Skip to main content
sharethis


รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์


 


 


รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิเคราะห์การเมืองไทยในอนาคตอันใกล้ ระดับ 1 สัปดาห์ข้างหน้า และหลังเลือกตั้ง เดือนตุลาคม โดยมองจากมุมนักนิติศาสตร์ในเวที "เมืองไทย: หลังทักษิณ 3"*


 


ไม่บ่อยครั้งนักที่นักวิชาการสาขานิติศาสตร์ผู้นี้จะพูดเลยไปจากศาสตร์ที่ตนเองเชี่ยวชาญ แต่การวิเคราะห์การเมืองไทยครั้งนี้น่าติดตามดู แม้เจ้าตัวจะออกตัวว่าไม่ได้มีนกแก้วช่วยทำนาย ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นหมอดูแม่นๆ ก็ตาม


 


เขาทำนายว่า สัปดาห์นี้ ก็คือวันนี้ (จันทร์ 22 พ.ค.)เป็นต้นไป นายกฯ ทักษิณจะกลับมา แต่การกลับมาชั่วคราวครั้งนี้ จะอยู่ยั้งยืนยงหรือไม่ หรือต้องอาศัยปัจจัยอะไรอีก เขามีคำทำนายต่อจากนั้น


 


เขาทำนายว่าการต่อสู้ในทางการเมืองในครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างยืดยาวและยืดเยื้อ ไม่จบลงง่าย ๆ และจะเกิดวิกฤตใหม่ซ้อนขึ้นมาเป็นลำดับ


 


เขาทำนายว่าประเด็นการต้อสู้จากนี้ไปคือ 3 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ การต่อสู้เรื่องการเปลี่ยนตัวกรรมการการเลือกตั้ง การต่อสู้เรื่องการยุบพรรคการเมืองและการต่อสู้เรื่องการปลดล็อกส.ส. 90 วัน ทั้งนี้ทั้งนั้น การต่อสู้ทั้ง 3 ประเด็นหาได้นำพาการเมืองไทยเปลี่ยนโฉมหน้าไปมากมายแต่อย่างใดไม่


 


อนึ่ง รศ.ดร.พิภพ อุดร จากคณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี ผู้รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการเป็นผู้ตั้งคำถามด้วยความอึดอัดจากการปรากฏตัวรายวันของกฎหมายมาตราต่าง ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งถูกตีความจากหลายฝ่ายอย่างไม่มีที่สุดสิ้น


 


ดร.พิภพตั้งคำถามว่านี่คือการขึ้นสู่จุดสูงสุดและต่ำสุดในเวลาเดียวกันของนักนิติศาสตร์หรือไม่ ดร.วรเจตน์ตอบคำถามนี้ด้วย โดยฟันธงลงไปว่ารากของปัญหาก็เนื่องเพราะกฎหมายไม่เคยหยั่งรากลงในสังคมไทยอย่างเป็นหลักเป็นฐาน


 


พร้อมกันนี้เขาพาวงสนทนาไปสู่การตั้งคำถามกับการทำงานของฝ่ายตุลาการซึ่งอาจจะเป็นการตั้งคำถามที่หลายฝ่ายหลีกเลี่ยงที่จะถามด้วยเหตุว่าเมืองไทยอยู่ในสถานการณ์พิเศษ แต่สถานการณ์พิเศษครั้งนี้ สังคมไทยได้หรือเสียจากการสร้างข้อยกเว้นให้ตัวเอง โปรดติดตาม


....................................................................................................


 


การต่อสู้ในทางการเมืองในครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อและจะเกิดวิกฤตใหม่ซ้อนขึ้นมาเป็นลำดับ


โดยปูมหลังทีเป็นนักกฎหมาย เป็นนักนิติศาสตร์ อาจจะยากสักนิดในการที่จะพยากรณ์ไปข้างหน้า ศาสตร์อื่นอาจจะทำได้ดีกว่าเพราะว่าโดยสภาพของนิติศาสตร์นั้นอยู่กับการตีความ


 


ความจริงแล้วหากเราดูจากสภาพการเมืองของสังคมไทยปัจจุบัน บางเรื่องอาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอุษาคเนย์ของเรา การเล่นพรรคเล่นพวก การคอร์รัปชั่น ก็เป็นปรากฏการณ์ร่วมกัน แต่ว่าการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันนี้เป็นการต่อสู้ที่ซับซ้อนที่สุดและประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนแล้วผมเชื่อว่าก็อาจจะเป็นปรากฏการณ์เดียวที่เกิดขึ้นในโลกเวลานี้


 


การต่อสู้ครั้งนี้ ในเบื้องต้นอาจจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ความไม่พอใจระบอบทักษิณ ผมไม่แน่ใจว่าการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าจากนี้ไป จะเป็นการต่อสู้ที่ยกระดับขึ้นเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่น่าจับตามองต่อไป มีการพูดถึงเรื่องทุนนิยมผสานกับระบบคอมมิวนิสต์ มีการพูดถึงระบบศักดินาผสานกับทุนนิยม ผมไม่แน่ใจว่าการต่อสู้จากนี้ไปจะแหลมคมและจะยกระดับขึ้นเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่


 


แต่ที่แน่ ๆที่ผมสรุปได้ก็คือว่าการต่อสู้ในวันนี้เป็นการต่อสู้ในทางการเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะว่าเราไม่เคยเห็นเลยที่องค์กรตุลการหรือศาลนั้นจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองแบบที่มีอยู่ในวันนี้


 


แน่นอนว่าการต่อสู้ที่ดำเนินมาถึงขณะนี้ ฝ่ายซึ่งเคยมีบทบาทในประวัติศาสตร์ยังดูเหมือนสงวนท่าที เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีอะไรที่เป็นความเปลี่ยนแผลงจากนอกระบบแล้ว การต่อสู้ในทางการเมืองในครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างยืดยาวและยืดเยื้อและไม่จบลงง่าย ๆ มันจะเกิดวิกฤตใหม่ซ้อนขึ้นมาเป็นลำดับ วิกฤติบางตัวอาจจะคลี่คลายไปโดยตัวของมันเองแล้วก็จะเกิดปมอันใหม่ขึ้นมาแล้วก็จะใช้เวลายาวนานกว่าที่เราจะผ่านพ้นไปได้


 


ผมอาจจะไม่มองในแง่ร้ายเกินไปนักแต่ผมคิดว่าถ้าเราผ่านไปได้ ผมก็เชื่อว่าพัฒนาการทางการเมืองของบ้านเราก็จะไปในอีกระดับหนึ่ง เราอาจจะมีประสบการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากการต่อสู้ในทางการเมือง ถ้าหากไม่มีอำนาจจากนอกระบบเข้ามา ซึ่งวันนี้ผมไม่แน่ใจ ผมเรียนว่าเราอาจจะไม่ได้ห่างไกลจากการรัฐประหารมากนักก็ได้ มันขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ซึ่งคาดหมายค่อนข้างยาก เพราะว่ามีตัวละครหลายตัวและมีกลุ่มซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในคราวนี้ค่อนข้างมาก


 


 


คดีซุกหุ้น 1: หากกฎหมายปักหลักลงไปอย่างมั่นคงแล้ว นายกทักษิณจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้


ประเด็นที่เกิดปัญหาขึ้นกับคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมขอบอกว่าเป็นเพียงปัจจัยประการหนึ่ง เป็นสงครามตัวแทนอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีการเมืองของเรา ตัวละครที่แท้จริงอาจจะยังไม่ได้เผยตัวออกมา แต่โดยเวลาที่เนิ่นช้าไป เราก็อาจจะเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะวิเคราะห์ได้มากยิ่งขึ้น


 


ทีนี้ ก่อนที่จะมองไปข้างหน้า ก็อาจจะต้องย้อนกลับไปว่าการเกิดขึ้นของระบอบทักษิณเกิดได้อย่างไร ความจริงผมคิดว่าระบอบทักษิณนั้นเป็นผลผลิตจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็อาจจะไม่ผิดนัก แม้อาจจะไม่ใช่ปัจจัยประการเดียว แต่ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่าระบอบทักษิณ


 


แน่นอนว่าหลักกฎหมายที่บ้านเรามีอยู่เหมือนจะยังไม่มั่นคงเพียงพอ ถามว่าทำไมผมจึงพูดอย่างนั้น ตอนที่เกิดคดีซุกหุ้นครั้งแรกนั้น เมื่อเราย้อนกลับไปเราก็จะเห็นว่าวันที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นเราจะพบอยู่อย่างหนึ่งว่าหลักในทางกฎหมายนั้นไม่แน่น มันไม่ปักหลักลงไปอย่างมั่นคง


 


เพราะหากกฎหมายปักหลักลงไปอย่างมั่นคงแล้ว ผมเชื่อว่าท่านนายกทักษิณจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ นี่ดูจากการชี้มูลของคณะกรรมการปปช. ซึ่งในทุกคดีจะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเดินตาม-เห็นด้วยกับ ปปช. คงมีคดีของท่านนายกทักษิณเพียงคดีเดียวที่ดำเนินไปในอีกลักษณะหนึ่ง และชนะกันด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 แล้วในรายละเอียดในคำวินิจฉัย เมื่อเราค้นลงไปในรายละเอียดจริง ๆ แล้วก็จะพบว่า คะแนนคือ 7 ต่อ 4 ต่อ 4 หมายความว่าการตั้งประเด็นในการพิจารณาคดีนั้นไม่มีการตั้งประเด็นกันตามปกติที่มีการพิจารณากัน


 


ผมเคยพูดตอนนั้นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีท่านนายกทักษิณในวันนั้นมันอาจจะไม่ได้ทำให้ประเทศไทยล่มสลายลงไปในทันที แต่มันบ่งชี้ว่าการปกครองโดยยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ยังไม่ปักรากลึกลงไปในสังคมไทยของเรา เราจะเผชิญกับปัญหานี้ต่อไปและผมเชื่อว่าที่ผมพูดไปในวันนั้นเมื่อดูจากปรากฏการณ์นาการใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาในวันนี้ก็ดูจะไม่ผิดพลาดไปจากที่พูดมาสักเท่าไหร่ เพราะวันนี้เราจะพบว่ามีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กันในทางการเมืองค่อนข้างมาก และเราไม่ทราบได้ว่าใครถูกใครผิดแน่นอน เราไม่รู้แล้วว่านะครับว่าประเด็นในทางกฎหมายที่หยิบยกขึ้นมานั้นมันมีหลักมีฐานอยู่ตรงไหน นี่คือสิ่งซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับบ้านเมืองของเรา เพราะว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานั้น หากมันยุติลงได้โดยมีองค์กรซึ่งชี้ขาดแล้วยุติและคนยอมรับ ก็จะไม่เกิดความรุนแรงขึ้น แต่ถ้ามันไม่มีองค์กรที่ว่านั้น ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่ความรุนแรง


 


วันนี้เราโชคดีที่ยังไม่เกิดความรุนแรง แต่ถามว่าเราห่างไกลจากความรุนแรงไหม ผมคิดว่าเราไม่ได้ห่างไกลสักเท่าไหร่ มันขึ้นกับสภาพการณ์ ปัจจัยต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในเวลานี้ว่าจะนำพาเราไปสู่จุดที่มันเกิดความรุนแรงได้หรือไม่ อย่างไร


 


ถ้าใครมีโอกาสได้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ก็คือเรื่องการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่าไม่ชอบ จริงๆ โดยผลเราก็เข้าใจว่ามันเป็นการปลดล็อกทางการเมืองในระดับหนึ่ง ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะว่าแน่นอนว่าถ้าเราเปิดสภาได้ นำพาสภาไปได้ ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ที่เราไม่ยอมรับกัน หรือรับได้ว่าจะเป็นสภาเฉพาะการเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป หรือเปิดแล้วยุบสภาทันทีเพื่อเลือกตั้งใหม่มันก็อาจจะคลายปมปัญหาไปได้ แต่ว่าสภาพการณ์นั้นไม่เกิดมันก็นำไปสู่การใช้อำนาจในทางตุลาการเข้ามาแก้ปัญหา ผมเรียนว่าการใช้อำนาจศาลเข้ามาแก้ปัญหาของบ้านเมืองนั้นค่อนข้างยากเพราะว่าอำนาจตุลาการนั้นมีข้อจำกัดในตัวเองไม่เหมือนกับอำนาจอื่น


 


เพราะฉะนั้นเวลาเราใช้อำนาจตุลาการมาแก้ปัญหาของบ้านเมืองนั้นจึงต้องระวัง แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาให้เด็ดขาดไปก็กลับจะกลายเป็นการเปิดปมปัญหาขึ้นมาใหม่ วันนี้ผมรู้สึกอย่างนั้นนะครับ


 


ถ้าเกิดท่านไปดูในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มันสะท้อนให้เห็นว่า วันข้างหน้าท่านจะอ่านหนังสือพิมพ์แล้วจะเจอกับมาตราต่าง ๆ ทุกวัน เราจะเจอคนที่ออกมาพูดให้ความเห็นในทางกฎหมายรายวัน แล้วก็จะไม่ตรงกัน จะมีปัญหาการตีความอยู่เนือง ๆ


 


ถามว่าทำไม ผมเรียนอย่างนี้นะครับว่าถ้าเราดูง่ายตอนที่เราบอกว่าการเลือกตั้งมันมีปัญหาว่าจะใช้ได้หรือไม่ อย่างไร ก็เริ่มต้นจากการที่มีคนไปฟ้องศาลหลาย เริ่มจากศาลปกครองแล้วศาลปกครองก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้มีการเลือกตั้งครั้งที่ 3 หลังจากนั้นก็มีผู้ยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ความจริงมีคนยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น แต่ว่าท่านผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภายังไม่ได้ส่งเรื่องไป หลังจากนั้นก็มีเพื่อนอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ส่งเรื่องไป แล้วท่านผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาก็ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็รับพิจารณา แล้วก็ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างรวดเร็ว เร็วมาก มากว่าคดีอื่น ๆ ที่เคยทำไว้ เพราะศาลมองว่านี่คือเรื่องพิเศษ เรื่องเร่งด่วน


 


จริง ๆ ประเด็นปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การพิจารณาครับ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าเรื่องนี้ถ้าเราไปดูตามข้อกฎหมายแล้ว คงมีปัญหาว่าเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาส่งเรื่องนี้ขึ้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า ถ้าท่านไปดูก็จะพบว่าประเด็นเรื่องนี้ไม่มีใครหยิบขึ้นมาถกเถียง แต่ว่าการส่งเรื่องขึ้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นปัญหาเสียแล้วในทางกฎหมาย เพราะว่าในกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ก็จะมีบทบัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ยุติเรื่องในเรื่องที่มีการฟ้องศาลไปแล้ว และบังเอิญว่าในเรื่องนี้เป็นคดีอยู่ที่ศาลปกครอง


 


เพราะฉะนั้นในการตัดสินคดีกัน ก็จะพบความประหลาดอย่างหนึ่งในระบบของเรา ก็คือศาลรัฐธรรมนูญท่านตัดสินให้การเลือกตั้งนั้นใช้ไม่ได้เมื่อวันที่ 8 พ.ค. จากนั้นมาอีกสัปดาห์หนึ่งศาลปกครองก็ตัดสินไปในทางเดียวกัน ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในที่อื่น ๆ เป็นปรากฏการพิเศษทีเกิดขึ้นในประเทศของเรา แต่เราก็บอกว่าเอาหละ เราจะไม่พูดกันในประเด็นนี้นะ เพราะว่าเราฝุ่นตลบกันอยู่ ผมก็ไม่ออกมาให้ความเห็นในประเด็นนี้เท่าไหร่ เพราะผมเข้าใจว่ามันเป็นสภาวการณ์ที่พิเศษ


 


จะมีคนจำนวนหนึ่งไม่ไว้วางใจในบทบาทของศาลและนั่นอาจจะป็นวิกฤติที่อาจจะรุนแรงมากเป็นพิเศษ


แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่าในสภาวการณ์พิเศษนี้ มันเปิดโอกาสให้อำนาจตุลาการเข้ามาใช้อำนาจได้มากแค่ไหน ผมระลึกไปถึงตอนที่มีการขอนายกพระราชทานมาตรา 7 ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยในการวิธีการดังกล่าว ผมเรียนว่าในระยะยาวมันส่งผลเสียหลายอย่างกับระบบการเมืองไทย


 


วันนี้เราเห็นภาพศาลออกมาแสดงบทบาทที่อาจจะวิจารณ์ได้ในระดับหนึ่งว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะอย่างไร ผมเองเข้าใจว่าศาลไม่เคยแสดงบทบาทแบบนี้มาเลย เมื่อศาลแสดงบทบาทแบบนี้มาแสดงว่ามันต้องมีอะไรพิเศษ และถ้ามองในมุมกลับการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ลาออกก็แสดงว่าต้องมีอะไรพิเศษเหมือนกัน ไอ้ความพิเศษทีเกิดขึ้นวันนี้เราไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่เรารู้ว่ามันมีอะไรบางอยางไม่ปกติเกิดขึ้นในการต่อสู้ในอำนาจในระดับบน


 


ผมคิดว่าศาลอาจจะมองว่าหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งต่อไปวิกฤติจะไม่หมดเพราะคนไม่ให้ความเชื่อถือกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ จึงต้องแสดงบทบาทในลักษณะพิเศษออกมา แต่แน่นอนว่าเมื่อศาลแสดงบทบาทออกมาในลักษณะนี้ศาลจะตองถูกตั้งคำถาม ผมเองก็ตั้งคำถามกับศาลนะครับ แต่เรียนว่าสื่อมวลชนตั้งคำถามกับเรื่องนี้น้อย เพราะสื่อเองก็มองว่านี่เป็นเรื่องพิเศษเหมือนกัน


 


ผมเข้าใจว่าอาจารย์เกษียร เตชะพีระใช้คำว่าเดิมพันสูงซึ่งผมคิดไม่ต่างกัน ผมคิดว่าเดิมพันสูง แน่นอนศาลอาจจะบอกว่าพยายามเป็นกลางอยู่ แต่ต้องไม่ลืมว่าในอนาคตจะมีหลายคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลรวมทั้งคดีของกกต. ที่อยู่ในศาลเองด้วย ถ้าศาลยังไม่ปรับบทบาทของตัวเอง ผมเชื่อว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งไม่ไว้วางใจในบทบาทของศาลและนั่นอาจจะเป็นวิกฤติที่อาจจะรุนแรงมากเป็นพิเศษ ที่ผมหวั่นเกรงอยู่ผมหวั่นเกรงตรงนี้


 


วันนี้ที่ศาลพยายามจะปรามการเดินขบวนของพันธมิตรฯ ในการไปให้กำลังใจศาล ผมคิดว่าศาลพยายามที่จะทอนบทบาทของตัวเองลงในระดับหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะในที่สุดแล้วยังมีองค์กรที่คอยตัดสินชี้ขาดในกรณีที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นอยู่ แต่ถ้าศาลเดินออกไปอีกมากกว่านี้ก็อาจจะเกิดความผิดพลาดได้และเมื่อถึงจุดนั้นก็แสดงว่าสังคมไทยหมดคนที่จะมาชี้ขาดปัญหา


 


ความจริงเรื่องนี้ศาลท่านชี้ขาดได้เพราะว่ามีหลายคดีอยู่ในศาล โดยระบบก็คือศาลก็ว่ากันไปตามคดี ซึ่งมันอาจจะช้าหน่อย แต่ว่ามันจะรักษาคุณค่าเอาไว้ และจะสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะคนรู้สึกว่าเวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้นยังคงไปที่ศาลได้อยู่


 


เพราะฉะนั้นบทบาทขององค์กรตุลาการในระยะถัดไปนั้นจึงน่าจับตามองว่าเขาจะเพิ่มดีกรี เพิ่มแรงกดดันมากน้อยแค่ไหน


 


กกต. จะลาออกเมื่อการทำสำนวนเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นเรียบร้อย


ผมคิดว่า กกต. ชุดนี้น่าจะไม่ได้อยู่อีกนาน เนื่องจากแรงกดดันในทางสังคมสูง เรื่องความผิดความถูกมันเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้เยอะ ผมดูรายการกรองสถานการณ์ ช่อง 11 อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครท่านหนึ่งไปออกรายการแล้วก็พูดถึงประเด็นปัญหาการวินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบท่านเป็นการส่วนตัวก็ตาม แต่ผมขอเรียนว่าหลาย ๆ ประเด็นที่พูดในเชิงเหตุผลทางข้อกฎหมายก็มีน้ำหนัก ผมจึงคิดว่าในที่สุดแล้วก็ต้องมาสู้กันในเชิงเหตุผลนั่นแหละ แล้งองค์กรตุลาการก็เป็นผู้ตัดสิน


 


กกต. วันนี้ถ้าจะต้องออกก็ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ มีคนถามว่าแล้วทำไมไม่ออก ผมคิดว่ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นอยู่ในนั้น ผมคาดหมายอะไรบางอย่าง ถ้าเราไม่มองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับการเมืองก็คือการทำหน้าที่ที่ผ่านมาในบางเรื่องยังไม่เสร็จ ยังไม่เสร็จหมายถึงยังไม่เสร็จพอที่จะทำให้ตัวเองสามาระลุกออกจากเก้าอี้ได้ แล้วทำให้เกิดกรณีที่ต้องทำอะไรย้อนหลัง


 


มันมีการวินิจฉัยการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งซึ่งสำนวนยังไม่เรียบร้อย ผมมองไปที่ประเด็นนี้ และหากเรื่องนี้เรียบร้อย ผมคิดว่าเขาจะออก


 


ประเด็นการต่อสู้ข้างหน้า 1. เปลี่ยนตัวกกต. 2.ยุบพรรคการเมือง 3.ปลดล็อก ส.ส. 90 วัน


การเปลี่ยนตัว กกต. จะเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองต่อไปข้างหน้า เพราะวันนี้มีประเด็นเรื่องการยุบพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคใหญ่คือ ไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ มีการสืบสวนสอบสวนโดยคณะอนุกรรมการและพบว่ามีการจ้างพรรคเล็กลงสมัครจริง และผลการสืบสวนก็ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ ยังไม่ทราบบทบาทของ กกต. ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่วันนี้มี ส.ว. จำนวนหนึ่งยื่นเรื่องไปยังอัยการเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคไทยรักไทย ประเด็นข้างหน้าที่จะเกิดมีขึ้นการต่อสู้ก็จะรุนแรงมากขึ้นคือ


 


1. การเปลี่ยนตัวกกต. ว่าจะเปลี่ยนทั้งหมดหรือไม่ ที่แน่ ๆ ต้องเพิ่มขึ้นมา 2 คน แต่หลายคนก็ต้องการจะเปลี่ยนหมด และตรงนี้ก็คงจะต้องผลักดันและสู้กัน ประลองพลังกันต่อไป


 


2. การยุบพรรคการเมือง ประเด็นนี่สำคัญ เพราะประเด็นทางกฎหมายดำเนินการไปถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้จริง เราจะสามารถพูดถึงยุคหลังทักษิณได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะว่าในทางกฎหมายเมื่อมีการยุบพรรคการเมืองแล้วผู้บริหารพรรคจะถูกห้ามไม่ให้ตั้งพรรคเป็นเวลา 5 ปี


 


แต่ปัญหาคือมันไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ซึ่งไม่ง่ายเพราะในการสอบสวนต้องให้ได้ความว่าการดำเนินการนั้นเป็นการดำเนินการของพรรค ไม่ใช่การดำเนินการของคนในพรรค หรือถ้าสาวไปไม่ถึงตัวพรรคการยุบพรรคก็จะเกิดขึ้นลำบาก ผมไม่แน่ใจว่าประเด็นนี้ บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องจะว่ากันต่อไปอย่างไร แต่บทบาทสำคัญเรื่องนี้อยู่ที่อัยการ และคงจะขึ้นอยู่กับกระแส ขึ้นอยู่กับแรงกดดันทางการเมือง และที่สุดก็คงจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ


 


3. การปลดล็อก 90 วัน เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พาไปสู่จุดเปลี่ยนซึ่งอาจจะไม่เปลี่ยนชัดเจนนัก ความจริงมีการพูดถึงการเลือกตั้งในวันที่ 22 ต.ค. ซึ่งแน่นอนว่าคงจะไม่เกิดขึ้นในวันนั้น จะเร็วขึ้น 1 สัปดาห์ หรือช้าลงไปอีก 1 สัปดาห์ ผมก็ไม่แน่ใจแต่ที่แน่ ๆ ก็คือว่ามันน่าจะเกิดขึ้นและเพียงพอให้มีการย้ายพรรคการเมืองได้


 


ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผมคิดว่า สภาพการณ์ในทางการเมืองอาจจะเบาบางลงระดับหนึ่งหากเราประคองไปให้ถึงการเลือกตั้ง เนื่องจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ พรรคการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นอย่าไปหวังว่าจะมีอุดมการณ์หรือมีนโยบายที่ชัดเจน จะยังไม่มี แต่จะเป็นพรรคที่เกิดขึ้นและเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน


 


 ถ้าไม่มีพรรคใหม่ ประชาชนจะถูกบังคับให้เลือกอยู่ในตัวเลือกเดิมซึ่งถ้าอยู่ในตัวเลือกเดิม ผมก็เรียนว่าในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายทั้งปวง ไทยรักไทยจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่นโยบายชัดเจนกว่าพรรคการเมืองอื่น เราอาจจะหวังนโยบายจากพรรคการเมืองอื่นได้ค่อนข้างยาก ผมก็พยายามที่จะหวังแต่ยังไม่เห็น ฉะนั้นเมื่อลงเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยจะได้เปรียบ


 


การปลดล็อก 90 วันทำให้เกิดการกระเพื่อมในพรรคการเมืองมากน้อยแค่ไหน ยังตอบไม่ได้ แต่เท่าที่ดูจนถึงวันนี้ยังไม่มากนัก อาจจะด้วยเงินทุนที่ค่อนข้างมาก ฉะนั้นถ้าจะดูจุดทีเกิดความเปลี่ยนแปลงก็ต้องดูว่าทางเลือกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้มีใครบ้าง มันอาจจะไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เราอาจจะยังไม่ถึงยุคหลังทักษิณก็ได้ยุคหลังทักษิณอาจจะไม่ได้มาในเวลาอันใกล้


 


ผมคิดว่า 3 ประเด็นนี้ ในระยะเวลาอันใกล้จะเป็นปัจจัยที่สำคัญ การปรับเปลี่ยนกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นด่านแรกของการสกรีนคนเข้าเป็นสมาชิสภาผู้แทนราษฎร


 


การปลดล็อก 90 วัน ซึ่งไม่ได้หวังในเรื่องของการย้ายพรรคในคนกลุ่มเดิม แต่หมายถึงการเกิดพรรคการเมืองใหม่ และผมเชื่อว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งไปเลือก ซึ่งตรงนี้จะเป็นพลังไปต่อรองเรื่องการปฏิรูปการเมืองและคุณทักษิณอาจจะเว้นวรรคในช่วงเวลาดังกล่าว


 


และเรื่องคดีที่เกี่ยวพันกับการยุบพรรคการเมืองซึ่งโฟกัสอยู่ที่พรรคไทยรักไทย


 


3 ประการนี้จะเป็นปัจจัยหลัก ๆ ในทางการเมืองที่จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ยังไม่เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก ผมเรียนว่าจะยังไม่เปลี่ยนไปมากในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองซึ่งระยะเวลานั้นจะมีการต่อสู้กันในทางความคิดมากและขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยพร้อมที่จะไปสู่จุดทีเป็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้หรือไม่


 


ในระยะถัดไป นักกฎหมายจะยังมีบทบาทอยู่ แต่บทบาทนั้นจะลดระดับลง


แล้วสภาพการณ์ในทางกฎหมายเป็นอย่างไร วิชาชีพนิติศาสตร์นั้นขึ้นสู่จุดสูงสุดและต่ำสุดในเวลาเดียวกันหรือไม่ ผมคิดว่าเป็นอย่างนั้นครับ


 


ไม่เคยมีครั้งใดเลยในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่นักกฎหมายมีบทบาทมากเท่านี้ แต่ก็ไม่เคยมีครั้งใดเลยเหมือนกันที่คนจะสงสัยและเคลือบแคลงในบทบาทของนักกฎหมายมากเท่าครั้งนี้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น


 


ผมคิดว่าคำตอบประการหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญปี 2540 ในเชิงโครงสร้างแล้วอาศัยฐานในทางกฎหมายหรือเครื่องมือทางกฎหมายมาก มีองค์กรใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะ และองค์กรเหล่านั้นเกิดจากนวัตกรรมทางกฎหมาย แต่ผมคิดว่ามันมีความบกพร่องอยู่ในกลไกทางการเมือง และด้วยเหตุนี้จึงเป็นประเด็นทางกฎหมายที่ต้องถกเถียงกันอยู่เป็นประจำและประชาชนก็ไม่รู้จะเชื่อใคร


 


ผมคิดว่าในระยะถัดไป นักกฎหมายจะยังมีบทบาทอยู่ แต่บทบาทนั้นจะลดระดับลง นี่เป็นเรื่องการคาดหมาย


 


ทักษิณจะกลับมา และประกาศตัวคนที่มาเป็นนายกแทนหลังการเลือกตั้ง


ส่วนเรื่องยุคหลังทักษิณ การตั้งคำถามว่านายกทักษิณจะกลับมาหรือไม่ สำหรับสัปดาห์หน้า ให้ผมคาดหมาย ผมอาจจะเดาผิด ผมจะลองทำนายดู ผมคิดว่าท่านนายกทักษิณจะกลับมา ถามว่าทำไมผมจึงคิดอย่างนั้น คำตอบก็คือเสียงจากพรรคชาติไทย ซึ่งคุณบรรหารเปิดประเด็นเอาไว้


 


ประการที่ 2 ก็คือในเดือนหน้าบ้านเรามีงานสำคัญ และการกดดันชุมนุมประท้วงอาจจะทำได้ไม่ถนัดนัก


 


และในช่วงจังหวะนี้ ผมคิดว่านายกทักษิณจะพยายามฝ่าแรงเสียดทานกลับเข้ามาทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป และก็อาจจะประกาศตัวคนที่มาเป็นนายกแทนในช่วงที่มีการเว้นวรรคทางการเมืองหลังจากที่มีการเลือกตั้ง


 


ผมคิดว่าน่าจะออกมาในลักษณะนั้น แล้วจากนั้นก็ขึ้นกับพันธมิตรฯ ว่าจะมีการออกมาเคลื่อนไหวกดดันอะไรอีกหรือไม่หลังจากเดือนมิถุนายน จะมีการสู้กันทางการเมืองอย่างไรหรือไม่


 


ผมอาจจะคาดผิด แต่เท่าที่ผมดูท่าทีแนวโน้มที่ท่านนายกทักษิณจะกลับมาในอนาคตมีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว


 


ผ่านไปในเวลาข้างหน้า โดยนโยบายของพรรคไทยรักไทยที่ทำมา ทำให้ประชาชนที่เป็น Disorganized Mass จะดูนโยบายของพรรค เพราะเขาเคยได้ประโยชน์จากนโยบาย เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองในอนาคตจะถูกบังคับให้เสนอนโยบาย จะดีหรือไม่ดีไม่รู้แต่ว่าพรรคการเมืองจะถูกบีบโดยปริยาย แต่ในแง่มุมนี้ ในกรอบกว้างท่านนายกทักษิณจะยังคงมีฐานเสียงในระดับหนึ่งจากคนระดับล่างซึ่งไม่เคยได้ประโยชน์ทีเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลใด ๆ แต่เพิ่งมาได้จากรัฐบาลทักษิณ ซึ่งการได้นั้นคนอาจจะไม่ได้คิดว่าต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง แต่ที่แน่ ๆ มันเป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่ที่แน่ ๆ พรรคการเมืองไม่ว่าจะมีอยู่แล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้นจะถูกบังคับให้ต้องเสนอนโยบาย แต่นโยบายประชานิยมไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตามมันจะถูกบังคับให้ต้องมีแน่นอน


