Skip to main content
sharethis


 


วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2006 14:25น.


คณะทำงานโครงการเทศการหนังสั้น "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์"


 


 


ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เราเห็นผู้ก่อการร้ายฆ่าครู ทหาร ตำรวจ ชาวบ้านไทยพุทธหวาดระแวงไทยมุสลิม และชาวบ้านหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ชาวบ้านฆ่าทหาร จับครูเป็นตัวประกัน มีการวางระเบิดสถานที่ราชการ ศูนย์การค้าสำคัญ ๆ ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขา "แตกต่าง" กัน แต่ในหลายสาเหตุที่ประกอบกันและผลักดันความรุนแรงขณะนี้ คือ "ความทรงจำที่เจ็บปวดร่วมกัน"


 


Good Morning เป็นหนังเล่าเรื่องของ.. แมน นายทหารหนุ่มจากชัยภูมิ ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยของชาวสวนยางในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส สวนยางแห่งนี้ถูกจัดให้อยู่ในเขตพื้นที่อันตราย ซึ่งชาวสวนมีท่าทีแปลกๆ เมื่อทหารเข้ามายังสวนยางของเขา


 


"แมน" ตัวเอกในเรื่องความรู้สึกไม่ต่างจากพลทหารสราญ สิทธิสมาน วัย 22 ปี ทหารเกณฑ์จากชัยภูมิ ระหว่างเข้าร่วมฝึกอบรมการกรีดยาง ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ตามนโยบายของนายเนวิน ชิดชอบ รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ส่งทหารเกณฑ์ 200 นาย ลงพื้นที่เสี่ยงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อกรีดยางพาราแทนประชาชน แก้ไขปัญหาผลผลิตยางพาราลดลงจากปัญหาความไม่สงบนั้น เมื่อปลายปี 2548 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักวิชาการและชาวสวนในพื้นที่


 


"ผมไม่เคยมีความรู้เรื่องกรีดยางมาก่อนเลย การมาฝึกในครั้งนี้ ถือเป็นการทำตามหน้าที่ ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คิดว่าการกรีดยางคงไม่ยากเกินความสามารถ แต่ก็กลัวๆ อยู่เหมือนกันหากจะต้องลงพื้นที่จริง"


 


ด้าน "ยาเว" เจ้าของสวนยางในเรื่อง ก็เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกของชาวสวนยางในพื้นที่ได้อย่างดี ชาวบ้านจำนวนมากกำลังอยู่ในภาวะหวาดระแวง กลัวทหาร กลัวเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นจึงไม่ต้องการให้ทหารมายุ่งมากนัก


 


เมื่อแมนต้องลงมาปฏิบัติหน้าที่ และใช้ความเพียรพยายามในการ "เข้าถึง" ชาวบ้าน เวลาที่ผ่านไปทำให้ยาเว เริ่มไว้ใจทหารนับถือน้ำใจให้เป็นเพื่อนคนหนึ่ง แต่ความทรงจำอันเจ็บปวดของครอบครัว และของชาวบ้านคนอื่นๆ ยังไม่พร้อมและไม่ต้องการ "มิตรภาพ" จากคนแปลกหน้า ในสถานการณ์อิหลักอิเหลื่อเช่นนี้ แมน ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่รัฐ คงจะผ่านพ้นได้ยาก


 


....ความคิดของคนๆ หนึ่งอาจเปลี่ยนได้ แต่โครงสร้างของรัฐ ต้องใช้อำนาจ...


 


Good Morning ทำหน้าที่มากกว่าการเล่าเรื่องประสบการณ์ของทหารนอกพื้นที่ที่ต้องเรียนรู้ สิ่งต่างๆ มากมายเพื่อนำไปเป็นเครื่องมือรักษาสันติสุขชายแดนใต้ หนังยังทำหน้าที่ชี้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงความอยุติธรรมในพื้นที่ดังกล่าว และชักชวนให้เราเริ่มถกเถียงกันอย่างจริงจัง ถึงน้ำยาของ "สันติวิธี"


 


หนังสั้นหลายเรื่องในโครงการ "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" ขับเน้นเนื้อหาความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา มี Good morning เรื่องเดียวที่ให้ความสำคัญกับภาครัฐ โดยเฉพาะทหารนอกพื้นที่ที่ต้องลงในพื้นที่เสี่ยง


 


มนต์ศักดิ์ หินประกอบ ผู้กำกับเล่าย้อนถึงเบื้องหลัง "ความคิด"


 


"พล็อตมากจากพี่ชายของผม เป็นนักบินเครื่องบินปีกหมุนแนวดิ่ง ที่ต้องลงไปประจำการที่กองทัพเรือ อำเภอตันหยงลิมอร์ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืน เมื่อ 2-3 ปีก่อน แล้วในช่วงนั้นก็มีปัญหาความรุนแรงมากขึ้น ก็มีโครงการนี้เข้ามาพอดี เลยคิดว่าโครงการน่าจะเกี่ยวกับภาคใต้ พี่ชายเราก็ไปทำงานอยู่ด้วย หนังเราก็เลยน่าจะเลือกเรื่องใกล้ตัวเรามากที่สุด ก็เลยแต่งขึ้นจากพี่ชายให้เป็นแมน"


 


"แล้วพี่ชายเล่าอะไรให้ฟังบ้างจนเป็นแรงบันดาลใจในการทำหนังครั้งนี้"


 


"ก็มีคำพูดบางอย่างที่บ่งบอกถึงความคลุมเครือในใจของพี่ชายผม อย่างเช่น...ชาวบ้านเขาไม่ได้กลัวทหารหรอกเขารักทหารจะตาย"


 


"แต่ผมกลับคิดว่าจริงน่ะหรือ??"


 


"อาจเป็นเพราะผมไม่ได้ไปอยู่ในพื้นที่ จึงตั้งคำถามไปแบบนั้น"


 


"เพราะว่าตอนนั้นมีข่าวว่าโจรใต้ฆ่าหน่วยรบพิเศษแล้วตัดคอไป เหตุเกิดแบบนั้นแล้วชาวบ้านจะยังเชื่อมั่นในทหารอีกเหรอ ตอนผูกเรื่องก็นำข่าวตรงนั้นซึ่งเกิดขึ้นบริเวณสวนยาง มาผูกกับข่าวของทหารรักษาการณ์กับคำถามที่ว่าถ้าคนในหมู่บ้าน โจร และทหารอยู่ด้วยกัน จะอยู่ได้ไหม??? อีกทั้งแบคกราวด์ของหนังถ้าเป็นสวนยางผมว่ามันจะดูมีสิ่งที่ซ่อนอยู่เหมือนโจรซุ่มดูทหารทำนองนั้น"


 


มนต์ศักดิ์ เติบโตมาในครอบครัวและสังคมทหาร ที่กองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยพ่อของเขาเป็นนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือที่รู้จักในนามของมนุษย์กบ พี่ชายและญาติล้วนเป็นทหารกันหมดไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง หรือเพื่อนๆที่เรียนอยู่ด้วยกันที่ โรงเรียนสิงห์สมุทร ชลบุรี ต่างก็พากันตบเท้าเข้าสมัครนักเรียนเตรียมทหารบ้างก็นักเรียนจ่าทหารเรือ ไม่มีใครในบริเวณรอบบ้านหรือละแวกนั้นรู้จักหรือสนใจในเรื่องภาพยนตร์


 


จนเขาได้ตัดสินใจเข้าศึกษาในสาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยบูรพา และได้ทำหนังสั้นครั้งแรกปลายปี 2548 เป็นหนังเชิงศิลปะชื่อเรื่อง "ไม่มีชื่อ 2548" ได้รับรางวัลชมเชยจาก FILM IN U ครั้งที่2 จากนั้นก็ทำหนังเล็กเชิงนามธรรมอีกหนึ่งเรื่อง เมื่อมีโครงการหนังสั้น "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" เขาจึงได้ส่งเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับทหารที่เขาคุ้นเคยมาตลอดเข้าร่วมโครงการ จนได้รับคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย


 


"ทำไมถึงสนใจโครงการหนังสั้นนี้"


 


"เห็นประกาศของโครงการในนิตยสารไบโอสโคป ก็รู้สึกว่ามันมีระดับ ไม่ใช่โครงการประกวดหนังสั้นนักศึกษาทั่วๆไป ที่ให้นำเสนอประเด็นอิสระอะไรก็ได้ แต่ครั้งนี้เรียกร้องให้หนังเป็นเครื่องมือในการสร้างความสมานฉันท์ เพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ถ้าหากว่าเราซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอายุแค่ 21 ได้เข้าร่วม ก็คงจะเป็นเรื่องดี"


 


"รู้สึกอย่างไร ตอนมาเสนอโครงเรื่องนี้กับคณะกรรมการคัดเลือกรอบ 30 คน"


 


"ก็ อยากจะรู้ว่า หนังที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับทหาร และสถานการณ์จริงในตอนนั้นถ้าถูกสร้างขึ้นจริง จะมีคนที่เห็นพ้องด้วยกับผมไหม ถ้าไม่มีคนเห็นด้วยก็คงต้องยอมรับตัวเองว่าเรื่องคงไม่น่าสนใจพอ..."


 


"หนังของผมต้องการบอกว่าเพราะความแตกต่างทางหน้าที่ ทางความคิดเท่านั้นน่ะหรือที่ทำให้คนต้องฆ่ากันและตั้งคำถามกับคนดูว่า ถ้าเป็นคุณในสถานการณ์ดังกล่าวจะทำอย่างไร อยากให้เขาเข้าใจในความเป็นมนุษย์หรือความเท่าเทียมกันของคนทุกๆ คน ที่ต้องพาชีวิตให้รอด โดยที่ต้องใช้วิธีต่างๆ ในการดำรงอยู่ แม้ความต่างทางสังคมจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นก็ตาม"


 


Good Morning ทำงานทางความคิดตั้งแต่เข้ารอบ ฐิตินบ โกมลนิมิ ที่ปรึกษาโครงการฯ เล่าว่า


 


"พล็อตของหนังเรื่องเปิดพื้นที่การถกเถียงของกรรมการคัดเลือกสูงมาก กรรมการจำนวนหนึ่งตอนแรกไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าเนื้อหาค่อนข้างโปรทหารสูงมาก แต่กรรมการเสียงส่วนน้อย ตั้งคำถามสำคัญว่า ทำไมเราจึงเล่าเรื่องทหารไม่ได้ เพราะอคติใช่หรือไม่ ในเมื่อโครงการนี้กำลังจะสร้างหนังเพื่อมุ่งหวังการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนดู เช่นนั้นเนื้อเรื่องลักษณะนี้ไม่ใช่หรือที่ทรงพลัง เพียงแต่ว่าคณะทำงานต้องช่วยเหลือทีมนี้ในการเพิ่มน้ำหนักของการเล่าเรื่อง ให้ทหารเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ และการเรียนรู้ที่สำคัญคือ ความเจ็บปวดของชาวบ้านที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เปิดหัวใจและความรู้สึกชาวบ้านให้ภาครัฐได้รู้ด้วย"


 


ในกระบวนการของโครงการฯ และการทำงาน มนต์ศักดิ์เองก็เรียนรู้จากคนอื่นด้วย


 


"คำว่า "สมานฉันท์" เมื่อก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักเลยครับ"


 


"เคยได้ยินจาก โทรทัศน์ วิทยุก็ไม่เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง คิดว่าคงเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันธรรมดา จนเมื่อส่งเรื่องเข้าร่วมโครงการฯ จึงได้ค้นหาความหมายของคำว่า "สมานฉันท์" ก็ได้เข้าใจมากขึ้นว่า สมานฉันท์และสันติวิธี คือการเข้าไปทำความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้"


 


"ปัญหามีบ้างเหมือนกัน คือการถ่ายทำต้องไปถ่ายบริเวณสวนยางซึ่งไม่มีไฟฟ้า จึงต้องใช้ไฟจากรถยนต์ และห้องน้ำก็ไม่มี คือห้องน้ำอยู่ห่างจากกองประมาณ 4 กิโลเมตร เวลานักแสดงจะเข้าห้องน้ำต้องถือเสียมย่อง..เข้าไปในป่า การถ่ายภาพตอนตัดยางต้องถ่ายตอนเช้ามืดซึ่งหากเลยเวลาแล้วแสงแดดจะแรง เพื่อจำลองชีวิตของชาวสวนยางที่ต้องออกมาตัดยางก่อนตะวันจะรุ่งเป็นกิจวัตร แง่เดียวกันพวกผมก็ต้องรีบถ่ายอย่างรวดเร็วแข่งกับพระอาทิตย์ซึ่งจะสว่างทุกวินาที ทำให้การถ่ายเป็นไปอย่างทุลักทุเลมากครับ"


 


ในส่วนของข้อมูลต่างๆ "คือทางพ่อ พี่ชาย น้า ลุง น้องญาติๆ เป็นทหารกันหมด โดยเฉพาะพี่ชายที่เล่าให้ฟังข้างต้น มีบทบาทมาก อย่างแรกก็คือ ข้อมูลทั้งการพูดคุย การเดินทาง ทุกอย่างเกี่ยวกับทหารก็ว่าได้ และท่าทางของชาวบ้านนิดหน่อย อย่างที่สองก็คือ หาปืนและทหารที่ไปปฏิบัติงานที่ใต้มาแล้วมาเข้าฉาก"


 


"พี่ชาย ผมชี้ให้ดูเครื่องหมายบนไหล่ของพี่ๆ ทหารและอธิบายว่า หน่วยนี้แหละที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่อำเภอตันหยงลิมอร์ หลังเกิดเหตุจับนาวิกโยธินเป็นตัวประกัน เขาเหล่านี้จึงกลับมาประจำการที่ฐานทัพสัตหีบและกำลังจะลงไปในพื้นที่ใหม่อีกครั้ง..เร็วๆ นี้"


 


"ผมมีโอกาสได้คุยกับพี่ชายมากขึ้น ก็เพราะหนังเรื่องนี้"


 


หากหนังสั้นเป็นสะพานเชื่อมความรู้สึกระหว่างผู้คนได้ Good Morning ได้ทำหน้าบอกเล่า "ความทรงจำอันเจ็บปวด" ของผู้คนจำนวนหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net