นิธิ เอียวศรีวงศ์: การอภิวัฒน์ของปรีดี พนมยงค์ คือความล้มเหลวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย

 

 

หลัก 6 ประการซึ่งถูกประกาศในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีใจความว่า

 

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทาง เศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุก คนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ

6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิพากษ์แบบตรงไปตรงมา ในวงเสวนา "การอภิวัฒน์ประเทศไทยกับแนวคิดของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มองผ่านหลัก 6 ประการ" (ภายในเวลา 10 นาที ตามที่ผู้จัดงานงานเสวนากำหนด) ว่า หลัก 6 ประการของปรีดี พนมยงค์นั้น ถูกเบี้ยวไปตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมาแล้ว

 

ซ้ำร้ายกว่านั้น การท่องจำหลักการอภิวัฒน์ประเทศโดยแยกออกเป็น 6 ข้อ ขาดจากกัน ก็เป็นผลผลิตจากสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

อนึ่ง เมื่อความเข้าใจเกี่ยวกับหลัก 6 ประการบิดเบี้ยวไปตั้งแต่เมื่อมันถูกประกาศตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2475 การอภิวัฒน์ของปรีดี พนมยงค์ ก็คือความล้มเหลวครั้งใหญ่ของสังคมไทย ที่ไม่สามารถจะอภิวัฒน์ประเทศไทยได้สำเร็จจนปัจจุบัน

 

........................................................................................................

 

อย่างตรงไปตรงมานะครับ ในทัศนะของผม ผมคิดว่าการอภิวัฒน์ของท่านอาจารย์ปรีดีคือความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย เพราะว่าเราชอบคิดว่า ความสำเร็จของวันที่ 24 มิ.ย. 2475 คือการอภิวัฒน์ แต่ผมคิดว่าท่านอาจารย์ปรีดีไม่ได้คิดอย่างนั้น

 

24 มิ.ย. 2475 เป็นเงื่อนไขประการแรกที่จะมีการอภิวัฒน์โดยเริ่มจาการยึดอำนาจจากพวกเจ้า ซึ่งไม่พร้อมที่จะดำเนินการอภิวัฒน์ประเทศไทย และก็อย่างที่ทุกท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าท่านอาจารย์ปรีดี ไม่ประสบความสำเร็จในการอภิวัฒน์ประเทศไทย ถูกขับไล่ให้ไปอยู่ต่างประเทศจากกรณีเค้าโครงเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการอภิวัฒน์ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด รวมทั้งหลัก 6 ประการด้วย

 

ในหนังสือเชิญมาร่วมงานบอกว่า รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลมาจนถึงปัจจุบันนี้ ใช้นโยบายตามหลัก 6 ประการทั้งสิ้น ซึ่งผมคิดว่าไม่จริง รัฐบาลทุกรัฐบาลเบี้ยวหลัก 6 ประการมาโดยตลอด ตั้งแต่ 2475 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เบี้ยวหลัก 6 ประการมาโดยตลอดโดยวิธีการ 2 อย่าง คือ

 

วิธีเบี้ยว วิธีที่ 1 หลัก 6 ประการถูกตีความให้เป็น 6 ทั้งๆ ที่ผมคิดว่า เห็นได้ชัดเจนว่า หลัก 6 ประการสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันอย่างแยกจากกันไมได้

 

เพราะเราไม่สามารถพูดเรื่องอธิปไตยหรือเอกราชของประเทศให้หลุดไปจากเรื่องของความกินดีอยู่ดี เรื่องเศรษฐกิจบ้านเมืองเรื่องเดียวกัน

 

แล้วก็คงจำได้นะครับว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดครองประเทศไทย แล้วดำเนินนโยบายพัฒนา นโยบายการพัฒนาคืออะไร

 

นโยบายพัฒนาคือการตัดสินใจว่าทรัพยากรที่มีอยู่นั้นเอาไปใช้ทำอะไร ให้ใครเป็นคนใช้ ใครเป็นคนได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่า คุณดำเนินนโยบายการพัฒนาโดยไม่มีอำนาจทางการต่อรองทางการเมืองได้ไหม ทรัพยากรชนิดนี้อยู่ในลักษณะนี้ วันหนึ่งรัฐบอกว่า เฮ้ย ทรัพยากรใช้แบบนี้มันไม่รวยหรอก เอาไปให้ไอ้หมอนั่นใช้ดีกว่า ประเทศจะได้รวย ถามว่าระบบนี้คืออะไร

 

เพราะฉะนั้นนโยบายพัฒนากับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองจึงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกัน คุณแยกเรื่องของเศรษฐกิจออกจากอำนาจทางการเมืองไม่ได้ แต่คนไทยไปถูกหลอกว่า หลัก 6 ประการนั้นแยกออกจากกันได้ ความจริงคือ คุณเชื่อจอมพลสฤษดิ์ แล้วก็เชื่อสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ นายกรัฐมนตรีปัจจุบันก็ทำแบบเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ คือคุณอยู่เฉยๆ เดี๋ยวผมจะทำให้ดีเอง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ นี่คือวิธีเบี้ยวหลัก 6 วิธีที่หนึ่ง

 

วิธีเบี้ยว วิธีที่ 2 คือไม่เคยปรับเรื่องการตีความ 6 ประการให้เข้ากับสถานการณ์ อาจารย์ปรีดีท่านประกาศหลัก 6 ประการไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2475 สถานการณ์ณ์ของโลกมันก็เปลี่ยนแปลงไปตั้งเยอะแยะแล้ว เราไม่สามารถตีความหลัก 6 ประการเหมือนกับ 2475 ได้

 

เช่น เอกราชของชาติแปลว่าอะไร แปลว่า ชักธงชาติของตัวเองทุกวัน มีศาลที่สามารถตัดสินกะเหรี่ยง หรือฝรั่งมังค่า แค่นั้นเองหรือ หรือการที่เรามีองค์กรเหนือรัฐเหนือชาติที่เราไม่มีอำนาจทางการต่อรองเลย เช่น WTO เราแทบไม่มีอำนาจในการต่อรองเลย เป็นผู้กำหนดเราทุกอย่าง ถามว่าอย่างนี้เรายังเป็นเอกราชอยู่หรือเปล่า ถ้าเรามองเอกราชตื้นๆ ประเทศไทยจะชักธงโดยไร้เอกราชในสนามรบไปอีกอย่างน่ากลัวมากๆ และผมคิดว่าถ้าท่านอาจารย์ปรีดีมีชีวิตอยู่ ทุกวันนี้ท่านจะตีความเอกราชได้ลึกกว่าพวกเรา

 

ผมคิดว่า เราต้องตีความเรื่องอธิปไตยหรือเอกราชให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ยิ่งเรามีรัฐบาลไปเจรจาต่อรองเอฟทีเอโดยไม่ปรึกษาใครสักคนเดียว เรามีศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถตัดสินว่าจดหมายแสดงเจตจำนงต่อไอเอ็มเอฟว่าไม่ใช่สนธิสัญญา คณะรัฐบาลจะไปเซ็นอะไรก็ได้ พวกเราทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเชื่อว่าเราดำรงรักษาเอกราชไว้ได้นั้นก็ไร้ความหมาย

 

หากมีใครสักคนมีผลประโยชน์ผูกพันกับโลกาภิวัตน์ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ ได้ขายประเทศตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะเราไปมองเรื่องสิทธิกับเอกราชแยกออกจากกัน ที่จริงมันเป็นเรื่องเดียวกัน

 

และเมื่อโลกมันเปลี่ยนแปลง การให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะรัฐบาลอย่างเดียวไม่สามารถรักษาเอกราชของประเทศไว้ได้ คุณต้องมีฐานของประชาชนที่มีสิ่งที่หลัก 6 ประการเรียกว่า เสรีภาพ และอิสรภาพในการที่จะช่วยกันรักษาเอกราชของประเทศเอาไว้

 

ไม่มีวีรบุรุษในโลกปัจจุบันนี้ เราทุกคนเป็นวีรบุรุษร่วมกัน

 

สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ในความเป็นจริงทุกวันนี้ ถามว่ามีความหมายอะไรตามหลัก 6 ประการไหม ผมว่ามันไม่มี เราถูกผูกมัดทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางวัฒนธรรมให้คุณไม่สามารถเสมอภาคกันได้ในเรื่องของสิทธิทางการเมือง

 

เพราะฉะนั้นแม้แต่ความเสมอภาคในการเลือกตั้งก็ไม่จริง มันมีข้อผูกมัดทางวัฒนธรรมอีกเป็นอันมากที่ทำให้คนไม่สามารถมีสิทธิเสรีภาพอย่างที่ประกาศในหลัก 6 ประการได้

 

และในบรรดาสิทธิเสรีภาพทั้งหลายซึ่งบรรดากฎหมายและรัฐธรรมนูญรับรอง ถามว่าอะไรสำคัญที่สุด ผมคิดว่า คือเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งไม่ได้แปลว่าพูดได้ เขียนได้ โฆษณาได้อย่างเดียวนะครับ แต่หมายความถึงการรวมกลุ่มกัน เช่นสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นี่คือสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่ง เพราะการรวมกลุ่มกันในตัวของมันเองเกิดความหมายขึ้นแล้ว ยิ่งเกิดอำนาจตอรองมากขึ้น

 

ถ้าชาวบ้านไม่พอใจเขื่อนปากมูล แล้วเคลื่อนไหวให้เปิดเขื่อนปากมูล สมาคมอุตสาหกรรมอาจจะบอกว่าการเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจจะพัง แล้วการเมืองนิ่งคืออะไร สมาคมอุตสาหกรรมเป็นผู้ตีความและบอกว่าอะไรคือนิ่ง อะไรคือไม่นิ่ง

 

เวลาที่รัฐบาลไม่ยอมขึ้นภาษีเหล็ก แล้วเหล็กจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไป สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กก็ออกมาเคลื่อนไหว ถ้ามองจากคนปากมูลก็อาจจะบอกว่าไม่นิ่งนี่หว่า ทำให้ไม่มีใครมาฟังเรื่องเขื่อนบ้าง

 

ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องความปลอดภัย ถ้าคุณใช้สิทธิเสรีภาพแล้วไม่ปลอดภัย สิทธิเสรีภาพที่คุณมีตามกฎหมายนั้น ถ้าคุณใช้อย่างเต็มที่ถามว่า คุณมีความปลอดภัยหรือไม่ เช่น ไปนั่งอยู่หน้าทำเนียบแล้วโดนเทศกิจอุ้มขึ้นไปขึ้นรถ แล้วบอกว่าคุณทำให้เลอะเทอะ แล้วสิทธิเสรีภาพนี่มีความหมายไหม

 

หลัก 6 ประการนั้นถูกละเลยตลอดมา แล้วมีผลต่อเอกราช เสรีภาพ และเศรษฐกิจ

 

ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องการศึกษา ผมคิดว่าการศึกษาของเรา การศึกษาไทยมีการขยายตัวมาก 2 ครั้งคือ หลัง 2475 และครั้งที่ 2 คือ หลังสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะต้องการแรงงานมากขึ้น

 

แต่ถามว่าทุกวันนี้มีไหมการศึกษาที่ขยายตัวอย่างเพียงพอ เราจะพบว่าไม่เพียงพอ เพราะเหตุผลสำคัญคือเราให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบน้อยมาก เมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่นึกถึงการศึกษา เรานึกถึงโรงเรียนทุกที เรานึกถึงมหาวิทยาลัยทุกที

 

ถ้าเราให้ความสำคัญกับการศึกษาเฉพาะการเรียนมหาวิทยาลัย ผมเชื่อว่าเราทุกคนโง่เป็นควายทั้งนั้นเลย เพราะเรารู้อะไรๆ จากการคุยกัน จากการอ่านหนังสือ จากหนัง ทีวี จากการขึ้นรถเมล์ จากการร่วมนินทาคนอื่นเขา ทั้งหมดนี่คือการเรียนรู้

 

จะมีโรงเรียนกี่โรงเรียนก็แล้วแต่ แต่ถ้าเรายังมีทีวีอย่างที่มันโง่อยู่ทุกวันนี้ แล้วจะทำให้คนไทยฉลาด มันจะเป็นไปได้อย่างไร

 

เด็กเรียนรู้ที่สนามเด็กเล่น ไม่ใช่ในห้องเรียน แล้วเราไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบการเรียนรู้ที่อยู่นอกห้องเรียน เมื่อไหร่เราถึงจะสามารถทำให้ชาวนาที่อยู่บ้านนอกไม่ว่าจะจบ ป. อะไรก็แล้วแต่มีความรู้เพิ่มขึ้นได้ ถ้ายังทำไม่ได้ ไม่มีทางที่เราจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ผมคิดว่าจนถึงทุกวันนี้

 

ทุกวันนี้เรามีแต่ระบบการศึกษาที่จะฝึกแรงงาน แต่เราไม่มีระบบการศึกษาที่พัฒนาสมองคน

 

 

……………………………………………………………………….

 

หมายเหตุ

การเสวนา เรื่อง "การอภิวัฒน์ประเทศไทยกับแนวคิดของดร.ปรีดี พนมยงค์ มองผ่านหลัก 6 ประการ" เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2475 จัดโดยสำนักพัฒนานโยบายสาธารณะร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท