยเชื้อหวัดนก 8 ราย เสียชีวิต 7 ราย องค์การอนามัยโลกชี้ว่า เกิดจากการติดต่อจากคนสู่คน แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสเปลี่ยนไม่มาก องค์การอนามัยโลกจึงยังประกาศให้ประเทศอินโดนีเซียอยู่ในภาวะที่คนติดเชื้อจากสัตว์อยู่ แต่จุดนี้ก็ยืนยันว่าโอกาสการติดเชื้อจากคนสู่คนมีสูงและเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้ กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นที่อินโดนีเซียเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทุกประเทศ การเตรียมพร้อมจึงสำคัญ


 


ด้านนายวัชระ พรรณเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดสัมมนา เรื่อง "หวัดนกพบหวัดใหญ่ ธุรกิจไทยพร้อมหรือ" โดย สธ.ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) องค์การอนามัยโลก และ APEC Business Advisory Council (ABAC) เพื่อเป็นแนวทางและกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ วางแผนเตรียมการรองรับหากมีอุบัติการณ์เกิดขึ้น


 


นายวัชระ ยืนยันว่าภาครัฐมีระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้หวัดนกตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก โดยสำรองยาต้านไวรัสไข้หวัดนกไว้ 1.5 ล้านแคปซูล วัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 300,000 โด๊ส มีห้องปฏิบัติการตรวจยืนยันเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เอช5 เอ็น1 ภายใน 24 ชั่วโมง และชุดทดสอบรู้ผลเร็ว 30-60 นาที


 


ด้านเรืออากาศโทสุรพล อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารภาวะวิกฤติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนการเตรียมพร้อมรับมือการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ของการบินไทยวง่า ทางบริษัทมีเป้าหมายทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศที่ไม่นำผู้ป่วยเข้ามาในประเทศไทย หมายความว่าไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกจากที่ไหนก็ไม่นำเข้ามาในประเทศไทย โดยจะเน้นมาตรการเข้มข้นในพื้นที่ที่มีการระบาดชุกชุม ซึ่งจะมีการตรวจอุณหภูมิ เช็คความดัน ในรายที่ป่วยไข้ อย่างไรก็ตามถ้ามีการหลุดรอดขึ้นมาได้บนเครื่อง ก็จะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งแยกผู้ป่วยออกมาเฉพาะ และมีแพทย์ พยาบาลดูแลเป็นกรณีพิเศษไม่ปะปนกับผู้โดยสารท่านอื่น


 


"ที่สำคัญขณะนี้เครื่องบินของการบินไทยทุกลำได้มีการเปลี่ยนระบบการกรองอากาศ โดยไส้กรองมีความละเอียดสูงสุด คือ 0.001 ไมครอน ขณะที่เชื้อโรคซาร์สมีขนาดแค่ 0.1 ไมครอนเท่านั้น ดังนั้นแม้แต่เชื้อโรคซาร์ส ไข้หวัดนก ก็ไม่สามารถหลุดรอดได้ ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทางบริษัทยอมลงทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศไทย เพราะหากมีการระบาดเกิดขึ้นจริง การเดินทางจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เรามองเห็นตรงนี้ จึงต้องสร้างตรงจุดนี้มารองรับว่า เมื่อมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เกิดจากคนสู่คนเกิดขึ้นจริง หากจำเป็นต้องเดินทาง การบินไทยสามารถรองรับตรงจุดนี้ได้ เพราะเราเป็นสายการบินที่มีความปลอดภัยและมีสะอาดสูงสุด"


 


เรืออากาศโทสุรพล กล่าวต่อว่า มาตรการของการบินไทยมีทั้งมาตรการระดับใต้ดินและบนดิน โดยมาตรการใต้ดินจะไม่มีการประกาศเพราะจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่จะใช้วิธี เช่น หากประเทศไหนมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกเกิดขึ้น ถ้าเคยสั่งไก่จากประเทศนั้น การบินไทยก็จะงดการสั่ง เพื่อต้องการให้อาหารบนเครื่องบินมีความปลอดภัยมากที่สุด โดยได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินติดตามทุกวันในเรื่องนี้


 


