Skip to main content
sharethis


ศูนย์ข่าวประชาสังคม อุบลฯ


 


 


วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน บ้านโนนตาล กิ่ง อ. นาตาล จ. อุบลฯ ผู้คนที่นี่ต่างเรียนรู้ที่จะพึงพากันและกัน ปลาแลกข้าว - ข้าวแลกปลา แต่ปัจจุบันปลาเริ่มลดลงและหายากมากขึ้น นั้นเพราะวิถีนักเลงลวงปลาผันเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี


 


นับเป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้เดินทางมายังหมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำของ หรือ แม่น้ำโขง เพื่อมาร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตอันหลากหลายของผู้คนที่นี่ นั้นคือ บ้านโนนตาล ตั้งอยู่ใน กิ่ง อ. นาตาล จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุบลฯ ประมาณ 103 ก.ม. ต้องขับรถผ่านอำเภอเหล่าเสือโก้ก และ อ. ตระการพืชผล ก่อนที่จะผ่านถนนลูกรังเพื่อเข้าสู่ตัวหมู่บ้านโนนตาล สิ่งแรกที่ดิฉันสัมผัสได้เมื่อมาถึงที่นี่ คือการต้อนรับด้วยความเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้ดิฉันพลอยอุ่นใจว่าอย่างน้อย ก็ไม่น่าอดตายอย่างแน่นอน


           


พ่ออ่วม หรือ นายหนูกร เพชรพันธ์ อายุ 56 ปี สมาชิก อบต. โนนตาล ได้บอกเล่าเรื่องราวหมู่บ้านแห่งนี้ให้ฟังว่า บ้านโนนตาล ก่อตั้งเมื่อปี 2505 โดยชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้พาครอบครัวย้ายออกมาจากบ้านนา และมาตั้งรกรากบนพื้นที่แห่งนี้ซึ่งเป็นป่าช้าเก่า


 "ใน สมัยก่อนพื้นที่รอบหมู่บ้านจะเป็นป่าไผ่ทั้งหมด แต่ละบ้านจะเลี้ยงวัว ควาย จำนวนมาก และไม่ต้องกลัวว่าจะมีโจรมาลัก เพราะป่าไผ่ทึบมาก แต่ปัจจุบันผู้คนเข้ามาอาศัยมากขึ้นจึงต้องแผ้วถางป่าไผ่เพื่อจับจองเป็นพื้นที่ของตนเอง ในที่สุดก็ไม่มีป่าไผ่ให้เห็นอีกแล้ว นอกจากนั้นพื้นที่แห่งนี้เวลาทำนายังไถ่พบไหใส่กระดูกอีกด้วย แต่ด้วยความไม่รู้ชาวบ้านจึงนำไปทั้งหมด " นั้นคือคำบอกเล่าจากพ่ออ่วม


 


หลังจากนั้นทีมงานจะพาไปพูดคุยกับผู้รู้อีกท่านหนึ่งเพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในหมู่บ้านนี้ให้เราได้ฟังกัน ซึ่งเราได้เดินทางไปยังบ้าน 2 ชั้น หลังหนึ่ง มียายนั่งไกวเปลหลานอยู่ใต้ถุนบ้าน เมื่อเดินเข้าไปใกล้ดิฉันจึงได้รู้ว่า ยายคนดังกล่าวนั้นก็คือ ยายไฮ ขันจันทา นั่นเอง


" เป็นจั่งได่ มาจั่งได่หนอ " ยายไฮ ทักทายด้วยภาษาท้องถิ่น ก่อนที่จะเล่าถึงความเป็นอยู่แบบพึ่งพาอาศัยของชาวบ้านโนนตาล ว่า ส่วนวิถีชีวิตชาวบ้านที่นี่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ คนบ้านน้ำ หรือ คนลุ่มน้ำที่หาปลาแม่น้ำโขงมาแลกเปลี่ยนข้าว พืชผัก และ คนบ้านโคก หรือ ชาวบ้านที่มีที่ดินทำการเกษตร ก็จะปลูก ข้าว ข้าวโพด ถั่ว พริก กล้วย มะพร้าว เป็นต้น ทำให้ชาวบ้านเกิดการแลกเปลี่ยนกัน ปลาแลกข้าว - ข้าวแลกปลา ความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันก็ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


 


 " ชาวบ้านที่นี่มีชีวิตพึ่งพาธรรมชาติและสายน้ำเลี้ยงชีวิต เพราะชาวบ้านไม่ค่อยมีความรู้ที่ไปประกอบอาชีพอื่น นอกจากการเกษตรและหาปลาที่บรรพบุรุษได้สั่งสอนมา แต่อย่างไรชาวบ้านที่นี่ก็พอใจกับวิถีชีวิตแบบนี้ เพราะการหาอยู่หากินต่าง ๆ ล้วนมาจากแม่น้ำของทั้งสิ้น ไม่มีข้าวก็ไปหาปลาแลกข้าว แลกพริก และสิ่งของต่าง ๆ หากไม่มีแม่น้ำของหรือแม่น้ำโขงสายนี้แล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ในอดีตนั้นการหาอยู่หากินกับแม่น้ำไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีปลาเยอะ ช้อนแต่ละครั้งได้เป็นกิโล แต่เดี๋ยวนี้ปลาตัวเล็ก ๆ ก็หายากมาก "


 


 ยายไฮเล่าอีกว่า อาจเป็นเพราะการสร้างเขื่อนในบริเวณนี้ทำให้ปลาลดลง อีกทั้งวิธีการหาปลาของชาวบ้านเองก็เปลี่ยนไป แต่ก่อนจะใช้เพียงแค่ แห กับ ช้อนตักปลา เท่านั้น แต่ตอนนี้ชาวบ้านบางคนได้รวมกลุ่มกันซื้ออวนมาลากปลา ทำให้ปลาตัวเล็ก ๆ ก็ติดอวนขึ้นด้วย ปลาจึงลดลงในที่สุด


 


ส่วน พ่อไล หรือ นายไล เพชรพันธ์ อายุ 76 ปี นักเลงลวงปลามือฉกาจของหมู่บ้านเล่าเพิ่มเติมว่า


 


"ตอนนี้ปลาหายากมาก เพราะอวนที่คนบางกลุ่มนำมาลากปลาและก็ยังไม่มีใครเอาผิด ซึ่งที่นี่ยังไม่มีกฎระเบียบในการหาปลาอย่างชัดเจน ไม่เหมือนสมัยก่อนผู้ที่จะต้องหว่านแห หรือช้อนตักปลา จะต้องยืนเรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย หว่านแหและตักปลาคนละ 1 - 2 บาตรเท่านั้น แต่ก็ได้ปลากลับบ้านไปทำอาหาร แจกจ่ายญาติพี่น้อง ถ้าได้เยอะก็เอาไปขายหรือแลกข้าวสาร ก็ว่ากันไป เพราะน้ำโขงมีปลาเยอะ อย่างเช่น ปลายอน ปลาโจก ปลาส่วนหนู ปลาอี๊ตู๊ เป็นต้น แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีกฎ ใครมีเครื่องไม้เครื่องมือไฮเทคก็หาได้ปลาเยอะ จะตักกี่ครั้ง หว่านกี่ครั้งก็ได้ ทำให้ปลาน้อยลง " พ่อไลกล่าว


 


สำหรับเครื่องมือจับปลาพื้นบ้านของที่นี่ มี 2 อย่าง คือ แห และช้อนตักปลา หรือ สะดุ้งพลาย โดยแหในสมัยก่อนจะเอาเส้นปอ เส้นปานมาสานแห สานช้อนตักปลา แต่ตอนนี้ชาวบ้านนำเส้นเอ็นสังเคราะห์ใช้แทน เพราะน้ำหนักเบาและทนทาน แต่สิ่งที่ตามมานั้นคือ อวน และ ตาข่ายดักปลา นั่นเอง ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้คงต้องหาช่องทางในการจัดระเบียบอีกครั้ง รวมถึงการปลูกฝังลูกหลานในการหาปลาแบบดั่งเดิม


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องช่วยกันรักษามากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นธรรมชาติของสายน้ำ ที่นับวันจะแห้งลงโดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งที่น้ำเหลือน้อยมาก เพราะแม่น้ำแม่น้ำของหรือแม่น้ำโขงแห่งนี้ก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดสายสำคัญที่จะคอยหล่อเลี้ยงชีวิตคนลุ่มน้ำของนั้นเอง


 


เรื่องราวของคนลุ่มน้ำของและวิถีของนักเลงปลาในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะย้อนกลับสู่อดีตหรือไม่ ลูกหลานของผู้คนเหล่านี้จะยังคงสืบสานรอยเท้าบรรพบุรุษเช่นไร คงต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ค่ะ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net