Skip to main content
sharethis

 



 


ประชาไท—3 มิ.ย. 2549 ในที่สุด รัฐบาลกัมพูชาและองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ผลักดันให้มีการพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้สำเร็จ เพื่อทวงถามความเป็นธรรมให้แก่เหยื่อซึ่งถูกสังหารในช่วงที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเขมรแดงปกครองประเทศ ระหว่างปี 2518 - 2522


 


กษัตริย์นโรดม สีหมุณี ได้เสด็จกลับประเทศเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 และพระราชทานแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่ยุติธรรมชาวกัมพูชา และเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติซึ่งยูเอ็นเป็นผู้คัดเลือก รวมทั้งสิ้น 30 คน เพื่อเริ่มต้นการพิจารณาคดีในช่วงต้นปีหน้า


 


เจ้าหน้าที่ยุติธรรมชาวต่างชาติ ประกอบด้วยชาวออสเตรเลีย ออสเตรีย แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น โปแลนด์ ศรีลังกา เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่เป็นผู้จบปริญญาด้านกฎหมายจากหลายสถาบัน และมีประสบการณ์ทำงานในศาลอาญาระหว่างประเทศอยู่หลายปี และเจ้าหน้าที่อีก 2 คนเคยเข้าร่วมศาลยูเอ็นในการตัดสินคดีอาชญากรสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โคโซโว


 


คณะผู้พิพากษากัมพูชาซึ่งได้รับพระราชทานแต่งตั้งจากกษัตริย์นโรดม สีหมุณี เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคดีอดีตผู้นำเขมรแดงบ้างแล้ว ทว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภายในประเทศตั้งข้อสังเกตว่าระบบยุติธรรมซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาการทุจริตในกัมพูชาและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการเมืองมานานหลายปี จะสามารถทำหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่เหยื่อที่เสียชีวิตทั้ง 1.7 ล้านคนได้หรือไม่


 


ยะเลา หม่องเฮ นักวิเคราะห์ด้านกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชียกล่าวว่า "การแต่งตั้งคณะผู้พิพากษาชุดนี้มีผลกระทบด้านภาพลักษณ์ของศาลตั้งแต่ต้น ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ"


 


นอกจากนี้ ปัญหาที่นักกฎหมายกัมพูชาหวั่นวิตกอีกประการหนึ่งคือเรื่องภูมิหลังของคณะผู้พิพากษาชาวกัมพูชา ประกอบด้วยคนที่มีชื่อเสียงไม่ดีนัก เพราะส่วนใหญ่จบปริญญาด้านกฎหมายจากชาติอดีตสหภาพโซเวียต รวมถึงเยอรมนีตะวันออก รัสเซีย คาซัคสถาน และเวียดนาม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่เคยปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น


 


อย่างไรก็ตาม เดวิด เชฟเฟอร์ อดีตทูตสหรัฐและศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ระบุว่าการทำงานของคณะผู้พิพากษากัมพูชาจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากประชาคมโลก จึงไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ยุติธรรมชุดนี้แต่อย่างใด


 


"หากการทำงานของคณะผู้พิพากษาเริ่มก่อให้เกิดคำถามถึงความซื่อสัตย์และเป็นอิสระ ยูเอ็นก็จะเข้ามาตรวจสอบตามบทบาทที่ได้รับร่วมกันกับกระบวนการยุติธรรมนี้" ศาตราจารย์เชฟเฟอร์กล่าว


 


ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลมั่นใจว่าคณะผู้พิพากษาซึ่งตกเป็นเป้การวิพากษ์วิจารณ์ชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี โดย ฌอน วิโสต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารศาลยุติธรรม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล กล่าวยืนยันว่าผู้พิพากษาชาวกัมพูชาจะทำตามมาตรฐานสากและให้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติอย่างเต็มที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net