 


ปฎิรูปการเมือง: ทักษิณกลับมาได้แต่อาจจะไม่เหมือนเดิม


มาถึงประเด็นการปฏิรูปการเมือง จะไม่ง่าย เพราะจะเริ่มต้นตั้งแต่การถกเถียงกันว่ามันมีกรอบหรือขอบเขตมากน้อยแค่ไหน แต่แน่นอนว่าการกลับมาของคุณทักษิณจะเป็นปัจจัยสำคัญ เขาอาจจะกลับมาก็ได้แต่อาจจะไม่ได้กลับมาในแบบเดิม ถ้าการปฏิรูปการเมืองนั้นดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้ามันไม่มี ความขัดแย้งของสังคมไทยในระยะถัดไปก็จะรุนแรงขึ้นเพราะว่าตัวกรอบกติกาอันใหม่จะไม่เป็นที่ยอมรับ


 


แต่ถ้าตัวกรอบกติกาอันใหม่เป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง มันก็ทอนแรงเสียดทานต่างๆ ทางการเมืองลง แต่ปัญหาก็คือว่า ใครจะเป็นคนนำพาไปสู่การปฏิรูปการเมือง วันนี้ยังมองไม่เห็น ผมก็ยังมองไม่ออกครับว่าที่สุดแล้ว พอปฏิรูปการเมืองแล้วจะนำไปสู่อะไร


 


ผมมองว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการต่อสู้เชิงอำนาจในระยะถัดไปส่วนหนึ่ง วันนี้ก็มีการพูดกันว่าเป็นการปรับกติกา แต่การปรับกติกาอันนั้นเป็นกติกาในการต่อสู้ในเชิงอำนาจของนักการเมือง แต่ถ้าถามว่าต้องปรับไหม ผมว่าก็ต้องปรับเพราะมันเป็นบันไดเบื้องต้นที่ต้องทำ เพราะกติกาทีเป็นอยู่มนปัจจุบันมันเป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดระบบทักษิณอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ แต่ว่าตัวระบอบทักษิณนั้นได้เปลี่ยนประเทศของเราไปแล้ว ในลักษณะที่จะไม่ทำให้การเมืองไทยกลับไปเหมือนเดิม แต่ในระยะถัดไปการปฏิรูปการเมืองจะไม่ประสบความสำเร็จถ้าไม่มีการปรับจากข้างล่าง เราอาจจะกลับไปเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดิมอีก


 


การต่อสู้ในทางการเมืองไทยที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะซับซ้อนมากขึ้น เหมือนกับวันนี้ที่ผมมองการเมืองแล้วผมก็งงมาก ให้ผมวิเคราะห์ผมก็วิเคราะห์ไม่ถูกเพราะมีอยู่หลายกลุ่ม และตัวละครบางตัวยังไม่ขึ้นมาบนเวทียังเป็นการต่อสู้กันอยู่ข้างหลัง เพราะฉะนั้นประเมินอะไรก็ประเมินลำบาก


 


นอกจากนี้มีประเด็นในข้อกฎหมายที่น่าจะวิเคราะห์อีกมาก ผมมองในการต่อสู้ของทั้ง 2 ฝ่ายใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทั้งคู่ และก็ขอเรียนว่าไม่ได้มีฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกเพียงฝ่ายเดียว การตีความกฎหมายของฝ่ายต่อต้านทักษิณบางกรณีก็ไม่ถูกต้องโดยหลักวิชาด้วยเหมือนกัน


 


แต่ว่าวันนี้กฎหมายอยู่ทีหลังแล้วครับ แต่ประเด็นอยู่ที่การ ช่วงชิงมวลชนกันเป็นสำคัญ


 


 


 


 


 


 


 


..............................................................


หมายเหตุ วงเสวนา "เมืองไทย: หลังทักษิณ 3" จัดโดยหลักสูตรควบโท/ตรี ด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชย์ฯ มธ., โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์


 


ผู้ร่วมเสวนาทั้งหมดประกอบด้วย ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินรายการโดย ดร.พิภพ อุดร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net