พม.เผย สังคมไทยเป็นครอบครัวเดี่ยวเกินครึ่งแล้ว

16 มิ.ย. 49 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยและมูลนิธิสร้างสรรค์สถาบันครอบครัว จัดการสัมมนาทางวิชาการภูมิภาค เรื่อง การเสริมพลังและสร้างเครือข่ายครอบครัวไทย (Family Empowerment)

 

นางอุบล หลิมสกุล ผู้ตรวจราชการ พม. กล่าวว่า ขณะนี้รูปแบบและโครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่เป็นครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ประชากรของไทยปี 2549 มีประมาณ 69 ล้านคน คิดเป็น 17 ล้านครอบครัว โดยพบว่ามีครอบครัวเดี่ยวมีเพียงพ่อ แม่ ลูก หรือ พ่อ / แม่ และลูก หรือ สามีและภรรยามีแนวโน้มสูงขึ้นเหมือนประเทศสิงคโปร์ เฉพาะครอบครัวเดี่ยวที่มีแต่คู่สมรสคือสามีและภรรยามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือปี 2543 มีร้อยละ 12.0 เพิ่มเป็นร้อยละ 13.5 และ 13.9 ในปี 2546 และ 2547 ตามลำดับ โดยครอบครัวเดี่ยวจะเกิดขึ้นครั้งแรกของการแต่งงาน หลังมีลูกคนแรกจะกลับเข้ามาสู่แบบครอบครัวขยายกับพ่อแม่เดิม และเมื่อมีลูกของญาติมาอยู่กันจำนวนมากขึ้นเป็นครอบครัวใหญ่ จะแยกตัวเป็นครอบครัวเดี่ยวอีกครั้ง

 

สอดคล้องกับข้อมูลการวิจัย เรื่อง เด็กไทยใน 4 ปีสร้างของรัฐบาลใหม่ ระบุว่า ปี 2545 มีปริมาณครอบครัวเดี่ยว 55.5% ครอบครัวขยายเหลือ 32.1% อัตราจดทะเบียนสมรสลดลง 8% ในเวลา 5 ปี การอยู่ร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนสูงขึ้น 35.9% โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากจด ไม่จำเป็น อยู่กันด้วยใจ ไม่มีใครนิยมจด หรืออยู่ด้วยกันมานานแล้ว ซึ่งพบว่า ไม่อยากทำนิติกรรมเพราะจะได้เลิกง่าย 31.2 % ไม่อยากเป็นนาง 13.5 % อัตราการหย่าร้างสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ครอบครัวไทยอยู่ในภาวะแตกแยกหย่าร้าง 3 ล้านครอบครัว ครอบครัวแบบที่พ่อและแม่เลี้ยงลูกเพียงลำพังมีถึง 1.3 ล้านครอบครัว ซึ่งการสาเหตุของการสิ้นสุดชีวิตคู่มี 4 รูปแบบ คือ การละทิ้ง การแยกทาง การหย่าร้าง และการเสียชีวิตของคู่สมรส

 

ผู้ตรวจราชการ พม. เปิดเปยด้วยว่า มีลักษณะของครอบครัวเพศเดียวกันมากขึ้น เนื่องจากสังคมไทยเริ่มเปิดกว้าง และให้โอกาสแก่บุคคลที่มีพฤิตกรรมเบี่ยงเบนทางเพศสามารถเปิดเผยตนเองและใช้ชีวิตในสังคมได้ ทำให้สามารถใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้ในฐานะของคู่สมรส เกิดเป็นครอบครัวในรูปแบบใหม่ สำหรับประเทศไทยมีคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีการรวบรวมเก็บสถิติไว้

  

"ดิฉันเห็นว่าครอบครัวลักษณะนี้ควรมีการศึกษาว่ามีความยั่งยืน เข้มแข็ง และอบอุ่นหรือไม่อย่างไร รวมไปถึงครอบครัวบุตรบุญธรรม เป็นครอบครัวที่สามีและภรรยาไม่สามารถมีบุตรได้ ขอรับเลี้ยงเด็กเป็นบุตรของตนเอง ปี 2547 มีผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม 3,403 ครอบครัว พบเด็กที่อยู่กับปู่ย่าตายายประมาณ 37.3% ครอบครัวที่เด็กกำพร้าอาศัยอยู่กันตามลำพัง เนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตด้วยสาเหตุต่างๆ ประมาณ 8.2%" ผู้ตรวจราชการ พม.กล่าว

 

นอกจากนี้ยังได้อ้างรายงานว่า หัวหน้าครอบครัวเป็นชาย 73.2% เป็นผู้หญิง 26.8% ซึ่งหัวหน้าครอบครัวเป็นหญิงมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี จากรายงานพบว่า ปี 2543 มี 24.7 ปี 2546 เพิ่มเป็น 26.8% ซึ่งอาจมีผลสืบเนื่องจากการที่สตรีอยู่เป็นโสดมากขึ้น โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวไทย ส่วนใหญ่พบ 3 เรื่องใหญ่ คือ ปัญหาความยากจน มี 11 ล้านคน อาทิ ปัญหาหนี้สิน ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ปัญหาหัวหน้าครอบครัวและคนในครอบครัวติดยาเสพติด ปัญหาโรคเอดส์ มีการติดเชื้อ 1.1 ล้านคน เสียชีวิต 5 แสนคน ยังมีชีวิตอยู่กว่า 5 แสนคน ติดเชื้อใหม่ 18,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น และปัญหาความรุนแรงในครอบครัวทั้งที่เกิดจากผู้ใหญ่ทารุนเด็กและเด็กด้วยกันเอง

 

..........................................................................

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท