Skip to main content
sharethis

ภาคใต้ -21 มิ.ย. 2549 "ผบชภ. 9" ติวเข้มตำรวจ 3 จังหวัดใต้ เพิ่มประสิทธิภาพรับมือกลุ่มก่อความไม่สงบป่วนใต้ ผอ.สพท.นราฯ สั่งเบรก กอ.สสส.จชต. นำนักเรียนเยี่ยมครูจูหลิง ศาลปัตตานี นัดสืบพยานคดีตากใบกรกฎาฯ นี้ถี่ยิบ "นักเรียนเก่าอาหรับ" แนะทางแก้ปัญหาใต้ หน่วยงานการศึกษาต้องมทำงานร่วมกับองค์กรศาสนา ยอมรับนักเรียนมุสลิมชายแดนใต้ ไม่สนใจวิชาสามัญ


 


 ผบช.ภ.9 ติวเข้มตำรวจ 3 จังหวัดใต้


วันเดียวกัน ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จังหวัดยะลา พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการฝึกปฏิบัติในการเป็นผู้นำ และบริหารหน่วยงานในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9 ให้กับหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา มุ่งเน้นการสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง สามารถวางมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว และแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบได้ถูกต้องตรงจุด


 


พล.ต.ท.อดุลย์ กล่าวว่า ในการติดตามไล่ล่าผู้ก่อเหตุระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 ได้ใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จับกุมผู้ต้องสงสัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หลายราย ขณะนี้นำมาสอบสวนหาข้อมูลเชื่อมโยงต่อไปว่า แต่ละคนมีส่วนร่วมก่อเหตุระเบิดหรือไม่


 


สพท.นราฯ เบรกกอ.สสส.จชต.นำเด็กเยี่ยมจูหลิง


เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 มิถุนายน 2549 ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พ.ต.ณรงค์ สุวรรณอำไพ ตัวแทนกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกอ.สสส.จชต. ได้มอบกระเช้าดอกไม้เป็นกำลังใจแก่นายสูน - นางคำมี ปงกันมูล พ่อแม่ของครูจูหลิง ปงกันมูล ครูโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ที่ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส


 


โดยกำหนดการเดิมกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนำนักเรียนโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ 30 คน ไปเยี่ยมครูจูหลิง ตามกำหนดเดิมที่ให้นำนักเรียน 19 โรงเรียนในอำเภอระแงะ มาเยี่ยมครูจูหลิงทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดีรวม 9 สัปดาห์ แต่ถูกผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 สั่งระงับโดยไม่ทราบสาเหตุ


 


ขณะที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 32 ระบุอาการของครูจูหลิงว่า ยังไม่รู้สึกตัว สัญญาณชีพคงที่ ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์เกือบปกติ ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจควบคุมการหายใจทั้งหมด บางมื้อรับอาหารทางสายยางได้น้อย และมีไข้เล็กน้อย แพทย์ยังคงให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อจากการบาดเจ็บ และรักษาอาการปอดติดเชื้อ รวมทั้งให้ยาร่วมกับเครื่องป้องกันเลือดในหลอดเลือดดำส่วนขาแข็งตัว ให้ยากระตุ้นหัวใจเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ แพทย์พยายามประคับประคองสัญญาณชีพของผู้ป่วยให้อยู่ในภาวะปกติ เพื่อหวังจะรอดูการตอบสนองของสมองและแกนสมองต่อไป


 


ศาลนัดสืบพยานคดีตากใบ


นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความคดีสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 75 ราย ในระหว่างขนย้ายผู้ชุมนุม มายังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดปัตตานี ได้นัดสืบพยานคดีนี้ ในวันที่ 17, 24 และ 31 กรกฎาคม 2549 โดยศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีอย่างคนอนาถา


 


นายรัษฎา เปิดเผยด้วยว่า ส่วนวันที่ 20 มิถุนายน 2549 ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดกำหนดวันพิจาณาคดีญาติผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ 6 ราย ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 1 กับพวก รวม 6 คน ได้แก่ กองทัพบก, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และจังหวัดนราธิวาส โดยศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีอย่างคนอนาถาเช่นกัน


