Skip to main content
sharethis

แต่เดิมไทยและมาเลเซีย มีปัญหาการอ้างสิทธิเหลื่อมล้ำกันของเส้นเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 7,250 ตร.กม. จนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และรัฐบาลนายดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนน์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจการร่วมพัฒนาพื้นที่เหลื่อมล้ำให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area หรือ JDA) ซึ่งต่อมา มีการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Authority หรือ MTJA) ขึ้นในปี 2533 เพื่อดูแลการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากปิโตรเลียม บนหลักการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างทัดเทียม


 


ท่อก๊าซไทย-มาเลย์ : ความจริงและความลวง


โครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เป็นการร่วมทุนระหว่าง ปตท.และบริษัทปิโตรนาส กาลิการี่ ของมาเลเซีย ในอัตราส่วน 50:50 มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละฝ่ายลงทุนฝ่ายละ 20,000 ล้านบาทในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วม (JDA)


 


ตัวโครงการประกอบด้วยการวางท่อในทะเลจากแหล่งผลิตมาขึ้นฝั่งที่ อ.จะนะ ไปเชื่อมต่อกับระบบในประเทศมาเลเซียผ่านทางชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา รวมระยะทาง 353 กิโลเมตร แนวท่อก๊าซบนบกจะพาดผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ, นาหม่อม, หาดใหญ่ และสะเดา ใน 15 ตำบล 49 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชาชนราว 35,000 คน ส่วนโรงแยกก๊าซ เป็นโรงแยกขนาดกำลังผลิต 425 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คาดว่าจะตั้งอยู่ในเขตคาบเกี่ยวระหว่างบ้านตลิ่งชันและบ้านโคกสักของ อ.จะนะ ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 3,000 คน


 


ในปี 2541 ครม.มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำ "แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา" เพื่อเชื่อมการค้าระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายจะใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะนำไปสู่การเกิด "เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอาเซียน"


 


หลังปี 2541 เป็นต้นมา โครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซฯ ไทย-มาเลเซียเริ่มถูกจับตามองและตั้งคำถามมากขึ้นจากชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งนักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและนอก จ.สงขลา โดยมีบทเรียนความผิดพลาดจากโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า


 


22 เมษายน 2541 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีของไทย และ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นประธานพิธีลงนามข้อตกลงเบื้องต้นสัญญาซื้อขายก๊าซ JDA ที่อาคารอเนกประสงค์ สวน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา สมัชชานักศึกษาภาคใต้ประท้วงด้วยการลอยเรือในทะเลสาบสงขลาเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์


 


กรกฎาคม 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา เดือนตุลาคมปีเดียวกัน กลุ่มนักวิชาการและผู้สนใจโครงการท่อก๊าซฯ ร่วมกันจัดตั้ง "กลุ่มศึกษาการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สงขลา" ขึ้นเพื่อติดตามศึกษาโครงการ


 


ธันวาคม 2541 หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ 1 ปี 2 เดือน ปตท.ว่าจ้างคณะการจัดสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย หัวหน้าคณะศึกษาเปิดเผยว่า ประชาชนส่วนใหญ่กังวลเรื่องระบบนิเวศทางทะเล บางส่วนมีทัศนคติเชิงลบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และการศึกษาจะให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรประมง และระบบนิเวศทางน้ำ


 


กันยายน 2542 ผลวิจัยปัญหาสิ่งแวดล้อมของแผนการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติเขตพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ระบุว่า แนวท่อก๊าซมีผลกระทบต่อเสียงขันของนกเขาชวา สร้างความวิตกให้กับผู้ประกอบธุรกิจนกเขา และประกาศพร้อมจะออกมาคัดค้านโครงการ


 


ในช่วงนี้ ความเคลื่อนไหวของชาวบ้านเริ่มมีมากขึ้นและปรากฏเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ ในเดือนตุลาคม 2542 กลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย จัดเวทีรับฟังข้อมูลและระดมความเห็นที่โรงเรียนบ้านตลิ่งชัน อ.จะนะ มีตัวแทนจาก ปตท. กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ตัวแทนชาวบ้าน จ.ระยอง และนักวิชาการ มาให้ข้อมูล


 


ปลายเดือนตุลาคม ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณแนวท่อก๊าซผ่านใน อ.นาหม่อม จ.สงขลา นำป้ายผ้าเขียนข้อความคัดค้านโครงการท่อก๊าซติดไว้ริมถนนเป็นจำนวนมาก และที่ อ.สะเดา เจ้าของสวนยางกว่า 200 คนลงชื่อไม่ยินยอมให้พนักงานบริษัทรับจ้างสำรวจของ ปตท.เข้าสำรวจพื้นที่ เนื่องจากปตท.ไม่เคยมาชี้แจงโครงการ และไม่ต้องการให้ท่อก๊าซผ่านเข้ามาในที่ดินของตัวเอง


 


30 ตุลาคม 2542 ชาวบ้านจาก อ.สะเดา อ.หาดใหญ่ อ.นาหม่อม อ.จะนะ และนักศึกษา นักวิชาการ องค์การพัฒนาเอกชน และองค์กรต่างๆ กว่า 500 คน เข้าแถวถือป้ายต่อต้านโครงการและกรูเข้าล้อมขบวนรถเพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน ขณะขบวนรถของนายชวน หลีกภัย และคณะเคลื่อนผ่านด่านชายแดนไทย เพื่อเดินทางไปเป็นประธานร่วมกับ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่าง ปตท.และปิโตรนาส ที่เมืองอลอสตาร์ ประเทศมาเลเซีย


 


ธันวาคม 2542 ชาวบ้าน ต.คลองเปียะ อ.จะนะ ร่วมกับชาวบ้านอีก 4 อำเภอ มีมติไม่ให้ท่อก๊าซผ่านพื้นที่ของตน เนื่องจากเห็นผลเสียมากกว่าผลดี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ปตท.ไม่สามารถชี้แจงข้อสงสัย และมวลชนสัมพันธ์ของ ปตท.สร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่


 


ในช่วงเวลาที่การรวมตัวของชาวบ้านซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียมีความชัดเจนมากขึ้น การเดินหน้าโครงการของ ปตท.และ ปิโตรนาส ก็เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นด้วย


 


ต้นปี 2543 ปตท.และปิโตรนาส ได้จดทะเบียนร่วมลงทุนโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ใช้ชื่อบริษัทที่ดำเนินการร่วมกันว่า บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด


 


17 กุมภาพันธ์ 2543 กระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ จำนวน 10 คน เพื่อจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย มี พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน


 


23 พฤษภาคม 2543 ชาวบ้านกว่า 200 คน เดินทางไปชุมนุมและยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายอำเภอที่ อ.นาหม่อม อ้างผลการศึกษาและข้อมูลจากนักวิชาการ สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ระบุโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซจะทำลายสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ รวมทั้งเงื่อนไขในสัญญาโครงการไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ


 


การเคลื่อนไหวของชาวบ้านทั้ง 4 อำเภอที่คัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติเริ่มก่อตัวขึ้นทีละเล็กละน้อย แสดงให้เห็นถึงความริเริ่มพยายามมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการพัฒนา โดยอยู่บนฐานของความหวงแหนวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่าย การดำรงอยู่ของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และที่สำคัญประสบการณ์จากชุมชนท้องถิ่นที่อื่นๆ สอนพวกเขาให้รู้ว่า ไม่ควรไว้วางใจรัฐบาล


 


วันทำประชาพิจารณ์โครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซฯ จะมีขึ้นในวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2543 ยิ่งใกล้ถึงวันประชาพิจารณ์ สถานการณ์ในพื้นที่ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นทุกขณะ


 


ประชาพิจารณ์ - ประชาวิวาท


29 กรกฎาคม 2543 ที่หอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ตอนสาย มีประชาชนที่สนใจจำนวนมากเดินทางมาร่วมการรับฟังความคิดเห็น ที่ด้านข้างของหอประชุมกลุ่มผู้คัดค้านราว 1,000 คน นำโดยเครือข่ายพลเมืองสงขลา องค์กรพัฒนาเอกชน และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคใต้ กำลังปราศรัยเรียกร้องให้ยุติการทำประชาพิจารณ์ ส่วนที่ด้านหน้าของหอประชุม กลุ่มผู้สนับสนุนกำลังรวมตัวรออยู่เช่นกัน โดยมีธงสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์


 


เมื่อเวทีเปิด ความวุ่นวายภายในห้องประชุมก็เริ่มขึ้น ตัวแทนกลุ่มผู้คัดค้านได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ ประธานกรรมการประชาพิจารณ์ เรียกร้องให้ยุติการทำประชาพิจารณ์ พร้อมทั้งขอให้ประธานและตัวแทนกรรมการประชาพิจารณ์ จ.สงขลา ลาออกจากตำแหน่ง และประณามความไม่จริงใจของการทำประชาพิจารณ์ ขณะที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยทักษิณเสนอให้ทำประชาพิจารณ์แผนแม่บทพัฒนาภาคใต้ก่อนโครงการท่อก๊าซ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น


 


การทำประชาพิจารณ์เกิดความชุลมุนมากขึ้น เมื่อกลุ่มผู้คัดค้านบุกพังประตูฝ่าด่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามาภายในห้องประชุม จนการทำประชาพิจารณ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ขณะที่ด้านนอกของห้องประชุม ก็เกิดการตะลุมบอนกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้คัดค้าน


 


ภายหลังเหตุการณ์วุ่นวายสงบลง คณะกรรมการประชาพิจารณ์ได้แถลงปิดการทำประชาพิจารณ์ และประกาศเลื่อนการทำประชาพิจารณ์ออกไป


 


ปลายเดือนกันยายน ผลการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการประชาพิจารณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกองทัพภาคที่ 4 และผู้แทนสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ มีมติให้จัดประชาพิจารณ์อีกเป็นครั้งที่ 2 ส่วนทางด้านกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียยังคงชุมนุมคัดค้านต่อไป


 


การทำประชาพิจารณ์โครงการก่อสร้างท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย กำหนดให้มีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 21-22 ตุลาคม 2543 ที่สนามกีฬาจิระนคร เทศบาลนครหาดใหญ่


 


16 ตุลาคม ชาวบ้านกว่า 1,000 คน รวมตัวกันเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกร้องให้ยกเลิกประชาพิจารณ์


 


ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้คัดค้านมาถึงระยะนี้ นอกจากจะประกอบไปด้วย ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ องค์กรพัฒนาเอกชน นิสิตนักศึกษา และนักวิชาการแล้ว วุฒิสภาก็เป็นแรงหนุนอีกส่วนหนึ่งให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านด้วย


 


17 ตุลาคม 2543 นายพนัส ทัศนียานนท์ ประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับและปรับปรุงกระบวนการทำประชาพิจารณ์ เพราะรัฐบาลยังไม่เปิดเผยข้อมูลโครงการต่างๆ ที่จะตามมาให้ประชาชนทราบ และเสนอหากจะทำประชาพิจารณ์ต้องรวมโครงการทั้งหมดที่ใช้ก๊าซจากแหล่ง JDA เข้ามาด้วย ส่วนที่ จ.สงขลา คณะนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยื่นจดหมายเปิดผนึกผ่านผู้ว่าถึงนายกรัฐมนตรีให้เลื่อนการทำประชาพิจารณ์ออกไป เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง และความแยกแตกในชุมชน


 


ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวเช่นกัน ประธานหอการค้า จ.สงขลา ได้แถลงจุดยืนของหอการค้าโดยมีมติเอกฉันท์สนับสนุนโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้เงินไหลเข้าสู่ จ.สงขลา กว่า 7 หมื่นล้านบาท เป็นการสร้างงานและรายได้ในพื้นที่ ทำให้มีนักลงทุนเข้ามาในจังหวัด ส่งผลให้เศรษฐกิจ จ.สงขลา ฟื้นตัวทันที


 


ก่อนวันทำประชาพิจารณ์ 2-3 วัน บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านได้แผ่ขยายปกคลุมทั่วจังหวัดสงขลา และลามไปถึงจังหวัดข้างเคียง ความตึงเครียดที่ก่อตัวและสะสมมานานใกล้ถึงขีดสุด และส่อเค้าจะเปลี่ยนมาสู่การใช้ความรุนแรงขณะที่วันทำประชาพิจารณ์กำลังจะมาถึงอีกครั้ง


 


21 ตุลาคม 2543 ที่สนามกีฬาจิระนคร สถานที่ทำประชาพิจารณ์ในเช้าวันนี้มีความพร้อมเต็มที่แล้ว


 


ทางเข้าออกของสถานที่ประชาพิจารณ์ ท่อซีเมนต์ขนาดใหญ่บรรจุทรายถูกวางเรียงขวางไว้ตลอดแนวหน้าตัดของถนน ที่ริมรั้ว ลวดหนามเป็นแนวยาวถูกขึงเอาไว้เพื่อต้อนรับการเข้ามาของผู้บุกรุก รอบๆ สถานที่ประชาพิจารณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 500 นาย รักษาการณ์อย่างเข้มงวดตามคำสั่ง ร้านค้าบริเวณใกล้เคียงโดยรอบปิดเงียบเตรียมต้อนรับเหตุรุนแรง


 


เช้าวันนั้น ชาวบ้านในเขต ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม อ.จะนะ และ ต.นาหม่อม อ.นาหม่อม พร้อมแกนนำ และนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศราว 7,000 คน เดินทางมาชุมนุมเต็มทั่วบริเวณถนนรอบสนามกีฬาจิระนคร และเริ่มต้นปราศรัยโจมตีการทำงานคณะกรรมการประชาพิจารณ์ว่าไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่จะเกิดกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน


 


ในตอนสาย เมื่อขบวนรถของคณะกรรมการประชาพิจารณ์เคลื่อนตัวมาถึงด้านหลังของสถานที่ประชุม ก็พบว่ามีกลุ่มผู้คัดค้านหลายร้อยคนนั่งปิดทางอยู่ ตำรวจปราบจลาจลซึ่งรับคำสั่งให้เปิดทางพยายามที่จะนำขบวนรถฝ่าฝูงชนเข้าไปในสนามกีฬา จึงเกิดการปะทะกันกับกลุ่มผู้คัดค้าน อีก 10 นาทีต่อมา คณะกรรมการประชาพิจารณ์สามารถเข้าสู่โรงยิมสนามกีฬาจิระนครได้สำเร็จ ส่วนผู้บาดเจ็บจากการปะทะทั้ง 2 ฝ่ายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล


 


ทันทีที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์ และฝ่ายสนับสนุนบางส่วนอยู่ในอาคารเรียบร้อย การทำประชาพิจารณ์ก็เริ่มขึ้น ผ่านไป 20 นาทีเศษ ความพยายามจะพังประตูเข้ามาของกลุ่มผู้คัดค้านซึ่งอยู่ด้านนอกทวีความรุนแรงมากขึ้น ประธานกรรมการจึงขอความเห็นจากที่ประชุมให้ยุติการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งผู้ร่วมประชุมตะโกนตอบรับเห็นด้วย จากนั้น ประธานจึงประกาศยุติการทำประชาพิจารณ์ลงท่ามกลางเสียงโห่ไม่พอใจและความงุนงงของฝ่ายคัดค้าน


 


ไม่กี่นาทีถัดมา กลุ่มผู้คัดค้านจากด้านนอกอาคารบุกเข้ายึดที่ประชุมเพื่อยุติการทำประชาพิจารณ์ มีการทำลายไมโครโฟน เก้าอี้ เครื่องขยายเสียง ฯ ในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว ส่วนฝ่ายสนับสนุนต่างก็หนีตายกันไปคนละทิศละทาง เมื่อสถานการณ์สงบลง สภาพของสนามกีฬาจิระนครมีความเสียหายปรากฏไปทั่ว และมีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้หลายสิบคน ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายผู้ที่สนับสนุนโครงการ และฝ่ายผู้คัดค้าน


 


หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาแกนนำผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการหลายข้อหาด้วยกัน ได้แก่ ทำลายทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ, ปลุกระดม, ก่อให้เกิดความไม่สงบ, บุกรุกเคหะสถาน, ทำร้ายร่างกาย, ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และสนับสนุนให้มีการก่อความวุ่นวาย


 


ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านก็ได้มีการแจ้งความกลับเช่นกัน โดยให้ตำรวจดำเนินคดีกับนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี นายสุวัจน์ ลิปตะพัลลภ รมว.อุตสาหกรรม และ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ ประธานกรรมการประชาพิจารณ์ ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ร่วมกันทำร้ายประชาชน และร่วมกันทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติเสียหาย รวมทั้งความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 59 ที่อนุมัติโครงการก่อนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แม้สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่สั่งฟ้องบุคคลทั้งสามในข้อหาใดๆ เลยก็ตาม แต่ถือว่าในฐานะของประชาชนผู้มีสิทธิ ก็พึงที่จะได้ใช้สิทธิของตนเองตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้


 


แม้การประชาพิจารณ์ครั้งนี้จะยุติลงแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคำถามและข้อกังขาของสังคมที่มีต่อผู้บริหารประเทศว่า เพราะเหตุใดการทำประชาพิจารณ์โครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท จึงยุติลงโดยใช้เวลารับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพียงไม่ถึง 30 นาที, เพราะเหตุใดจึงมีผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการเป็นจำนวนมาก และเพราะเหตุใดจึงนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง


 


รัฐธรรมนูญใหม่ รัฐบาลใหม่


ไม่ว่าโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วและส่งผลกระทบต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง คือความร้าวฉาน ความแตกแยก และความเป็นฝักเป็นฝ่ายระหว่างคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกลับคืนดีเหมือนเดิม


 


ต้นปี 2544 สถานการณ์ทางการเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อพรรคการเมืองน้องใหม่นาม ไทยรักไทย ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก และเป็นรัฐบาลชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับมีส่วนร่วมของประชาชน ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ตกเป็นฝ่ายค้าน


 


แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จะมีอายุได้ 3 ปี 6 เดือนแล้ว แต่การเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ยังคงดำเนินต่อไป


 


เมษายน 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงการที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ทวงถามความคืบหน้าโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียว่า ขอเวลา 3 เดือนในการศึกษาและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ทางฝ่ายตัวแทนรัฐบาลยืนยันหนักแน่น ไม่ล้มโครงการ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และระบุที่ตั้งท่อก๊าซถ้ามีปัญหาสามารถเปลี่ยนจุดได้ ส่วนทางด้านมาเลเซีย บริษัทผลิตปุ๋ยมีความพร้อมถึง 65% แล้วที่จะใช้วัตถุดิบจากโครงการปิโตรเคมีซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากก๊าซธรรมชาติ


 


ความเคลื่อนไหวกลุ่มผู้คัดค้าน มีการรวมตัวกันที่ลานหอยเสียบกว่า 500 คน เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบเข้ามาสำรวจพื้นที่ ปลายเดือนเมษายน มีการจัดตั้ง ศูนย์คัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ขึ้นอย่างเป็นทางการที่ลานหอยเสียบ บ้านโคกสัก ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ เพื่อเป็นฐานที่มั่นของการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการ


 


ในช่วงเริ่มต้นการทำงานของรัฐบาลใหม่นี้ สถานการณ์การคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียในพื้นที่ จ.สงขลา อยู่ในช่วงค่อนข้างสงบ ในพื้นที่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่รุนแรงแต่อย่างใด ในขณะที่รัฐบาลเองก็พยายามเข้าหาประชาชน


 


พฤษภาคม 2544 ตัวแทนรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและสภาพความขัดแย้งของโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี และให้สัมภาษณ์ว่านายกรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว


 


ในขณะที่ด้านของสภาสูง คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา สรุปความเห็นกรณีโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียเสนอต่อวุฒิสภา ระบุควรระงับและทำการทบทวนโครงการอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีความบกพร่องหลายประการ


 


ส่วนของกลุ่มผู้คัดค้าน มีการก่อตั้ง "มหาวิทยาลัยลานหอยเสียบ" ขึ้นในเดือนกรกฎาคม เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แก่สมาชิกในชุมชน


 


ในเดือนสิงหาคม สถานการณ์เริ่มร้อนขึ้นอีกครั้ง เมื่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่ามีการอนุมัติรายงานการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียแล้ว ทางกลุ่มผู้คัดค้านตอบโต้ทันทีด้วยการรวมตัวกันประณามคณะผู้จัดทำรายงานที่บริเวณหน้าคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่


 


สถานการณ์ในช่วงปลายปี 2544 เริ่มร้อนมากขึ้น เมื่อการพิจารณารายงานการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเจ้าปัญหามีความคืบหน้าครั้งสำคัญ


 


24 ตุลาคม 2544 ขณะที่สมาชิกเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ราว 300 คน เพิ่งจัดกิจกรรมรำลึกประชาพิจารณ์ครบ 1 ปีไปเพียง 2 วัน รองเลขาธิการ สผ.ได้แถลงข่าวว่า มีการอนุมัติรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียแล้ว โดยที่การประเมินผลกระทบทางด้านสังคม (SIA) ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากกรรมการผู้ชำนาญการ แต่ข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตัวให้กับชาวบ้าน อ.จะนะ เป็นอย่างมาก


 


ส่วนทางด้านบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย ผู้ลงทุนในโครงการเจ้าปัญหา ก็มีปฏิกิริยาตอบรับการอนุมัติรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับนี้เช่นกัน


 


บรรยากาศช่วงใกล้สิ้นปีเก่าส่งท้ายด้วยการปะทุขึ้นของชนวนอีไอเอ เมื่อล่วงเข้าสู่ปีใหม่ได้เพียง 2 วัน การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซ จึงต้องเริ่มขึ้นในทันที


 


เช้าวันที่ 2 มกราคม 2545 สมาชิกเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย กว่า 1,000 คน รวมตัวกันเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรียกร้องให้หยุดโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซ และขอไม่ให้ข้าราชการยุ่งเกี่ยวกับเอกชนเจ้าของโครงการ รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีเดินทางมาพบกลุ่มผู้คัดค้านในพื้นที่ และได้ไปยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นถึง ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ผ่านกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา ขอให้ทบทวนการตัดสินใจ


 


วันต่อมา มีรายงานข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางมาพบกลุ่มผู้คัดค้านและกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการท่อก๊าซและโรงแยกเพื่อรับทราบปัญหา ขณะนั้น กำหนดเวลาขอศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เป็นเวลา 3 เดือนได้ล่วงเลยมาแล้วกว่าครึ่งปี


 


4 มกราคม ที่ศูนย์คัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียบริเวณลานหอยเสียบ ก่อนเที่ยง กลุ่มผู้คัดค้านเกือบ 3,000 คน กำลังรอรับการมาเยือนของนายกรัฐมนตรี โดยเตรียมการต้อนรับไว้ตั้งแต่เมื่อคืน ทั้งสถานที่และอาหารซึ่งชาวบ้านหามาจากทะเล ขณะที่การรักษาความปลอดภัยในตอนนี้จัดเตรียมพร้อมแล้วอย่างแน่นหนา


 


ประมาณ 17.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็เดินทางมาถึง


 


หลังจากทักทายผู้ชุมนุมที่มารอรับเรียบร้อย ไม่นานการแถลงข้อมูลของฝ่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ก็เริ่มขึ้น


 


ในวันนั้น เนื้อหาที่นำเสนอพูดถึงผลกระทบที่เกิดกับวิถีชีวิตชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม ความรุนแรงอันเนื่องจากการไม่รับฟังเสียงประชาชนของรัฐบาลชุดก่อน การกว้านซื้อที่ดินบริเวณที่จะมีการก่อสร้างของนักการเมือง เป็นสาเหตุทำให้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง สำหรับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ฝ่ายคัดค้านให้เวลาศึกษาข้อมูลอีก 3 เดือน ก่อนจะทวงถามคำตอบ


 


การพบปะผู้คัดค้านในค่ำวันนั้น จบลงด้วยการกินข้าวเย็นร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับนายกรัฐมนตรี บนหาดทรายของลานหอยเสียบ


 


แม้จะเป็นครั้งแรกที่มีผู้นำประเทศหาญกล้ามาเยือนผู้คัดค้านถึงลานหอยเสียบ แต่นั่นก็ไม่ได้สร้างความหวังอะไรให้กับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการมากนัก ระหว่าง 3 เดือนของการรอฟังคำตอบ ฝ่ายคัดค้านยืนยันจะยังคงเคลื่อนไหวต่อไป และหากมีการย้ายโครงการไปยังอำเภออื่นใน จ.สงขลา ก็ยังจะต้องเจอกับการเคลื่อนไหวคัดค้านอยู่เช่นเดิม


 


ภายหลังกลับจากการลงพื้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการติดตามและประสานงานตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี พล.อ.ชัยศึก เกตุทัต เป็นประธาน รวบรวมข้อมูลโครงการที่กำลังมีความขัดแย้ง คือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกและบ้านกรูด และโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจ และให้คำตอบกับประชาชนก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์


 


เวลายิ่งล่วงมาใกล้วันที่นายกรัฐมนตรีจะต้องให้คำตอบกับการตัดสินใจโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ก็มีการเคลื่อนไหวจากองค์กรต่างๆ ออกมามากขึ้น


 


ในเดือนมีนาคม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 163 คน ร่วมกันลงชื่อทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้เร่งรัดโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน


 


27 มีนาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงผลศึกษาและตรวจสอบกรณีการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด-บ่อนอก และโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย พบว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการวางแผนพัฒนาภูมิภาคและแผนพลังงาน และการทำประชาพิจารณ์โดยไม่เคารพสิทธิการรับรู้ข้อมูล การแสดงความคิดเห็นและการตัดสินใจ เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรง


 


ขณะเดียวกัน ก็ได้มีข้อเสนอไปยังรัฐบาลให้ทบทวนโครงการทั้งสอง และหาทางป้องกัน-ขจัดความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยทันที, ให้เร่งออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 46, 56 และ 59, ให้เปิดเผยข้อมูลโครงการต่างๆ ในแผนพัฒนาภูมิภาคและนโยบายรายสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเสนอให้รัฐบาลปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน


 


29 มีนาคม ที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภามีมติ 78 ต่อ 39 เสียง ให้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการก่อสร้างท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาชะลอโครงการและทำการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน


 


ย่างเข้าเมษายน เดือนที่อากาศร้อนระอุที่สุดในรอบปี เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้าน อ.จะนะ และพื้นที่ใกล้เคียงมีความตื่นตัวสูงมาก เนื่องจากยังคงรอฟังคำตอบจากนายกรัฐมนตรี ในระหว่างนี้ได้มีการรวบรวมเงินกันซื้อผ้าห่อศพเตรียมพร้อมสำหรับการสละชีวิต หากต้องต่อสู้ในกรณีที่โครงการเดินหน้าต่อไป โดยขอฝังร่างไว้บนลานหอยเสียบที่ที่นายกรัฐมนตรีเคยเดินทางมาเยือน


 


3 เมษายน มีสัญญาณจากนายกรัฐมนตรีว่า จะเลื่อนการตัดสินใจโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียออกไปอีก 1 เดือน ขณะที่ในพื้นที่ ชาวบ้านได้ขับไล่กลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นวิศวกรจากมาเลเซีย จะเดินทางเข้ามาสำรวจสภาพพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้าง


 


