Skip to main content
sharethis

ประชาไท—27 มิ.ย. 2549 รมต. คมนาคม-รฟท ยอมรับ ตอม่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง มักกะสัน-สุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิงก์) ร้าวถึง 14 ต้น ทุบแล้ว 2 เตรียมตั้งกรรมการสอบ ด้านหัวหน้าพรรคชาติไทยระบุไม่เห็นด้วยกับการสร้างเมืองล้อมสนามบิน


 


นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกับผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หลังพบว่าหลังจากเกิดรอยร้าวเสาตอม่อและคานโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง มักกะสัน-สุวรรณภูมิ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมระบุว่าหากเปิดใช้บริการจะลดอายุการใช้งานครึ่งหนึ่งของ 100%


 


นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล กล่าวยอมรับว่า ตอม่อและคานของโครงการดังกล่าวเกิดรอยร้าวขึ้นจริง พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าจากเสาตอม่อทั้งโครงการ 889 ต้น ได้ทำการหล่อเสร็จแล้ว 212 ต้น และพบในจำนวนดังกล่าวมีรอยร้าว 14 ต้น และในจำนวนดังกล่าวได้สั่งให้ทุบทำลายทิ้งเนื่องจากเสามีรูพรุนจนเห็นเนื้อเหล็ก และอีก 1 ต้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดว่าจะซ่อมแซม หรือทุบทิ้ง


 


ส่วนที่เหลือตรวจสอบแล้วไม่มีปัญหา เพราะเป็นรอยแตกร้าวที่ไม่เกินมาตรฐานทางวิศวกรรม นอกจากนี้ ยังพบรอยร้าวบริเวณคานกล่อง (Segment) โดยลักษณะรอยร้าวที่บริเวณผิวด้านในของคานกล่องที่ติดตั้งบนเสาตอม่อ ( Pier Segment ) ขนาด 0.2-0.3 มิลลิเมตร ซึ่งสาเหตุมาจากการดึงลวดอัดแรงด้วยแรงดึงที่มากเกินไป ซึ่งทางวิศวกรควบคุมงานยืนยันว่าแก้ไขได้โดยการใช้คาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการยึดรอยแตกร้าวไม่ให้ขยายเพิ่มขึ้นมาปิดทับ ส่วนคานที่ยังไม่ได้หล่อจะเพิ่มเหล็กเส้นให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าโครงสร้างแอร์พอร์ต ลิงค์ ยังมีความแข็งแรงตามมาตรฐานการออกแบบ และกรณีที่เกิดขึ้นยังไม่กระทบแผนงานโดยภาพรวม


 


ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบ เพื่อหาคำตอบใน 3 ประเด็น คือ สาเหตุของรอยร้าว ปริมาณการแตกร้าว และวิธีการซ่อมแซม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า


 


ด้านนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า สนามบินแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นเป็นพื้นที่รองรับน้ำทั้งหมดที่มาจากด้านตะวันออกของกทม. ดังนั้นการป้องกันน้ำท่วมทำได้เฉพาะในสนามบินพื้นที่หมื่นกว่าไร่เท่านั้น แต่โดยรอบไม่ได้ทำ อย่างไรก็ตาม เมื่อประกาศเป็นจังหวัดที่ 77 ควรจะปล่อยให้มีสนามบินอย่างเดียว ไม่น่าจะมีชุมชนหรือเมืองไปเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด


 


"โดยลึกๆ แล้วไม่เห็นด้วยที่จะเอาเมืองไปล้อมรอบสนามบิน เพราะในอนาคตจะต้องมีปัญหา เรานึกหรือว่าจะไม่เกิดปัญหาธรรมชาติ อาทิ พายุ ไต้ฝุ่นขนาดหนักเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อปี 2533 สมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยลงพื้นที่ที่สุวรรณภูมิ และเคยให้กรมโยธาธิการออกแบบบ้านเอาไว้ว่าหากใครจะสร้างบ้านในบริเวณดังกล่าวควรจะเป็นบ้านยกใต้ถุนสูง เพื่อให้น้ำไหลผ่าน ส่วนส้วมก็ให้ต่อถังรองรับ ซึ่งจำได้ว่ายังมีแบบแปลนอยู่ที่กรมโยธาธิการ"นายบรรหาร กล่าว


 


นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ขณะนี้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากกรณีรัฐบาลรักษาการได้ดำเนินการเรื่องสุวรรณภูมิมหานครขึ้นมาว่าเหมาะสมหรือไม่บนกระบวนการระบอบประชาธิปไตย โดยใช้สูตรสำเร็จของรัฐบาลทำเองทั้งหมด เคยมีความรู้สึกถึงหัวอกของคนที่อยู่ในพื้นที่หรือเขตนั้นบ้างหรือไม่ว่าเขามีความรู้สึกและมีความต้องการอย่างไร


 


"ถึงวันนี้อยากให้มองดูอารยประเทศด้วยว่าชุมชนกับสนามบินควรจะอยู่ร่วมกันหรือไม่ มีแต่เขาจะหนีความแออัดแล้วไปสร้างสนามบิน แต่เราสร้างสนามบินเสร็จแล้วจึงนำชุมชนและความแออัดเข้าไป มันสวนทางกัน จึงอยากให้รัฐบาลคิดและใคร่ครวญถึงความเหมาะสม" นายสมศักดิ์ กล่าวและว่า ที่สำคัญควรคิดถึงจริยธรรมของรัฐบาลในฐานะรัฐบาลรักษาการ ว่าเรื่องอย่างนี้สมควรหรือไม่แม้ว่าจะเป็นการอนุมัติในหลักการยังไม่ได้มีการปฏิบัติก็ตาม แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการตั้งจังหวัดใหม่ขึ้นมาอีกจังหวัดหนึ่ง


 


ที่มา: http://www.komchadluek.com และ เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net