บทความ 24 มิถุนา 2475: คณะราษฎรรีบร้อนจริงหรือ

 

 

ชำนาญ จันทร์เรือง

 

หนึ่งในบรรดาประเด็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์การเมืองของไทยที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติการณ์ 3 - 4 เดือนหลังที่ผ่านมานี้ก็คือประเด็นที่ว่า พระปกเกล้าฯ เตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรฉวยโอกาส ช่วงชิงเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นความผิดของคณะราษฎร ที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องล้มลุกคลุกคลานมาจนถึงบัดนี้ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่ออนุชนรุ่นหลังและเป็นการกล่าวโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อคณะราษฎรที่เสี่ยงชีวิตเข้าแลกเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ราษฎร มีสิทธิมีเสียงในการที่จะเลือกผู้ที่จะมาปกครองตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมวลมนุษยชาติ ทั้งหลาย

 

ก่อนที่เราจะด่วนพิจารณาตัดสินความผิดถูกในประเด็นนี้เราต้องดูพื้นเพภูมิหลังของคณะผู้ก่อการซึ่งล้วนแล้วประกอบไปด้วยผู้ที่มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในราชการระบบเก่าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนายพันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม นายนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ฯลฯ ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่สำเร็จแล้ว อย่าว่าแต่ยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งหลายจะสูญสิ้นไปเลยแม้แต่หัวก็จะหลุดออกจากบ่าเอาเสียด้วยซ้ำ แต่คณะราษฎรก็เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

 

สำหรับในประเด็นที่ว่าพระปกเกล้าฯ เตรียมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรใจร้อนชิงลงมือเสียก่อนนั้น สุพจน์ ด่านตระกูล ได้กล่าวไว้ในปาฐกถาเนื่องในวันชาติ 24 มิถุนายน 2540 สรุปได้ดังนี้

 

พระปกเกล้าฯ ทรงเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฝรั่งว่า ในเรื่องที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นทรงเคยปรึกษากับ ฟรานซีส บี แซร์ หรือพระยากัลยาณไมตรี เมื่อปี พ.ศ. 2469 มาแล้วครั้งหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2475 จึงรับสั่งให้พระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอนต์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญถวาย และกำหนดกันว่าจะพระราชทานในวันจักรี ที่ 6 เมษายน 2475

 

ร่างรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิสารวาจาและสตีเวนส์ที่ว่านี้ ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงเค้าโครงการจัดรูปแบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น มิใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด โดยรูปแบบและที่มาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีว่า

 

 1. ฝ่ายบริหาร ให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนองค์พระมหากษัตริย์ ให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิเลือกคณะรัฐมนตรี แต่พระมหากษัตริย์ทรงเป็น

ผู้เลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยพระองค์เองตามพระราชอัธยาศัย

 

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นสมาชิกสภาโดยตำแหน่ง จะทำหน้าที่บริหารโดยมีกำหนดวาระ แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงแต่งตั้งใหม่ หรือพระมหากษัตริย์จะทรงให้ออกเมื่อใดก็ได้

 

 2. ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎร ให้ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 50 คน อย่างมาก 75 คน กึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระราชอัธยาศัย กึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี อ่านออก เขียนได้ และเป็นผู้เสียภาษีในจำนวนที่แน่นอน

 

สมาชิกอยู่ในวาระคราวละ 4 ปี หรือ 5 ปี แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงยุบสภาเมื่อใดก็ได้ และมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภา รวมทั้งพระราชอำนาจที่จะทรงทำสัญญาหรือข้อตกลงกับต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องผ่านสภา และในกรณีที่สภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้วรัฐบาลจะต้องลาออก แต่พระมหากษัตริย์จะทรงรับใบการลาออกหรือให้อยู่เป็นรัฐบาลต่อไปก็ได้ (ชัยอนันต์ สมุทวนิช - การเมืองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย)

 

อย่างไรก็ตามอภิรัฐมนตรีส่วนข้างมากและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่รวมทั้งพระยาศรีวิสารวาจาและนายสตีเวนส์ ผู้ร่างถวาย มีความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนั้น วันที่ 6 เมษายน 2475 จึงผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

ในประเด็นของความรับผิดชอบของผู้ที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรนั้น ภายหลังจากที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ พยายามเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ แต่ก็ถูกขัดขวางโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ทำรัฐประหารเงียบโดยได้สั่งปิดสภาฯ โดยไม่มีกำหนด และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป็นการกระทำที่เสมือนหนึ่งการฉีกรัฐธรรมนูญ และได้เนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ออกนอกประเทศ ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำลายคณะราษฎร เพราะเข้าใจกันว่านายปรีดีเป็นมันสมองของคณะราษฎร และแผนต่อไปก็คือการจับกุมคณะราษฎรมาลงโทษฐานขบถ

 

แต่พระยามโนฯ ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้ยึดอำนาจคืนจากพระยามโนฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้กลับสู่ประเทศอีกครั้งหนึ่ง และได้เข้าร่วมบริหารราชการแผ่นดินกับคณะราษฎรรวมเวลา 14 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2476 ถึงปี พ.ศ. 2489 ก็ได้มอบคืนอำนาจนั้นให้แก่ราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 โดยยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 (ที่มาจากการแต่งตั้ง) และให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข และสิทธิในการที่จะนิยมลัทธิการเมืองใด ๆ ก็ได้

 

แต่ในที่สุดก็ได้มีรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ เกิดขึ้น ซึ่งนับแต่นั้นมาคณะราษฎรก็ถูกบังคับให้ยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และการถือครองอำนาจรัฐก็ตกแก่คณะรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ คณะปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร คณะปฏิรูปฯ ของพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ และคณะอื่น ๆ อีกหลายคณะ จนมาถึงคณะ รสช.ของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ในปี พ.ศ. 2534

 

จึงเห็นได้ว่าช่วงระยะเวลาที่คณะราษฎรถือครองอำนาจรัฐนั้นมีเพียง 14 ปี จากทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน 74 ปี ส่วนที่เหลืออีก 60 ปี ล้วนแต่อยู่ในอำนาจของกลุ่มอำนาจอื่นไม่ว่าจะเป็นจากทหารหรือพลเรือนที่มีส่วนทำให้ประชาธิปไตยไทยบิดเบี้ยวมาจวบจนปัจจุบันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท