Skip to main content
sharethis

thumb_2.jpg


          คนสามจังหวัดชายแดนใต้ขานรับพ.ร.บ.สมานฉันท์ นักกม.ระบุรัฐบาลประกาศรวมในยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ได้ทันทีโดยไม่ต้องตรากม. วอน กอยส.รับช่วงต่อป้องกันการแก้ไข ปัญหาชาวบ้านสะดุด


            หลังจากนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)ได้นำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ของกอส.ที่เสนอต่อรัฐบาล โดยเสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พรบ.ดับไฟใต้)เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน


          นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการตั้งองค์กรเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าว 3 องค์กร คือ 1.ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศยส.) 2.สภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 3.กองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์ โดย 3 องค์กรดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้อำนาจพระราชบัญญัติดับไฟใต้


thumb_dsc00064.jpg


            นายอับดุลอายิ  อาแวสือแม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส  กล่าวว่า พ.ร.บ.ดับไฟใต้ ที่กอส.เสนอต่อรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องดี ที่จะมีหลักและมาตรการที่ชัดในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลตามหน้าที่ต่างๆอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำแก้ปัญหาในเรื่องความไม่เข้าใจกัน


           "แต่ที่ผ่านมากอส.ก็ทำงานเต็มที่ แต่ตอบรับจากภาครัฐ  สะท้อนกลับมาน้อยมาก และ  พรบ.ดับไฟใต้ ที่ได้นำเสนอต่อรัฐบาลไปแล้วนั้น  หากมองการตอบรับจากภาครัฐในการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในอดีตที่ผ่านมา  ไม่ทราบว่าจะได้รับการตอบรับจากรัฐ สักกี่เปอร์เซ็นต์  ผมไม่ได้คาดหวังกับผลการตอบรับ"นายอับดุลอายิ กล่าว


          อย่างไรก็ตาม หาก พ.ร.บ.ได้รับการพิจารณาและนำมาบังคับใช้  อยากให้มีการตั้งองค์กรเข้ามากำกับดูแล  เพราะ กอส. ผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ก็จะหมดวาระ ในเร็วๆ นี้  ดังนั้นจึงอยากให้ทาง กอยส.เข้ามารับช่วงดูแลต่อไป เพราะหากไม่มีผู้กำกับดูแลและรับผิดชอบ  และกระจายงานไปสู่องค์กรย่อยทั้งหมด ไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาก็เป็นไปอย่างล่าช้า


thumb_img_9197.jpg


             นายมาหะหมัดอามีน  ซาริคาน เลขาชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.นราธิวาส กล่าวว่า  พ.ร.บ.ดับไฟใต้ ของ กอส. ที่เสนอต่อรัฐบาลถือเป็นแนวทางดีมาก  เพื่อรัฐบาลจะได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่  แต่การแก้ปัญหาต้องเพิ่มความจริงใจและตั้งใจ โดยเฉพาะในระดับผู้ปฏิบัติด้วย


          "องค์กร 3 องค์กรภายใต้ พ.ร.บ.ดับไฟใต้ ต้องให้พื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อกระจายการทำงานไปสู่รากหญ้าในการแก้ไขปัญหา และสร้างความเข้าใจต่อประชาชนใน"เขา กล่าว


thumb_img_6264.jpg


            ด้านนายนิมุ  มะกาเจ  ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าข้อมูลที่ทางกอส.นำเสนอนี้จะเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้  และแนวทางที่ กอส.เสนอมา คือ มติส่วนใหญ่ในที่ประชุม และเมื่อเป็นข้อเสนอ ทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาครัฐ ภาคประชาชนควรจะนำมาร่วมกันปฏิบัติในทุกฝ่าย


           "ผมพูดได้อย่างเต็มปากว่านี่คือการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ไม่ใช่แนวทางซื้อปัญหา หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหมือนในอดีต"นิมุ กล่าว


           ส่วนการจัดตั้งศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) เพื่อมาเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายนิมุ กล่าวว่า ต้องพิจารณาเต็มรูปแบบจากข้อเสนอของ กอส. เช่น ปัญหาขั้นพื้นฐาน 4 อย่างคือ ปัญหาความยากจน การพัฒนาด้านการศึกษา การยอมรับในความแตกต่าง และการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ซึ่งรูปแบบทั้งหมดนี้จะต้องไปหลอมรวมกันเพื่อจะนำไปให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รองรับข้อมูลทั้งหมดซึ่งเป็นหลักการใหญ่


