Skip to main content
sharethis




หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง "ล่า ท้า ผี" และ "หมากเตะ โลกตะลึง" เปิดตัว ก็สร้างความไม่พึงพอใจในเนื้อหาจากประเทศเพื่อนบ้านทันที



 "ล่า ท้า ผี" นั้นเป็นเรื่องราวที่ต้องใช้คำว่า "เล่นกับผี" ของชาวกัมพูชาเลยทีเดียว ซึ่งเป็นคำที่แรงเนื่องจากเป็นการทำให้คนกัมพูชาต้องหวนกลับไปนึกถึงโศกนากกรรมใน "โตนสะเลง" สถานที่ทรมานนักโทษของเขมรแดงยุคเรืองอำนาจ ทำให้ชาวกัมพูชานับหมื่นแสนจบชีวิตไปกับการทารุณที่นั่น


 


ส่วน "หมากเตะ โลกตะลึง" ก็โดนการประท้วงจากประเทศลาวด้วยข้อหาว่า "ดูหมิ่นคนลาว" จนทำให้หนังต้องเลื่อนวันฉายไปในที่สุด


 


ทำไมจึงมีปรากฏการณ์แบบนี้และปรากฏการณ์แบบนี้จะนำไปสู่อะไร ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาโครงการเอเชียตะวันออกศึกษา บอกเล่าผ่านรายการเช้าทันโลก  คลื่น เอฟเอ็ม 96.5 วันที่ 15 พฤษภาคม โดยมี กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ดำเนินรายการ


 


O O O


 


มีความเห็นอย่างไรกับเหตุการณ์ที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มแสดงความไม่พอใจภาพยนตร์ไทยในช่วง 2-3 วันนี้


เกี่ยวกับหนังทั้งล่าท้าผี และหมากเตะฯ ก็คงบอกว่ายังไม่ได้ดูหนังจริงๆ ดูแต่ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้  เรื่องหมากเตะ ดูน่าเป็นห่วงมากๆ ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือไทยกับลาว


 


เหตุการณ์อย่างนี้มีขึ้นมาตลอด เรามีความอ่อนไหวน้อยเกินไปกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่


ใช้คำนั้นก็ถูก ที่บอกว่าคนไทยโดยเฉพาะคนในกรุงเทพและที่มีการศึกษา มีความอ่อนไหวน้อย คือเซนสิทีฟไม่พอในการเข้าไปเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีความละเอียดอ่อน เรามองแบบคนที่ประสบความสำเร็จ มองแบบคนที่มีฐานะดี แล้วไปมองคนที่เรารู้สึกว่าต่ำกว่า พัฒนาไม่เท่าเรา เจริญไม่เท่าเรา อันนี้เป็นเรื่องที่ฝังลึกมากเลยในคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยในกรุงเทพฯ คนไทยที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป หรือบางทีคือคนไทยที่มีการศึกษาค่อนข้างสูงด้วยซ้ำ


 


เหตุการณ์เผาสถานทูตไทยที่กรุงพนมเปญ ไม่คิดว่าทำให้เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นั้น เข้าใจว่าส่วนใหญ่คงลืมไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมา ก็คิดว่ายังไม่เห็นผลอะไรทั้งสิ้น


 


ที่บอกว่าคนชั้นกลางโดยเฉพาะคนมีการศึกษาจะมีความรู้สึกแบบนี้ฝังลึก ทั้งๆ ที่ความจริงมันน่าจะตรงกันข้าม


อันนั้นเป็นความเข้าใจผิดๆ ของเราอีก ว่าการศึกษาน่าจะทำให้คนรู้มากขึ้น ฉลาดมากขึ้น เข้าใจอะไรมากขึ้น แต่ก็ไม่เสมอไป


 


เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก ส.ส.หรือผู้แทนราษฎรที่จบปริญญาตรีมันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่ามันประกันอะไรไม่ได้ มันต้องมีอย่างอื่นมาประกันต่อ เผลอๆ อาจจะฉลาดมากขึ้นในแง่ของการที่จะโกงกินบ้านเมืองอะไรทำนองนี้


 


ผมมีตัวอย่างซึ่งน่าตกใจมากเลยนะ คือเมื่อไม่นานนี้ที่ธรรมศาสตร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคณะศิลปศาสตร์ ออกข้อสอบในการรับตรงนักศึกษาในรุ่นนี้ มีคำถามหนึ่งถามว่า เพลงที่ขึ้นต้นด้วยโอ้ดวงจำปาซึ่งเป็นเพลงที่ค่อนข้างแพร่หลาย ดวงจำปาคือดอกอะไร แล้วเป็นดอกไม้ประจำชาติของชาติไหน


 


มีคนมาสมัครเข้าสอบพันกว่าคน เชื่อหรือไม่ว่า ไม่มีนักเรียนคนใดตอบถูกเลยแม้แต่คนเดียว มันแปลว่านักเรียนของเราไม่มีความรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้าน ไม่รู้ว่าดอกจำปานี้คือดอกลั่นทม ไม่รู้ว่าดอกลั่นทมคือสัญลักษณ์ดอกไม้ประจำชาติของชาติลาว ก็อยู่ติดกันแค่นี้เอง อันนี้คือสิ่งที่คิดว่ามันน่าห่วงมาก ความไม่รู้ไม่เข้าใจเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนมีสูงมาก มันน่าห่วงในแง่การศึกษาของเรา


 


เป็นเพราะสาเหตุอะไร ในขณะที่บางคนรู้เกี่ยวกับยุโรป อเมริกาทุกเรื่อง แต่กับเพื่อนบ้านคือดูถูกด้วยซ้ำไป


ส่วนหนึ่งต้องโทษการศึกษา เพราะการศึกษาในระบบก็คือในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย หรือโทษพวกเรากันเอง อย่างตัวผมเองก็มีความรู้สึกว่า เมื่อมองกลับไปในแง่การเรียนการสอนอะไรก็ตาม เรื่องที่เกี่ยวกับเพื่อนบ้านหรืออาเซียนมันมีน้อยมาก ผมเข้าใจว่านักศึกษาจะตอบได้ว่า น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาคืออะไร คือไนแองการ่า แต่ไม่สามารถที่จะตอบได้ว่า น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียของเราคือน้ำตกอะไร ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง


 


เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาเรื่องระบบการเรียนการสอนของเราอ่อนในแง่ของประเทศเพื่อนบ้าน อีกด้านมันขึ้นกับวัฒนธรรมชนชั้นกลางไทยที่พึงพอใจกับตลกคาเฟ่ จะเห็นว่าตลกคาเฟ่ใช้ความเป็นอีสานมาเป็นประเด็นนำในการตลก มีความสนุกแล้วก็บันเทิงกับความไม่เข้าใจของคนอีสาน ความเชย ความเด๋อด๋า อะไรแบบนี้


 


แล้วอันนี้มันโยงไปถึงเรื่องเพื่อนบ้านในลาวด้วย แล้วมันเกี่ยวพันกับความรู้สึกในแง่ของปมเขื่อง เราภูมิใจในความสำเร็จระดับหนึ่งของบ้านเมืองของเราในแง่ของความเจริญทางวัตถุ ถนนหนทาง รถยนต์ หรือเรื่องของเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าไปกว่าลาว เขมร พม่า กลายไปเป็นปมเขื่อง แม้มีคนจำนวนหนึ่งพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าใจเพื่อนบ้าน แต่ว่าอีกจำนวนหนึ่งอาจจะไม่คิดอะไร มันก็กลายเป็นข่าวที่เราได้ยินกันเช่น นักท่องเที่ยวไทยไปนครวัด ไปโปรยทานด้วยทอฟฟี่ อีกฝ่ายหนึ่งเขาตีความว่าเป็นการดูถูก มันเป็นเรื่องของชาตินิยม  เขาไม่ได้มองว่าเป็นการทำบุญทำทาน ปัญหานี้ต้องใช้คำว่าละเอียดอ่อนซับซ้อน ถ้าไม่คิดอาจจะมองไม่เห็น


 


จากการเดินทางไปหลายประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงได้รับความรู้สึกที่เพื่อนบ้านมองเราหรือไม่


มันแล้วแต่ กรณีลาวและกัมพูชาเป็นกรณีพิเศษและเฉพาะเลย เพราะในแง่ของวัฒนธรรมไทย เรามองลาวกับเขมรเป็นลูกไล่ คือคนที่ต่ำว่า แต่เราจะไม่ค่อยกล้าทำอย่างนี้กับพม่า มาเลเซีย เพราะมาเลเซียเขาประสบความสำเร็จมากกว่าในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ มาตรฐานความเป็นอยู่ของเขาสูงกว่าของเรา


 


แต่กรณีที่น่าเป็นห่วงก็คือกรณีลาวกับกัมพูชา สิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นทั้งโชคดีและโชคร้ายในเวลาเดียวกันคือคนลาวกับคนไทยเข้าใจภาษากันและกันได้ง่าย ไม่ต้องมีล่าม เพราะฉะนั้นก็เข้าใจได้ง่ายถ้าเข้าใจผิดเพราะฟังรู้เรื่อง เข้าใจถูกก็เข้าใจได้ง่าย อันนี้คือสิ่งที่ซับซ้อน เปราะบาง ละเอียดอ่อน ทะเลาะกันได้ง่ายเพราะรู้ว่าใครพูดเรื่องอะไร


 


คำถามที่ว่าเดินทางบ่อยก็เดินทางบ่อยในแถบนี้หรือในกลุ่มอาเซียน เพราะหนึ่งสอนหนังสือในวิชานี้โดยตรง สองติดต่อสัมพันธ์กับครูบาอาจารย์ แลกเปลี่ยนนักศึกษากับหลายๆ ประเทศในดินแดนแถบนี้ ต้องบอกว่าเวลาไปหลวงพระบาง ไปเวียงจันทร์ ค่อนข้างอึดอัดในบางขณะ ไปเสียมเรียบ ไปนครวัด นครธมก็อึดอัดเพราะเรารู้ดีว่าคนไทยถูกมองคล้ายๆ เป็นญี่ปุ่นน้อย คือประสบความสำเร็จ มีเฟอร์นิเจอร์เต็มตัว มีทั้งกล้อง ทั้งแว่น มือถือ คือมันดูเป็นคนที่มีฐานะและทำตัวค่อนข้างจะกร่าง เพราะฉะนั้นความหมั่นไส้จะมีได้ง่าย


 


แต่เวลาผมไปเวียดนามไม่รู้สึก เพราะความสัมพันธ์ของไทยกับเวียดนามมันห่างกัน ความสัมพันธ์กับลาวหรือกัมพูชามันคล้ายๆ กับคนที่มีฐานะไม่เท่าเทียมกัน


 


การที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมไม่เท่าเทียมกัน มันสร้างความเข้าใจผิดง่ายมากๆ แต่ถ้าไปพม่าก็จะเป็นอีกแบบ เพราะว่าในแง่ประวัติศาสตร์ เราถูกสอนมาว่า พม่าไม่ใช่ลูกไล่ของเรา พม่าเป็นคนมาไล่เราด้วยซ้ำ เวลารบกันเป็นคนที่ชนะตลอดเวลา แม้ขณะนี้เวลาปะทะกันมันก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนพม่ากับไทยจะไม่ค่อยมีปัญหาอันนั้นเท่าไร ยกเว้นปัญหาการเมืองที่ถูกนักการเมืองชูขึ้นมา


 


แต่กรณีของลาวกับกัมพูชาเป็นปัญหาลงไปลึกมากในแง่ของวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นถ้าถูกการเมืองกระพืออย่างกรณีเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา ก็เป็นเพราะการเมืองกัมพูชามีหลายพรรค เวลาสู้กันเขาจะเอาจุดอ่อนของอีกพรรคมา พรรคไหนดูเหมือนโปรไทยมากก็ตีมัน ปัญหาการเมืองภายในกัมพูชาก็ทำให้ส่งผลมาสู่การเผาสถานทูตและการเมืองระหว่างประเทศด้วย


 


กรณีลาวยังไม่มีพรรคหลายพรรค เรื่องอาจจะไม่ซับซ้อนเท่ากับกัมพูชา อาจจะแก้ไม่ยากเท่ากับกัมพูชาแต่ผมคิดว่าในอนาคตลาวก็ต้องมีพรรคการเมืองหลายพรรค และตอนนั้นถ้าเราไม่สามารถจะสร้างความเข้าใจกันได้จะเป็นปัญหาที่อาจจะใหญ่กว่ากรณีที่เผาสถานทูตที่กัมพูชาด้วย


 


แล้วคนไทยควรได้เรียนรู้อะไรกับกรณีเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา หรือกรณีที่เพื่อนบ้านเริ่มแสดงความไม่พอใจมากๆ


ถ้ามองโดยรวมมาถึง ณ จุดนี้ ผมรู้สึกว่าเรายังไม่ได้เรียนอะไร เพราะมันออกมาให้เห็นว่าไม่ได้คิด ก็มีหนังแบบนี้ ตลกแบบนี้ หรือความบันเทิงแบบนี้ออกมา แล้วคณะกรรมการสมานฉันท์หรือปรองดองอะไรที่ตั้งขึ้นมาระหว่างกัมพูชากับไทยก็ไม่ค่อยเห็นบทบาทเท่าไร แล้วก็ไปเล่นเรื่องเก่าๆ อย่างเช่นเรื่องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม นาฏศิลป์ บันเทิง


 


แต่คิดว่าถ้ามองการแก้ไขปัญหาระยะสั้น คนไทยที่ไปติดต่อสัมพันธ์ลาวกับกัมพูชา หรือไปเที่ยวหลวงพระบาง นครวัด อาจจะต้องมีคู่มือประเภท Do and Don"t ถือไป คิดว่าต้องมีอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด


 


ผมว่ามันง่ายๆ อย่างเช่นการเล่าติดตลกว่า หนังเรื่องไททานิก เมื่อไปฉายเมืองลาวแล้วตั้งชื่อว่า "ชู้รักเรือล่ม" ก็ตลกหัวเราะกันเพราะคิดว่ามันเชยดี ในขณะที่เราใช้คำว่าไททานิกเฉยๆ อันนี้ต้องไม่ทำ


 


บางคนก็บอกว่า เวลาไปถึงลาวเป็นอย่างนั้นจริง แต่บางอย่างก็พูดไม่ได้ ถ้าอยากรักษาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ความละเอียดอ่อน ความเปราะบางมันสูงมากๆ ต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้นและยาว


 


ในระยะสั้นก็อาจระดมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาทำความเข้าใจว่าอะไรทำได้ ไม่ได้ เราคิดว่าฝรั่งงี่เง่าไม่รู้เรื่องอะไร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็เลยทำ Do and Don"t  ขึ้น เข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องเป็นหน้าที่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม และองค์กรซึ่งเป็นกึ่งภาครัฐภาคเอกชนต้องทำ ระยะยาวก็ต้องทำเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งในระดับโรงเรียนและในระดับมหาวิทยาลัย


 


ขณะที่ในเชิงวัฒนธรรมก็มีการดูถูกแบบนี้ แต่ในเชิงเศรษฐกิจ เชิงของการใช้ทรัพยากรของประเทศเพื่อนบ้านก็เห็นว่ามันรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ปัญหานี้จะเติมเชื้อไฟด้วยหรือไม่


ก็มีส่วนในแง่ของฐานะทางเศรษฐกิจของเราซึ่งพัฒนากว่า มีความได้เปรียบกว่า มีความรู้กว่า เพราะฉะนั้นคนไทยจำนวนหนึ่งก็มีชื่อเสียงเสียในแง่ของการทำธุรกิจแบบตีหัวแล้ววิ่งกลับเข้าบ้าน เข้าไปเอารัดเอาเปรียบเขาในเรื่องของทรัพยากร อย่างในลาวในกัมพูชาก็ไปสร้างความบาดหมางแบบนี้เอาไว้ลึกๆ


 


เพื่อนบ้านจำนวนไม่น้อยอาจจะมองไทยว่ามีสิ่งที่แสดงความเป็นเจ้า อะไรที่ไปจากเมืองไทยด้านหนึ่งประสบความสำเร็จ ด้านหนึ่งก็สร้างความบาดหมางได้เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งมามีอำนาจมากกว่าเรา เราก็เคยต่อต้านญี่ปุ่น เราก็เคยต่อต้านฝรั่ง ก็เป็นทำนองเดียวกันแต่อาจจะรุนแรงกว่า เพราะมันอยู่ใกล้กันมาก


 


รวมทั้งความช่วยเหลือที่เรามีในแง่ของสังคมสงเคราะห์ ไปช่วยโน่นนี่ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกันต้องระวังมากๆ เลย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net