Skip to main content
sharethis

วันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2006 16:30น.


รวยริน เพ็ชรสลับแก้ว : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


 


กก.สิทธิฯ จับมือ นิติวิทยาศาสตร์ฯ ตั้ง "ศูนย์ติดตามคนหายและพิสูจน์ร่างนิรนาม" หวังคลี่คลายปัญหาคนหายทั่วประเทศ โดยเริ่มในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นที่แรก ระบุเฉพาะชายแดนใต้มีคนแจ้งหายผ่านศูนย์สันติวิธีกระทรวงยุติธรรม ถึง 30 คน


 


"ขณะนี้กำลังจะเริ่มตั้งศูนย์ติดตามคนหายและพิสูจน์ร่างนิรนาม เพียงแต่ว่า ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็พร้อม ตอนนี้เราก็ต้องคิดว่า จะหาทุนได้จากใครบ้างจากองค์การ หรือหน่วยงานใดบ้าง ที่จะพัฒนาขึ้นสู่ระดับชาติให้ได้" นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว


 


แนวคิดการจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายและพิสูจน์ร่างนิรนามถือเป็นการริเริ่มร่วมกันระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมา โดยศูนย์ฯ ซึ่งมีที่ทำการอยู่ในส่วนกลางจะใช้อำนาจตามกฎหมาย ขอออกหมายศาลไปตรวจค้นว่า มีการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นหรือไม่ โดยขณะนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังสุสานทั่วประเทศว่า ให้ชะลอการทำลายศพไว้ก่อนจนกว่าจะมีการตรวจพิสูจน์


 


"ซึ่งจริงๆ แล้วการตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำ แต่รัฐไม่ยอมทำ มีแต่แนวคิดออกมาว่าจะตั้งศูนย์ แต่ก็ไม่ได้ลงมือทำสักที คุณหมอพรทิพย์จะทำลงมือทำเอง แต่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ทำไม่ได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับกระบวนการก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้"


 


นายวสันต์บอกว่า ปัญหาคนหายโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นใหญ่ เฉพาะที่ญาติผู้สูญหายร้องเรียนไว้ที่ศูนย์สันติวิธี กระทรวงยุติธรรม มีมากถึง 30 คน ดังนั้นควรมีระบบที่แน่นอนในการจัดการแก้ไข ทั้งนี้โดยภาพรวมในแต่ละปีทั่วทั้งประเทศมีคนตายเป็นศพนิรนามในสุสานต่างๆ มีคนหายเป็นจำนวนมาก และการตามคนหายยังทำกันไม่เป็นระบบ


 


"จะต้องมีการพิสูจน์ ว่าเป็นใคร มาจากไหน มีบาดแผลอะไร เป็นอะไรตาย ทุกอย่างต้องตรวจให้ละเอียด อย่างน้อย เวลาญาติผู้ตายออกมาตามหา ก็จะได้ตรวจรหัสพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอเมื่อนำมาเทียบกับศพ ถ้ารหัสพันธุกรรมตรงกัน เราก็จะได้รู้ว่าเป็นญาติกัน และจะได้เอากระดูกที่ไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา"


 


นายวสันต์ยังกล่าวต่อไปว่า ในกรณีที่คนเสียชีวิตผิดธรรมชาติ ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ตาย และต้องดูว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายครบถ้วนหรือไม่ อีกทั้งต้องดูว่าในการตรวจพิสูจน์แต่ละครั้ง เช่น มีตำรวจ อัยการ แพทย์ ไปร่วมพิสูจน์ด้วยหรือเปล่า และถึงแม้เจ้าหน้าที่ทุกคนจะไปร่วมพิสูจน์ แต่ก็ยังไม่มีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ ก็ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นใคร เพราะยังไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ


 


กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าหากมีศูนย์ติดตามคนหายและพิสูจน์ร่างนิรนาม การนำศพไปฝังโดยที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรจะไม่มีอีกต่อไป เพราะเวลามีศพนิรนามมาก็ต้องตรวจดีเอ็นเอเก็บไว้ เมื่อญาติมาแจ้งคนหาย ก็สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ทันที


 


"เพราะฉะนั้นการทำลายศพจะไม่มี นอกจากศพถูกส่งมาไม่ถึงศูนย์เท่านั้น ซึ่งเราได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาล ให้บันทึกข้อมูลว่าใครนำศพมา นำมาเมื่อไหร่ สาเหตุการตาย ใครรับศพไป นำศพไปที่ไหน โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ทั้งหมด ดังนั้นข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้จะเชื่อมโยงได้ว่าศพที่เกิดขึ้นวันนี้ มีความเป็นมาอย่างไร ทำให้การตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น ไม่เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากการเก็บศพยังไม่มีระบบที่แน่นอน ข้อมูลศพแต่ละครั้งจึงไม่ค่อยชัดเจน ทำให้ยากต่อการพิสูจน์"


 


สำหรับที่มาของประเด็นศพนิรนามและแนวคิดการก่อตั้งศูนย์ฯ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเดือน พ.ย. 48 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตำแหน่งในขณะนั้น เปิดประเด็นเรื่องศพนิรนาม 300 ศพที่สุสานจังหวัดปัตตานี และปลายเดือนเดียวกันนั้น ทางคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อติดตามการสูญหายกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอความร่วมมือกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขุดค้นตรวจพิสูจน์ศพที่ถูกฝังภายในสุสานท่งเต็กเซียงตึ้ง จังหวัดปัตตานี


 


หลังจากนั้น วันที่ 9 ธ.ค.48 กระทรวงยุติธรรมส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พิจารณาดำเนินการตามที่คณะอนุกรรมการฯ ขอความร่วมมือมา แต่แล้วเรื่องนี้ก็เงียบหายไประยะหนึ่ง


 


จนกระทั่ง 27 พ.ค.49 เรื่องศพนิรนาม 300 ศพ เป็นประเด็นปรากฏในสื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รักษาการสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครราชสีมา เปิดประเด็นในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สวนลุมพินีว่า เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ และนายวสันต์ พานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ภาคใต้และพบหลุมศพ 3-4 หลุม ซึ่งในหลุมขนาดใหญ่มีหลุมฝังอยู่ประมาณ 200-300 ศพ โดยระบุว่าเป็นศพที่เพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน


 


ประเด็นข่าวนี้เริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท้ายที่สุดสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องลงพื้นที่มือเพื่อเร่งดำเนินการคลายปมศพนิรนามและเดินหน้าก่อตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net