Skip to main content
sharethis


 


 


คำบรรยายของ ม...ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือหม่อมอุ๋ย ระหว่างการปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ในหัวข้อ "ค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนไป" เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมีความน่าสนใจ เพราะเป็นการพูดของนักเศรษฐศาสตร์และนักการบริหารซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบการเงินของประเทศ และที่สำคัญคือ พูดเรื่องเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ ที่มีความหมายกับชีวิตประชาชนนอกเหนือไปจากเรื่องของ "จีดีพี"


 


จีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เป็นดัชนีชี้วัดซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ให้ความสนใจ เพราะถูกใช้เป็นมาตรวัดที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ จีดีพีเป็นดัชนีที่บอกว่าในแต่ละปีมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นผ่านระบบตลาดมากน้อยเพียงไร ยิ่งจีดีพีสูง หมายถึงเศรษฐกิจมีการเติบโตในทางปริมาณที่มาก ซึ่งหากเชื่อตามทฤษฎีไอติมแท่งละลายหรือน้ำล้นถ้วย (คือความมั่งคั่งของคนกลุ่มหนึ่งจะไหลลงมาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงคนกลุ่มอื่นๆไปด้วย) จีดีพีโตจะนำไปสู่การผลิตและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานมากขึ้น ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ฯลฯ


 


ไม่รู้ว่าคุณทักษิณ ชินวัตร และคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คิดถึงอะไรเวลาพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ แต่ทั้งสองคนต่างให้ความสนใจกับเรื่องจีดีพีและเป้าหมายการส่งออกมาก เพราะต้องการให้การส่งออกเป็นตัวจักรผลักดันให้จีดีพีอยู่ในระดับที่น่าประทับใจ ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้มีการบริโภคภายในอย่างมากผ่านนโยบายประชานิยมต่างๆ โดยต้องการให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีในอีกทางหนึ่ง


 


หม่อมอุ๋ยกล่าวถึงมาตรวัดทางเศรษฐกิจของผู้คนในสังคมไทยว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจ และภาคเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางขนาดเป็นสำคัญ ประชาชนชื่นชมกับการมีธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลประกอบการและกำไรสูง นักธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีการควบรวมกิจการกัน เพราะทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันทำให้เกิดการผูกขาดทางการตลาด สำหรับรัฐบาลก็มุ่งให้จีดีพีของประเทศเติบโตอย่างสูง จึงเน้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กต์ และต้องการเห็นดัชนีในตลาดหลักทรัพย์สูงขึ้น ทำให้ละเลยการกระจายรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนรวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมไป หม่อมอุ๋ยเสนอว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ควรถูกวัดจากจีดีพีเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรและการอนุรักษ์ ให้มีระบบการดูแลทรัพยากรที่ดี เช่น มีระบบจัดการน้ำ และทั้งหมดนี้อยู่แนวคิดที่เรียกว่าจีดีพีสีเขียว คล้ายๆกับที่ในภูฏานก็มีสิ่งที่เรียกว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นเอช)


 


แล้วโลกของหม่อมอุ๋ยที่จีดีพีไม่ได้เป็นใหญ่จะมีลักษณะเป็นอย่างไร…


-          ระบบขนส่งมวลชนที่ดีมีคุณภาพจะมีมากขึ้น มีช่องบนถนนสำหรับขี่จักรยาน รัฐบาลเลิกจับรถไฟฟ้าเป็นตัวประกันต่อรองกับประชาชนและพรรคการเมืองอื่น เพราะต้องการให้เกิดการประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ลดการขาดดุลการค้าและรักษาคุณภาพทางอากาศและคุณภาพปอดของคนเมืองใหญ่ให้สะอาด


-          ประชาชนจะเข้าโรงพยาบาลน้อยลงเพราะรัฐบาลสนับสนุนให้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์และรู้จักรักษาสุขภาพตนเองมากขึ้น หรือ ประชาชนจะมีบริการด้านสาธารณสุขที่ดีและเข้าถึงได้ดีขึ้น เพราะการที่ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้นสำคัญกว่าการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (เมดิคอลฮับ) เป็นไหนๆ


-          งานบ้านของคุณแม่บ้านจะได้รับความสำคัญมากขึ้นในฐานะที่ทำประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจ รัฐมีนโยบายสนับสนุนการทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูกของผู้หญิง


-          ปัญหาภาคใต้ที่ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตและวิถีในการดำเนินชีวิตตามปกติของตนไป ทำให้รัฐบาลร้อนใจ เพราะส่งผลให้ดัชนีจีดีพีเขียวติดลบเสียยิ่งกว่าปริมาณการส่งออกที่ลดลง จึงหันกลับมาให้ความสนใจและจริงจังกับการแก้ปัญหาที่รากเหง้าเสียที


-          โครงการขนาดใหญ่จะถูกทบทวนให้ลดขนาดลง เพราะมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชนรอบข้างมากกว่า โดยประชาชนได้อาศัยความรู้ความเข้าใจและความต้องการของตนและชุมชนในการร่วมกำหนดลักษณะของโครงการด้วย


-          ระบบเตือนภัยธรรมชาติจะได้รับผลักดันอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตโดยไม่จำเป็น หรือ ประชาชนและรัฐบาลตระหนักในความจำเป็นต้องรักษาธรรมชาติเพื่อให้ธรรมชาติช่วยบรรเทาอุทุกภัยหรือปัญหาดินถล่มที่อาจจะเกิดขึ้นอีก


ฯลฯ


 


ความเป็นไปได้ของจีดีพีสีเขียวมีได้หลายทางขึ้นอยู่กับว่าการประเมินคุณค่าใช้กรอบใดในการประเมิน ประเมินได้ใกล้เคียงความจริงเพียงใด และเมื่อประเมินออกมาแล้ว ผลได้หรือผลเสียอย่างใดจะมากกว่ากัน แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้โลกของหม่อมอุ๋ยแตกต่างไปจากโลกของคุณทักษิณและคุณสมคิดคือ มีสิ่งอื่นที่สำคัญเทียบเท่าหรือมากกว่าเรื่องเงินและความมั่งคั่งทางด้านการเงินในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศ หม่อมอุ๋ยอาจจะไม่ได้มองไปไกลถึงการคิดคำนวณปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างให้เข้ามาอยู่ในดัชนีชี้วัดนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดจีดีพีเขียวของหม่อมอุ๋ยหรือจีเอ็นเอชของภูฏานก็สะท้อนต้นทุนและผลได้ที่เป็นจริงในทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าจีดีพีแบบเดิม และก็น่าจะบอกได้ดีกว่าดัชนีตัวเดิมว่าความพยายามในการดันจีดีพีให้โป่งพองนั้นมันนำไปสู่คุณภาพชีวิตและการจ้างงานที่ดีขึ้นแน่หล่ะหรือ


 


ถ้าประเทศไทยมีจีดีพีสีเขียวอย่างที่หม่อมอุ๋ยว่า คนไทยจะเข้าใจระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันขึ้นอีกมาก คนกรุงเทพจะเข้าใจว่าเหตุการณ์ดินถล่มและอุทกภัยที่อุตรดิตถ์เกี่ยวข้องกับการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวและพฤติกรรมการบริโภคของเราด้วยอย่างไร ความเข้าใจนั้นจะเกิดจากการที่ต้นทุนบางส่วนที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเคยผลักไสให้ไปอยู่นอกกระบวนการคิดคำนวณราคานั้น "ถูกทำให้มีตัวตน" ขึ้น มองเห็นและสัมผัสได้จริง ผ่านการให้ค่ากับมัน


 


ในขณะเดียวกัน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนอกกระบวนการคำนวณรายได้หรือกำไรซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาวะของสิ่งแวดล้อมและคนอื่นๆในสังคม เช่น การดำรงอยู่ต่อไปของป่าเขาใหญ่-ดงพญาเย็นอันอุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพโดยไม่ถูกเบียดเบียนจากการสร้างถนนตัดป่าของกรมทางหลวง การจับปลาโดยเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กซึ่งช่วยรักษาทรัพยากรประมงได้ดีกว่าเรือปั่นไฟขนาดใหญ่ หรือตัวอย่างง่ายๆของการทำงานอาสาสมัครก็จะได้รับการให้ "ค่า" และ "คุณค่า" ในเวลาเดียวกัน และเราจะเห็นว่ามีผลประโยชน์ที่ได้อีกเยอะจากการทำหรือไม่ทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่ได้ถูกนำมารวมไว้


 


ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หรืออาจรวมถึงในเชิงวัฒนธรรมและทางการเมืองด้วยก็เป็นได้ เช่น ในเชิงการเมือง จีดีพีเขียวยังมีนัยยะไปถึงกระบวนการตัดสินใจดำเนินนโยบายหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย เพราะการวัดจีดีพีเขียวจะต้องได้รับข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งกว้างไปกว่าแค่เจ้าของโรงงาน หรือผู้ป้อนวัตถุดิบ แต่ยังหมายถึง ชุมชนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบ ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และผู้บริโภคสินค้าและบริการ เป็นต้น


 


แม้ว่าการไปสู่จีดีพีเขียวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากประเทศไทยจะเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต มีความสามารถในการแข่งขันบนพื้นฐานของเสถียรภาพและความสมานฉันท์ ไม่ใช่ความสามารถในการแข่งขันบนซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของชุมชนแล้ว การมองหาดัชนีชี้วัดที่ดีกว่าจีดีพีเพื่อวัดคุณภาพของการเจริญเติบโตและการพัฒนาเป็นเรื่องที่จำเป็น ขอสนับสนุนหม่อมอุ๋ยและธนาคารแห่งประเทศไทยเต็มที่หากจะผลักดันการทำจีดีพีเขียวให้มีความสำคัญขึ้นมาจริงๆสำหรับประเทศไทย


 


สำหรับรัฐบาล เนื่องจากท่านนิยมการเป็นศูนย์กลางของอะไรต่อมิอะไรในภูมิภาคมาก น่าจะลองคิดโครงการใหม่สำหรับประเทศไทยอีกโครงการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนา "แบบจีดีพีเขียว" แห่งภูมิภาคดูบ้าง ประเทศไทยน่าจะดูดีกว่าที่เป็นอยู่อีกเยอะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net