ระหว่างนี้ ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านได้จัดกิจกรรมคัดค้านในรูปแบบต่างๆ และจัดเวทีสัญจรไปตามหมู่บ้านเพื่อระดมความคิดเห็น ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะยืดเวลาตัดสินใจออกไปนานเท่าใด ชาวบ้านก็ไม่ต้องการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซอยู่ดี เนื่องจากเห็นถึงผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว


 


11 เมษายน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงว่านายกรัฐมนตรีขอเลื่อนการตัดสินใจโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด-บ่อนอก และโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ออกไปเป็นปลายเดือน ขณะที่มีข่าวว่า โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียจะคงยังดำเนินการต่อไป แต่โครงการโรงไฟฟ้าหินกรูดและโรงไฟฟ้าบ่อนอกจะถูกชะลอไว้ก่อน


 


ในช่วงที่ทุกคนกำลังรอคอยการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น กลุ่มผู้คัดค้านโครงการยังคงมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดเวทีชาวบ้านหาแนวร่วม การขอรับบริจาคเงินก่อสร้างมัสยิดเพื่อคนเดินทางที่บริเวณลานหอยเสียบ ซึ่งขณะนี้ทำไปได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และการรับบริจาคเงินเข้ากองทุนผ้าห่อศพที่จัดตั้งขึ้นเตรียมรองรับการสูญเสียหากมีการเดินหน้าโครงการ ในขณะที่มีข่าวออกมาว่า ท่อก๊าซจะย้ายจากจุดเดิมไปขึ้นฝั่งที่บ้านควนหินแทน


 


23 เมษายน ตัวแทนเยาวชนจาก 4 ภาค จำนวน 130 คน เดินทางมาร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนที่ลานหอยเสียบ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนและศึกษาสาเหตุการคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย


 


ในยามนี้ ยิ่งใกล้ถึงกำหนดเวลามากขึ้นเท่าไร สถานการณ์ก็ยิ่งงวดขึ้นทุกขณะ และดูเหมือนว่าเริ่มจะมีเสียงตอบเบาๆ แว่วมาจากผู้นำประเทศบ้างแล้ว


 


30 เมษายน คณะกรรมการติดตามและประสานงานตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี เชิญบรรณาธิการสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าฟังข้อมูลลับการตัดสินใจโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย โดยให้ข้อมูลว่าจะมีการย้ายแนวท่อก๊าซไปขึ้นที่บ้านในไร่ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ ซึ่งห่างจากจุดเดิม 4.8 กม. และจะไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการทำประชาพิจารณ์ใหม่อีก


 


ทางด้านกลุ่มผู้คัดค้านได้เดินทางมารวมตัวกันประมาณ 1,000 คนที่ศูนย์คัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซ ลานหอยเสียบ เพื่อรอฟังคำตอบจากนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการตัดสินใจใดๆ ออกมาจากนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งล่วงเข้าเดือนพฤษภาคม


 


9 พฤษภาคม 2545 หลังจากประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นลง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียต่อไป โดยให้มีการเลื่อนแนววางท่อส่งก๊าซออกไปจากเส้นทางเดิมในระยะไม่เกิน 5 กม. ซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการตัดสินใจดังกล่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในบ่ายวันต่อมา


 


หลังจากมีผลการตัดสินใจออกมาจากผู้นำประเทศ ชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านซึ่งรอคอยคำตอบมานานนับเดือน ก็มีปฏิกิริยาตอบรับกับการตัดสินใจดังกล่าวทันที


 


ในด้านหนึ่ง กลุ่มผู้คัดค้านได้เตรียมฝึกเยาวชนไว้รอรับกับสถานการณ์ความรุนแรงอันอาจเกิดจากรัฐบาลแล้ว ส่วนเจ้าของธุรกิจก๊าซที่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ประกาศพร้อมเดินหน้าโครงการเช่นกัน


 


ความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านจากนี้ไป คือเตรียมทำหนังสือผ่านทางสมาชิกวุฒิสภาให้นายกรัฐมนตรีทบทวนการตัดสินใจใหม่ เนื่องจากได้ฟังความเห็นจากคนเพียงกลุ่มเดียว และยืนยันจะล่ารายชื่อยื่นเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ในขณะที่ในพื้นที่ ทหารและตำรวจก็มีความเคลื่อนไหวตลอดอยู่เวลา


 


18 พฤษภาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เตรียมยื่นเรื่องขอความเห็นชอบจากผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการใช้อำนาจอนุมัติการก่อสร้างโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและสิทธิชุมชน


 


ส่วนในพื้นที่ ชาวบ้านกว่า 700 คน มารวมตัวกันที่บ้านในไร่ หมู่ 7 ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านท่อก๊าซ และประกาศจะสู้ต่อไป ในขณะที่ด้านของตำรวจก็เริ่มติดตามการเคลื่อนไหวของชาวบ้านอย่างใกล้ชิดมากขึ้น


 


อนาคตของเรา ไม่ต้องมากำหนดให้


ถ้านับมาถึงขณะนี้ รัฐธรรมนูญฉบับรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีอายุได้ 4 ปี กับ 8 เดือนแล้ว แต่สถานการณ์ความขัดแย้งโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียที่ดำเนินมาหลายปียังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น


 


ในเดือนมิถุนายน 2545 หลังจากรัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการ สถานการณ์ใน อ.จะนะ ก็เริ่มระอุขึ้นอีกครั้ง ตำรวจและทหารพากันตบเท้าเข้ามาเพ่นพ่านอยู่ในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ และ พฤติกรรม "ขบวนการค้างคาว" หรือ "ปฏิบัติการยิงปืนขู่-การขึ้นป้ายสนับสนุนโครงการ" มักจะปรากฏขึ้นเสมอยามค่ำคืน ที่ลานหอยเสียบก็ปรากฏเฮลิคอปเตอร์ลึกลับ บินส่องไฟลงมายังที่พักของกลุ่มผู้คัดค้านนานนับสิบนาที ทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้สร้างภาวะตึงเครียด หวาดกลัว และกดดันให้กับกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเป็นอย่างมาก


 


ภายใต้ภาวการณ์เช่นนี้ ความขัดแย้งที่เคยเป็นของฝ่ายคัดค้านกับฝ่ายสนับสนุนโครงการและบริษัทเอกชนเจ้าของโครงการ ได้ถูกถ่ายโอนมายังคู่ขัดแย้งใหม่ระหว่างฝ่ายผู้คัดค้านโครงการกับรัฐบาลไปโดยปริยาย และดูเหมือนว่าแรงผลักดันจากสถานการณ์ทำให้ทั้งสองก้าวมาสู่การเผชิญหน้ากันโดยตรงอย่างเต็มตัว


 


ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยืนยันกับ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการว่า จะเดินหน้าโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียต่อไป ขณะที่แกนนำเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซยื่นหนังสือถึงผู้นำมาเลเซียผ่านสถานทูตและกงสุลใหญ่มาเลเซีย ขอให้ถอนการลงทุนออกจาก อ.จะนะ และประชุมหารือแกนนำหมู่บ้านที่ลานหอยเสียบ เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียจากการพบกันของผู้นำประเทศทั้งสอง


