Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย โธมัส ไอ. แพลลีย์


 


ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล


จาก Thomas I. Palley, A New Development Paradigm: Domestic Demand-Led Growth (www.thomaspalley.com)


 


 


 


หมายเหตุผู้แปล: แม้ว่า ดร.แพลลีย์จะเขียนเอกสารชิ้นนี้ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 ข้อมูลบางอย่างที่กล่าวถึงในเอกสารอาจจะเก่าไปบ้าง แต่ข้อเสนอหลายประการน่าจะนำมาพิจารณาและถกเถียงกันได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีบางท่านอาจเห็นว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักร เป็นแนวคิดที่คล้ายคลึงกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทย ผู้แปลเห็นว่า บทความชิ้นนี้จะช่วยชี้ให้เห็นว่า นโยบายของพรรคไทยรักไทยและ "ทักษิโณมิคส์" มีความผิดพลาดและขาดชุดนโยบายที่จำเป็นอะไรบ้าง และสามารถนำแนวคิดในบทความเป็นบรรทัดฐานเพื่อวัดความจริงใจของนโยบายเศรษฐกิจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของพรรคการเมืองไหนก็ตาม


 


งานแปลชิ้นนี้เป็นหนึ่งในชุด "การแสวงหาทางเลือกใหม่" ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งผู้แปลต้องการนำเสนอต่อผู้ที่สนใจ จากสองชิ้นแรกที่เคยนำเสนอไปแล้วคือ "การเข้าถึงตลาด คือคำตอบต่อปัญหาความยากจน?" และ "คิดนอกกรอบ: ว่าด้วยการค้า, การพัฒนาและการลดปัญหาความยากจน" บทความชิ้นต่อไป ที่ผู้แปลหวังว่าจะสามารถนำเสนอได้หลังจบฟุตบอลโลก 2006 คือ ข้อเสนอเรื่อง OLEC (Organization of Labour-Intensive Exporting Country) ของ Henry C. K. Liu


 


 


š บทคัดย่อ ›


ฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งเน้นความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักร พิสูจน์แล้วว่ามันล้มเหลว บัดนี้ถึงเวลาสำหรับนโยบายการพัฒนาแนวใหม่ที่เน้นการใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักรของการเติบโต การบรรลุถึงผลสำเร็จจำเป็นต้องมีการวางกลุ่มนโยบายใหม่ขึ้นมาชุดหนึ่ง ความเติบโตที่อาศัยอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักรตั้งอยู่บนเสาสี่หลักคือ: (1) ปรับปรุงการกระจายรายได้ให้ดีขึ้น (2) ธรรมาภิบาล (3) เสถียรภาพทางการเงินและพื้นที่สำหรับนโยบายสร้างเสถียรภาพแบบทวนวงจรเศรษฐกิจ และ (4) การจัดหาเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาที่เพียงพอและมีต้นทุนที่เป็นธรรม นโยบายที่จำเป็นในการตอกเสาหลักเหล่านี้ประกอบด้วย (1) สิทธิของแรงงานและประชาธิปไตย (2) การปฏิรูปและกำกับดูแลสถาปัตยกรรมทางการเงินที่เหมาะสม และ (3) การยกเลิกหนี้สิน, การเพิ่มความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และการเพิ่มความช่วยเหลือด้านการพัฒนา โดยอาศัยการขยายสิทธิการถอนเงินพิเศษ (SDRs)


 


ความล้มเหลวของฉันทามติวอชิงตันและความจำเป็นของกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา


ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ฉันทามติวอชิงตันคอยชี้นำนโยบายการพัฒนา (1) แนวคิดนี้ได้รับชัยชนะในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 โดยเข้ามาแทนที่การพัฒนาที่เน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งส่งเสริมความสามารถทางการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ ในปัจจุบัน สืบเนื่องจากทศวรรษของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ—อันประกอบด้วยเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1994, เอเชียตะวันออกในปี 1997, รัสเซียในปี 1998, บราซิลในปี 1999 และอาร์เจนตินากับตุรกีในปี 2000—ฉันทามติวอชิงตันกำลังพังทลายลงเป็นผุยผง


 


แนวโน้มที่มักก่อให้เกิดวิกฤตการณ์เป็นปัญหาขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของฉันทามติวอชิงตัน ปัญหาขั้นพื้นฐานอีกประการหนึ่งคือ ความล้มเหลวที่มันไม่สามารถชักนำให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจนในตารางที่ 1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอช้าลงอย่างเป็นระบบตลอดยุคฉันทามติวอชิงตัน โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ความเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วง ค.ศ. 1990-96 ชะลอช้าลงกว่าในช่วง ค.ศ. 1980-89 ซึ่งก็ช้ากว่าในช่วง ค.ศ. 1965-80 ปัญหาขั้นพื้นฐานประการที่สามคือ แนวโน้มที่ฉันทามติวอชิงตันมักมีองค์ประกอบทางนโยบายที่ทำให้การกระจายรายได้เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ไม่ว่าในโลกอุตสาหกรรมหรือโลกกำลังพัฒนา ดังนั้น ไม่เพียงแต่ความเติบโตชะลอช้าลงตลอดยุคที่ฉันทามติวอชิงตันครองความเป็นใหญ่ ซ้ำร้ายความไม่เท่าเทียมของรายได้ทั้งภายในและระหว่างประเทศก็ทวีมากยิ่งขึ้นด้วย (Denninger and Squire, 1996; Milanovic, 1999; Lustig and Deutsch, 1998)


 


"กล่องแบล็คเวลล์" ในรูปที่ 1 ช่วยทำให้เห็นภาพปัญหาที่เป็นรากเหง้าชัดเจนยิ่งขึ้น มันชี้ให้เห็นว่า แรงงานทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐถูกล้อมกรอบจนกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ด้วยส่วนผสมทางนโยบายของฉันทามติวอชิงตัน (2) แรงงานภาคเอกชนตกอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างไม่หยุดหย่อนจากโลกาภิวัตน์ ในขณะที่แรงงานภาครัฐถูกกระหน่ำจนย่ำแย่จากการแปรรูป และแรงงานทั้งสองภาคล้วนถูกรุกไล่ทำลายจากแรงกดดันของการรักษาเสถียรภาพราคา (ความเข้มงวดด้านการเงินการคลัง) และตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น (labour market flexibility—ดูท้ายบทความ) ภายใต้องค์ประกอบของนโยบายเหล่านี้ แรงงาน—ไม่ว่าจะจัดตั้งเป็นสหภาพหรือไม่—จึงมักถูกกีดกันไม่ให้ได้รับผลประโยชน์จากประสิทธิภาพในการผลิตที่เพิ่มขึ้น


 


การพังทลายทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความล้มเหลวของฉันทามติวอชิงตัน ทั้งนี้เพราะอาร์เจนตินาปฏิบัติตามโมเดลของวอชิงตันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในโลกความเป็นจริงของการดำเนินนโยบาย อาร์เจนตินาเปิดเสรีตลาดการเงิน รื้อทิ้งอุปสรรคทางการค้า แปรรูปรัฐวิสาหกิจ สร้างความยืดหยุ่นให้ตลาดแรงงาน ผูกค่าเงินไว้กับเงินดอลลาร์ และใช้ความเข้มงวดทางด้านการเงินการคลัง ท่ามกลางภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจที่หมิ่นเหม่จะเข้าสู่ภาวะตกต่ำอย่างรุนแรง วิกฤตการณ์ครั้งร้ายแรงที่เป็นผลตามมาจึงทำลายความน่าเชื่อถือของฉันทามติวอชิงตันอย่างไม่มีทางกอบกู้ และฉายให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแสวงหากระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา


 


สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตามกันในระยะหลัง ทำให้ความสนใจพุ่งเป้าไปที่สถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ การเยียวยาแก้ไขโครงสร้างสถาปัตยกรรมในปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ซ้ำซากย่อมเป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ถึงเวลาแล้วเช่นกันที่ต้องยอมรับว่า การปฏิรูปภาคการเงินอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ มีความจำเป็นต้องแสวงหากระบวนทัศน์การพัฒนาแนวใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญต่อความเติบโตที่ใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักร (domestic demand-led growth) การจะนำกระบวนทัศน์ใหม่นี้มาใช้ให้เกิดประสิทธิผล จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย การส่งเสริมสิทธิแรงงานและสิทธิทางการเมือง, การปฏิรูปตลาดการเงินเพื่อสร้างหลักประกันให้เงินทุนไหลเวียนอย่างมีเสถียรภาพ และปรับปรุงระเบียบวินัยในตลาดทุน รวมทั้งการวางระเบียบวาระความเติบโตทางเศรษฐกิจโลกของกลุ่มประเทศ G-7 เสียใหม่ ให้ครอบคลุมถึงการให้เงินทุนอุดหนุนการพัฒนาอย่างเพียงพอและมีต้นทุนที่เป็นธรรม


 


ปัญหาของความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักร (Export-led Growth)


ความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรคือหัวใจของฉันทามติวอชิงตัน การมุ่งเน้นไปที่การส่งออกและการเปิดเสรีทางการค้าได้สร้างปัญหาให้เกิดแก่ประเทศกำลังพัฒนาในหลายแง่มุมด้วยกัน (3) ประการแรก มันหันเหจุดโฟกัสออกไปจากการพัฒนาที่หยั่งรากอยู่ในความเติบโตของตลาดภายในประเทศ ประการที่สอง มันทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องแข่งขันกันเองเพื่อไปสู่จุดต่ำสุด (race-to-the-bottom) ประการที่สาม มันทำให้แรงงานในประเทศกำลังพัฒนาขัดแย้งกับแรงงานในประเทศอุตสาหกรรม และประการที่สี่ มันสร้างปัญหาให้เกิดแก่ระบบเศรษฐกิจโลก โดยก่อให้เกิดสภาพของกำลังการผลิตล้นเกินและภาวะเงินฝืด (overcapacity and deflation) การส่งออกย่อมมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการพัฒนาเสมอ เพราะมันช่วยให้ประเทศต่าง มีเงินตราเพื่อนำเข้าสินค้าทุนและทรัพยากรที่จำเป็นอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นความท้าทายก็คือ ทำอย่างไรจึงจะหลีกเลี่ยงไม่ให้การส่งออกกลายเป็นจุดโฟกัสหลักที่ครอบงำนโยบาย จนบิดเบือนและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา


 


ข้อวิพากษ์หลักในเชิงทฤษฎีต่อแนวคิดตื้น ที่ยึดความเติบโตแบบใช้การส่งออกเป็นหัวจักรก็คือ แนวคิดนี้มีข้อผิดพลาดในเชิงการใช้เหตุผลที่เรียกว่า "การใช้เหตุผลผิดเชิงองค์ประกอบ" (fallacy of composition--ดูท้ายบทความ) กล่าวคือ มันทึกทักว่า ทุก ประเทศสามารถเติบโตด้วยการพึ่งพาความเติบโตของอุปสงค์ในประเทศอื่น (Blecker, 2001) เมื่อนำแนวคิดนี้มาใช้ในระดับโลก จึงมีอันตรายที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบ "ผลักเพื่อนบ้านให้กลายเป็นขอทาน" (beggar-thy-neighbour--ดูท้ายบทความ) เนื่องจากทุกประเทศต่างก็พยายามเติบโตโดยอาศัยการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศอื่น จนส่งผลให้เกิดอุปทานล้นเกินในระดับโลกและภาวะเงินฝืด สำหรับประเทศแต่ละประเทศ ความเติบโตของการส่งออกหมายถึงอุปสงค์ที่เติบโตขึ้น แต่ถ้าความเติบโตของการส่งออกต้องแลกมาด้วยความเติบโตของอุปสงค์ในต่างประเทศ ความเติบโตนั้นก็อาจเป็นเพียงแค่การย้ายตำแหน่งที่มีความเติบโตไปเรื่อย โดยไม่ทำให้ความเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมเพิ่มขึ้น


 



 


ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ปัญหาของความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักร เกิดขึ้นในรูปของ "การแย่งชิงอุปสงค์" (demand poaching) ซึ่งประเทศหนึ่งขโมยอุปสงค์ไปจากอีกประเทศหนึ่ง ส่วนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ปัญหาแตกต่างออกไป ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้แข่งขันกันเองเพื่อขายสินค้าให้แก่ตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว จนก่อให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า "การเบียดเสียดแย่งชิงการส่งออก" (export displacement) กล่าวคือ ประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นคู่แข่งกันเอง และเมื่อประเทศหนึ่งเพิ่มการส่งออกได้ ก็มักเกิดจากการเบียดขับสินค้าส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาอีกประเทศหนึ่งออกไป นี่คือ "การใช้เหตุผลผิดในเชิงองค์ประกอบ" เมื่อนำแนวทางนี้มาใช้กับโลกกำลังพัฒนา การพัฒนาที่มีการส่งออกเป็นหัวจักรอาจเป็นแนวทางที่ได้ผล หากนำมาใช้กับประเทศแค่ไม่กี่ประเทศ แต่มันจะก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบ "คนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งเสีย" (zero-sum) เมื่อนำมาใช้กับทุกประเทศ


 


การพัฒนาที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรยังมีอาการของโรคแทรกซ้อนอื่น อีก อาการวิปริตประการแรกที่มีการชี้ให้เห็นอย่างกว้างขวางก็คือ "การแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุด" (race-to-the-bottom) เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ประเทศต่าง จึงแข่งขันกันในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงสภาพการทำงานและสิ่งแวดล้อมด้วย ถึงขนาดที่สภาพการทำงานที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่สะอาดถูกมองว่าเป็นการเพิ่มภาระต้นทุน บริษัทต่าง จึงมีแรงจูงใจที่จะลดเงื่อนไขเหล่านี้ให้เหลือต่ำสุด ผลลัพธ์ก็คือ เกิดพลวัตที่บริษัทต่าง พากันลดเงื่อนไขต่าง ลง หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีเงื่อนไขต่ำกว่า (4) ในอดีต การแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุดนี้มักถูกตีความว่าเป็นปรากฏการณ์ของซีกโลกเหนือ-ใต้ แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นได้ชัดว่า การมองในแง่ของปรากฏการณ์ซีกโลกใต้-ใต้อาจสำคัญยิ่งกว่า Berik (2001) ชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยให้ภาพตัวอย่างจากการศึกษาอุตสาหกรรมผลิตลูกฟุตบอลของปากีสถานที่ยินยอมจะกวาดล้างการใช้แรงงานเด็กให้หมดไป เพียงเพื่อจะพบว่า อุตสาหกรรมนี้ถูกย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศอินเดีย ซึ่งไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการใช้แรงงานเด็ก


 


อาการวิปริตประการที่สองเกี่ยวข้องกับเกณฑ์การค้า (terms of trade--ดูท้ายบทความ) ของประเทศกำลังพัฒนา โมเดลความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรกระตุ้นให้ประเทศต่าง เพิ่มปริมาณผลผลิตที่เป็นสินค้าระดับโลกเพื่อส่งออกไปสู่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเท่ากับซ้ำเติมให้เกิดแนวโน้มของความเสื่อมถอยระยะยาวในเกณฑ์การค้าของประเทศกำลังพัฒนา แบบแผนเช่นนี้ทำให้เกิดวัฏจักรชั่วร้ายซ้ำซาก เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกที่ตกต่ำลงย่อมบีบบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาพยายามส่งออกมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งกลับกลายเป็นแรงกดดันให้ราคาสินค้ายิ่งตกต่ำลงไปอีก วัฏจักรชั่วร้ายนี้เป็นสิ่งที่เห็นกันมานานแล้วในหมู่ผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบ (Prebisch, 1950; Singer, 1950) (5) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีตลาดผู้บริโภคที่จะซื้อผลผลิตของตนเอง กระบวนการนี้จึงอาจเกิดขึ้นได้กับสินค้าทุกประเภท ยกเว้นสินค้าระดับไฮเอนด์ที่สุดเท่านั้น (Muscatelli et al., 1994; Sarkar and Singer, 1991)


 


อาการวิปริตประการที่สามคือ ผลกระทบของความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรที่มีต่อความไร้เสถียรภาพทางการเงิน ผลกระทบอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือ เกณฑ์การค้าที่เสื่อมถอยลงอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสามารถของประเทศนั้น ในการจ่ายดอกเบี้ยแก่หนี้ต่างประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาต้องกู้ยืมเป็นเงินตราสกุลแข็ง เมื่อเกณฑ์การค้าตกต่ำลง มันก็ยากยิ่งขึ้นที่จะแสวงหาเงินตราสกุลที่จำเป็นในการจ่ายดอกเบี้ย ความเป็นไปได้อย่างที่สองคือ การสร้างกำลังการผลิตล้นเกินขึ้นมาในภาคการผลิตเพื่อส่งออกโดยไม่ได้ตั้งใจ Kaplinsky (1993) ชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในสาธารณรัฐโดมินิกันและประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน ประเทศเหล่านี้ตั้งเป้าการพัฒนาที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักร โดยตั้งอยู่บนการผลิตสิ่งทอที่ใช้แรงงานจำนวนมาก Ertuk (2001/02) เสนอว่า การลงทุนล้นเกินคล้าย กันนี้อาจเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเช่นกัน โดยที่ความสำเร็จที่นำหน้ามาก่อนของเสือเศรษฐกิจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น ในประเทศไทย, มาเลเซียและอินโดนีเซีย


 


ผลลัพธ์โดยรวมก็คือ ปรากฏการณ์ของกำลังการผลิตล้นเกินที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือทางการเงินของการลงทุนในภูมิภาค จากมุมมองนี้ วิกฤตการณ์ทางการเงินของเอเชียตะวันออกจึงมีสาเหตุมูลฐานอยู่ในภาคการผลิตจริงด้วย ไม่ได้เป็นแค่ผลสะท้อนจากการเก็งกำไรทางการเงินเพียงอย่างเดียว


 


อาการวิปริตประการที่สี่คือประเด็นของความมีอิสระในตัวเอง คุณภาพของการพัฒนาและการพึ่งพา ในประเด็นนี้ ข้อถกเถียงก็คือ ความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงเขตอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก (export-processing zones) ย่อมนำไปสู่การพัฒนาที่ตื้นเขิน มีความเชื่อมโยงน้อยมากกับระบบเศรษฐกิจส่วนอื่น ในประเทศนั้น ๆ ในความเป็นจริงแล้ว ความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรเป็นการเดินย่ำรอยเดิมของโมเดลการพัฒนาแบบ "ไร่ธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่" (plantation) ซึ่งประกอบด้วยการขูดรีดแรงงานและไม่ได้ทำให้รายได้สูงขึ้นในวงกว้าง จึงยากที่จะพัฒนาตลาดภายในประเทศและสร้างความเติบโตที่ยั่งยืนอย่างเป็นอิสระในตัวเอง ตรงกันข้าม ความเติบโตกลับต้องพึ่งพิงการขยายตัวของอุปสงค์ในสินค้าส่งออก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอ่อนไหวต่อภาวะชะลอตัวที่เกิดขึ้นในตลาดสินค้าส่งออก ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งหมดนี้อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวมเกิดความแปรปรวนได้ง่ายกว่าเดิม ทั้งนี้เป็นไปตามตรรกะของทฤษฎี portfolio (ดูท้ายบทความ) เมื่อมีศูนย์กลางของความเติบโตที่เป็นอิสระและเป็นเอกเทศหลาย แห่ง ความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะชะลอตัวของความเติบโตในเศรษฐกิจโลกย่อมลดลง เพราะภาวะเช่นนั้นจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเกิดภาวะชะลอตัวขึ้นในทุกศูนย์กลางความเติบโตพร้อม กัน แต่ในกรณีที่ความเติบโตของภาคส่วนขนาดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจโลก (กล่าวคือ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา) ต้องพึ่งพาความเติบโตในอีกภาคส่วนหนึ่ง (กล่าวคือ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว) ภาวะชะลอตัวระดับโลกสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เพียงแค่กลุ่มประเทศผู้นำเกิดภาวะชะลอตัวขึ้นเท่านั้น


 


เมื่อมองไปในอนาคต ความขัดแย้งเชิงระบบของความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรมีแต่จะยิ่งแหลมคมรุนแรงกว่าเดิม ความเติบโตแบบนี้อาจเป็นผลดีสำหรับผู้เข้าสู่สังเวียนรายแรก ๆ แต่มันจะพังทลายเป็นเสี่ยง ทันทีที่ทุกประเทศพยายามปีนขึ้นรถไฟสายการส่งออกขบวนเดียวกัน ลางร้ายที่เห็นได้ชัดคือการที่จีนก้าวขึ้นสู่สังเวียนการค้าโลก ความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรจะใช้ได้ผล ต่อเมื่อดำเนินไปด้วยกระบวนการลดหลั่นเป็นลำดับชั้น (hierarchical process) กล่าวคือ ประเทศหน้าใหม่ที่มีระดับการพัฒนาน้อยกว่าเข้ามาแทนที่ประเทศผู้ส่งออกที่กำลังอิ่มตัว ซึ่งอุปทานแรงงานส่วนเกินเริ่มตึงตัวและค่าแรงกำลังเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อจีนก้าวเข้ามาในสังเวียน ระบบนี้ย่อมใช้การไม่ได้อีกต่อไป เพราะจีนมีอุปทานแรงงานจำนวนมหาศาล ซึ่งยินดีรับค่าจ้างต่ำติดดิน และอัตราความเติบโตของประชากรทำให้แน่ใจได้ว่า สภาพการณ์นี้จะยืดเยื้อไปอีกนานในอนาคต ตอนนี้มองไม่เห็นเลยว่า จะมีประเทศกำลังพัฒนาประเทศไหนสามารถเบียดเข้ามาในระบบ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าจีนได้ นี่เท่ากับปิดทางไม่ให้มีประเทศหน้าใหม่เข้ามาในลำดับชั้นของความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักร หากเป็นเช่นนี้จริง กรอบกระบวนทัศน์ของความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรย่อมพบว่า ตนเองถูกรุกฆาตจนไม่มีตาเดินอีกต่อไป เพราะอุปสงค์ในตลาดโลกไม่มีมากเพียงพอ ขณะเดียวกันก็ไม่มีประเทศผู้ผลิตสินค้าส่งออกรายใหม่สามารถแข่งขันกับจีนได้


 

 



 


ความเติบโตที่ใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักรและข้อสนับสนุนต่อการสร้างมาตรฐานแรงงานสากล (6)


เมื่อพิจารณาอาการวิปริตของความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องมีโมเดลการพัฒนาใหม่ แทนที่จะพึ่งพิงความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักร ซึ่งมีคุณสมบัติที่ตื้นเขินและขูดรีด ประเทศกำลังพัฒนาควรแสวงหาความเติบโตที่ตั้งอยู่บนการพัฒนาตลาดภายในประเทศมากกว่า ต้องขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การส่งออกยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องส่งออกเพื่อหาเงินตรามาจ่ายคืนหนี้ที่เกิดจากความเติบโตทางการเงิน ยิ่งกว่านั้น เกือบทุกประเทศไม่มีตลาดภายในใหญ่เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ทั้งหมด แต่กระนั้น ระบบการค้าโลกต้องเป็นไปเพื่อรับใช้การพัฒนาภายในประเทศ และการพัฒนาภายในประเทศต้องไม่ถูกละเลยเพื่อแลกกับความได้เปรียบในการแข่งขันระหว่างประเทศ


 


ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมแสดงให้เห็นว่า กุญแจที่ไขเข้าสู่การพัฒนาภายในประเทศคือ การแก้ปัญหาการกระจายรายได้และความไม่สมดุลของพลังทางการเมือง การพัฒนาภายในประเทศในระดับลึกจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้นและมีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยสร้างรากฐานให้เกิดวงจรความเติบโตในทางที่ดี ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นการพัฒนาตลาด และการพัฒนาตลาดจะหนุนให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น มาตรฐานแรงงาน (มาตรการมิให้เกิดการแบ่งแยกกีดกัน, แรงงานเกณฑ์, การใช้แรงงานเด็กอย่างขูดรีด; สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นองค์กรและการต่อรองเป็นหมู่คณะ) และระบอบประชาธิปไตย เป็นกุญแจคู่ที่จะไขเข้าสู่โมเดลใหม่นี้ ระบอบประชาธิปไตยมีความสำคัญ เพราะมันส่งเสริมเสรีภาพในการรวมตัวเป็นองค์กร เสรีภาพในการรวมตัวเป็นองค์กรและการต่อรองเป็นหมู่คณะจะนำไปสู่การกระจายรายได้ที่ดีขึ้นและค่าแรงที่สูงกว่าเดิม (Rodrik, 1999; Palley, 2000b)


 


เหตุผลทั้งหมดที่ยกมานี้สวนทางกับวิธีคิดในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ยืนยันว่า สหภาพแรงงานเป็นการบิดเบือนตลาด และการกระจายรายได้ไม่มีความสำคัญต่อการพัฒนา ในความเป็นจริง สหภาพแรงงานเป็นทางออกของภาคเอกชนต่อปัญหาความล้มเหลวของตลาด ซึ่งเกิดจากอำนาจที่ไม่สมดุลอย่างมากระหว่างคนงานกับธุรกิจ ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ต้องไม่มีอำนาจเหนือตลาด (market power) แต่ตลาดแรงงานในโลกความเป็นจริงมีความไม่สมดุลของอำนาจเป็นอย่างมาก ซึ่งเอื้อต่อบริษัทมากกว่าคนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่แรงงานมีสิทธิน้อยและไม่มีตาข่ายรองรับทางสังคม ยิ่งกว่านั้น อำนาจที่ได้เปรียบของผู้ว่าจ้างนับวันจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพัฒนาการในตลาดทุนและเทคโนโลยี ซึ่งเพิ่มความสะดวกในการย้ายฐานทางธุรกิจ เมื่อพิจารณาในมุมมองนี้ การมีสหภาพแรงงานจะช่วยเยียวยาความไม่สมดุลของอำนาจและแก้ไขความล้มเหลวของตลาด


 


คุณูปการประการที่สองของมาตรฐานแรงงานก็คือ ช่วยส่งเสริมธรรมาภิบาลและลดการคอร์รัปชั่น ปัจจุบันมีการยอมรับกันมากขึ้นเรื่อย ว่า การพัฒนาต้องอาศัยธรรมาภิบาล IMF เองก็อ้างถึงแนวทาง "การปฏิรูปรุ่นที่สอง" (7) การปฏิรูปรุ่นที่หนึ่งตั้งอยู่บนโมเดลทางเศรษฐศาสตร์แบบไฮดรอลิก (hydraulic model of economics) ซึ่ง IMF เคยยืนยันว่า สิ่งที่จำเป็นต่อความเติบโตและการพัฒนาคือ ประเทศต่าง ต้องจัดการอัตราแลกเปลี่ยน, อัตราดอกเบี้ยและการขาดดุลงบประมาณให้ดี เดี๋ยวนี้มีการตระหนักแล้วว่า สถาบันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ความโปร่งใส, ความรับผิดชอบและธรรมาภิบาล ช่วยป้องกันการจัดสรรทรัพยากรในทางที่ผิดและเป็นยามเฝ้าระวังรัฐบาลที่ฉ้อฉล


 


มาตรฐานแรงงานสอดคล้องเป็นอย่างดีกับแนวทางใหม่ เสรีภาพในการรวมตัวเป็นองค์กรและจัดตั้งสหภาพจะช่วยสร้างอำนาจถ่วงดุลที่คอยตรวจสอบและกำกับแนวทางการปฏิบัติเหล่านี้ ข้อโต้แย้งกระแสหลักมักอ้างว่า ตลาดเปิดจะช่วยรุกไล่ปัญหาคอร์รัปชั่นให้หมดไป แต่ความเป็นจริงกลายเป็นว่า ตลาดเปิดกลับติดกับดักคอร์รัปชั่น ตรรกะของการติดกับดักนี้สะท้อนออกมาในปัญหาของการติดสินบน แม้ว่าการติดสินบนเป็นวิธีทำธุรกิจที่สิ้นเปลืองและไร้ประสิทธิภาพ แต่หากปล่อยให้ตลาดดูแลตัวเอง ตลาดจะสร้างโลกที่การติดสินบนเป็นใหญ่ขึ้นมา ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบการเอกชนทุกคนต่างก็มีแรงจูงใจส่วนตัวที่จะติดสินบนเพื่อเอาชนะในเชิงธุรกิจ


 


มาตรการทางสังคมที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้มีการติดสินบน และวิธีเดียวที่จะบรรลุได้ต้องอาศัยกฎหมายห้ามการติดสินบนและบังคับใช้มาตรการต่อต้านการติดสินบน ในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องอาศัยการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อจัดการกับปัญหาการติดสินบน มาตรฐานแรงงานและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้ง ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางยิ่งกว่าเพียงแค่สิทธิในการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน อาจถือได้ว่าเป็นการเกื้อหนุนให้เกิดเงื่อนไขทางการเมืองที่ส่งเสริมมาตรการดังกล่าว


 


ความสามารถในการควบคุมการคอร์รัปชั่นอาจก่อให้เกิดคุณประโยชน์อื่นยิ่งกว่านั้น ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่เป็นอยู่ ดังที่จะกล่าวถึงในช่วงต่อไป ก็คือการบ่อนทำลายพื้นที่ความเป็นอิสระทางนโยบายของรัฐบาลชาติ การกอบกู้พื้นที่เพื่อความเป็นอิสระดังกล่าว จึงเป็นเป้าหมายของฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์โลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ตาม เพียงแค่กอบกู้พื้นที่ความเป็นอิสระของนโยบายยังไม่เพียงพอ เนื่องจากพื้นที่นั้นอาจถูกใช้เพื่อสร้างนโยบายที่ดีหรือเลวก็ได้ ดังนั้น จึงต้องดำเนินมาตรการเพื่อปรับปรุงคุณภาพของการปกครอง ซึ่งเท่ากับปรับปรุงคุณภาพของนโยบายไปในตัว มาตรฐานแรงงานสามารถช่วยหนุนเสริมในเรื่องนี้


 


เหตุผลสนับสนุนมาตรฐานแรงงานอีกประการหนึ่งคือ ในการส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาล มาตรฐานเหล่านี้จะช่วยดึงเอาองค์ประกอบทั้งหมดของภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะช่วยให้บริหารจัดการได้ดีขึ้นในเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เหตุผลนี้มีหลักฐานสนับสนุนจากประสบการณ์ของเกาหลีใต้และอินโดนีเซียในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียตะวันออกเมื่อปี ค.ศ. 1997 ในหลาย แง่ สองประเทศนี้มีความคล้ายคลึงกันเมื่อพิจารณาจากขั้นตอนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่เกาหลีใต้เริ่มเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยและมีการใช้มาตรฐานแรงงานที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้ว ด้วยเหตุนี้ เกาหลีใต้จึงสามารถระดมความสามัคคีในชาติเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์ได้ ในขณะที่อินโดนีเซียมีแต่ความแตกแยกทางการเมืองและไม่สามารถสร้างความร่วมมือในแบบเกาหลีใต้ขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริง (Palley, 2001) ว่า ประเทศที่มีมาตรฐานแรงงานดีมักตกเป็นเหยื่อวิกฤตการณ์ทางการเงินน้อยกว่า คำอธิบายต่อผลการวิจัยนี้ก็คือ เป็นไปได้ที่ตลาดการเงินตระหนักถึงคุณประโยชน์ของสถาบันภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งและยอมให้ความยืดหยุ่นทางการเงินแก่ประเทศเหล่านี้มากกว่า


 


ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น มาตรฐานแรงงานสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และเงื่อนไขทางการเมืองที่จำเป็นต่อการสร้างความเติบโตที่ใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักร แต่คุณประโยชน์ของมาตรฐานแรงงานไม่ได้จบลงแค่นั้น มาตรฐานแรงงานยังมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย โดยช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักร ดังที่เน้นย้ำไว้แล้วข้างต้น การค้าและการส่งออกจะยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเสมอ แต่ประเด็นอยู่ตรงที่การหาทางหลีกเลี่ยงหลุมพรางของการเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรต่างหาก การกระจายรายได้ที่ดีขึ้นและการขยายพื้นที่ของการบริโภคภายในประเทศ จะช่วยให้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของประเทศกำลังพัฒนาค่อย หันเหไปจากตลาดโลก นี่จะช่วยบรรเทาปัญหาเกณฑ์การค้าที่ตกต่ำลงซึ่งกำลังรุมเร้าประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ ทั้งในบทบาทดั้งเดิมที่เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐาน และในบทบาทใหม่ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าแปรรูปขั้นต่ำ


 


มาตรฐานแรงงานยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุด ซึ่งมีโครงสร้างของแรงจูงใจในแบบเดียวกับปัญหาการติดสินบน การติดสินบนเป็นเสมือนการแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุดในการดำเนินธุรกิจ ในโลกของความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักร ทุกประเทศต่างก็พยายามได้มาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยการขูดรีดส่วนต่างของกำไร (margin) ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ การแข่งขันที่ดีย่อมมุ่งไปที่ประสิทธิภาพในการผลิตและคุณภาพ ส่วนการแข่งขันที่เลวคือการหาเศษหาเลยเอาจากความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน, สภาพแวดล้อมและการกระจายรายได้ มาตรฐานแรงงานจะช่วยขจัดการแข่งขันที่เลว โดยป้องกันไม่ให้ประเทศต่าง แสวงหาความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการทำลายมาตรฐานลง


 


การปฏิรูปตลาดการเงินจำเป็นต่อการเติบโตที่ใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักร


การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจระดับจุลภาคของตลาดแรงงานให้ดีขึ้นเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ การเติบโตที่ใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักรจะเกิดขึ้นได้ ประเทศต่าง ต้องปรับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคให้ถูกต้องด้วย นี่คือจุดที่การออกแบบสถาปัตยกรรมการเงินระหว่างประเทศและการจัดสรรเงินทุนอุดหนุนการพัฒนาอย่างเพียงพอ เป็นประเด็นหัวใจสำคัญ


 


ภายใต้การจัดการในปัจจุบัน ประเทศกำลังพัฒนาตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ "หยุด เดิน ๆ" ของการรุ่งและร่วงสลับกันไป แบบแผนเช่นนี้ส่งผลให้เกิดการให้ส่วนชดเชยความเสี่ยง (risk premia) มาก ๆ เพื่อชดเชยแก่นักลงทุนที่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายของ "การหยุดกึกกะทันหัน" และการให้ส่วนชดเชยความเสี่ยงมาก นี้ก็ย้อนมาทำลายตัวเอง โดยทำให้การหยุดกึกกะทันหันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงแทบไม่ได้ในท้ายที่สุด ในลักษณะเช่นนี้ กลไกตลาดจึงล่อให้ประเทศกำลังพัฒนาติดกับดักของทุนที่มีต้นทุนสูงตลอดกาล สิ่งที่ยิ่งซ้ำเติมความเสียหายให้เลวร้ายลงไปอีกก็คือ ตลาดทุนยังตั้งเงื่อนไขให้รัฐบาลของประเทศนั้น ดำเนินนโยบายการคลังที่เข้มงวด หรือไม่ก็ต้องเผชิญกับการลงโทษของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไปกว่าเดิม


 


ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญ จะเห็นภาพได้ชัดขึ้นเมื่อพิจารณาดูนโยบายเศรษฐกิจในช่วงภาวะถดถอย ผู้ตัดสินใจด้านนโยบายในประเทศอุตสาหกรรมมักตอบโต้ต่อ negative demand shock (ดูท้ายบทความ) ด้วยนโยบายสร้างเสถียรภาพในเศรษฐกิจมหภาคแบบทวนวงจร (counter-cyclical) อันประกอบด้วยการให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยและจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ประเทศกำลังพัฒนามักถูกตลาดเงินทุนระหว่างประเทศบีบให้ตอบโต้ต่อ negative demand shock ด้วยนโยบายที่ดำเนินตามวงจร (pro-cyclical) เป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกอย่างฉับพลันเป็นปริมาณมาก ธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาจึงจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย และรัฐบาลต้องหาทางลดงบประมาณขาดดุลลง ทั้งหมดนี้เป็นชุดนโยบายที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับชุดนโยบายที่ประเทศอุตสาหกรรมใช้


 


เบื้องหลังการจำใจต้องใช้นโยบายบิดเบี้ยวนี้ คือเศรษฐศาสตร์ของตลาดทุนที่ตั้งอยู่บนการเคลื่อนย้ายทุนอย่างไม่มีข้อจำกัด พลังขับดันตามธรรมชาติของนักลงทุนแต่ละรายก็คือปกป้องเงินต้นของตน ซึ่งเท่ากับสร้างแรงกดดันต่อนักลงทุนรายอื่นและต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ในสภาพแวดล้อมของการเป็นหนี้ในอัตราสูง การกรูไปสู่ประตูทางออกย่อมสร้างภาระต้นทุนจำนวนมากแก่ทุก คน พฤติกรรมแบบแห่ตามกันเป็นฝูงในตลาดเล็ก ทำให้ง่ายต่อการเกิดความแปรปรวนสูง และยิ่งทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกตามวงจร (pro-cyclical) ดังนั้น ในเวลาที่เศรษฐกิจดี ฝูงทุนก็แห่กันเข้ามา ส่งผลให้ได้กำไรในสินทรัพย์จำนวนมาก ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้เงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นอีก ในทางกลับกัน พอถึงเวลาเศรษฐกิจไม่ดี ฝูงทุนก็แห่กันหนีออกไป ส่งผลให้เกิดการขาดทุนในสินทรัพย์จำนวนมาก ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้เงินไหลออกเพิ่มขึ้นอีก กล่าวโดยสรุป ระบบเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาจึงผจญเคราะห์กรรมสองซ้ำสองซ้อน ประการแรก ตลาดของประเทศเหล่านี้มีความแปรปรวนมากกว่าและตกอยู่ภายใต้การไหลเข้าออกของเงินทุนตามวงจรมากกว่าอยู่แล้ว ประการที่สอง ผู้กำหนดนโยบายในประเทศกำลังพัฒนาตกเป็นเชลยของกลไกตลาด และจำใจต้องใช้นโยบายด้านการเงินการค้าตามวงจร


 


ปัญหาการไหลเข้าออกของเงินทุนมีปฏิสัมพันธ์กับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนตายตัว นโยบายของประเทศกำลังพัฒนายิ่งตกเป็นเชลยต่อการคุกคามของการไหลออกของเงินทุนและการเก็งกำไร ทำให้จำเป็นต้องใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินการคลังตลอดเวลา ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู มันทำให้เกิดนิสัยเสียเกี่ยวกับความคาดหวังต่อความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยความเชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยนตายตัว จึงนำไปสู่การกู้ยืมเงินตราต่างประเทศมากเกินไป ทำให้ระบบเศรษฐกิจตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการณ์หนี้ต่างประเทศ ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ผู้กู้ยืมจำเป็นต้องซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อชดเชยต่อความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการตกต่ำของค่าเงินอย่างรุนแรง และประเทศกำลังพัฒนายังถูกกดดันให้ดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความยึดมั่นในการรักษาระดับราคาให้มีเสถียรภาพ ด้วยเหตุนี้ ประเทศกำลังพัฒนาจึงถูกบีบอยู่ระหว่างปากคีมสองข้าง ข้างหนึ่งคืออัตราดอกเบี้ยตลาดที่สูง กับอีกข้างหนึ่งคือนโยบายการเงินที่เข้มงวด ส่วนแรงที่บีบปากคีมให้หนีบแน่นคือการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการข่มขู่ว่าเงินทุนจะไหลออกอย่างรวดเร็ว (capital flight) หนทางแก้ไขนั้นมองเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ ประเทศกำลังพัฒนาต้องสามารถควบคุมการข่มขู่ว่าเงินทุนจะไหลออก นี่คือเหตุผลที่มาตรการอย่างเช่น ภาษีโทบิน (Tobin tax--ดูท้ายบทความ) มาตรการชะลอความเร็วของการเคลื่อนย้ายเงินทุนแบบชิลี และการกำกับดูแลตลาดการเงินที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง


 


ส่วนใหญ่แล้ว มาตรการข้างต้นมักถูกพูดถึงในแง่ของ "มาตรการป้องกันวิกฤตการณ์" เท่านั้น แต่ความจริง มาตรการเหล่านี้ยังมีความสำคัญยิ่งกว่านั้น ในแง่ที่มันเอื้อต่อการสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคที่จะทำให้เกิดการไหลของเงินทุนตามวงจรน้อยลง และลดความกดดันที่จะต้องใช้นโยบายเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสามารถควบคุมความรุนแรงของการไหลออกของเงินทุนอย่างฉับพลันได้ มาตรการปฏิรูปเหล่านี้จะช่วยสร้างพื้นที่มากขึ้นแก่นโยบายสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลังที่ทวนวงจร (counter-cyclical) ดังที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว คุณประโยชน์ประการที่สามก็คือ มาตรการเหล่านี้ยังสามารถลดระดับของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องมีไว้เพื่อปกป้องค่าเงินและระบบการเงินของตน ทุนสำรองนี้มีต้นทุนสูงมาก เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาต้องกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง แล้วนำทุนสำรองไปฝากซ้ำในตลาดเงินของสหรัฐฯ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ามาก ยิ่งกว่านั้น Baker and Walentin (2001) ชี้ให้เห็นว่า การถือทุนสำรองคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อ GDP สูงขึ้นอย่างมากตลอดช่วงที่ฉันทามติวอชิงตันครองความเป็นใหญ่ การลดปริมาณทุนสำรองลงจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับเอาไว้


 


ในประการสุดท้าย นอกเหนือจากมาตรการสร้างเสถียรภาพต่อการไหลเข้าออกของเงินทุนแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบการเงินภายในประเทศเพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อภายในประเทศด้วย ในภาคธุรกิจ มีความจำเป็นต้องเพิ่มสินเชื่อขนาดเล็กและขนาดกลางที่จะช่วยปลดปล่อยศักยภาพในการประกอบการของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ในภาคครัวเรือน มีความจำเป็นต้องพัฒนาตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่จะส่งเสริมการเป็นเจ้าของบ้านให้มากขึ้น การขยายตัวของการซื้อบ้านมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะมันก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาในหลาย ด้านด้วยกัน ประการแรก มันช่วยส่งเสริมเสถียรภาพทางการเมือง โดยหนุนให้เกิดชนชั้นกลางที่มีสินทรัพย์ ประการที่สอง มันกระตุ้นให้เกิดงานก่อสร้าง และช่วยให้ภาคการผลิตเติบโตขึ้น โดยเพิ่มอุปสงค์ต่อวัตถุดิบในการก่อสร้างและเครื่องใช้ในบ้าน ประการที่สาม ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและการเป็นเจ้าของบ้านจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาภาคการเงิน เพราะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทำให้เกิดการลงทุนทางการเงินรูปแบบใหม่ และบ้านเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งในครัวเรือนและผลพลอยได้อื่น ๆ ยิ่งกว่านั้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการระดมเงินออมภายในประเทศ แทนที่จะต้องพึ่งพิงการกู้ยืมจากต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะการก่อสร้างบ้านเป็นเรื่องของท้องถิ่นเป็นหลักอยู่แล้ว



 



 




ความเติบโตและการเงินระดับโลกเพื่อการพัฒนา


นอกจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสถาบันของตลาดแรงงานและสถาปัตยกรรมทางการเงิน ความเติบโตที่ใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักรจะประสบความสำเร็จได้ ยังต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงนโยบายในกลุ่มประเทศ G-7 ด้วย ในประเด็นนี้ ความท้าทายอยู่ที่การปรับรื้อสร้างระบบเศรษฐกิจโลกเสียใหม่ เพื่อไม่ให้ความเติบโตต้องพึ่งพิงอยู่แค่เครื่องจักรขับเคลื่อนตัวเดียว คือสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เรื่องนี้ยิ่งมีความเร่งด่วนมากขึ้นทุกที เนื่องจากการขยายตัวด้วยเงินจากการกู้ยืม (debt-financed) ตลอดทั้งทศวรรษที่ผ่านมา ย่อมหมายความว่า สหรัฐอเมริกาอาจกำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัวของหนี้สิน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สหรัฐฯ จะไม่สามารถกู้ยืมได้เหมือนที่ผ่านมา และระบบเศรษฐกิจโลกอาจต้องเผชิญกับภาวะขาลงอย่างรุนแรงจากการหดตัวของอุปสงค์ เมื่อพิจารณาในแง่นี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ยุโรปกับญี่ปุ่นพึงหันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบขยายตัว


 


นโยบายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G-7 จะเพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเท่ากับช่วยสนับสนุนทางการเงินให้ประเทศกำลังพัฒนามีกำลังซื้อสินค้านำเข้าที่จำเป็นในการสร้างความเติบโตที่ใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักร อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนายังต้องการความช่วยเหลือทางการเงินในด้านอื่น ด้วย การยกเลิกหนี้สินเป็นหนทางหนึ่ง มีความจำเป็นต้องสะสางลบล้างข้อผูกมัดบางอย่างที่เป็นผลลัพธ์ส่วนหนึ่งจากการทดลองฉันทามติวอชิงตัน หนี้สินเหล่านี้กลายเป็นภาระถ่วงระบบเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ขาดความชอบธรรม และยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงด้านลบต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย


 


แหล่งสนับสนุนทางการเงินแหล่งที่สองคือ ความช่วยเหลือจากประเทศอุตสาหกรรม หากดูจากสัดส่วนต่อ GDP ความช่วยเหลือดังกล่าวลดลงไปมากในช่วงสองทศวรรษหลัง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ความช่วยเหลือมักวิจารณ์ว่า การไหลเข้าของเงินทุนเอกชนมีปริมาณมากพอ จึงสรุปว่าความช่วยเหลือเป็นรูปแบบที่ล้าสมัยไปแล้วในการสนับสนุนทางการเงินต่อการพัฒนา การวิเคราะห์ดังกล่าวนี้มีความผิดพลาดโดยพื้นฐานหลายประการ


 


ประการแรก ความช่วยเหลือลดลงในเชิงเปรียบเทียบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศอุตสาหกรรมไม่ได้เพิ่มปริมาณความช่วยเหลือที่ให้ ประการที่สอง เงินทุนเอกชนมาพร้อมกับด้านลบต่อระบบมากมาย ดังที่พิจารณาไปแล้วข้างต้น ประการที่สาม เงินทุนเอกชนส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินซ้ำซาก โดยที่เจ้าหนี้ได้รับความช่วยเหลือจนรอดตัวทุกครั้งไป ทั้ง ที่ผู้ให้กู้ก็มีส่วนสร้างวิกฤตการณ์หนี้สินที่กำลังฉุดลากโลกกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้


 


ประการที่สี่ ต่อให้เงินทุนเอกชนไม่มีข้อเสียข้างต้น การช่วยเหลือโดยภาครัฐก็ยังเป็นเรื่องสมควรกระทำอยู่ดี เงินทุนเอกชนย่อมเหมาะสำหรับโครงการของเอกชนที่กำไรและต้นทุนเป็นเรื่องของเอกชนและรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมด ในแง่นี้ กลไกตลาดเป็นสิ่งที่ใช้การได้ดีที่สุด แต่ปัญหาการพัฒนาจำนวนมากเกี่ยวข้องกับการสั่งสมทุนสาธารณะ (ถนน, โรงเรียน, ระบบการปกครอง) ซึ่งมีการกระจายผลประโยชน์อย่างกว้างขวาง และไม่สามารถใช้กลไกราคาชักจูงให้เกิดการลงทุนได้ นี่คือความจำเป็นของการลงทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ แต่การจัดหาเงินทุนเอกชนมาสนับสนุนการลงทุนภาคสาธารณะเหล่านี้เป็นไปได้ยาก เพราะขาดกระแสรายได้ที่ชัดเจนแน่นอนที่จะนำมาจ่ายคืนเงินกู้


 


ข้อพิจารณาข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่า การพึ่งพิงเงินทุนเอกชนอาจเป็นการมุ่งหวังมากเกินไป และจำเป็นต้องเพิ่มการอัดฉีดเพื่อสนับสนุนเงินทุนต่อการพัฒนาภาคสาธารณะ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนที่เป็นไปได้ทางหนึ่ง ส่วนหนทางที่สองคือการขยายสิทธิถอนเงินพิเศษของ IMF (Special Drawing Rights—SDRs ดูท้ายบทความ) ตามที่ Soros (2002) เคยเสนอไว้ โดยประเทศพัฒนาแล้วให้ SDRs ที่ได้รับในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวแก่ประเทศกำลังพัฒนา


 


ประการสุดท้าย ไม่เพียงแต่มีการพึ่งพิงเงินทุนเอกชนมากเกินไปในปัจจุบัน แต่กระบวนการของการเปิดเสรีตลาดทุนอาจทำให้ธุรกิจขนาดเล็กของประเทศกำลังพัฒนาหาเงินทุนลำบากขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้เพราะการเปิดเสรีนำไปสู่การเข้าครอบครองธนาคารท้องถิ่นโดยธนาคารข้ามชาติจากต่างประเทศ และธนาคารต่างชาติเหล่านี้อาจไม่ค่อยยอมปล่อยสินเชื่อแก่กิจการขนาดเล็กในประเทศกำลังพัฒนา หลักฐานบ่งชี้ถึงแนวโน้มเช่นนี้มาจากการศึกษาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารขนาดใหญ่และเล็กในสหรัฐอเมริกา (Berger et al., 2002; Keeton, 1995) จากการวิจัยพบว่า ธนาคารขนาดเล็กมีการปล่อยสินเชื่อที่ดีกว่าแก่ลูกค้ารายย่อย


 


ชุดนโยบายใหม่ที่จำเป็นต่อความเติบโตที่ใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักร


ฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งเน้นความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักร ประสบความล้มเหลวมาตลอด บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ควรมีวาระของนโยบายการพัฒนาแนวใหม่ที่เน้นความเติบโตโดยอาศัยอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักร การจะบรรลุถึงวาระใหม่นี้ได้จำเป็นต้องอาศัยนโยบายชุดใหม่ ดังที่แสดงให้เห็นในรูปที่ 2 ความเติบโตที่ใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหัวจักรตั้งอยู่บนเสาหลักสี่ขาด้วยกัน นั่นคือ (1) ปรับปรุงการกระจายรายได้ให้ดีขึ้น (2) ธรรมาภิบาล (3) เสถียรภาพทางการเงิน, การปฏิรูปตลาดสินเชื่อ และพื้นที่สำหรับนโยบายการสร้างเสถียรภาพแบบทวนวงจร และ (4) เงินทุนสนับสนุนการพัฒนาที่เพียงพอและมีต้นทุนที่เป็นธรรม


 


นโยบายที่จำเป็นในการปักหลักลงเสาเหล่านี้คือ (1) สิทธิด้านแรงงานและประชาธิปไตย (2) การปฏิรูปและออกกฎข้อบังคับที่เหมาะสมต่อโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงิน และ (3) การผสมผสานของการยกเลิกหนี้สิน, เพิ่มความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และเพิ่มความช่วยเหลือด้านการพัฒนาด้วยการขยาย SDRs ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ คุณประโยชน์ที่มีมากมายหลากหลายมิติของสิทธิแรงงานและประชาธิปไตย นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องได้อย่างเสียอย่างระหว่างความถูกต้องทางจริยธรรมกับนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ


 


 


 


š เชิงอรรถ ›


 



  1. ฉันทามติวอชิงตันเน้นนโยบายสำคัญห้าประการคือ (1) เปิดเสรีการค้าและความเติบโตโดยใช้การส่งออก (2) เปิดเสรีตลาดการเงินและเคลื่อนย้ายทุนการเงินอย่างเสรี (3) มาตรการเข้มงวดทางการเงินการคลัง (4) การแปรรูป และ (5) ความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน
  2. กล่องแบล็คเวลล์ (Blackwell box) เป็นแนวคิดของอดีตเพื่อนร่วมงานของผู้เขียนในสหพันธ์แรงงานและสภาองค์กรอุตสาหกรรมอเมริกัน (AFL-CIO) Ron Blackwell
  3. ข้ออ้างเหตุผลในหัวข้อนี้มาจาก Palley (2000a)
  4. ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุดในบริบทของ NAFTA มีอยู่ใน Bronfenbrenner (1996, 1997, 2000)
  5. ปัญหาของความเติบโตที่ใช้การส่งออกเป็นหัวจักรมีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อเศรษฐกิจของประเทศเกษตรกรรมยากจน ไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเกณฑ์การค้าที่ตกต่ำลง อันเป็นผลสืบเนื่องจากปริมาณอุปทานในโลกที่เพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนไปเพาะปลูกแต่พืชเศรษฐกิจทำให้ปริมาณอาหารสำรองในประเทศมีความเปราะบางและง่อนแง่นไปด้วย ประเทศกานาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดปัญหาแบบนี้
  6. ข้ออ้างเหตุผลในหัวข้อนี้มาจาก Palley (1999)
  7. ในเดือนพฤศจิกายน 1999 IMF จัดการประชุมในหัวข้อ Second Generation Reforms ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งมีการบรรยายชัดเจนถึงวิธีคิดแบบใหม่

 


š บรรณานุกรม ›


Baker, D., and Walentin, K., "Money for Nothing: The Increasing Cost of Foreign Reserve Holdings to Developing Nations," Briefing paper, Center for Economic Policy and Research, Washington, DC, November 2001.


Berik, G. "What Happened After Pakistan"s Soccer Ball Industry Went Child Free," Paper presented at a conference on Child labor held at theGraduate School of Social Work, University of Utah, Salt Lake City, UT, May 7 - 8, 2001.


Berger, A.N., Miller, N.H., Petersen, M.A., Rajan, R.G., and Stein, J.C., "Does Function Follow Organizational Form? Evidence from the Lending Practices of Large and Small Banks," NBER Working Paper No. 8752, February 2002.


Blecker, R.A., "The Diminishing Returns to Export-Led Growth," paper prepared for the Council of Foreign Relations Working Group on Development, New York, 2000.


Bronfenbrenner, K. Final Report. The Effects of Plant Closing or Threat of Plant Closing on the Right of Workers to Organize, New York State School of Industrial and Labor Relations, Cornell University, Ithaca, NY. 1996.


Bronfenbrenner, K. The Effect of Plant Closings and the Threat of Plant Closings on Workers Rights to Organize, Supplement to Plant Closings andWorkers" Rights: A Report to the Council of Ministers by the Secretariat of the Commission for Labor Cooperation, Dallas, TX: Bernan Press. 1997.


Bronfenbrenner, K. Uneasy Terrain: The Impact of Capital Mobility on Workers, Wages and Union Organizing, Commissioned Research Paper for the U.S.Trade Deficit Review Commission. 2000.


Deininger, K., and Squire, L., "A New Data Set for Measuring Income Inequality," World Bank Economic Review, 10 (1996).


Ertuk, K., "Overcapacity and the East Asian Crisis," Journal of Post Keynesian Economics, 24 (2001/02), 253 - 76.


Kaplinsky, R., "Export Processing Zones in the Dominican Republic: Transforming Manufactures into Commodities," World Development, 21 (1993),1851 - 65.


Keeton, W.R., "Multi-office Bank Lending to Small Business: Some New Evidence," Federal Reserve Bank of Kansas City Economic Review, 81 (1995) 63 - 75.


Lustig, N., and Deutsch, R., "The Inter-American Development Bank and Poverty Reduction: An Overview," No. POV-101-R, Washington, DC:IADB, 1998.


Milanovic, B., "True World Income Distribution, 1988 and 1993: First Calculation Based on Household Surveys Alone," Manuscript, Development Research Group, World Bank, Washington, DC, 1999.
Muscatelli, V.A., Stevenson, A.A., and Montagna, C., Intra-NIE Competition in Exports of Manufactures," Journal of International Economics, 37(1994), 29 - 47.


Palley, T.I., "The Economic Case for International Labor Standards: Theory and Some Evidence," Economic Policy Paper, E036, Public Policy Department, AFL-CIO, Washington, DC, 1999, and Cambridge Journal of Economics, forthcoming.


Palley, T.I. Export-led Growth: Is There Any Evidence of Crowding-out?, AFL-CIO Public Policy Department Economic Policy Paper, E050, and forth-coming in Structural Change and Economic Dynamics. 2000a.


Palley, T.I. Labor Standards, Economic Governance, and Income Distribution: Some Cross-Country Evidence, AFL-CIO Public Policy Department Economic Policy Paper, T029. 2000b.



 


Palley, T.I., "Is There a Relationship Between the Quality of Governance and Financial Crises? Evidence from the Crises of 1997," AFL-CIO PublicPolicy Department unpublished paper, 2001.


Prebisch, R., The Economic Development of Latin America and its Principle Problem, UNECLA, Santiago, 1950.


Rodrik, D., "Democracies Pay Higher Wages," Quarterly Journal of Economics, vol. 114 (1999), 707 - 38.


Sarkar, P., and Singer, H., "Manufactured Exports of Developing Countries and their Terms of Trade since 1965," World Development, 19 (1991), 333 - 40.


Singh, A., "Asian Capitalism and the Financial Crisis," in J. Michie and J. Grieve-Smith, eds., Global Instability: The Political Economy of World Economic Governance, London: Routledge, 1999.


Singer, H., "The Distribution of Gains Between Investing and Borrowing Countries," American Economic Review (Papers and Proceedings), 40 (1950),473 - 85.


Soros, G., On Globalization, Public Affairs: New York, 2002.


 


 


หมายเหตุ:


Labour Market Flexibility ความยืดหยุ่นของตลาดแรงงานเป็นองค์ประกอบหลักประการหนึ่งของฉันทามติวอชิงตัน ข้ออ้างตามแนวคิดนี้ก็คือ มาตรฐานแรงงานที่ดี ไม่ว่าเกิดจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดหรือการมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ค่าแรงที่สูง ข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศนั้น ขาดความสามารถในการแข่งขัน ฉันทามติวอชิงตันเรียกร้องให้ตลาดแรงงานมี "ความยืดหยุ่น" กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คุ้มครองแรงงานให้น้อยลงนั่นเอง การจลาจลในฝรั่งเศสที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว นี้ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามสร้าง "ความยืดหยุ่น" ในตลาดแรงงาน เช่น ทำให้นายจ้างเลิกจ้างพนักงานได้ง่ายขึ้น เป็นต้น อันนำไปสู่การประท้วงของประชาชนเป็นจำนวนมาก


 


Fallacy of Composition การใช้เหตุผลผิดเชิงองค์ประกอบ หรือแปลแบบราชบัณฑิตคือ เหตุผลวิบัติ/ทุตรรกบทเชิงองค์ประกอบ นี่เป็นการอ้างเหตุผลผิดตรรกะรูปแบบหนึ่ง เกิดจากการอ้างเหตุผลผิด ว่า หากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นจริงสำหรับสมาชิกของกลุ่ม สิ่งนั้นย่อมเป็นจริงสำหรับกลุ่มโดยรวมด้วย ตัวอย่างของการใช้เหตุผลผิดแบบนี้ อาทิเช่น ในหนังสือ Utilitarianism เจ เอส มิลล์อ้างว่า ในเมื่อบุคคลแต่ละคนปรารถนาความสุขส่วนตน ดังนั้น ประชาชนทั้งหมดรวมกันย่อมปรารถนาความสุขส่วนรวม ทั้ง ที่ข้อสรุปที่ถูกต้องควรจะเป็น: ดังนั้น ย่อมไม่มีใครเลยที่ปรารถนาความสุขส่วนรวม เพราะในข้อตั้ง (premise) บอกไว้แล้วว่า บุคคลแต่ละคนปรารถนาแต่ความสุขของตนเท่านั้น การใช้เหตุผลผิดเชิงองค์ประกอบในที่นี้ก็คือ การอ้างว่า ในเมื่อแต่ละประเทศสามารถสร้างความเติบโตจากอุปสงค์ในประเทศอื่น การพัฒนาด้วยการส่งออกย่อมสร้างความเติบโตให้แก่เศรษฐกิจโลก แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น


 


Beggar-Thy-Neighbour เป็นคำเรียกมาตรการทางเศรษฐกิจที่ประเทศหนึ่งใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศของตน เช่น ปัญหาการว่างงาน ฯลฯ แต่มาตรการที่ใช้กลับสร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น เช่น ประเทศ ก อาจกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มการส่งออกหรือลดการส่งออก โดยอาจใช้มาตรการลดค่าเงินหรืออุดหนุนสินค้าส่งออก แต่ผลประโยชน์ของประเทศ ก ที่เพิ่มขึ้นกลับทำให้ประเทศ ข ต้องเสียผลประโยชน์ โดยอาจส่งออกได้น้อยลงหรือมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดจากว่างงานขึ้นมาในประเทศ ข แทน เป็นต้น ในกรณีแบบนี้ ประเทศ ข มักตอบโต้ด้วยมาตรการอย่างเดียวกัน


 


Terms of Trade เกณฑ์การค้า หรือ อัตราการค้า ทฤษฎีการวัดข้อได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าของประเทศหนึ่ง โดยเปรียบเทียบราคาสินค้าขาออกและราคาสินค้าขาเข้า ถ้าประเทศหนึ่งมีราคาสินค้าขาออกสูงขึ้นเร็วกว่าราคาสินค้าขาเข้า ก็ถือว่าเกณฑ์การค้าของประเทศนั้นดีขึ้น ถ้าราคาสินค้าขาเข้าเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าสินค้าขาออก ก็ถือว่าเกณฑ์การค้าไม่น่าพอใจ


 


Portfolio Theory หรือ Modern Portfolio Theory เป็นทฤษฎีที่นำเสนอโดย Harry Markowitz ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1990 เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน มีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนมากมาย แต่สรุปสั้น ๆ ได้ว่า "อย่าเก็บไข่ทั้งหมดของคุณไว้ในตะกร้าใบเดียว"


 


Negative Demand Shock น่าจะแปลได้ว่า ภาวะหดตัวของอุปสงค์อย่างเฉียบพลัน ซึ่งส่งผลให้ราคาของสินค้าและบริการตกต่ำลงไปด้วย ภาวะนี้อาจเป็นผลกระทบจากมาตรการทางด้านภาษี การปล่อยสินเชื่อ หรือการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดในปัจจุบัน ภาวะช็อคทางเศรษฐกิจสามารถเกิดได้โดยง่าย เช่น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดภาวะช็อคต่อภาคการส่งออกของประเทศอังกฤษ เป็นต้น


 


Tobin Tax ภาษีโทบิน เป็นข้อเสนอของ James Tobin นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี ค.ศ. 1981 เขาเสนอให้ควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนโลกด้วยการเก็บภาษีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 วิธีการนี้จึงมีชื่อเรียกว่า Tobin Tax วัตถุประสงค์คือเพื่อลดการเก็งกำไรในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระยะสั้น และลดการเกิดวิกฤตทางการเงินเฉียบพลันอันสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนจำนวนมากๆ เป็นการควบคุมความไม่แน่นอนของตลาดเงินตราต่างประเทศและรักษาความเป็นอิสระของรัฐในการดำเนินนโยบายเงินตราระดับชาติเอาไว้


 


โทบินเสนอให้เก็บภาษีในอัตรา 0.1-0.5% จากการซื้อขายเงินตรา ภาษีนี้จะช่วยชะลอการเก็งกำไรระยะสั้นลง เพราะจะมีการเก็บภาษีทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดน แต่มีผลกระทบน้อยมากต่อการไหลเข้าออกของเงินลงทุนระยะยาว จึงไม่ส่งผลลบต่อการลงทุนในภาคการผลิตที่แท้จริง ข้อเสนอของโทบินไม่ต้องการให้มีองค์กรระดับโลกทำหน้าที่นี้ แต่ให้รัฐบาลในแต่ละประเทศเป็นผู้เก็บภาษีเอง เพียงแต่สร้างข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราภาษีร่วมกันในหมู่ประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเงินโลก


 


ข้อดีของ Tobin Tax มีดังนี้คือ


 


1)      เป็นเครื่องมือที่ดีเพื่อลดการเก็งกำไรระยะสั้นและความผันผวนของตลาด


2)      ช่วยให้รัฐบาลมีอิสระมากขึ้นในการวางนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาค รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันจากผลกระทบของตลาดการเงินโลก เป็นวิธีการที่ให้ผลดีแก่ประเทศโลกที่สาม


 


3)      ช่วยเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไว้ใช้เวลาเกิดปัญหาเงินไหลออก รายได้ที่เพิ่มขึ้นสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาความยากจน เพื่อทดแทนแนวโน้มของเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ลดลงเรื่อยๆ


 


4)      ช่วยในการติดตามตรวจสอบการเคลื่อนย้ายเงินทุน สามารถใช้เป็นศูนย์รวมข้อมูลขั้นพื้นฐานได้


 


น่าเสียดายที่ Tobin Tax ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศในกลุ่ม G-7 ธนาคารระหว่างประเทศ ธนาคารโลกและ IMF แต่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากนักเศรษฐศาสตร์ NGO สหภาพแรงงานและขบวนการทางสังคมการเมืองอื่นๆ


 


Special Drawing Rights (SDR) สิทธิถอนเงินพิเศษ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในการชำระหนี้ระหว่างประเทศ โดยกองทุนจะเป็นผู้จัดสรรให้แต่ละประเทศถอน SDR นี้ไปใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศได้ นอกเหนือไปจากบัญชีเงินสำรองตามปกติ SDR นี้ใช้ได้เฉพาะระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ธนาคารกลางต่อธนาคารกลางเท่านั้น


 


SDR มีสภาพเป็นหน่วยบัญชี กล่าวคือมีแต่ตัวเลขที่ปรากฏในบัญชี ซึ่งเรียกว่าบัญชีถอนเงินพิเศษ (special drawing account) ด้วยเหตุที่ SDRs เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่มีตัวตนเหมือนอย่างทุนสำรองระหว่างประเทศอื่น ๆ จึงมีผู้เรียก SDRs ว่า "ทองคำกระดาษ" IMF เป็นผู้กำหนดและรับประกันมูลค่าของ SDRs คือ SDR 1 หน่วย เทียบเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.888671 กรัม ทั้งนี้จะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นทองคำไม่ได้ ความเชื่อถือใน SDRs ตั้งอยู่บนรากฐานของข้อตกลงร่วมกัน ส่วนการสร้าง SDRs นั้น ตกลงกันว่าจะสร้างขึ้นมาทุก 5 ปี โดยทยอยจัดสรรเป็นรายปี และให้มีปริมาณพอเหมาะกับความต้องการทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สมาชิกของ IMF สามารถใช้ SDRs ในกรณีต่าง ๆ อาทิ ใช้ในการแก้ปัญหาการขาดดุลชั่วคราว ประเทศที่ขาดดุลสามารถใช้สิทธิถอนเงินพิเศษนี้ในการซื้อเงินตราสกุลของตนกลับคืนจากประเทศที่เกินดุลได้ ใช้ในการชำระคืนเงินที่กู้ยืมจากกองทุน เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net