พญ.ประภาศรี จงสุขสันติกุล ผู้อำนวยการสำนักโรคไข้หวัดใหญ่ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 2549 กรมควบคุมโรค ได้จัดทำรูปแบบและแนวทางการซ้อมแผนรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ระดับจังหวัด ชนิดซ้อมบนโต้ะ (Tabletop Exercise) โดยนำไปซ้อมทดสอบแผนใน 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครนายก เพชรบุรี นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมซ้อมแผนระดับนานาชาติ (APEC Desk-Top Pandemic Exercise) เมื่อวันที่ 7-8 มิถุนายนที่ผ่านมาด้วย


 


ส่วนการเตรียมพร้อมของไทย มีการดำเนินการทั้งเรื่องงบประมาณ มาตรการรักษาพยาบาล ได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวีย (Oseltamivir) 1.5 ล้านแคปซูล ซึ่งในไทยยังใช้การได้ดี ไม่มีปัญหาดื้อยา เตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 300,000 โด๊ส และให้ทุกจังหวัดซักซ้อมการเตรียมความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะจังหวัดที่เคยเกิดการระบาด เพื่อความแม่นยำและสร้างความมั่นใจ


 


นสพ.นริทร์ ร่มลำดวน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านสุขภาพสัตว์ บริษัท กรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมเกษตร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนธุรกิจอาหารสัตว์ว่า ในส่วนของบริษัท ซี.พี. ว่า ในส่วนของบุคลากรที่ต้องสัมผัสสัตว์ปีกทุกวัน เช่นเจ้าหน้าที่ที่ต้องเข้าฟาร์ม ทางบริษัทได้เตรียมมาตรการรับมือไม่ให้นำเชื้อติดต่อไปยังผู้อื่น โดยในส่วนของสัตว์ปีกนั้นได้วางมาตรการลดความสูญเสีย เพราะหากฟาร์มไก่ที่เลี้ยงไก่ส่งบริษัทมีปัญหา ภาพของซีพีก็จะเสียหายไปด้วย


 


ทั้งนี้บริษัทได้เตรียมมาตรการไว้แล้ว เพราะหากเกิดการระบาดที่รุนแรงจะเกิดความวุ่นวายขึ้นได้ จึงได้แบ่งสถานการณ์ออกเป็น 5 สี ได้แก่ "สีเขียว" คือ สถานการณ์ขั้นปกติถึงการระบาดเล็กน้อย มีการฝึกอบรมพนักงานกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ฟาร์ม และมีการเตรียมทีมงานเพื่อจัดการและประเมินความเสี่ยง โดยพนักงานส่วนหนึ่งอาจให้ทำงานที่บ้านเพื่อลดภาวะความรุนแรง "สีเหลือง" หากประเทศไทยมีการระบาดในระดับนี้ ทางบริษัทจะทำการสต๊อกยาฆ่าเชื้อ ยาทามิฟูล อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และยังจัดทีมงานเพื่อจัดการกับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ


 


"สีส้ม" คือ สถานการณ์ระบาดรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะมีการพ่นยาฆ่าเชื้อภายในฟาร์มวันละ 2 ครั้ง และกักตัวพนักงานในฟาร์ม และผู้ที่สัมผัสสัตว์ปีก โดยจะมีการประสานไปยังโรงพยาบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง "สีแดง" คือ ภาวะระบาดรุนแรง ในขั้นตอนนี้ต้องแยกผู้ป่วยออกจากผู้อื่น และสุดท้าย "สีดา" จะมีการให้ยาในคนและวัคซีนในไก่ หากเกิดการระบาดในขั้นนี้จริง โดยพนักงานที่เคยเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง จะให้หยุดงาน 5 วันเพื่อดูอาการ และให้งดการเข้าประชุมใหญ่


 


นอกจากนี้ยังจะให้ที่เทอร์โมมิเตอร์แก่พนักงานคนละ 1 อัน เพื่อคอยวัดความผิดปกติอุณหภูมิในร่างกาย สำหรับในเรื่องการติดต่อนั้น ในส่วนของพนักงานขายจะไม่ให้พบลูกค้า แต่ให้ติดต่อทางโทรศัพท์แทน และหากมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น หัวหน้าจะต้องทราบเรื่อง โดยทางบริษัทจะเตรียมห้องทำงาน แยกพนักงานไม่ให้ปะปนกัน


 


......................................................................


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net