Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อยากตอบ Forever ๒
เด็กแนวคืออะไร ?
From: "+_+ ^_^ ——————"
To:
askpitch@yahoo.com
Subject: อยากถาม
Date: Tue, 11 Apr 2006 01:45:16 +0700


สวัสดีค่ะ อ.พิชญ์


หนูก้อเป็นคนที่ติดตาม a day weekly บ้างไม่ติดตามบ้างตามสถานะทางการเงินค่ะ แต่ทุกครั้งที่ซื้อมาอ่านก็จะอ่าน"อยากตอบ"ของ อ.ทุกครั้งไป รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างตามสติปัญญาน่ะค่ะ(อีกแล้ว )
ตอนนี้อ.ก้อได้มาทำคอลัมน์ต่อในเว็บประชาไทแล้ว ดีใจจังเลยค่ะ ที่มีคนสนใจคำถามและคำตอบกัน ในยุคแบบนี้ (ที่ไม่ต้องการทั้งคำถามและคำตอบ มีแต่การเชื่อฟังเท่านั้น) หนูเลยอยากถามกับเค้าบ้าง (เอาซะหน่อย)


คือคำว่า "เด็กแนว" กับ "เด็กเนอร์ส" ต่างกันยังไงคะ? อันที่จริงหนูก้อพอรู้ๆมาบ้างหรอกค่ะแต่อยากฟังคำตอบของอ.มากกว่าว่าจะตรงใจและ "โดน" ไหม ยังไงก้อช่วยตอบด้วยนะคะ ขอขอบคุณล่วงหน้าด้วยค่ะ
ป.ล.ไม่ต้องแจกรางวัลนะคะ หนูว่าให้ความรู้ที่อ.จะตอบเป็นวิทยาทานต่อไปเผื่อว่าหนูจะได้บุญบ้าง ตกนรกไปจะได้อยู่ชั้นที่ไม่ลึกเกินไปนัก (ฮา…)


อยากตอบ: เฮ้อ …  ไม่น่าใส่ไว้ในคำโฆษณาเลยว่า "รักคนอ่าน อภิบาลเด็กแนว" เลยโดนคำถามแบบนี้เข้าให้แต่ก่อนที่จะตอบนะครับ อยากตอบ Forever ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก "นู๋นพ" เจ้าของคอลัมน์ "น้องจู๋กับนู๋นพ" ใน a day weekly มาร่วมเป็นแขกรับเชิญในครั้งนี้ครับ


คำตอบจากนู๋นพ: 


-เด็กแนว น่าจะมาจากคำว่า "แหวกแนว" อะไรทำนองนี้
ก็คือคนที่แต่งตัวแหวกแนว
ทำอะไรแหวกแนวกว่าคนอื่นเสียหน่อย
ถ้ามองในแง่ความคิดสร้างสรรค์ก็คงจะมีความคิดพิสดารดี ไม่ตามกระแส
แต่ถ้ามองในแง่หนึ่งก็อาจจะเห็นเป็นคนที่แปลกประหลาด เข้าพวกกับสังคมส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะได้ ไม่สนใจสังคมโลกพยามทำตัวเด่นแปลกประหลาดแต่ไม่รู้ในหัวสมองจะมีอะไรเด่นหรือก็ไม่รู้


-เด็กแมว อันนี้เป็นศัพท์ของพวกขี้เมื่อย อาบน้ำด้วยตัวเองไม่เป็น


-เด็กแม้ว ที่ไม่ได้หมายถึงชาวไทยชายขอบ แต่หมายถึงเด็กในคาถาอยู่ในเครือข่ายของนายแม้ว คนเหนือที่มีชื่อจริงเป็นทิศใต้ และเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใหญ่


-เด็กเนิร์ด (Nerd) น่าจะเป็นคำนี้มากกว่า เป็นพวกที่บ้าเรียน ใฝ่หาความรู้ ไม่สนใจแฟชั่นคงจะมีอยู่ทุกห้องเรียน
พวกอาหมวย อาตี๋ที่สนใจเรียนใส่แว่นหนาๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับพวกไม่ค่อยขยันเรียนแล้วดันสายตาสั้นอีก
ในหนังฝรั่ง เราจะเห็นรูปลักษณ์ของพวกนี้เป็นพวกใส่แว่นตาหนาเตอะ ขลุกอยู่กับหนังสือ ทดลองโน่นทดลองนี่ได้ทั้งวัน
-ถ้าเด็กเนิร์ส แบบที่หนูว่ามา น่าจะเป็นพยาบาล ขาวๆ อวบๆ
หรือว่าเด็กในเนิร์สเซอรี่ที่ยังไม่โตหว่า ตอบประมาณนี้นะครับ ขวัญใจเด็กแมว
จาก นู๋นพ 


อยากตอบ (อีกครั้ง): เรื่องเด็กแมว  เอ้ย เด็กแนวเนี่ยเป็นเรื่องที่ตลกดีนะครับ เพราะถ้าเราไปให้คำนิยามเข้าเมื่อไหร่ ก็จะถูกตอบโต้ทันทีว่า รู้ไม่จริง หรือพวกที่อ้างว่าตัวเป็นเด็กแนวนั้นความจริงเป็นพวกเด็กแนวที่ไม่ใช่ของแท้ เป็นต้น


เด็กแนวคืออะไรนั้นคงตอบได้อย่างคร่าวๆ อาทิการใช้ชีวิตบางอย่าง (life style) ซึ่งเราสามารถบรรยายได้ อาทิ มีคนกล่าวว่าเด็กแนวต้องอ่านอะเดย์ หรือฟังแฟต แต่เรื่องแบบนี้ไอ้กระผมในฐานะเด็ก "แนวมาล้าน" (ผมก็ไม่ค่อยมีด้วย แต่เป็นเด็ก "นานมาแล้ว" เสียมากกว่า - ความจริงมุขนี้ก็มุขพี่นู๋นพเขา แอบเอามาใช้ครับ) ก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ เพราะคนหลายคนที่อ่านและฟังสื่อเหล่านั้นแต่เขาอาจจะไม่อยากเรียกตัวเขาเองว่าเด็กแนวก็ได้ เขาอาจจะเป็นเด็กป๋าก็ได้


ที่สำคัญ การอธิบายว่าเด็กแนวนั้นต้อง "เสพ" อะไรนั้นมันเป็นเพียงลักษณะการบรรยายความมากกว่า ไม่สามารถตอบคำถามอื่นๆได้ว่าทำไมปรากฏการณ์การเสพสิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นได้ ณ ห้วงเวลาหนึ่งๆ และ การประกาศตนว่าเป็นเด็กแนว หรือการถูกเรียกว่าเด็กแนวมันมีนัยยะสำคัญต่อสังคมอย่างไร (ไม่เกี่ยวกับเรื่องว่าเด็กแนวต้องกู้ชาติหรือไม่หรอกครับ)


สำหรับผม เรื่องของเด็กแนวหรือไม่แนวนั้นมันเป็นเรื่องของการสร้างความเป็นตัวตนของเขา และสร้างความเป็นชุมชนแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเราอธิบายเรื่องของเด็กแนวเช่นนี้ จะทำให้เราไม่หมกมุ่นแค่หาความชัดเจนว่าเขาเสพสินค้าอะไร แต่มุ่งไปที่ว่าการเรียกหรือแสดงตนว่าตนเป็นเด็กแนวนั้นนั้นมีลักษณะอย่างไรบ้างในระดับโครงสร้าง และแบบแผนของพฤติกรรม มากกว่าชื่อสินค้าที่เขาเสพ


การพูดถึงและเอ่ยอ้างเรื่องเด็กแนวนั้น เป็นเรื่องของการสร้างตัวตนและชุมชนของวัยรุ่นแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของการอธิบายว่าตัวของเรานั้นแตกต่างไปจากกลุ่มอื่นๆอย่างไร


ในแง่นี้คำว่า "แนว" หรือ "ไม่แนว" นั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าคนที่เป็นเด็กแนวจะต้องออกมาอ้างว่า "กูเป็นเด็กแนว" ก็ได้ เพียงแต่ลักษณะของการแสดงออกซึ่งความแตกต่างในแง่ของการ "มีแนวทางเป็นของตัวเอง" นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ


เรื่องการมีแนวทางเป็นของตัวเองนี้ย่อมต้องมี "ชุมชน" ของการมีแนวทางเป็นของตัวเองมารองรับด้วย ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจก็คือเด็กแนวบางคนอาจจะพยายามบอกว่าเขาแท้กว่าพวกอื่น เพราะมีทั้ง "เด็กแนวแท้" ที่เชื่อว่าตนนั้นมีแนวทางเป็นของตัวเอง กับพวก "เด็กแนวเทียม" ที่ตามพวกเด็กแนวแท้ (หรือบางทีอาจไม่มีทั้งแท้และเทียมแหละครับ มีแต่ว่าพวกแท้จะบอกแท้ได้ก็ต้องบอกว่าพวกอื่นนั้นเทียมก็อาจเป็นได้)


ดังนั้นการจัดความสัมพันธ์กันระหว่างความเป็นเด็กแนวในระดับตัวตนคนเดียวของเขากับชุมชนเด็กแนวของเขาจึงเป็นเรื่องที่จะละเลยที่จะไม่สนใจมิได้ ซึ่งกรณีของการสร้างชุมชนของเด็กแนวนั้นผมสังเกตุว่ามีลักษณะเด่นสักสามอย่าง


อย่างแรก คือความสนใจเรื่องศิลปะและสื่อต่างๆ  แต่ไม่ปฏิเสธการแสวงหากำไร
อย่างที่สอง คือความสนใจในการขอ "พื้นที่เล็กๆของตัวเอง"
อย่างที่สาม คือท่าทีที่มีต่อโลกนั้นมิได้เน้นการปะทะโค่นล้ม แต่เน้นอารมณ์ "ขำๆ"  ในการต่อสู้ต่อรองกับระบบ


เด็กแนวมิได้ปฏิเสธความร่ำรวย แต่ไม่ต้องการลักษณะการแสวงหากำไรในแบบบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งผมเห็นว่าธุรกิจที่หากินกับเด็กแนวนั้นเน้นการสร้างความเป็นชุมชน มีความจงรักภักดีต่อตัวสินค้า แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องมีมิติศิลปะและความงดงามอยู่ด้วย


ด้วยลักษณะของสังคมของเราที่รากฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่ชัดเจน และเกิดการครอบงำทางสื่อจากบริษัทใหญ่ๆ ลักษณะการหาศิลปะทางเลือกจึงมีอยู่ และเป็นช่องทางในการแสวงหารายได้ อันนำมาซึ่งการเป็น "ตัวแบบ" ของ venture capitalism แบบหนึ่ง ก็คือการแสวงหากำไรผ่านการสร้างสรรค์ ซึ่งสังคมที่โครงสร้างสื่อครอบงำสูงแบบของเรา ทำให้เกิดช่องทางของการพยายามแสวงหาทางเลือกอยู่บ้าง และสื่อขนาดใหญ่ก็สามารถประสานประโยชน์กับสื่อทางเลือกเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก


ในแง่นี้การแสวงหากำไรผ่านมุมมองทางศิลปะนั้นทำได้ง่ายกว่าการแสวงหาทางเลือกในการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์เหมือนพวกสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ศิลปะและศิลปินนั้นสามารถทำเงินได้ และเป็นทางเลือกใหม่ในการแสดงออกซึ่งความเป็นตัวตน ในฐานะทางเลือกจากศิลปะเพื่อชีวิตแบบยุคที่ผ่านมา หรื
ศิลปะที่ถูกกำหนดจากขั้นตอนของบริษัทขนาดใหญ่ที่ควบคุมทุกขั้นตอนจนไม่สามารถส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้


และสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ เพราะการแสวงหากำไรสมัยใหม่ เกิดจากการเสพมูลค่าบางอย่าง ไม่ได้อยู่ที่การลดต้นทุนเสมอไป ดังนั้นการสร้างแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตบางอย่างก็สามารถมีมูลค่าที่ขายได้


การขอพื้นที่เล็กๆให้กับตนเองนั้นมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นเรื่องของสายลมแสงแดด เสมอไป แต่อิทธิพลของการขอพื้นที่เล็กๆและเน้นความงดงามของความรู้สึกในปัจจุบันนั้นเป็นภาพโต้ตอบต่อลักษณะของการแบกรับภาระอันยิ่งใหญ่ของนิสิตนักศึกษาในยุคที่แล้ว


รายละเอียดในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกจึงค่อนข้างสำคัญกว่าคำอธิบายจากคัมภีร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกซึ่งเต็มไปด้วยการเสียสละและการเผชิญหน้ากับความเห็นที่แตกต่าง


ในแง่นี้เด็กแนวอาจจะเป็นพวกเห็นแก่ตัว แต่ไม่ใช่การเห็นแก่ตัวในแง่ลบในแง่การไม่รับรู้โลก หรือเอาประโยชน์เข้าตัวเอง เพียงแต่เขาอาจไม่เห็นว่าการผลักดันกงล้อทางประวัติศาสตร์เป็นทางออกเดียวของสังคม เขาสนใจตัวเขา ซึ่งความจริงไม่น่าจะแตกต่างจากเด็กแนวมาล้านทุกยุคทุกสมัยหรอกครับ


ไม่มากกว่า หรือไม่น้อยกว่า
ไม่เหนือกว่า และไม่ด้อยกว่า


ในส่วนของอาการขำๆ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะอาการขำๆนั้นเป็นอาการที่แตกต่างจากการเอาชนะโค่นล้มสังคมเก่า หรือให้ความสำคัญกับความขัดแย้งในฐานะพลังความขับเคลื่อนสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า


อาการขำๆนั้นเป็นอาการของการอยากร่วมสนทนาด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องหักล้างเสมอไป คล้ายกับการแตกต่างแต่ไม่แตกแยกนั่นแหละครับ และที่น่าสนใจคือสนใจเรื่องของความแตกต่างเสียด้วย


ผมคงอธิบายได้เท่านี้ก่อนนะครับ เพราะไม่อยากจะทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเด็กแนวครับ ผมสนใจว่าปรากฏการณ์เด็กแนวทำให้เราเข้าใจสังคมมากขึ้นอย่างไร มากกว่าเข้าใจเด็กแนวเสียด้วยซ้ำ คือว่าเอ … ปรากฏการณ์อะไรที่ก่อให้เกิดเด็กแนวขึ้นมา น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเด็กแนว "คืออะไร"


ส่วนเรื่องของเด็กเนิร์ด Nerd นั้นอันนี้ไม่ค่อยแน่ใจครับ … ไม่น่าเป็นคำฮิตของบ้านเราสักเท่าไหร่ และที่สำคัญก็คือคนที่เป็นเนิร์ดไม่ค่อยจะประกาศตัวเองสักเท่าไหร่
แต่เมื่อหลายปีก่อนมีหนังฮอลิวู๊ดเรื่อง The Revenge of the Nerd ออกมาฉาย
http://www.imdb.com/title/tt0088000/ ซึ่งเรื่องที่ผมเรียนรู้จากการดูเรื่องนี้ก็คือคำว่าเนิร์ดนั้นเป็นคำที่มักใช้เรียกคนที่เก่งแต่เข้าสังคมไม่ได้ แต่ในเรื่องนั้นเขาเปรียบเทียบว่าพวกเนิร์ดนั้นก็ไม่ต่างจากพวกชนกลุ่มน้อย หรือคนผิวสีที่ถูกมองด้วยอคติบางอย่าง


สังคมเรานั้นคงหลีกเลี่ยงการสร้างกลุ่ม และนำเสนอตัวตนของเราไม่ได้หรอกครับ เพียงแต่ว่าเราจะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างได้อย่างไร และความแตกต่างแบบไหนที่มันมีนัยยะสำคัญที่เมื่อเราแก้ไขได้แล้วเราจะมีความสุขและมีมีชีวิตที่ดีร่วมกัน


ขณะที่ความแตกต่างบางอย่างยิ่งมีก็ยิ่งมีความสุขร่วมกัน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆร่วมกันค้นหากันต่อไปครับ


หมายเหตุ: หนูผู้สงสัยเรื่อเด็กแนวกับเด็กเนิร์ดจะได้รับของรางวัลจาก "อยากตอบ forever" เป็น ซีดีเพลง "อื่นๆอีกมากมาย" ของวงเฉลียง หนึ่งชุด … ฟังแล้วลองคิดดู แล้วลองอ่านอยากตอบคราวนี้อีกสักรอบสองรอบนะครับ … ฮิฮิ  (ของรางวัลรอหน่อยนะครับ เดี๋ยวหาให้ ช้าหน่อย แต่อย่าไปร้องกับ กกต. ตัดสิทธิ์ในการเขียนอยากตอบของผมนะครับ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net