         ส่วนข้อเสนอแนะให้ปรับระบบกฎหมายอิสลามเพื่อนำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นายนิมุ กล่าวว่า  ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา ก็มีดาโต๊ะยุติธรรม (ผู้ตัดสินคดีตามหลักการศาสนาอิสลาม) ประจำศาลจังหวัด แต่เพียงตัดสินในเรื่องมรดกเท่านั้นเอง ส่วนการจะนำกฎหมายอิสลามมาบูรณาการในการบริหารปกครอง เช่นจะนำกฎหมายชารีอะห์ ไปใช้ก็ต้องมีการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งอย่างรอบคอบก่อนที่จะนำมาใช้จริง
          
             นายนิรามาน สุไลมาน ทนายความและกรรมการหอการค้า จ.ปัตตานี กล่าวว่า ข้อเสนอทั้ง 12 ข้อของกอส.เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่จึงขอให้รัฐบาลเปิดใจ ตอบรับอย่างไม่มีเงื่อนไข และนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาความรุนแรงได้


           นายอิสมาแอ สาและ รองเลขาธิการสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย( ยมท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางของกอส.ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายชารีอะห์  การเยียวยา แต่ไม่มั่นว่าข้อเสนอที่กอส.เสนอทั้งหมดนี้รัฐบาลจะสามารถปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด และมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาหรือไม่


           "คำว่าสมานฉันท์จะต้องอยู่ที่จิตสำนึก ส่วนตัวแล้วคำว่ากฎหมายสมานฉันท์ไม่น่าจะเกิดขึ้น กฎหมายบ้านเมืองมีอยู่แล้ว แต่คนบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ปฏิบัติจริงจัง แม้จะมีกฎหมายอีกกี่ฉบับขึ้นมาก็ไม่มีความหมาย"นายอิมาแอ กล่าว


thumb_img_5380.jpg


           พระมหาชรัส อุชุจาโร รองเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ข้อเสนอของกอส.ที่เสนอให้ตรา พ.ร.บ.ดับไฟ และมีการจัดตั้ง 3 องค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องที่ดีและมีความเป็นไปได้สูง หากมองจากปัจจัยของพื้นที่ เนื่องจากภาคประชาชนเองมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว และมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐบาลสูง


  "หัวใจหลักที่จะนำมาเป็นแนวทางต้องเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดความสมานฉันท์และสันติสุข"พระมหาชรัส กล่าว


           รองเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งองค์กรแต่ละองค์กรนั้น ควรรวมคนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่เปิดโอกาสให้แต่คนกลุ่มใหญ่ เพราะผู้บริสุทธิ์มีอยู่ทุกกลุ่ม ทุกคนก็โดนปัญหารุมเร้าเหมือนกัน แล้วคนแต่ละกลุ่มก็สามารถให้ความรู้และคำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะได้ทุกคน ให้ทุกคนมีส่วนรับรู้เท่าๆกัน อย่าคิดไปเองว่าคนกลุ่มเล็กๆจะไม่มีความรู้ที่สามารถเข้ามาร่วมแก้ปัญหาได้


          นายทองใบ ทองเปาว์ รักษาสว.กทม.กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรเข้ามาแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตังหน่วยสันติเสนา หรือการเสนอตั้ง 3 องค์กรให้อยู่ภายใต้พรบ.ดับไฟใต้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กอส.ไม่จำเป็นต้องเสนอให้มีการตรากฎหมายขึ้นใหม่ เพราะกว่าพระราชบัญญัติจะมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมายจะต้องผ่านหลายขั้นตอน


          "การเมืองวุ่นวายอย่างนี้ ผมไม่มั่นใจ ถ้าจะเสนอเป็นกฎหมาย ไม่รู้ว่ากี่ปีจะเสร็จ"นายทองใบ กล่าว



         รักษาการสว.กทม.กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า หากรัฐต้องการแก้ไขปัญหาให้ได้จริง ควรจะนำร่างกฎหมายของกอส.นำไปใช้ได้ทันที ด้วยการประกาศให้เป็นนโยบายแก้ไขปัญหาภาคใต้ทันที หรือให้กอยส.รับช่วงต่อจากกอส.เลย ถ้ากอยส.ไม่รับ รัฐก็นำไปรวมกับยุทธศาสตร์และนโยบายแก้ไขปัญหาที่มีอยู่แล้วได้เช่นกัน


         "แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่อำนาจก็มีอยู่เต็ม เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ปัญหามันรุนแรงขึ้นทุกวันรอไม่ได้แล้ว ที่สำคัญรัฐบาลมีความจริงใจและกล้าพอหรือไม่ ถ้าไม่ทำ ก็ต้องถามว่าที่ผ่านมา ทำอะไร ให้รัฐมนตรีลงใต้ 25 คน แล้วทำอะไรได้บ้าง"นายทองใบ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net