เครือข่ายป่าดงนาทามอุบลแฉ นักการเมืองหลอกอบรมทำปุ๋ย แฝงหาเสียงกับชาวบ้าน

โดยศูนย์ข่าวประชาสังคม จ. อุบลราชธานี

 

4 มิ.ย. 2549 เครือข่ายป่าดงนาทาม เผยพบนักการเมืองแฝงการหาเสียง ในการอบรมทำปุ๋ยชีวภาพ ด้านชาวนาดีเด่นระดับประเทศชาวเดชอุดม แนะทำนาแบบธรรมชาติ เผยผลสำเร็จปีนี้ถอยกระบะป้ายแดงเป็นรางวัลชีวิต

 

นายศิริศักดิ์ จรูญศรี เครือข่ายป่าดงนาทาม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีนักการเมืองแอบแฝงการหาเสียงโดยการหลอกให้ชาวบ้านไปอบรมการทำปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งคัดเลือกจากทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 30 คน กระบวนการที่พบคือ เมื่อรวบรวมชาวบ้านได้ครบจำนวน ก็จัดให้ไปอบรมที่อำเภอ แต่การเนื้อหาการอบรมตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึง 15.00 น. ล้วนเป็นการหาเสียงทั้งสิ้น รวมทั้งแทนที่จะแนะนำให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพแต่กลับแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีแทน จากนั้นก็จะแจกเงินให้ผู้เข้าอบรมคนละ 100 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นในพื้นทีอำเภอศรีเมืองใหม่เกือบทุกตำบล จึงฝากเตือนประชาชนให้ระวังพฤติกรรมดังกล่าวด้วย

 

ด้านนายบุญจันทร์ ต้นสิน อายุ 45 ปี ชาวนาอำเภอเดชอุดม ซึ่งได้รับรางวัลชาวนาดีเด่นอันดับที่ 2 ของประเทศ เปิดเผยกับทีมข่าวประชาสังคมจังหวัดอุบลฯถึงความประสบในอาชีพทำนาว่า เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงหรือหันกลับมาทำนาแบบธรรมชาติให้มากที่สุด ความคิดนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งในปีนั้นได้หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งในปีแรกต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณต่อไร่จำนวนมาก เพราะต้องการพลิกฟื้นคุณภาพของดินที่เสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเคมี ในปีต่อมาค่อยลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเริ่มแรกใช้ 200-300 กก.ต่อไร่ ปัจจุบันใช้เพียง 20-40 กก.ต่อไร่เท่านั้น นอกจากนี้หลังการเก็บเกี่ยวจะต้องรู้จักการไถกลบตอฟางข้าว ซึ่งตอฟางข้าวนั้น เป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพดีที่สุด ทั้งการใช้ปุ๋ยชีวภาพและไถกลบตอฟางข้าวก็คือการลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

 

"ผมทำนาตอนแรกเพียง 20 ไร่ ปี 40 เพิ่มเป็น 60 ไร่ เงินที่เอามาซื้อก็จากการขายข้าวนั่นแหละครับ ด้านการลงทุนนั้น 60 ไร่ ก็เป็นค่าแรงงานและค่าปุ๋ยกว่า 40,000 บาท คิดเป็นค่าจ้างก็วันปักดำก็วันละ 150 บาท ค่าปุ๋ย 5-7 พันบาทต่อไร่ ค่าเกี่ยวไร่ละ 700 บาท เมื่อขายข้าวทั้งหมดแล้วในหนึ่งฤดูกาลจะได้ประมาณ 350,000 บาท"

 

นายบุญจันทร์กล่าวว่าปัญหาที่พบในแต่ละปีคือ ในพื้นที่ยังคงต้องอาศัยน้ำจากธรรมชาติหรือน้ำฝน ซึ่งเมื่อปีไหนฝนแล้งก็จะทำให้ผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวนาทุกคนจะต้องปักดำไม่ตรงกับระยะเวลาตามปกติ ทำให้ข้าวไม่แตกกอ ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการปักดำนั้นอยู่ระหว่างเดือนปลายเดือนมิถุนายนถึง กรกฎาคม นอกจากนี้นายบุญจันทร์ ยังฝากไปถึงชาวนาว่า อยากให้หันกลับมาทำนาแบบเดิมให้มาก เพราะจะทำให้ดินทำนาของเรามีคุณภาพมากขึ้น เมื่อดินดี คนก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เมื่อดินไม่ดี คนก็มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ตนยึดหลักการนี้ใช้มาโดยตลอด

 

"แน่นอนว่าเราไม่สามารถที่จะกำหนดราคาข้าวได้ แต่เราสามารถที่จะลดรายจ่ายและทำข้าวของเราให้มีคุณภาพเพิ่มผลผลิตได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ชาวนาก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องกับเขา ผมสามารถส่งลูกเรียนได้ทั้งสามคน และปีนี้ผมได้ให้รางวัลชีวิตกับตัวเองโดยถอยรถกระบะ อีซูซุ ไฮเลนเดอร์ในราคาสดอีกด้วย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท