Skip to main content
sharethis

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


ก่อนจะเข้ารับตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภาทุกคนได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมของวุฒิสภาว่า


 


"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" แก่นความหมายและความสำคัญของคำสัตย์ปฏิญาณนี้ คือ การทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับการรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ


 


พูดแล้ว ก็ต้องทำจริง นี่คือความหมายของคำสัตย์!


 


และนี่คือ "เจตนา" ที่ทำให้ผู้เขียน และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้ดำเนินการ "ยุบพรรคไทยรักไทย"


 


ทำไมต้องยื่นอัยการสูงสุด "ยุบพรรคไทยรักไทย" ?


จากสถานการณ์ปัญหาที่เป็นวิกฤติอยู่ในขณะนี้ ได้ปรากฏชัดแจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ของ กกต. ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


 


นอกจากนี้ ศาลปกครองกลาง ยังได้วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 มิได้เป็นการเลือกตั้งอย่างแท้จริงหรือการเลือกตั้งที่มีผลเป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง


 


ยิ่งกว่านั้น ด้วยเหตุที่การเลือกตั้ง 2 เมษายน พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ปฏิเสธที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงเหลือเพียงพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียวที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยจึงต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตใดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงรายเดียวจะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น


 


ทำให้เกิดปัญหากับพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นเขตที่พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส. มาเพียงคนเดียวในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา


 


เกิดขบวนการพยายามที่จะหลีกหนีจากกฎเกณฑ์ 20%


 


เป็นที่มาของการจ้างพรรคการเมืองพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตที่มีพรรคไทยรักไทยลงสมัครอยู่พรรคเดียว


 


ต่อมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้องเรียนยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า มีการสมคบระหว่างผู้บริหารพรรคไทยรักไทย เจ้าหน้าที่พรรคการเมืองอื่น และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปลี่ยนแปลงข้อมูลในฐานข้อมูลทะเบียนสมาชิกพรรคเพื่อให้เข้าเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้ง โดยได้มีการจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


 


กกต. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมี นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นประธานอนุกรรมการฯ ต่อมา ได้มีรายงานผลการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงต่อ กกต. ทำให้ กกต. มีมติให้ดำเนินการเอาผิดอาญาและวินัยกับเจ้าหน้าที่ กกต.ที่เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงข้อมูลพรรคการเมือง และให้ดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่เกี่ยวข้องในพรรคพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย และดำเนินการยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ในฐานะผู้รับจ้างไปแล้ว


 


แต่สำหรับกรณีที่กล่าวหาพรรคไทยรักไทย กกต. มีมติให้คณะอนุกรรมการฯ ไปสอบสวนพยานเพิ่มเติมในส่วนที่พาดพิงทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน ซึ่งต่อมา หลังจากนั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้สรุปผลการสอบสวนเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ปรากฏผลสรุปในประเด็นสำคัญว่า


 


".... ข้อเท็จจริงที่ได้จากการกระทำของพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ฟังได้ว่า ได้ร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน และร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลงแข่งขันกับผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละยี่สิบของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น สำหรับพรรคพัฒนาชาติไทยมีนายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิทของพลเอกธรรมรักษ์ฯเป็นตัวแทน ส่วนพรรคแผ่นดินไทยมี พลเอกไตรรงค์ อินทรทัต และพลโทผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ ผู้ใต้บังคับบัญชาของพลเอกธรรมรักษ์ฯ เป็นตัวแทน


 


เห็นว่า พลเอกธรรมรักษ์ฯมีตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วน นายพงศ์ศักดิ์ฯ มีตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค ไทยรักไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถือว่าต่างเป็นผู้บริหารระดับ สูงของพรรคไทยรักไทย เงินที่ให้ในการสนับสนุนดังกล่าวก็เป็นเงินจำนวนมากประกอบกับผลที่ได้รับก็เป็นประโยชน์แก่พรรคไทยรักไทย ดังนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว แต่มีหลักฐานควรเชื่อว่าเป็นการกระทำในฐานะเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทย มีผลผูกพันเสมือนเป็นการกระทำของพรรคไทยรักไทยเอง จากเหตุผลดังได้วินิจฉัยมา คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าสมควรแจ้งข้อกล่าวหาแก่ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไปตามระเบียบ"


 


นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้สรุปการกระทำของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของพลเอกธรรมรักษ์ฯ และนายพงษ์ศักดิ์ฯ มีผลสรุปการสอบสวนว่า


 


".... จึงถือว่าเป็นการกระทำในนามของพรรคไทยรักไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศของพรรคไทยรักไทย โดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและขณะเดียวกันการกระทำดังกล่าว อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน..."


 


ข้อเท็จจริงในรายงานของอนุกรรมการฯ ดังกล่าว ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนทั่วไป


 


มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย บัญญัติว่า


"บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้"


 


วรรคสอง มาตรา 63 บัญญัติว่า "ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว"


 


นอกจากนี้ มาตรา 63 วรรคสาม ยังบัญญัติว่า "ในกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้"


 


พิจารณาเห็นว่า การกระทำของบุคคลและพรรคการเมืองที่ปรากฏในรายงานของอนุกรรมการฯ ดังกล่าว น่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำ "เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ"


 


 "ผู้รู้เห็น" จึงมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการตามกฎหมาย


 


ด้วยเหตุนี้เอง ผมและคณะ ส.ว.จำนวนหนึ่ง มีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับพรรคไทยรักไทย


 


โดยส่วนตัว ผมยังเห็นว่า ควรจะมีการดำเนินการทางอาญากับผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำ "เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" ทั้งขบวนการ ซึ่งยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาอีกด้วย


 


ผมรู้สึกสิ้นหวัง หากจะรอคอยให้ กกต. เป็นผู้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองไทยรักไทย


 


กกต. ชุดปัจจุบัน มีปัญหาขาดความน่าเชื่อถือ ถูกศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองพิพากษาชี้ขาด ถูกสังคมครหาในเรื่องความเป็นกลางและความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ และยังปรากฏว่า กกต.ชุดนี้ เคยกระทำการในทิศทางที่เป็นคุณต่อพรรคไทยรักไทย เช่น การประกาศให้รับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตที่พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ การยอมให้มีการรับสมัครแบบเวียนเทียน รวมไปถึงการรับรองผลของคะแนนแบบบัญชีรายชื่อที่เป็นการละเมิดบทบัญญัติมาตรา 85/8 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ เป็นต้น


 


ยิ่งกว่านั้น พฤติการณ์ของกกต.เองก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว จึงอาจจะมีการใช้อำนาจในทิศทางที่จะปกป้องพรรคไทยรักไทย อันจะส่งผลทำให้ภัยที่จะเกิดขึ้นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้รับการตรวจสอบจากองค์กรที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ   


 


ผม และคณะ ส.ว.ที่ดำเนินการในเรื่องนี้ มิได้มีเจตนาร้ายต่อผู้ใด แต่กระทำไปโดยสำนึกในหน้าที่ ในฐานะพลเมืองที่ต้องปกป้องคุ้มครองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา มีฐานะเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย


 


เพราะมองไม่เห็นช่องทางอื่นใดแล้ว ที่จะเข้ามาช่วยปกป้องคุ้มครองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้


 


จึงได้ขอให้อัยการสูงสุดช่วยดำเนินตรวจสอบข้อเท็จจริงตามสรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงของอนุกรรมการฯ ของ กกต. ที่ระบุกระบวนการว่าจ้างพรรคการเมืองให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักไทย


 


เพื่อให้ข้อปัญหาวิกฤติข้างต้น ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมายบ้านเมือง ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net