Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"กรณ์" เผยช่วงเวลาประชาธิปัตย์ตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง  "ชวน" โทรมาเบรค  แต่ "มาร์ค" ขอเดินหน้าไม่ยอมเป็นเหยื่อระบอบทักษิณ  รับส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก  เตือนอัตราความเหลื่อมล้ำรวย-จนของคนไทยสูงถึง 14 เท่าถึงจุดอันตราย


            นายกรณ์ จาติกวนิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ผลกระทบวิกฤตการเมืองต่อสภาวะเศรษฐกิจไทย" ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า สถานการณ์การเมืองของประเทศเรียกได้ว่าไม่ปกติ จะถือว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายตุลาการก็ว่าได้ บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ก็เรียกว่าไม่มีอาวุธที่จะต่อกรกับรัฐบาลโดยตรง  เป็นบทบาทของการเสริฟ์ลูกให้ระบบศาลยุติธรรมต่อสู้ คือการยื่นฟ้องคดีต่างๆ ให้ศาลไตร่ตรอง  ซึ่งคดีล่าสุดที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ฟ้องกกต.ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ข้อกล่าวหากรณีพรรคใหญ่จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา  เมื่อกกต.ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดโดยไม่มีมติให้ชัดเจน ก็จะต้องรอดูวันที่ 16 มิถุนายนนี้ว่าอัยการจะดำเนินการอย่างไร  เป็นต้น  นอกจากนั้นยังเกิดการตีความกฎหมายหลายทิศทาง มีความท้าทายความเข้าใจวิธีการใช้รัฐธรรมนูญแตกต่างกัน  เกิดคำถามว่าหากยุบพรรคไทยรักไทย หรือยุบทั้ง 2 พรรค หรือยุบพรรคประชาธิปัตย์แล้วจะเกิดอะไรขึ้น  ซึ่งเชื่อว่าการเมืองเป็นเช่นนี้กว่าจะได้ข้อสรุปต้องใช้เวลานับปี   แต่ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำความเข้าใจกับระบอบประชาธิปไตยได้ดีที่สุด  สุดท้ายแล้วข้อดีคือเมื่อเศรษฐกิจไม่ล่มเพราะการเมือง และการแก้ไขการเมืองผ่านพ้นได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ถือว่าเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าต่อสังคมไทย ที่เกิดการตื่นตัวต่อที่ส่งผลต่อการพัฒนาการทางการเมืองมาก 


นายกรณ์กล่าวว่า เมื่อการเมืองยังไม่มีความชัดเจน ย่อมมีผู้มองว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยถือว่าสูงที่ GDP  อยู่ที่ 6 %   แต่ทุกสำนักก็ได้ประมาณการว่า GDP ของประเทศตลอดปีว่าจะอยู่ที่ 4.2 -4.3  % นั้น การชะลอตัวระหว่างปีน่าพิจารณาว่าหลายไตรมาสจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 2 % เท่านั้น ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเมืองหรือไม่ มีมุมความเห็นที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์การเติบโตของไตรมาสแรกที่การขยายตัวเพิ่มจาการส่งออกและภาคบริการ ตนเห็นว่าการเมืองไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนที่ต่ำลงมาก แสดงเห็นถึงความไม่มั่นใจในอนาคต  และการลงทุนของภาครัฐหรือเม็กกะโปรเจ็กต์คงยังไม่สามารถทำได้ 


"ไตรมาสแรงที่เติบโตได้ถึง 6 % มีปัจจัยสำคัญอีกประการคือการใช้เงินของภาครัฐที่เรียกกันว่าเป็นงบล้างท่อ ที่ขับเคลื่อนโครงการในงบปี 48 ซึ่งเบิกจ่ายได้มีประสิทธิภาพ  ดังนั้นเมื่อ 3 ไตรมาสที่เหลือไม่มีตัวนี้มาผลักดันเศรษฐกิจ และถ้าไม่มีรัฐบาลที่มากกว่ารัฐบาลรักษาการมาพิจารณางบประมาณปี 2550 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าจะขาดปัจจัยผลักดันนี้   แต่สิ่งที่น่าห่วงคือหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูง 140,000 บาทต่อปี เพิ่มจากปี 2544 ที่มีอยู่ 60,000 บาทต่อปี และอัตราการเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 14 เท่าถือว่าอันตราย   เพราะอัตราปกติไม่ควร 4-5 เท่าเท่านั้น"


            นายกรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า  10 บุคคลสำคัญของพรรคไทยรักไทย ล้วนมาจากนักธุรกิจ แต่นโยบายของไทยรักไทยกลับไม่เอื้อต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ชูนโยบายประชานิยม ให้ประชาชนต้องพึ่งรัฐบาล และประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงกลไกการตลาด และโอกาสทางการแข่งขันก็แตกต่างกันด้วย  ซึ่งเขาเสนอว่า วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศหากจะเกิด ก็จะเกิดกับรากหญ้าไม่ใช่ผู้คนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนปี 2540 ซึ่งจะต้องเร่งสร้างภูมิต้านทาน โดยเฉพาะหนี้สินที่เกิดจากนโยบายผิดพลาดของรัฐบาล


            นายกรณ์ยังได้ตอบคำถามกรณีพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้ง 2 เมษายน โดยเล่าบรรยากาศที่ประชุมวันนั้นว่า หลังการประกาศยุบสภา 1 วัน มีการประชุมพรรคปชป.ทันที แต่ไม่มีวาระดังกล่าว โดยผู้ที่นำวาระนี้มาหารือคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งระหว่างการประชุมอยู่ นายชวน หลีกภัยได้โทรศัพท์เข้ามาทันที และกล่าวด้วยว่า "ห้ามแม้แต่จะคิดที่จะไม่ลง และต้องแข่งขันในเวที"  ซึ่งในการถกเถียงวันนั้นใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง และมีความคิดที่หลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สุดท้ายมีการโหวตโดยเขียนความคิดในกระดาษและให้นายอภิสิทธิ์เป็นผู้ตัดสินใจสุดท้าย ซึ่งนายอภิสิทธิ์เลือกที่จะไม่ลงเลือกตั้ง โดยจนบัดนี้ไม่มีใครในพรรคทราบถึงผลโหวตนั้น


            นายกรณ์เห็นว่า การตัดสินใจครั้งนั้นเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญมาก เพราะหากลงแข่งขันย่อมเป็นเรื่องง่ายกว่า ที่สถานการณ์นี้พรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส..เพิ่มขึ้น และทู่ซี้อยู่ในสภาจนเลือกตั้งใหม่ได้  ซึ่งไม่มีใครมาว่านายอภิสิทธืได้  ขณะที่เมื่อตัดสินใจไม่ลงโอกาสที่พรรคปชป.จะสุญพันธุ์ก็มี เพราะหากเกิดสภา 500 โดยพรรคไทยรักไทยไป คนอาจลืมปชป.ไปเลยก็ได้ ทั้งนี้ตนได้สอบถามนายอภิสิทธิ์ถึงเหตุผลที่แท้จริง ได้รับคำอธิบายว่าเขาเชื่อว่า ระบอบทักษิณไม่อยู่ยงคงกระพัน  สักวันจะต้องล้ม และเมื่อถึงวันนั้น สังคมจะมองปชป.อย่างไร


            "หากเราเล่นด้วยกันเขา (ลงเลือกตั้ง) เหมือนกับได้ให้ความชอบธรรม ต่ออายุของระบอบ ประชาชนย่อมมองว่า ปชป.มีส่วนร่วมต่ออายุให้ระบอบทักษิณซึ่งเป็นระบอบที่คุณอภิสิทธิ์เชื่อว่าจะทำร้ายสังคมไทย ซึ่งเขาจะไม่ยอมแม้แต่ 1 วัน นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่พบว่า ไม่อยากเล่นเพราะกรรมการไม่แฟร์ อันนี้เราหมายถึง กกต. สุดท้ายก็ให้หัวหน้าตัดสินใจ  และที่สุดศาลก็มีคำสั่งว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบ" นายกรณ์กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net