 


นักเรียนเก่าอาหรับเสนอทางแก้ไฟใต้


เวลา 14.00 น. วันเดียวกัน ที่กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นายรังสรรค์ ทองทา ฝ่ายการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ พร้อมคณะ 40 คน ประกอบด้วย นักวิชาการศาสนาอิสลาม ผู้นำศาสนา อาจารย์ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และนักเรียนเก่าอาหรับ นำผลสรุปการสัมมนา "นักวิชาการศาสนาอิสลามเพื่อความสมานฉันท์" เมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ที่โรงแรม เจบี อำเภอหาดใหญ่ เสนอพล.ต.พิเชษฐ วิสัยจร รองผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ผลสรุปการสัมมนา แยกเป็น ข้อสรุปของกลุ่มย่อยกลุ่มที่ 1 เรื่องสังคมและการศึกษา ระบุว่า จะต้องจขัดการการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักการอิสลาม และต้องมียุทธศาสตร์และแนวทางปฏิบัติ ที่ชัดเจน จะต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานการศึกษาและศาสนา


 


กลุ่มย่อย กลุ่มที่ 2 เรื่องเศรษฐกิจ และความมั่นคง ระบุว่า มุสลิมส่วนมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความผูกพันกับโลกแห่งการตอบแทนหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว การแสวงหาปัจจัยยังชีพ การศึกษาเรียนรู้วิชาสามัญ วิชาชีพ การติดต่อประสานงานราชการ จึงไม่ได้รับความสนใจเพียงพอต่อความจำเป็นในการดำรงชีวิต ภายใต้สภาพปัญหาเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ตัวบ่งชี้ที่เห็นได้ชัด คือ ผลผลิตนักเรียนที่จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนมากเรียนรู้วิชาการศาสนา แต่ไม่สามารถศึกษาต่อในสาขาวิชาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ


 


ระเบิดชุดคุ้มครองครู


เมื่อเวลา 08.35 น. วันที่ 20 มิถุนายน 2549 เกิดเหตุระเบิดขึ้นบนถนนสายตากใบ - สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส บริเวณบ้านปะดาดอ หมู่ 4 ตำบลนานาค อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คาดว่าคนร้ายวต้องการทำร้ายชุดรักษาความปลอดภัยครู ที่เดินผ่านจุดเกิดเหตุเป็นประจำ โดยวันเกิดเหตุชุดคุ้มครองครูได้เดินผ่านไปก่อนเกือบ 30 นาที


 


"อดีตกอส." แนะรัฐบาลลาออก


นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลน่าจะมีนโยบายในการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ที่ชัดเจน กว่าการมอบหมายให้พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้แก้ปัญหา เพราะถึงแม้จะมอบหมายให้ใครเป็นผู้ดูแล ถ้ายังคงใช้นโยบายเดิมก็ยังคงล้มเหลวเหมือนเดิม


 


"อาจเป็นเพราะผู้บัญชาการทหารบกเป็นมุสลิม รัฐบาลจึงมอบหมายให้แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากทำได้ดีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าพลาดเพราะทำตามนโยบายรัฐบาล จะยิ่งก่อความเสียหายมากขึ้น กรณีนี้ไม่เกี่ยวว่าคนแก้ปัญหาเป็นพุทธหรือมุสลิม ที่สำคัญ คือ นโยบายของรัฐบาลถูกต้องหรือไม่มากกว่า ผมเกรงว่าการที่รัฐบาลมอบหมายให้ผู้บัญชาการทหารบกรับผิดชอบแก้ปัญหา เพราะต้องการใช้การทหารนำการเมือง ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่า" นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าว


 


นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวว่า ถ้าจะเสนอแนะตรงไปตรงมา คงต้องบอกให้รัฐบาลลาออก เพราะขณะนี้หมดความชอบธรรมในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ความไม่สงบที่ผ่าน มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 พันคน ถ้าลาออกไปแล้วได้กลับเข้ามาใหม่ ก็ควรปรับโครงสร้างการแก้ปัญหาด้วย เป็นที่น่ายินดีว่า ทางกระทรวงยุติธรรมได้นำรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ไปปรับใช้ เช่น การจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนบริการชาวบ้าน รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ก็นำข้อเสนอด้านการศึกษาไปปรับใช้ หน่วยงานหลักที่ดูแลแก้ปัญหาในพื้นที่ คือ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม จึงควรนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติไปใช้ด้วย


 


"การที่เจ้าหน้าที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ทราบเรื่องนี้จะมีการลอบวางระเบิดล่วงหน้าแล้ว จะยิ่งทำให้ชาวบ้านเกิดคำถามต่อการทำงานของรัฐบาลมากขึ้นว่า เมื่อรู้ข้อมูลล่วงหน้าทำไมถึงยับยั้งเหตุร้ายไม่ได้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่เอาไหน และไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล หากเป็นอยู่อย่างนี้ พล.อ.สนธิจะเป็นเป็นเหยื่อรายต่อไป เพราะหากมีเรื่องรุนแรงขึ้นมาอีก คงถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งเช่นเดียวกับที่ผ่านมา" นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าว


 


"บิ๊กฉิ่ง" ระบุรัฐไร้เอกภาพแก้ปัญหาใต้


พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ต้องยอมรับก่อนว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นฝีมือขบวนการแบ่งแยกดินแดน จากนั้น จะต้องวิเคราะห์ถึงการใช้รูปแบบในการแก้ปัญหา ทั้งสันติวิธี การทหาร และการพัฒนาอย่างเป็นระบบ


 


"ตอนนี้ ในพื้นที่ดูเหมือนแม่ทัพภาคที่ 4 มีอำนาจ แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่มีอำนาจเลย เพราะอำนาจไปอยู่ในรูปของกรรมการซ้อนอยู่มั่วไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกรรมการชุดพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลเอกสิริชัย ธัญญสิริ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ปฏิบัติกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า การแก้ปัญหาแต่ละเรื่องยาวและซ้ำซ้อน คนที่รู้และแก้ปัญหาได้ ต้องอยู่ในพื้นที่ เรื่องการจัดการและงบประมาณ จะได้ลำบากน้อยลง" พล.อ.กิตติ กล่าว


 


พล.อ.กิตติ กล่าวว่า การมอบหมายให้ผู฿บัญชาการทหารบกดูแล ถือว่าดีแต่ยังไม่ถูกต้อง ควรยุบคณะกรรมการทั้งหลายให้หมด แล้วมอบให้แม่ทัพภาคที่ 4ดูแลเต็มตัว ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการทหารบก โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นตัวเชื่อม ทหารจากภาคอื่นๆ ควรส่งกลับสังกัดเดิม ภายใต้การตัดสินใจของแม่ทัพภาคที่ 4


 


"ตำรวจจากส่วนกลาง คือ ปัญหาอีกส่วนหนึ่ง ขณะนี้การแก้ปัญหาเป็นแนวคิดแบบตำรวจ ต้องยอมรับว่า แนวคิดของ พล.ต.อ.ชิดชัยกับพล.อ.สนธิไม่ตรงกัน ขณะนี้อยู่ในสถานการณ์สู้รบ จึงเป็นหน้าที่ของทหารในการแก้ปัญหา ขบวนการก่อความไม่สงบมีคนเยอะ ก่อความรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ มีขีดความสามารถในการโจมตีฉาบฉวย ตอนนี้ไม่ใช่พวกอาร์เคเคที่กำลังเป็นหนูวิ่งพล่านอย่างที่นายกรัฐมนตรีพูด แต่เป็นรัฐบาลต่างหากที่กำลังเป็นหนูวิ่งพล่าน รัฐบาลไม่ยอมรับความจริง จะต้องนำเอามุสลิมเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วย ไม่ใช่ทุกอย่างอยู่ที่ส่วนกลาง" พล.อ.กิตติ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net