Skip to main content
sharethis

ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของไทยสามารถทำรายได้ถึงประมาณปีละ 360,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้อันดับสามของประเทศ จึงทำให้ภาครัฐมีแนวคิดที่จะนำรายได้นี้มาแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ ด้วยการตั้ง "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน" หรือ อพท. เมื่อ พ.ศ. 2546 โดยวาดฝันไว้ให้แก่เจ้าของทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวในท้องถิ่นต่างของประเทศว่า "หากมีการท่องเที่ยวแล้วชีวิตจะดีขึ้น"


 


ทว่าในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในรอบ 3 ปี ของการทำงาน อพท. กลับกลายร่างเป็น "เดร็กคูล่า" ที่แม้จะมีรูปร่างหน้าตาในเบื้องหน้าเป็น "ท่านเคาท์" ที่งดงาม แต่เบื้องหลังกลับเป็น "ไอ้ค้างคาวผี" ตัวสูบเลือดอันน่าขยะแขยงที่คนท้องถิ่นพากันยี้ เพราะ อพท.กำลังทำให้คนท้องถิ่นอยู่กันอย่างลำบากมากขึ้น แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ กำลังมีการ "ผลักไส" คนท้องถิ่นให้ออกไปจากพื้นที่ของตัวเอง


 


แต่ในวันที่ 28 มิถุนายน จะเกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก อพท.ซึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งหมดจะร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ที่กรุงเทพฯ เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่ง "ยุบ" อพท.


 


"อพท." อุ้งมือมารของรัฐผู้กุมแหล่งท่องเที่ยวไทย


อพท. เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์หลักในการบริหารจัดการและพัฒนา "พื้นที่พิเศษ" เพื่อการท่องเที่ยว โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เดินไปตามทิศทางเดียวกัน


 


อพท.ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี หากมีโครงการเร่งด่วนที่เห็นสมควรจะสามารถเสนอขอใช้งบกลางได้ทันที และหากมีผู้ประกอบการรายใดสนใจเข้ามาลงทุน สามารถนำเสนอแผนงานไปที่ศูนย์ อพท.ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาและแนะนำในเรื่องการติดต่อในขั้นต่อไป อพท.จะเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ไปยื่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง การอนุมัติดังกล่าวจะมีภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน


 


พื้นที่แรกที่ประกาศเป็นเขตพื้นที่พิเศษ คือ "เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง" ในเดือนกันยายน 2547 ต่อมาคือ "แหลมถั่วงอกและพื้นที่เชื่อมโยง" จังหวัดกาญจนบุรี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 ให้จัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการภายใต้งบประมาณ 35,000,000 ล้านบาท จากนั้นจะปรพกาศต่อที่ "หมู่เกาะลันตาและพื้นที่เชื่อมโยงจังหวัดกระบี่" แต่คณะรัฐมนตรีให้ถอนเรื่องออกไปก่อน เพื่อจัดทำข้อเสนอใหม่ในภาพรวมไปพร้อมกับการประกาศเขตพื้นที่พิเศษในเขตจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติใน 6 จังหวัดภาคใต้


 


 ในวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบเรื่องการกำหนดแนวเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน "เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี" และ"หมู่เกาะเสม็ดและพื้นที่เชื่อมโยง" จังหวัดระยอง พื้นที่กำลังจะมีการประกาศ พ.ศ. 2550 ได้แก่ หาดเจ้าไหมและหมู่เกาะทะเลตรัง จังหวัดตรัง ภูหลวง ภูเรือ และภูกระดึง จังหวัดเลย


 


แต่ภายใต้ผ้าคลุมอันลึกลับของ "ท่านเคาท์" ก็มีคำถามที่น่าติดตามว่า แท้จริงแล้ว อพท. กำลังจะทำเพื่อใครกันแน่ ?


 


เมื่อ อพท.ประกาศให้พื้นที่ใดเป็น "พื้นที่พิเศษ" เพื่อการท่องเที่ยวแล้วจะสามารถนำพื้นที่นั้นไปร่วมทุนกับเอกชนได้ ทั้งที่เป็นตัวบุคคล นิติบุคคล รวมทั้งสามารถทำตัวเป็นตัวแทนหรือนายหน้า มอบหมายหรือว่าจ้างให้บุคคล หรือนิติบุคคลอื่นประกอบกิจการต่างๆ ในพื้นที่พิเศษนั้นได้


 


ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ อพท. สามารถใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปประกอบการธุรกิจได้ แต่ไม่ต้องส่งคืนเข้าคลังตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท. ปี 2546 จึงหมายความว่า หาก อพท. ร่วมทุนกับเอกชนรายใด ก็เท่ากับเอกชนรายนั้น ได้เงินงบประมาณไปลงทุนฟรีในนามของการร่วมทุนกับ อพท.


 


เมื่อย้อนกลับไปดูประสบการณ์ของ "เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง" พื้นที่แรกประกาศเป็นเขตพื้นที่พิเศษ รัฐบาลได้จัดสรรงบกลางของเงินงบประมาณประจำปี 2548 จำนวน 540 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาพื้นที่ในเขตดังกล่าว


 


 


ภายหลังจากการเข้ามาจัดการของ อพท. ผลที่ตามมาพบว่ามีการหลั่งไหลเข้าไปของกลุ่มทุนขนาดใหญ่(มาก) เช่น "เครือข่ายซีพี" หรือ "คีรี กาญจนพาสน์" กลุ่มทุนยักษ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่สนิทสนมกันมากกับ "ปลอดประสพ สุรัสวดี" ประธาน อพท. โดยมีแผนลงทุนในพื้นที่เกาะกระดาด


 


หรือแม้แต่ "สุวัจน์ ลิมปตพัลลภ" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พรรคไทยรักไทย ในช่วงที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับ อพท.ก็หมายตาที่ดินผืนงามที่ผ่านการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนฟรีเช่นกัน โดยเข้ามาซื้อที่ดินบริเวณอ่าวพร้าว บนเกาะกูดไปหลายสิบไร่ ซึ่งเป็นการซื้อต่อจาก "เนาวรัตน์ พัฒโนดม" ที่เล่าลือกันว่าเป็นอดีตพ่อค้าอาวุธระดับแถวหน้าของเมืองไทย ในราคาสูงถึง 250 - 300 ล้านบาท


 


"เจ๊หน่อย" หรือ "สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้จะทำหน้าบ๊องแบ๊วตลอดเวลาแต่ก็ไม่น้อยหน้า เข้ามาติดต่อซื้อที่ดินจากกลุ่มทุนท้องถิ่น 2 - 3 ราย รวมเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ในราคาราวๆ 300 - 400 ล้านบาท


 


"เจ๊ปิ๊ก" หรือ "ปวีณา หงสกุล" อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องยั้งการเอาเด็กมาออกโทรทัศน์ชั่วคราว รีบเข้าไปกว้านซื้อที่ดินบนเกาะช้างในช่วง 6 - 7 เดือน ก่อนหน้าจะประกาศให้ "เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง" เป็นพื้นที่พิเศษ


 


ในส่วนกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่มาเกี่ยวข้องก็ได้แก่ "กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา" ที่ทุ่มงบประมาณสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว บนเกาะช้าง "กลุ่มซันซิตี้" จากประเทศแอฟริกา ผู้นำธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ก็มาลงทุนถึง 50,000 ล้านบาท ที่เกาะกระดาด กิ่งอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด


 


ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆของผู้ได้รับผลประโยชน์เยอะๆจากการจัดการของ อพท. เท่านั้นเอง


 


"พีพี"ก็กำลังโดนทุนจ้องฮุบ


เกาะพีพี เป็นอีกพื้นที่หมายตาของ อพท. คนในพื้นที่ได้ยินชื่อ อพท.เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 โดย "อานนท์ พรหมนาท" ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เชิญเจ้าของที่ดินไม่กี่รายไปรับฟังแนวทางการฟื้นฟูเกาะพีพี หลังเหตุการณ์สึนามิ


 


หลังการฟัง แนวทางที่ อพท. นำเสนอในวันนั้น จากการชี้แจงของ "ธัญญา หารพล" รองผู้อำนวยการ อพท.แล้วก็สร้างความตระหนกให้กับเจ้าของที่ดินบนเกาะพีพี 34 ราย ที่มีเนื้อที่รวม 389.20 ไร่ ผู้ประกอบรายย่อยกว่า 600 ราย และแรงงานรับจ้างบนเกาะสวรรค์ของนักท่องเที่ยวอีกร่วม 6,000 คน


 


เพราะข้อเสนอสุดเก๋นั้นคือ การเนรมิตพื้นที่สูงบนภูเขาบนเกาะพีพี ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี ให้กลายเป็นรีสอร์ตหรูระดับ 5 ดาว มีบริการครบวงจร เพื่อรองรับเศรษฐีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้การบริหารจัดการของ อพท.


 


ส่วนพื้นราบระหว่างอ่าวต้นไทรกับอ่าวโด๊ะดาลัม ที่เดิมจะประกอบไปด้วย ชุมชนประมง, สถานบริการ และโรงแรม รีสอร์ตต่างๆ ต่อไปจะกลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ไม่มีสถานบริการ ไม่มีชุมชนใดๆ ทั้งนี้ ที่ดินทั้ง 389.20 ไร่ จะถูกเวนคืน แลกเปลี่ยน เช่า เช่าซื้อ หรือแปลงเป็นสินทรัพย์เข้าร่วมทุนกับ อพท.โดยใช้งบประมาณแผ่นดินในการเวนคืนที่ดินทั้งหมด ส่วนชาวบ้านที่ยังประสงค์จะอยู่บนเกาพีพีต่อไป อพท.จะรับผิดชอบดูแลทั้งหมด ด้วยการอพยพขึ้นไปอยู่บนภูเขา


 


เงื่อนงำที่น่าคิดต่อคือ การกำหนดไม่ให้มีสิ่งปลูกบนพื้นที่ราบบนเกาะพีอันจะนำมาสู่การเวนคืนที่ดินถึง 389.20 ไร่ นั้นอาจเป็นหนทางที่ทำให้ อพท.สามารถบริหารจัดการเกาะพีพีได้ทั้งเกาะอย่างสะดวกโดยไม่มีอะไรมากีดขวาง ในจุดนี้มีการใช้ข้ออ้างว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยและเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ จึงทำให้สามารถดำเนินการได้


 


อย่างก็ตาม มีการคาดเดากันต่อว่า พื้นที่ราบที่ถูกเวนคืนรวมทั้งที่ดินบนพื้นราบที่ไม่มีเอกสารสิทธิในปัจจุบันจะกลายเป็นสถานที่อาบแดด เล่นน้ำ ดำน้ำ ของเหล่านักท่องเที่ยว "ระดับมหาเศรษฐี"


 


ส่วนกลุ่มที่ อพท.จะไปร่วมทุนด้วยนั้น คงหนีไม่พ้นบรรดากลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อีกตามเคย เพราะมีทั้งศักยภาพ กำลังทรัพย์ พลังอำนาจ และคงต้องมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกลุ่มผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยุคปัจจุบัน โดยจะมีวิธีการบังคับซื้อที่ดินด้วยงบประมาณแผ่นดิน และทำในนามของการ "เวนคืน"


 


การคุกคามของ อพท. ที่กำลังลุกลามไปทั่ว


รายงาน "อพท. ผลประโยชน์การท่องเที่ยวเพื่อใคร" ของ ศยามล ไกยูรวงศ์ สำนักข่าวประชาธรรม ทำให้เห็นภาพของผู้ที่ได้รับผลประโยชน์แท้จริงจาก อพท. มากขึ้น


 


เพราะนอกจาก เกาะช้าง และพีพีแล้ว พื้นที่การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเป็นอีกกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ต่อไปคนในพื้นที่หรือคนไทยที่มีเงินไม่มากนักจะไม่สามารถมีความสุขกับชายหาดของประเทศตัวเองได้อีก เพราะ อพท.กำลังจะเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและการบริการ


 


โมเดลของภูเก็ตคือการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ และสร้างสาธารณูปโภครวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยวระดับไฮคลาสเท่านั้น ส่วนคนไทยต๊อกต๋อยคงจะสามารถเห็นได้จากชายทะเลที่ภูเก็ตได้ไม่เกินสองแห่งในเขตที่เป็นอุทยานแห่งชาติ เพราะชายทะเลอื่นๆจะกลายเป็นเป็นพื้นที่ของเอกชน ที่ อพท.ประเคนไปให้ครอบครองชายทะเลอย่างถูกกฎหมาย


 


อีกสิ่งที่น่าสนใจในรายงานของ "ศยามล" คือการถ่ายทอดความคิดของประชาชนชาว "เกาะเสม็ด" ที่มีต่อ อพท.อย่างตรงไปตรงมาไว้ด้วย ซึ่งควรต้องรับฟังว่าว่า "แนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของ อพท.เป็นจินตนาการที่เพ้อฝันของนายทุนนักการเมืองเป็นผู้กำหนด โดยอ้างเอา "ความเจริญ" มาเป็นอุดมการณ์ แล้วยัดเยียดให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม โดยการออกพระราชกฤษฎีกามาบังคับ ทั้งๆที่ไม่ใช่ปัญหาและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ถือเป็นลักษณะ top down ไม่ยึดหลักการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม และไม่เอาประชาชนในท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอย่างแท้จริง"


 


ส่วนในกรณี "โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี" นั้นถึงกับมีปัญหาที่ตัวประธานกรรมการ อพท. "ปลอดประสพ สุรัสวดี" เอง เพราะมีพฤติกรรมที่สนับสนุนการนำสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทยไปแลกเปลี่ยนสัตว์ป่าจากต่างประเทศเพื่อมาแสวงหากำไร เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดกฎหมายต่อปฏิญญาสัตว์ป่าสากล (CITES) ยิ่งไปกว่านั้นคณะกรรมการบริหารของ อพท. ได้พยายามเร่งรัดการประกาศผังเมือง และให้เกิดการลงทุนของกลุ่มทุนในพื้นที่เป้าหมายอันเป็นการบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยไม่ฟังเสียงการคัดค้านของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย อพท.อย่างชัดเจน และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ


 


ดังนั้น เมื่อ อพท. ทั้งกระบวนการเป็นไปในลักษณะนี้ สำหรับคนในท้องถิ่นต่างที่ อพท. เข้าไปเกี่ยวข้อง จึงหมายถึง "ความไม่ไว้วางใจ" อันมหาศาลเลยทีเดียว


 


ความระแวงของชาวบ้านที่ อพท. ไม่ตอบแต่ดันทุรังจะทำ


เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดประชุมเรื่องทางเลือกของชุมชนเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในจังหวัดกระบี่มาแล้วครั้งหนึ่ง ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นโดยเฉพาะที่เกาะลันตา และเกาะพีพี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของ อพท. ได้มีโอกาสได้มาเปิดเผยถึงความขับข้องใจต่อ อพท.


 


ข้อสังเกตจากที่ประชุมคราวนั้นพบว่า ความกังวลในการเข้ามาของ อพท. ที่ชาวบ้านมีนั้นเริ่มตั้งแต่ในระดับปรัชญาการก่อตั้งที่เน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว โดยยกระดับสถานที่ท่องเที่ยวให้รองรับนักท่องเที่ยวระดับสูง ได้เข้ามาอยู่นานๆ จ่ายเงินมากๆ


 


แต่เรื่องดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่เกินศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่นและชาวบ้านในชุมชนจะรองรับได้ ทำให้จำเป็นต้องดึงกลุ่มทุนท่องเที่ยวในระดับชาติหรือนานาชาติเข้ามาดำเนินการแทน อีกทั้งชาวบ้านยังเกรงว่านักท่องเที่ยวระดับสูงที่เข้ามามักต้องการความเป็นส่วนตัวสูง การได้รับบริการระดับสุดยอด เรื่องเหล่านี้ต่อไปในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวบ้าน เช่นหมอนวดชายหาดที่อาจจะถูกห้ามไม่ให้เข้าไปรบกวนนักท่องเที่ยว ผู้ให้บริการเรือหางยาวที่เกรงว่าจะไม่สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวระดับนี้ได้ หรือชาวประมงชายฝั่งที่ไม่แน่ใจว่า ถ้าปรับระดับการท่องเที่ยวไปเป็นระดับสูงแล้ว จะยังสามารถทำมาหากินชายฝั่งได้หรือไม่ เป็นต้น


 


และเมื่อพิจารณาโมเดลการพัฒนาเกาะพีพี ของ อพท. แล้ว การปรับเป็นโรงแรมเป็นระดับ 5 ดาว จะทำให้ผู้ประกอบการ แรงงาน และชาวบ้าน วิตกว่าจะไม่มีความสามารถสูงพอที่จะทำมาหากินกับนักท่องเที่ยวระดับนี้ได้ ในทางกลับกันเท่ากับผลักไสให้คนจำนวนนี้ต้องออกจากเกาะไปทำมาหากินต่างถิ่นแทน


 


สิ่งที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ภายหลังการเข้ามาของ อพท.คือการมีคนบางกลุ่มเข้ามาขอซื้อที่ดินบนเกาะพีพี จนมีข่าวลือว่า คนกลุ่มนี้เข้ามาซื้อที่ดินให้กับนักการเมืองระดับรองนายกรัฐมนตรี หรือข่าวลือว่ามีคนของพรรคไทยรักไทยเข้ามาเกาะพีพี เพื่อดูที่ดินที่ลูกหลานของผู้บริหารพรรค รวมทั้งมีข่าวลือว่า คนระดับรองนายกรัฐมนตรีมีหุ้นอยู่ในโรงแรมระดับ 5 ดาวบนเกาะพีพี เป็นต้น ผู้ประกอบการบนเกาะพีพีจึงเกรงกันว่า ทุนใหญ่กำลังเข้ามาเบียดขับทุนเล็ก และคนเล็กๆไปเสียแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net