รัฐยังกั๊กรับข้อเสนอ กอส. แต่เสียงในพื้นที่หลายฝ่ายหนุนสุดตัว

ประชาไท - 8 มิ.ย. 49 พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าววันที่ 7 มิ.ย. ว่า ยังไม่ได้อ่านรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)ที่เสนอมาตรการสมานฉันท์เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ เนื่องจากต้องทำงานทั้งวันยังไม่มีเวลา แต่ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับมาตรการแก้ปัญหา โดยจะจัดคณะทำงานอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปดูรายละเอียดทั้งหมด

 

พล.ต.อ.ชิดชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่ปัญญาชนมุสลิมไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีตั้งเงินรางวัลจูงใจให้กับบุคคลที่ยิงต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบ คือหากคนร้ายบาดเจ็บจะได้รางวัล 50,000 บาท หากคนร้ายเสียชีวิตจะได้รางวัล 100,000 บาท ว่า จะต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียและที่มาอย่างชัดเจนอีกครั้ง แต่ไม่ได้เปิดช่องให้มีการใช้ความรุนแรง หรือวิสามัญฆาตกรรม

 

กรณีดังกล่าวมาจากการที่กลุ่มปัญญาชนมุสลิมให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอยส.) ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ ตั้งรางวัลให้กับบุคคลที่สามารถยิงต่อสู้คนร้าย ซึ่งทางกลุ่มปัญญาชนมุสลิมมองว่าเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ วันที่ 6 มิ.ย. นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้ออกมาชี้แจงว่า เป็นหนึ่งในมาตรการที่ทางจังหวัดพยายามให้ความดูแลพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งถูกทำร้ายมาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่ายังโดนทำร้ายจึงมีการให้เงินปลอบขวัญผู้ที่ถูกคนร้ายยิงได้รับบาดเจ็บ นอกเหนือจากการเยียวยาซึ่งรัฐต้องดำเนินการให้อยู่แล้ว บางกรณีประชาชนกล้าที่จะต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง การมอบเงินถือเป็นการจูงใจให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเอง ปืนที่ชาวบ้านใช้เหล่านั้น ก็เป็นปืนถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตพกพาเรียบร้อย

 

ด้านนายสัก กอแสงเรือง รักษาการส.ว.กรุงเทพฯเห็นว่า นโยบายดังกล่าวอันตราย โดยเฉพาะหากเป็นการตั้งรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ยิงต่อสู้กับคนร้ายด้วย เพราะจะเป็นช่องทางให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นการเพิ่มเงื่อนไขการวิสามัญฆาตกรรมให้มากขึ้น เนื่องจากทำแล้วได้เงินรางวัล

 

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็มีสิทธิป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ใช่ทำแล้วได้เงินรางวัล ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หากกระทำวิสามัญฆาตกรรม จะต้องมีการชันสูตรศพและไต่สวนต่อศาลเป็นกรณีพิเศษด้วย ดังนั้นคงต้องตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป

 

สำหรับ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รักษาการ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงข้อเสนอของ กอส. ที่ให้มีการใช้ภาษามาลายูปัตตานีเป็นคล้ายกับภาษาทางราชการว่า ต้องมาพิจารณาถึงความเหมาะสมก่อนว่าจะใช้เป็นภาษาที่ 2 ได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่ ประธาน กอส.ระบุว่า เคยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ให้กับรัฐบาลแล้ว แต่ไม่เคยได้นำไปปฏิบัติแก้ไข พล.อ.อ.คงศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลนำไปใช้แก้ไขหลายอย่าง แต่บางเรื่องยังไม่พร้อมนำไปดำเนินการได้แม้จะเป็นข้อเสนอที่ดี ทางรัฐบาลจึงมีการชะลอเอาไว้ก่อน

 

ความเห็นต่อข้อเสนอของกอส.จากคนในพื้นที่สามจังหวัด ศูนย์ข่าวอิศรารายงานว่า นายอับดุลอายิ อาแวสือแม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า พ.ร.บ.ดับไฟใต้ ที่กอส.เสนอต่อรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องดี จะมีหลักและมาตรการที่ชัดในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลตามหน้าที่ต่างๆอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำแก้ปัญหาในเรื่องความไม่เข้าใจกัน และที่ผ่านมา กอส.ทำหน้าที่ได้ดีแล้วแต่ไม่ได้รับการขานรับจากรัฐบาล ดังนั้น พ.ร.บ.ดับไฟใต้ ที่ได้นำเสนอต่อรัฐบาลไปแล้วนั้น ไม่ทราบว่าจะได้รับการตอบรับจากรัฐ สักกี่เปอร์เซ็นต์ จึงไม่คาดหวังกับผลการตอบรับ

 

นายมาหะหมัดอามีน ซาริคาน เลขาชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.นราธิวาส กล่าวเช่นกันว่า พ.ร.บ.ดับไฟใต้ ของ กอส. ที่เสนอต่อรัฐบาลถือเป็นแนวทางดีมาก เพื่อรัฐบาลจะได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่การแก้ปัญหาต้องเพิ่มความจริงใจและตั้งใจ โดยเฉพาะในระดับผู้ปฏิบัติด้วย โดยองค์กรต่างๆที่จะตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ดับไฟใต้ ต้องให้คนพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกระจายการทำงานไปสู่รากหญ้าเพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างความเข้าใจต่อประชาชน

 

ด้านนายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าข้อมูลที่ทาง กอส.นำเสนอเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ และแนวทางที่ กอส.เสนอมา คือมติส่วนใหญ่ในที่ประชุม และเมื่อเป็นข้อเสนอ ทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาครัฐ ภาคประชาชนควรจะนำมาร่วมกันปฏิบัติ

 

ส่วนการจัดตั้งศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) เป็นตัวหลักในการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นต้องพิจารณาเต็มรูปแบบจากข้อเสนอของ กอส. เช่น ปัญหาขั้นพื้นฐาน 4 อย่างคือ ปัญหาความยากจน การพัฒนาด้านการศึกษา การยอมรับในความแตกต่าง และการพัฒนากระบวนการยุติธรรม รูปแบบทั้งหมดนี้จะต้องไปหลอมรวมกันเพื่อจะนำไปให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นหน่วยงานที่รองรับข้อมูลทั้งหมด

 

ส่วนข้อเสนอแนะให้ปรับระบบกฎหมายอิสลามเพื่อนำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาก็มีดาโต๊ะยุติธรรม (ผู้ตัดสินคดีตามหลักการศาสนาอิสลาม) ประจำศาลจังหวัด แต่เพียงตัดสินในเรื่องมรดกเท่านั้นเอง ส่วนการจะนำกฎหมายอิสลามมาบูรณาการในการบริหารปกครอง เช่นจะนำกฎหมายชารีอะห์ ไปใช้ก็ต้องมีการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องงอย่างรอบคอบอีกครั้งก่อนที่จะนำมาใช้จริง

 

นายนิรามาน สุไลมาน ทนายความและกรรมการหอการค้า จ.ปัตตานี กล่าวว่า ข้อเสนอทั้ง 12 ข้อของกอส.เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่จึงขอให้รัฐบาลเปิดใจ ตอบรับอย่างไม่มีเงื่อนไข และนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาความรุนแรงได้

 

นายอิสมาแอ สาและ รองเลขาธิการสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย(ยมท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางของกอส.ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายชารีอะห์ การเยียวยา แต่ไม่มั่นใจว่าที่กอส.เสนอทั้งหมดนี้รัฐบาลจะสามารถปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด และมีความจริงในในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาปัญหาอยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ปฏิบัติจริงจัง ดังนั้นแม้จะมีกฎหมายอีกกี่ฉบับขึ้นมาก็ไม่มีความหมาย

 

ส่วน พระมหาชรัส อุชุจาโร รองเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ข้อเสนอของกอส.ที่เสนอให้ตรา พ.ร.บ.ดับไฟ และมีการจัดตั้ง 3 องค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องที่ดีและมีความเป็นไปได้สูง หากมองจากปัจจัยของพื้นที่เนื่องจากภาคประชาชนเองมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว และมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐบาลสูง

 

รองเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดตั้งองค์กรแต่ละองค์กรนั้น ควรรวมคนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่เปิดโอกาสให้แต่คนกลุ่มใหญ่ เพราะผู้บริสุทธิ์มีอยู่ทุกกลุ่ม คนแต่ละกลุ่มก็สามารถให้ความรู้และคำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะได้ทุกคน อย่าคิดไปเองว่าคนกลุ่มเล็กๆจะไม่มีความรู้ที่สามารถเข้ามาร่วมแก้ปัญหาได้

 

ด้าน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยภายหลังมอบอุปกรณ์ด้านทันตกรรม ยาเวชภัณฑ์ แก่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.ปัตตานี ว่า มีเหตุการณ์รุนแรงลดลง ในบางพื้นที่ลดลงถึง 50% คาดว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น ทั้งนี้จะใช้แนวทางการทำงานคือการเมืองนำการทหาร เป็นการทำความเข้าใจกับประชาชน และให้ความช่วยเหลือประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าใจเจ้าหน้าที่มากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงข้อเสนอของ กอส.ว่า อันใดที่เป็นข้อยุติแล้วมีการสรุปออกมา ทางกองทัพรับทำได้หมด จะนำมาปรับทำเป็นแผนปฏิบัติการ ซึ่งทางกองทัพจะต้องไปขอดูในรายละเอียดอีกครั้ง แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุย เมื่อกลับไปจะมีการนัดพบกับ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส. ส่วนข้อเสนอที่ให้จัดตั้งหน่วยสันติเสนา นั้นเห็นด้วยและทางกองทัพได้คิดในเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะการเมืองนำการทหาร การเจรจาเป็นเรื่องสำคัญ

 

สำหรับความคืบหน้ากรณีศพนิรนาม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส จเรตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข่าวการพบศพถูกฝังไว้ที่สุสานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ที่ประชุมมีมติให้ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำรายงานเกี่ยวกับการทำงานตรวจสอบศพนิรนาม ในฐานะต้นตอข่าวเรื่องนี้

 

โดยให้นำข้อมูลมารายงานต่อที่ประชุมในวันที่ 19 มิ.ย. จากนั้นที่ประชุมจะนำรายงานดังกล่าวไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับคำพูดของนายไกรศักดิ์ซึ่งถอดเทปคำพูดไว้แบบคำต่อคำ เพื่อดูว่าตรงกันหรือไม่ หากไม่ตรงกันก็จะพิจารณาเหตุผลทางวิชาการของคุณหญิงพรทิพย์ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตามเมื่อที่ประชุมสรุปข้อมูลทั้งหมดจะแถลงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ

 

วันเดียวกันที่ห้องประชุมกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต) มีการแถลงข่าวผลการปฏิบัติงานรับมอบตัวผู้ร่วมก่อเหตุและแนวร่วมกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ จ.นราธิวาส และความคืบหน้าคดีสำคัญต่างๆในห้วงเวลาที่ผ่านมา

 

พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาค 4 ในฐานะ ผอ.สสส.จชต. กล่าวถึงความคืบหน้าคดีทำร้ายครูจูหลิง ปงกันมูล ที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ว่าเจ้าหน้าที่สามารถสอบปากคำพยานไปแล้ว 39 ปาก ออกหมายจับผู้ต้องสงสัยโดยอาศัย พ.ร.ก.จำนวน 39 คน ควบคุมตัวได้ 15 คน หลบหนี 24 คน ผู้ที่ถูกจับกุมเป็นผู้มีพฤติกรรมสกัดดั้นไม่ให้คนเข้าไปช่วยครูตัวประกัน แกนนำชักชวนผู้หญิงให้มาขัดขวางเจ้าหน้าที่ ร่วมปิดล้อมที่กักขังครู ร่วมทำร้าย ร่วมกันจับครูไปกักขัง นำท่อนไม้มาขวางถนน เอากระเป๋าครูไป ยังหลบหนีอยู่ 24 คน มีผู้ร่วมใช้ท่อนไม้ทุบตีทำร้ายครูรวมอยู่ด้วย ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ซึ่งกำลังเร่งสอบสวนอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท