ชง "สุวัจน์"ยกที่ดินอ่าวภูเก็ตให้เอกชนสัมปทาน90ปี

ภาคใต้—24 มิ.ย. 2549 "ภูเก็ต" สรุปรูปแบบลงทุนโครงการ 6 หมื่นล้าน พัฒนาอ่าวภูเก็ต เสนอ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" ให้เอกชนลงทุนทั้งหมด ยกให้ "เทศบาลนครภูเก็ต" เป็นแม่งานบริหารจัดการที่ดิน เปิดทางให้เอกชนเช่าหรือรับสัมปทานนาน 90 ปี ปัดข้อเสนอ "สภาพัฒน์" ที่ให้ "กรมธนารักษ์" จัดการ

 

รายงานข่าวจากจังหวัดภูเก็ตแจ้งว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2549 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี จะประชุมคณะกรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต ที่คณะกรรมการโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 โดยให้นายนที เปรมรัศมี ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต 17 ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศึกษารูปแบบการลงทุน ให้จังหวัดภูเก็ต ศึกษากิจกรรมในโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต เพื่อเตรียมเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2549 นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายนที ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมประชุม

 

ที่ประชุมเห็นชอบให้เทศบาลนครภูเก็ต ดำเนินการขอใช้ที่ดินบริเวณอ่าวภูเก็ตจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาประโยชน์ในที่ดิน ด้วยการให้เอกชนเข้ามาลงทุน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นว่า ควรให้บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดำเนินการ เพราะนอกจากจะเป็นหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังมีความเป็นมืออาชีพมากกว่าเทศบาลนครภูเก็ต แต่ที่ประชุมเห็นแย้งว่า เทศบาลนครภูเก็ตเหมาะสมกว่า เพราะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีที่ดินต่อเนื่องกับโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตอยู่แล้ว

 

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอรูปแบบการบริหารจัดการและการลงทุนรวม 4 รูปแบบ รูปแบบแรก ให้องค์การบริหารส่วนตำบลรัษฎา องค์การบริหารส่วนตำบลวิชิต เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมดำเนินการในลักษณะสหการ ตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ขึ้นมาประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุน ตามพระราชบัญญัติให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

 

รูปแบบที่ 2 ให้เอกชนลงทุนทั้งหมด เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้ที่ดินแล้ว ให้เทศบาลนครภูเก็ตในฐานะเจ้าของโครงการ เปิดให้เอกชนเช่าที่ดิน หรือให้สัมปทาน 30 ปี 50 ปี หรือ 90 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นให้เอกชนพัฒนาอ่าวภูเก็ต ตามที่กำหนดไว้ใน TOR ซึ่งเจ้าของพื้นที่ และรัฐจะได้ประโยชน์ในรูปของค่าเช่า ค่าสัมปทาน ภาษีโรงเรือน และรายได้อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

 

รูปแบบที่ 3 เอกชนดำเนินการร่วมกับท้องถิ่น โดยให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับท้องถิ่นตามขั้นตอนพระราชบัญญัติร่วมทุนในกิจการของรัฐ โดยแบ่งผลประโยชน์ กำไร ขาดทุน ตามสัดส่วนของทุน

 

รูปแบบสุดท้าย ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอให้มีองค์กรพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย กรมธนารักษ์ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชนผู้ลงทุน สถาบันการเงิน ร่วมกันลงทุน

 

สำหรับรูปแบบที่จังหวัดภูเก็ตต้องการ คือ รูปแบบที่ 2 ให้เอกชนเข้ามาลงทุนทั้งหมด โดยรัฐมีหน้าที่ให้การสนับสนุน และผ่อนปรนกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพราะโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณลงทุนสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาท จากแบบที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาไว้

 

สำหรับกิจกรรมในโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต จะยึดตามผลการศึกษาของกรมโยธาธิการแลผังเมือง คือ การพัฒนาเป็นเกาะ MICE และเกาะ MARINA ที่มีกิจกรรมด้านโรงแรม ศูนย์ประชุมแสดงสินค้า ศูนย์ชอปปิ้ง ท่าเรือรองรับเรือยอชต์ ป็นต้น โดยจะมีการนำผลการศึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมืองมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท