Skip to main content
sharethis

เมื่อเร็วๆนี้ โครงการวิจัยและพัฒนา TV4Kids ได้จัดเวทีห้องทดลองเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบการชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ หรือ Quality Rating System ร่วมกับเครือข่ายเด็ก เยาวชน ครอบครัว และครู ในจังหวัดสุรินทร์ โดยห้องทดลองเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ พุ่งเป้าในการค้นหาเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ อีกทั้ง ตรวจสอบความต้องการเนื้อหารายการต่างๆของชุมชนในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งในห้องทดลองดังกล่าว มีเครือข่ายเด็ก เยาวชน ครู ครอบครัว กว่า 200 คน ร่วมจัดกิจกรรม


 


อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ ประธานคณะกรรมการนักวิจัยและพัฒนาของโครงการ และอาจารย์จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า ทางโครงการกำลังสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการชี้วัดระดับคุณภาพเนื้อหาโดยได้นำเสนอทฤษฎี 6+1 ซึ่งหมายถึง เกณฑ์ในการชี้วัดระดับคุณภาพเนื้อหา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 6 เรื่อง ซึ่งได้แก่ เกณฑ์ทางด้านระบบคิด เกณฑ์ทางด้านความรู้ วิชาการ เกณฑ์ทางด้านคุณธรรม จริยธรรม เกณฑ์ทางด้านทักษะในการใช้ชีวิต เกณฑ์ทางด้านความหลากหลาย และเกณฑ์ทางด้านความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งจะนำไปสู่การชี้วัดคุณภาพและการสนับสนุนด้านเงินทุนในที่สุด


 


ส่วนในเรื่องของตัวชี้วัดอีกส่วนหนึ่งก็คือ เกณฑ์ทางด้านเนื้อหาที่ต้องห้าม หรือที่เรียกว่า +1 นั้น ประกอบด้วย 3 มิติ ซึ่งก็คือ เพศ ภาษา พฤติกรรมและความรุนแรง ซึ่งในแต่ละเรื่องก็จะแบ่งเป็นระดับ ซึ่งขึ้นอยู่กับ ขนาดของความรุนแรงของภาพ และความถี่ที่ปรากฏ ซึ่งในส่วนนี้จะนำไปสู่การจัดช่วงอายุ และช่วงเวลาในการนำเสนอรายการ


 


สำหรับด้านเครือข่ายแม่จ๋าซึ่งเป็นเครือข่ายแกนนำเยาวชนในจังหวัดสุรินทร์ คุณวริศรา ลี แก้วปลั่ง ได้กล่าวว่า จากการจัดเวทีห้องทดลองเชิงปฏิบัติการนั้นผลตอบรับของเด็กๆ ในชุมชนมีความพึงพอใจจากจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะเด็กๆ ไม่ค่อยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในเวทีแบบนี้บ่อยนัก โดยเวทีนี้เป็นเวทีที่ได้ให้เด็กๆ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นออกมา ซึ่งรายการที่เหมาะสำหรับเด็กในมุมมองของตนก็อย่างเช่น รายการสารคดี รายการทุ่งแสงตะวัน ส่วนรายการที่เหมาะกับชุมชนนั้นจะเป็นรายการเวทีชาวบ้าน หรือรายการที่ส่งเสริมอาชีพต่างๆ และถ้าพูดถึงการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังสื่อ หากมีมติครม.ให้มีการจัดตั้ง ทางจังหวัดสุรินทร์และสภาเยาวชนจังหวัดสุรินทร์ก็พร้อมที่จะจัดตั้งศูนย์ขึ้น เพราะสภาเยาวชนจังหวัดสุรินทร์ก็ทำงานทางด้านสื่ออยู่แล้ว จึงพร้อมที่ให้ความร่วมมือที่จะตั้งศูนย์เฝ้าระวังสื่ออย่างเต็มที่


 


สำหรับกลุ่มเครือข่ายเยาวชน "น้องแฟ้ม" นายชานนท์ กถนานนท์ อายุ 17 ปี โรงเรียนสุรวิทยาคาร กล่าวว่า ในการจัดงานในครั้งนี้ทำให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันถึงเรื่องของรายการที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพราะในปัจจุบันรายการดีๆ สำหรับเด็กยังไม่ค่อยมีนัก และอยากให้มีการแยกประเภทรายการว่า รายการใดเหมาะสำหรับเด็ก เยาวชน และในช่วงเวลาใด และรายการใดเป็นของผู้ใหญ่ เพื่อไม่ให้เด็กได้รับข่าวสารที่ไม่ดีในช่วงเวลาของผู้ใหญ่                                          


 


นอกจากนั้น นายรัชฎะ ศรีบุญรัตน์ ประธานสภาเยาวชน กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ร่วมเดินทางในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสภาเยาวชนระดับชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการเป็นหน่วยเฝ้าระวังสื่อที่มีเด็ก เยาวชน เป็นแกนนำสำคัญในการทำงาน อย่างไรก็ตาม นายรัชฎะ กล่าวเพิ่มเติมว่า เครือข่ายเยาวชนในภาคอีสานให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังสื่อมาก แต่ในขณะเดียวกัน ยังขาดพื้นที่ในการนำเสนอความคิดเห็นให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น หากมีการจัดตั้งเครือข่ายเยาวชนในลักษณะของสภาเยาวชนระดับชาติ จะสามารถสะท้อนผลการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำหนดไว้ในทุก 3 เดือน


 


ในขณะที่นายสุวรรณ พรมผล หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดสุรินทร์ ได้กล่าวว่า อยากได้รายการทีวีที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของ "ยาเสพติด" เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้ชุมชน เพราะในปัจจุบันปัญหาเรื่องยาเสพติดยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญอยู่ในเมืองสุรินทร์ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปในเรื่องของการค้าประเวณีของเด็ก และเยาวชนด้วย โดยอยากให้สื่อเป็นช่องทางที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมโดยด่วน


 

เวทีทดลองเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นการร่วมมือกันแสดงความคิดเห็นของคนในชุมชนที่จะช่วยจัดคุณภาพรายการทีวี และรายการที่เป็นความต้องการของเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่แท้จริง เพื่อให้ผู้ผลิตนั้นได้กลับมามองภาคประชาชนว่า รายการที่ฉายอยู่จะเป็นรายการที่ต้องการจริงๆ หรือ? หรือจะเป็นสิ่งไร้สาระกันแน่ พลังเสียงเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้คงจะเปลี่ยนมุมมองของผู้ผลิตให้มองกลับมาได้บ้าง และหวังว่าคงมีรายการที่ดีสำหรับเด็ก เยาวชน เกิดขึ้นมาจริงๆ สักวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net