 


10 กรกฎาคม สำนักงานติดตามและประสานงานตามการสั่งการของนายกรัฐมนตรี มีหนังสือ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและผลประโยชน์จากโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย รวมทั้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้การดำเนินโครงการสำเร็จโดยเร็ว


 


สิงหาคม สถานการณ์เริ่มส่อเค้าความรุนแรง เมื่อมีกระแสข่าวในพื้นที่ว่า จะมีการจัดการแกนนำคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เพื่อทำให้การคัดค้านยุติลง ในขณะที่แกนนำประกาศยอมตาย แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของชาวบ้านได้


 


ผลจากการต่อสู้ที่อดทน ยาวนาน และความไม่โปร่งใสของโครงการ ทำให้การเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย แผ่ขยายออกไปยังกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ และประสานเข้ามาเป็นพันธมิตรในการเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการชาวบ้านที่จะนะ


 


กันยายน 2545 ที่ลานหอยเสียบ มีการจัดจัดกิจกรรม "ร่วมแรงร้อยใจพี่น้องไทย 4 ภาค คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย" ในวันที่ 2-4 มีองค์กรชาวบ้านจากภาคต่างๆ เดินทางมาร่วมเคลื่อนไหวและให้กำลังใจกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซเป็นจำนวนมาก ในครั้งนี้กลุ่มผู้คัดค้านได้ประกาศเพิ่มขีดการคัดค้านไปถึงระดับสูงสุด


 


24 พฤศจิกายน นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ร่วมกันแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียพร้อมกันที่โคราช ขอนแก่น เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ พร้อมรายชื่อนักวิชาการ 1,384 คนทั่วประเทศที่ร่วมกันลงชื่อคัดค้าน ส่วนที่ อ.จะนะ ชาวบ้านร่วมกันประกาศให้บ้านในไร่ เป็นพื้นที่สีเขียวที่ชาวบ้านมีสิทธิจะกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยตัวเอง ในขณะที่วันเดียวกันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปี การพิจารณาผ่านรายงานการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ด้วย


 


29 พฤศจิกายน ชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านจัดประชุมร่วมกับผู้นำศาสนา ที่ศูนย์คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้ข้อสรุปว่า การเคลื่อนไหวคัดค้านเป็นการปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องเดียวกับศาสนาจึงไม่ผิดหลักศาสนา


 


ขณะที่กลุ่มผู้คัดค้านพร้อมเดินหน้าคัดค้านโครงการต่อไปอย่างเต็มที่นั้น มีรายงานข่าวว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จะเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรร่วมกับรัฐมนตรีมาเลเซียที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในเดือนธันวาคม และมีข่าวจากในพื้นที่ด้วยว่า ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อาจเดินทางมาพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อดูพื้นที่ก่อสร้างโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่กำลังมีการคัดค้านกันอยู่


 


ถ้าไม่ปรองดองก็ต้องใช้ความรุนแรง


การประชุม ครม.สัญจรภาคใต้ กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 21-22 ธันวาคม 2545 ที่โรงแรมเจบีหาดใหญ่ จ.สงขลา ในขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มีอายุได้ 5 ปี กับ 1 เดือนเศษ


 


19 ธันวาคม ก่อนการประชุม ครม.สัญจร 2 วัน เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย มีข้อสรุปจากการประชุมชาวบ้านทุกหมู่บ้านใน อ.จะนะ และ อ.นาหม่อม ว่าเพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากไม่ต้องการโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย จะมีการรวมตัวกันเดินทางไปยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศอย่างสันติ จะไม่มีการประท้วง หรือก่อเหตุวุ่นวาย และไม่มีการพกพาอาวุธหรือก่อเหตุรุนแรงใดๆ เว้นแต่รัฐบาลเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวัชรพันธุ์ จันทรขจร ตัวแทนผู้ประสานงานฝ่ายรัฐบาล พร้อมตำรวจยศนายพันอีก 2 นายได้มาเจรจากับแกนนำผู้คัดค้าน โดยมีการกำหนดเส้นทางและการเดินทางให้มีรถตำรวจนำขบวน กลุ่มผู้คัดค้านเสนอขอชุมนุมที่สวนหย่อมริมคลองชลประทาน ด้านหลังโรงแรมเจบี สถานที่ประชุม ครม.


 


ทางด้านตำรวจก็มีการเตรียมพร้อมรับมือ พล.ต.ต.สันฐาน ชยนนท์ ผบก.ภ.จว.สงขลา ให้สัมภาษณ์ว่าได้ขอกำลังหน่วยคอมมานโดจากกองปราบปรามและหน่วยอรินทราช และชุดปราบจลาจลของ ตชด.43 เตรียมกำลังพร้อมในที่ตั้ง เพื่อสกัดมิให้กลุ่มผู้คัดค้านเข้ามาถึงบริเวณหน้าโรงแรม และระหว่างเส้นทาง อ.จะนะ ถึง อ.หาดใหญ่ มีการตั้งจุดตรวจจุดสกัดเป็นช่วงๆ เพื่อหยุดขบวนของผู้คัดค้านทั้งหมดให้ได้ ในการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ รัฐบาลได้ใช้กำลังตำรวจและทหาร อารักขารวมกันถึง 2,900 คน


 


20 ธันวาคม 2545 ก่อนการประชุม ครม.สัญจร 1 วัน


ตั้งแต่ตอนเช้า ชาวบ้านจาก ต.ตลิ่งชัน และพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 1,500 คน รวมตัวกันรออยู่ที่ลานกีฬาบ้านโคกสัก เพื่อเตรียมเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียต่อนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย ช่วงระหว่างที่รอ มีการซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการเคลื่อนขบวน และกฎของผู้ร่วมคัดค้าน ห้ามพกพาอาวุธ ห้ามดื่มของมึนเมา และห้ามทำกริยาไม่เหมาะสมไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ใครฝ่าฝืนจะถูกตัดสิทธิ์การร่วมคัดค้านในครั้งนี้ทันที


 


เมื่อถึงเวลา 15.00 น. ขบวนผู้ชุมนุมเคลื่อนจึงตัวออกจากลานหอยเสียบโดยรถบรรทุก 6 ล้อติดตั้งเครื่องขยายเสียง และรถกระบะอีก 60 คัน พร้อมเสบียงสำหรับการปักหลักชุมนุม โดยที่ไม่มีรถตำรวจนำขบวนให้ตามอย่างที่ได้ตกลงกันไว้แต่อย่างใด


 


ด้านของ อ.หาดใหญ่ ขณะนี้ได้มีการเตรียมการรักษาความปลอดภัยไว้อย่างเข้มงวดที่สุดแล้ว มีการแบ่งพื้นที่รักษาความปลอดภัยอาณาบริเวณโดยรอบโรงแรมเจบีเป็น 3 ชั้น ชั้นในสุดคือพื้นที่รอบโรงแรม มีรั้วกั้น มีตำรวจรักษาการณ์ควบคุมดูแลตลอดเวลา และห้ามคนทั่วไปเข้า ถัดออกมาเป็นเขตชั้นที่ 2 รัศมีจากรอบโรงแรมออกไป 200-300 เมตร มีการวางรั้วลวดหนามและแผงเหล็กกั้นทุกถนนและสะพานที่จะมุ่งหน้าสู่โรงแรมเจบีอย่างแน่นหนา ในแต่ละจุดมีกำลังตำรวจพร้อมอุปกรณ์ปราบจลาจลจุดละ 1 กองร้อย ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ ส่วนชั้นที่ 3 ชั้นนอกสุด อยู่ในสภาพปกติไม่มีการควบคุมดูแล การเตรียมการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้พบเห็นอยู่ไม่น้อย เพราะสภาพเมืองท่องเที่ยวขณะนี้แทบไม่ต่างอะไรไปจากสนามรบ


 


ฃขบวนผู้คัดค้านเคลื่อนมาถึง อ.นาหม่อม ในเวลา 16.00 น. ก็พบด่านสกัดของตำรวจ ซึ่งพยายามต่อรองไม่ให้เข้าไปใน อ.หาดใหญ่ ระหว่างนั้นเกิดการปะทะกันเล็กน้อย และตำรวจขอตรวจค้นรถยนต์ทำให้ขบวนต้องหยุดอยู่กับที่นานเกือบ 2 ชั่วโมง ผู้คัดค้านจึงตัดสินใจเดินทางต่อด้วยเท้า แต่หลังจากนั้น นายวัชรพันธุ์ จันทรขจร ได้เจรจากับตำรวจ ขบวนจึงสามารถเคลื่อนต่อเพื่อไปยังจุดที่ขอไว้คือสวนหย่อมด้านหลังโรงแรมเจบีได้ โดยมีรถตำรวจนำขบวนไปตลอดจนถึง อ.หาดใหญ่


 


เมื่อมาถึง อ.หาดใหญ่ ก็ปาเข้าไปช่วงหัวค่ำแล้วซึ่งผิดจากที่ตั้งใจไว้หลายชั่วโมง รถตำรวจนำกลุ่มผู้คัดค้านมาหยุดที่บริเวณแยกวงเวียนน้ำพุ บนถนนจุติอนุสรณ์ ก่อนจะเลี้ยวรถหายไป ในเวลานี้ เส้นทางทั้งหลายที่ไปสู่โรงแรมเจบีถูกปิดด้วยรั้วลวดหนามหมดแล้ว คงเหลือแต่ถนนสายนี้เพียงสายเดียว ซึ่งหากข้ามแผงเหล็กที่กั้นขวางตรงกึ่งกลางสะพานจุติบุญสูงอุทิศที่อยู่เบื้องหน้า และฝ่ากำลังตำรวจมากกว่าร้อยนายที่ดักรออยู่หลังแผงเหล็กไปได้


 


20.00 น. ห่างไปจากแผงเหล็กกลางสะพานจุติบุญสูงอุทิศ กลุ่มผู้คัดค้านส่วนหนึ่งกำลังเดินจับมือกันเป็นแถวเรียงหน้ากระดานเต็มความกว้างของถนนค่อยๆ เข้ามาและหยุดนั่ง ขณะที่หลังแผงเหล็กออกไป ตำรวจปราบจลาจลเริ่มมารวมตัวกัน


 


เสียงประกาศอย่างผ่อนคลายดังขึ้นจากลำโพงฝั่งผู้คัดค้าน ขณะที่นายวัชรพันธุ์ จันทรขจร และนายตำรวจกำลังพูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุม ระหว่างนั้นมีเสียงจากลำโพงคอยปลุกเร้าเป็นระยะ ก่อนจะบอกให้ผู้ชุมนุมพักผ่อนตามสบาย ผู้ชุมนุมนั่งพักกระจัดกระจายกันอยู่ตามขอบถนน บ้างก็ยืนคุยกันเป็นกลุ่มๆ ขณะนั้นนายวัชรพันธุ์ เดินออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมและผ่านแผงเหล็กไปพูดคุยกับฝ่ายตำรวจอยู่ครู่หนึ่ง จึงหายไปในแนวหลังของตำรวจปราบจลาจล


 


20.30 น. บนถนน ผู้คัดค้านชาวมุสลิมบางส่วนเริ่มทำพิธีละหมาด ผู้หญิงหลายคนกำลังง่วนอยู่กับการสวมชุดสีขาวเพื่อเตรียมตัวละหมาด ส่วนผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้าติดกับแนวแผงเหล็กก็เริ่มทยอยกันทำละหมาดแล้วเช่นกัน


 


20.45 น. ตำรวจที่นั่งพักอยู่หลังแผงเหล็กลุกขึ้นยืน มีเสียงสั่งรวมพลดังขึ้น นายตำรวจนายหนึ่งเดินอ้อมแผงเหล็กมาที่ฝั่งของผู้คัดค้าน ร้องสั่งให้ผู้ชุมนุมถอยไปจากบริเวณแผงเหล็ก ขณะที่ตำรวจปราบจลาจลเริ่มทยอยกันตามมา


 


"สองแถว ๆ"


"เร็ว ๆ อย่าชักช้า !"


 


เสียงนายตำรวจตะโกนสั่ง มือข้างหนึ่งดึงตัวตำรวจปราบจลาจลให้รีบเดินอ้อมมาด้านหน้าแนวแผงเหล็กที่กั้นกึ่งกลางสะพาน ปากก็เร่งเร้าให้ตำรวจปราบจลาจลที่เหลือรีบเดินตามมาอย่างรวดเร็ว


 


ไม่กี่นาทีต่อมา ตำรวจปราบจลาจลก็ยืนกันเป็นกลุ่มแน่น และเคลื่อนเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุมตามจังหวะเสียงนกหวีดสั้น ๆ ที่ดังต่อเนื่อง เมื่อสิ้นเสียงนกหวีดยาว ตำรวจปราบจลาจลก็กวัดแกว่งกระบองในมือระดมใส่กลุ่มผู้ชุมนุม


 


"อย่าครับ พี่น้อง อย่าตอบโต้ !"


"...พี่น้อง อย่าตีเด็ดขาด นิ่งๆ ครับพี่น้อง...ง..ง.."


 


เสียงจากลำโพงของฝั่งผู้คัดค้านดังขึ้นซ้ำๆ หลายครั้ง ขณะที่เกิดการปะทะกันชุลมุนไปทั่วบริเวณ การขอร้องไม่ให้โต้ตอบไม่เป็นผล กลุ่มผู้คัดค้านยังคงใช้คันธงไม้ไผ่ตีตอบโต้และขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจสลับกับถูกทุบถูกฟาดอย่างดุเดือด เสียงจากลำโพงยังดังขึ้นตลอดเวลา


 


"อย่าตีตำรวจครับ พี่น้องอย่าตี...อย่าครับพี่น้อง อย่าตอบโต้..."


 


"...เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่าตีพี่น้องประชาชนๆ กำลังจะกินข้าวอยู่...นายหัวเอ๊ย..."


 


สักพักหนึ่ง กลุ่มผู้คัดค้านก็ถูกไล่ทุบตีจนถอยร่นแตกกระเจิงกันไปคนละทิศละทาง การปะทะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตำรวจเข้าทุบทำลายรถยนต์ รถบรรทุก 6 ล้อถูกทุบกระจกหน้าแตกกระจาย คนบนรถถูกตำรวจลากครูดไปกับพื้นถนนซีเมนต์ในสภาพทุลักทุเล และเสียงประกาศจากลำโพงก็เงียบหายไป


 


ถึงตอนนี้ กลุ่มผู้คัดค้านเบาบางลงไปจนเกือบจะไม่มีแล้ว ผู้ชุมนุมบางส่วนที่กลับมาเอารถก็ถูกตำรวจกรูเข้าทุบตีซ้ำ ประมาณ 21.00 น. ในบริเวณนั้นไม่มีผู้ชุมนุมหลงเหลืออยู่เลย การสลายการชุมนุมครั้งนี้มีการจับกุมผู้คัดค้านไป 12 คน รถยนต์ถูกยึดไว้ 7 คัน และมีผู้บาดได้รับเจ็บจำนวนมาก


 


เหตุการณ์สลายการชุมนุมสงบลงในราว 3 ทุ่มครึ่งของคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2545 วันรุ่งขึ้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรียังคงเดินทางมาร่วมประชุมกันตามกำหนดการเดิมต่อไป


 


12 มิถุนายน 2546 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเนื่องจากการสลายการชุมนุมคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ว่า เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน การที่รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมตัดสินใจโครงการที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 46, 56, 58, 60, 76 และ 79 การที่รัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุมขณะที่ผู้ชุมนุมใช้สิทธิโดยปราศจากอาวุธ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 31, 44 และ 48 และการจับกุมของตำรวจโดยไม่แจ้งข้อหา ไม่ให้ปรึกษาทนายความ ไม่แจ้งญาติและไม่ให้เยี่ยม เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 237, 239 และ 241


 


16 มิถุนายน 2546 คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา แถลงผลการสอบสวนกรณีการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียว่า เป็นการออกคำสั่งโดยขาดความรอบคอบและบกพร่องจนนำไปสู่การละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งได้เสนอรายงานต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว


 


ในช่วงนี้ แกนนำ 12 คนที่ถูกตำรวจจับกุมถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล จ.สงขลา มีกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ต้นปี 2547 ซึ่งในขณะนั้น สภาทนายความได้ส่งคณะทำงานมาช่วยเหลือเรื่องคดีความแล้ว ส่วนชาวบ้านยังคงร่วมกันทำกิจกรรมคัดค้านโครงการที่ลานหอยเสียบอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเพิ่มกำลังตำรวจและ ตชด.พร้อมอาวุธหลายร้อยนายมาตั้งอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้การคุ้มกันโครงการท่อก๊าซก็ตาม ในขณะที่นายกรัฐมนตรียังคงแสดงความแข็งกร้าวในเรื่องนี้ต่อไป


 


ขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้านยังคงดำเนินต่อมาควบคู่กับการเดินหน้าโครงการ การเผชิญหน้ากับทหารและตำรวจที่อารักขาการก่อสร้างโครงการ และความขัดแย้งใหม่เรื่องการปิดล้อมและนำที่ดินสาธารณประโยชน์ของชาวบ้านมาก่อสร้างโครงการ


 


การเรียกร้องที่ยาวนานของกลุ่มผู้คัดค้านเริ่มมีผลบ้าง เมื่อบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย ยอมเปิดเผยสาระสำคัญบางส่วนของสัญญาทั้ง 4 ฉบับต่อสาธารณะในกลางเดือนกรกฎาคม 2546


 


ผลจากการตัดสินใจให้โครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียเดินหน้าต่อเริ่มปรากฏขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ป่าพรุที่เป็นแหล่งจับสัตว์น้ำจืดของชาวบ้าน แหล่งน้ำกินของวัวนับพันตัว และแหล่งรองรับน้ำของชุมชนตลิ่งชันและชุมชนใกล้เคียง ได้ถูกทำลายลงต่อหน้าต่อตาจากการก่อสร้าง ด้วยการนำดินถมลงในป่าพรุมีรถสิบล้อบรรทุกดินกว่า 10 คัน และรถแบ็คโฮอีก 6 คัน ส่งผลสะเทือนถึงการทำมาหากิน และสร้างความเจ็บปวดให้แก่ชาวบ้านทันที


 


ธันวาคม 2547 ศาลอาญา จ.สงขลา มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 20 คน และให้คืนรถยนต์ทั้งหมดที่ยึดมาแก่ชาวบ้าน โดยศาลเห็นว่าโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบต่อต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับประชาชนชุมชนท้องถิ่น ซึ่งประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะแสดงความคิดเห็น ในขณะที่ประชาพิจารณ์ 2 ครั้งที่ผ่านมาเป็นการทำประชาพิจารณ์ที่มีปัญหา และการชุมนุมครั้งนี้เป็นการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย โดยที่ชาวบ้านได้ประสานงานกับตัวแทนของรัฐและรัฐบาลรับทราบล่วงหน้าชัดเจนแล้ว นอกจากนี้ การชุมนุมของชาวบ้านเป็นไปอย่างสงบและปราศจากอาวุธ และก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่มีคำสั่งอย่างชัดเจนให้เลิกการชุมนุม ส่วนการตอบโต้เจ้าหน้าที่เป็นกระทำเกิดขึ้นทันทีโดยพลการ ไม่ได้มีการเรียกร้องให้กระทำร่วมกัน จึงไม่ถือเป็นการประทุษร้ายหรือร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่


 


การพิพากษายกฟ้องในคดีนี้ ถือเป็นชัยชนะและความสำเร็จรายทางเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของการก้าวเดินไปบนเส้นทางการต่อสู้อันยาวไกลของขบวนการสิทธิชุมชน และนับเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่อำนาจตุลาการหยิบยกสิทธิพื้นฐานที่สุดของกลุ่มคนที่ถูกทำให้มีอำนาจน้อยที่สุด ขึ้นมาเป็นหลักในการพิจารณาคดี แต่นั่นย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้โดยลำพังตัวของมันเอง โดยที่ขาดซึ่งพลังที่จะขยับขับเคลื่อนมาก่อนตั้งแต่ในเบื้องต้น


 


จากคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2545 มาจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน ผ่านมาเกือบ 4 ปี ศาลปกครองก็มีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ชุมนุมประท้วง ความสำคัญมิใช่อยู่ที่ตัวเลขตัวเงินที่ได้รับ และไม่ใช่แค่การย้ำว่า รัฐผิด แต่ ผิดแล้วต้องชดใช้ด้วย


 


………………………………………..


เรียบเรียงโดย : บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net