"โรคเงียบ" คุกคามคนไทย - อันตรายที่มองไม่เห็น

ผลการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย ครั้งที่ 3 ประจำปี 2547-2549 ซึ่งจัดทำโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ระบุว่าคนไทยมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเงียบ หรือโรคไม่ติดต่อ อันได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง และอุบัติเหตุ เพิ่มมากขึ้น


 

จากการสุ่มตัวอย่างคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปในกรุงเทพและ 36 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 39,290 คน และการประมวลผลข้อมูลสำคัญ แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มเรื่องปัญหาสุขภาพของคนไทยที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง และอุบัติเหตุ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากโรคไม่ติดต่อเหล่านี้ เมื่อเจ็บป่วยแล้วจะเรื้อรัง ก่อให้เกิดความพิการ และต้องรักษาพยาบาลกันไปตลอดชีวิต ทำให้เป็นภาระครอบครัว และใช้งบประมาณของประเทศในการรักษาพยาบาลค่อนข้างมาก

 

ทั้งนี้ ผลการสำรวจสภาวะสุขภาพคนไทยในปี 2547-2549 พบว่าความชุกของโรคและปัญหาด้านสุขภาพ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง พบในชายร้อยละ 23 และหญิงร้อยละ 21 ในกลุ่มนี้ร้อยละ 71 ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าตัวเองมีปัญหาสุขภาพ และร้อยละ 24 ได้รับการรักษา

 

ส่วนภาวะไขมันในเลือดสูงพบในหญิงมากกว่าชาย คือร้อยละ 17 และ 14 ตามลำดับ ในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 87 ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน และร้อยละ 9 เท่านั้น ที่ได้รับการรักษา ในขณะที่โรคเบาหวานพบในชายร้อยละ 6 และหญิงร้อยละ 7 ในจำนวนนี้ร้อยละ 57 ไม่เคยตรวจพบมาก่อน และความครอบคลุมในการรักษาโรคนี้มีสูงกว่าโรคอื่น ๆ คือร้อยละ 41 แต่มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้

 

อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี จะนำไปสู่การเกิดไตวายเรื้อรังได้ รวมไปถึงเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจในระยาว และจะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางสุขภาพอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกด้วยว่าชายร้อยละ 22.5 และหญิงร้อยละ 34.6 ประสบภาวะอ้วน

 

จากการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดโรคพบว่าเพศชายมีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากมีพฤติกรรมการดื่มสุราในระดับที่อันตรายกว่า และมีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงกว่าด้วย

 

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขสรุปว่า การสำรวจครั้งนี้ถือเป็นกระจกเงาสะท้อนถึงสุขภาพคนไทย เพราะเป็นการสำรวจครั้งใหญ่ที่ใช้กลุ่มตัวอย่างกว่า 30,000 คน การสำรวจนี้จะเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายด้านสุขภาพของคนไทยต่อไป ทั้งเรื่องการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ การลดอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเงียบ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์การออกกำลังกายเพื่อลดอัตราการเกิดโรคเงียบในไทยลงด้วย

 

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คนไทยใช้ชีวิตแบบเสี่ยงต่อการเป็นโรคเงียบโดยไม่รู้ตัว และการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยอาจรวดเร็วเกินกว่าที่รัฐจะจัดบริการรองรับไหว ดังนั้น ประชาชนจึงต้องตระหนักและหันมาใส่ใจการสร้างสุขภาพด้วยตนเองให้มากขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท