Skip to main content
sharethis

 


 


ยูเอ็นพบซูจี ขณะที่ รมว.อินโดฯ ระบุ จีน อินเดีย เกาหลี ต้องร่วมกับอาเซียน คลี่คลายวิกฤติการณ์ในพม่า ส่วนสภาสูงสหรัฐลงมติประณามรัฐบาลพม่าปราบปรามชนกลุ่มน้อย เรียกร้องสหประชาชาติออกมติบังคับรัฐบาลทหารพม่าปรองดอง


 


 


นายอิบราฮิม แกมบารี รองเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายการเมือง เข้าพบกับนางออง ซาน ซู จี ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยพม่า และแกนนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย  หรือ NLD ที่ถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบริเวณบ้านพักมาตั้งแต่ปี 2546 ที่กรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากมีรายงานว่า นายแกมบารี ได้หารือกับ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย แกนนำรัฐบาลทหารพม่าที่เมืองเปียงมะนาก่อนหน้านี้


 


วันเดียวกัน นายฮัสซัน วิรายูดา รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวระหว่างเยือนกรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ เรียกร้องประเทศคู่ค้าพม่า อาทิ จีน อินเดีย และโดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่เข้าไปลงทุนในภาคพลังงานและการก่อสร้างในพม่า ให้ร่วมมือกับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ใช้อิทธิพลกดดันพม่า ให้เร่งการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศ หลังจากความพยายามของกลุ่มอาเซียนประสบความล้มเหลว


 


ทั้งนี้ กระแสกดดันพม่าให้เร่งกอบกู้ประชาธิปไตยในประเทศได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะนี้ เนื่องจากใกล้ถึงกำหนดเส้นตายที่นายโคฟี อันนาน เลขาธิการสหประชาชาติระบุให้พม่าจัดเจรจาปรองดองทางการเมือง รวมทั้งปล่อยตัวนักโทษการเมือง และอนุญาตให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางอองซานซูจีเปิดที่ทำการพรรคอีกครั้ง


 


ขณะที่ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติประณามรัฐบาลทหารพม่าที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามชนกลุ่มน้อยซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ออกข้อมติบังคับให้รัฐบาลทหารพม่าร่วมมือกับสหประชาชาติเดินหน้ากระบวนการปรองดองแห่งชาติพม่าต่อไป


 


นายมิตช์ แม็คคอนแนล สมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า มติดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าวุฒิสภากังวลต่อสถานการณ์เลวร้ายในพม่าเป็นอย่างมาก และต้องการให้ UNSC ออกข้อมติซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายกับพม่า ขณะที่นายทอม แลนทอส สมาชิกสภานิติบัญญัติพรรคเดโมแครตเห็นว่าสหรัฐฯ ต้องการส่งสัญญาณให้รัฐบาลทหารพม่าเร่งกอบกู้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน


 


ทั้งนี้ มติของวุฒิสภามีขึ้นหลังประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ เพิ่งขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับพม่าต่อไปอีก 1 ปี เนื่องจากนโยบายกดขี่ทางการเมืองของรัฐบาลทหารพม่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์และความมั่นคงสหรัฐฯ


 


...................................................


เรียบเรียงจาก : เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net