Skip to main content
sharethis

ประชาไท—21 มิ.ย. 2549 จากกรณีที่นายรองพล เจริญพันธุ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ (ไอทีวี) เปิดเผยว่า ได้รับคำตอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดให้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลในการเพิกถอนอนุญาโตตุลาการทันที และสปน.ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าปรับภายใน 1 ปี ดังนั้น คณะกรรมการจะส่งหนังสือให้ไอทีวีจ่ายค่าปรับภายในวันที่ 23 มิถุนายนนี้


 


โดยไอทีวีจะต้องจ่ายค่าสัมปทานในปีที่ 9 เป็นจำนวนเงิน 670 ล้านบาท และดอกเบี้ยที่ผิดนัด 15% อีก 651 วัน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 179 ล้านบาทเศษ ในส่วนของปีที่ 10 จะต้องจ่าย 770 ล้านบาท ดอกเบี้ย 90.5 ล้านบาท สรุปแล้วในปีที่ 9 และ 10 ไอทีวีจะต้องจ่ายค่าสัมปทานเป็นเงิน 1,709 ล้านบาทเศษ


นอกจากนี้ ไอทีวียังต้องจ่ายค่าสัมปทานของปีนี้ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 3 กรกฎาคมอีก 1,000 ล้านบาท


 


และไอทีวียังมีค่าปรับผังรายการที่ทำผิดสัญญาจากที่กำหนดไว้ให้มีรายการสารประโยชน์ กับรายการบันเทิงในอัตราส่วน 70 ต่อ 30 แต่ไอทีวีมาปรับเป็น 50 ต่อ 50 ค่าปรับดังกล่าวคิดในอัตรา 10% ของเงินค่าสัมปทานรายปี โดยคิดค่าปรับเป็นรายวัน ตั้งแต่ 1 เมษายน 2547-9 พฤษภาคม 2549 รวม 769 วัน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7.596 หมื่นล้านบาท


 


นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ รักษาการส.ว.อุบลราชธานีในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อวุฒิสภา แสดงความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับไอทีวี ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาซึ่งมันเป็นคำสั่งของศาลปกครองกลาง ก็ต้องปฏิบัติตาม ต้องดำเนินการ ถึงแม้ว่าไอทีวีจะกล่าวอ้างว่าจะต้องรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดและต้องรอการอุทธรณ์


 


รักษาการส.ว.อุบลราชธานี มองว่า แนวทางตัดสินของศาลปกครองสูงสุดไม่น่าจะแตกต่างจากศาลปกครองกลางโดยน่าจะออกมาในแนวทางเดียวกัน ดังนั้นไอทีวีน่าจะเตรียมรับมือโดยการวางกระบวนการที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงซึ่งหากคิดตามจำนวนเงินค่าปรับของสปน.แล้วไอทีวีน่าจะพ่ายแพ้



"นี่ถือเป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ที่ผู้บริหารไอทีวีและประชาชนรวมทั้งรัฐบาลควรจะกลับมาไตร่ตรองโดยเฉพาะสถานะของไอทีวีในขณะนี้ซึ่งถูกขายทอดตลาดไปโดยกลุ่มชินคอร์เปอเรชั่นให้กลุ่มทุนเทมาเส็กเท่ากับเขาไม่ได้มีสัญชาติเป็นของไทยแล้ว ดังนั้น การจะนำทรัพย์สมบัติชาติมาซื้อขายควรจะไตร่ตรองให้รอบคอบเพราะเมื่อต่างชาติซื้อไปเขาก็ได้ของมีตำหนิ และคนที่จะถูกครหาที่สุดคือกลุ่มชินฯ" นพ.นิรันดร์ กล่าว


 


ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ รักษาการส.ว.กรุงเทพมหานคร ในฐานะแกนนำในการต่อสู้เพื่อทวงคืนไอทีวีให้กลับมาเป็นของประชาชน กล่าวว่า เป็นโอกาสอันดีที่ทางกลุ่มจะดำเนินการทวงคืนไอทีวีเพื่อกลับมาเป็นของประชาชน ซึ่งตอนนี้ได้นัดองค์กรภาคประชาชน องค์กรสื่อมวลชน และพนักงานในไอทีวี รวมทั้งนักวิชาการมาระดมความคิดว่า จะมีช่องทางทางด้านกฎหมายอย่างไรที่จะสามารถนำไอทีวีกลับมาเป็นของคนไทยและเป็นอิสระปลอดจากการเมืองอย่างแท้จริงได้


 


"อยากบอกว่าที่มาต่อสู้เรียกร้องให้ไอทีวีกลับมาเป็นของประชาชน ผมไม่ได้รังเกียจคนที่ทำงานในไอทีวีแต่ต้องการจะเปลี่ยนโครงสร้างของไอทีวีให้กลับมาสู่เจตนารมณ์ในการก่อตั้งดังเดิมคือสถานีโทรทัศน์เพื่อประชาชนที่แท้จริง เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่า ขณะนี้ไอทีวีบิดเบี้ยวไปเยอะแล้ว โดยการเมืองมีส่วนอย่างมากที่เข้ามาควบคุมและครอบงำ ไม่เฉพาะไอทีวีอย่างเดียว ทีวี วิทยุเอกชนก็นำเสนอข่าวสารที่เป็นด้านเดียวและเป็นผลประโยชน์กับฝ่ายการเมืองมากกว่าจะเป็นผลประโยชน์กับประชาชน


 


"คิดว่าในโอกาสนี้เราน่าจะมาต่อสู้ร่วมกันเพื่อระดมทุนให้ไอทีวีกลับมาเป็นของเราโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ พนักงานเก่าที่เคยอยู่ไอทีวีเขาก็น่าจะกลับมาทำงานเหมือนเดิมเมื่อไอทีวีกลับมาดังเดิมแล้ว" รักษาการส.ว.กรุงเทพฯ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net