Skip to main content
sharethis

ประชาไท—16 พ.ค. 2549 นายวิวัธน์ ชิดเชิดวงศ์ หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 4 สงขลา ในฐานะคณะทำงานกำหนดแนวเขตร่องน้ำและการจัดระเบียบเครื่องมือประมงในทะเลสาบสงขลา คณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการขุดลอกร่องน้ำในทะเลสาบสงขลาและการจัดระเบียบเครื่องมือประมง ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแล้ว โดยกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ได้ของบประมาณปี 2550 จำนวน 25 ล้านบาท เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการขุดลอก สถานที่ทิ้งตะกอนดิน รวมทั้งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยแยกออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การขุดลอกร่องน้ำในทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท และส่วนที่ 2 การขุดลอกร่องน้ำรอบเกาะยอ ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท


 


"ตอนนี้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กำลังจัดทำข้อตกลง (Term of Reference : TOR) เพื่อจัดจ้าง บริษัทเอกชนให้ศึกษาโครงการนี้อยู่ โดยกำหนดให้นำข้อเสนอของชาวบ้าน ที่ได้มาจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเรื่องการจัดระเบียบเครื่องมือประมง 37 เวที มาประกอบการพิจารณาด้วย" นายวิวัธน์ กล่าว


 


นายวิวัธน์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับแนวขุดลอกร่องน้ำในทะเลสาบสงขลาทั้ง 2 ส่วน มี 3 แนว แนวที่ 1 ตั้งแต่ปากรอ เลียบชายฝั่งด้านตะวันออก ไปจนถึงบริเวณท่าเรือประมงสงขลา แนวที่ 2 ตั้งแต่ปากรอ เลียบชายฝั่งด้านตะวันตก ไปบรรจบกับแนวที่ 1 บริเวณท่าเรือประมงสงขลา และแนวที่ 3 รอบเกาะยอ ทั้ง 3 แนว กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้ศึกษาเบื้องต้นไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2536 ในสมัยที่ยังเป็นกรมเจ้าท่า


 


นายวิวัธน์ กล่าวว่า การขุดลอกทะเลสาบสงขลาไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2535 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 22 มกราคม 2539 ไม่ครอบคุลมถึงการขุดลอกร่องน้ำ แต่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงระบุให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลาครั้งนี้ด้วย


 


นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ทะเลสาบสงขลา ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หรือแรมซาร์ไซด์ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 กำหนดว่า การก่อสร้างในพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หรือระดับชาติ จะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย โดยอาจเป็นผลการศึกษาเบื้องต้น ไม่ใช่ในรูปของ EIA ก็ได้


 


ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 สิงหาคม 2543 2543 ได้มีมติเรื่องทะเบียนรายนามพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ โดยประเด็นมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติ ข้อ 6) กำหนดให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการพัฒนาใดๆ ที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติ


 


 


* ดูประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ทั้ง 3 ฉบับ ได้ที่...


http://www.onep.go.th/pra/pra2535_law.asp


 


** ดูมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 สิงหาคม 2543 ได้ที่...


http://www.oepp.go.th/wetlandsthai/%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net