Skip to main content
sharethis



ครอบครัวยืนชะเง้อมองหน้าแดนห้ามเข้า


 


เกือบ 3 ปี แล้วที่ลูกๆของ "อับดุลอาชิ หะยีเจ๊ะมิง" และ "มูฮำหมัดยาลาลูดีน มะดิง" ไม่ได้เห็นหน้าพ่อ เนื่องจากถูกทางรัฐบาลประเทศกัมพูชาระบุว่าพัวพันกับคดี "ก่อการร้ายสากล" และถูกจับกุมในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2546


 


วันที่ 28 ธันวาคม ปีเดียวกัน ศาลกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พิจารณาให้ อับดุลอาชิ หะยีเจ๊ะมิง และมูฮำหมัดยาลาลูดิน มะดิง ผู้เป็นพ่อมีความผิดและจำคุกตลอดชีวิตภายใต้มาตรา 3 ของกฎหมายว่าด้วยการลงโทษการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย ฉบับวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1922 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าแก่ที่ใช้จัดการกับการดำเนินการของกลุ่มเขมรแดง ไม่ใช่กฎหมายที่มีเจตนาตราไว้เพื่อจัดการกับการก่อการร้ายสากล


 


อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองคนยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และได้ยื่นอุทธรณ์ทันทีในเดือนมกราคม พ.ศ.2547 แต่ถึงตอนนี้ พ.ศ.2549 หรือสองปีล่วงมาแล้ว ศาลอุทธรณ์ประเทศกัมพูชาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยิบยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาและเหมือนกับว่าจะขังลืมจำเลยทั้งสองคนนี้ไปชั่วชีวิต แบบไม่ยอมให้ "คดีสิ้นสุด" ในขณะที่รัฐบาลไทยก็แสนจะเฉยเมย


 


0 0 0


 


วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2549  ครอบครัวของผู้ต้องหาทั้งสองก็มีโอกาสได้เห็นหน้ากันอีกครั้งภายใต้ "โครงการเยี่ยม 2 ผู้ต้องหาชาวไทยมุสลิม" ซึ่งจัดโดยฟอรั่มเอเชีย เพื่อไปให้กำลังใจกับครอบครัวทั้งสอง โดยพาคุณแม่และลูกๆไปเยี่ยมผู้ถูกคุมขังที่เรือนจำ ในประเทศกัมพูชา


 


ระหว่างการเดินทาง ทั้งสองครอบครัวออกอาการตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะอยากพบอับดุลอาซิด และมูฮำหมัดยาลาลูดีนโดยเร็ว


 


เมื่อไปถึงกรุงพนมเปญ ทั้งสองครอบครัวพยายามรีบจัดการธุระในช่วงเช้าให้เสร็จและเฝ้ารออย่างกระวนกระวาย พอถึงเวลาที่จะเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาได้ก็ออกไปทันที ซึ่งการเข้าเยี่ยมนั้นได้รับการประสานงานและความอนุเคราะห์จากสถานทูตไทยประจำประเทศกัมพูชาเป็นอย่างดี


 


เวลาประมาณเกือบบ่ายสามโมงก็ถึงสถานที่คุมขังในกรุงพนมเปญ เจ้าหน้าที่เรือนจำได้นำครอบครัวไปนั่งรอที่ม้านั่งหินอ่อนใต้ต้นหูกวางนอกแดนห้ามเข้า จากนั้นก็ไปพาสามีมาพบ


 


พริบตาแรกที่เห็นหน้ากัน น้ำตาหยดแรกก็ซึมออกจากดวงตาของ "อาแอเสาะ" ภรรยาของอับดุลอาชิ เธอชะเง้อมองสามีตั้งแต่ก้าวเท้าแรกออกมาจากห้องขังในแดนห้ามเข้า เมื่ออับดุลราชิเดินมาถึง ก็สวมกอดภรรยาอย่างทนุถนอม


 


แม่เดินมาถึงเป็นคนที่สอง เขาก็สวมกอดผู้เป็นแม่และลูกชายอีกสองคน ส่วนลูกคนสุดท้องนั้น อาแอเสาะ ฝากให้อาดูแล ที่ประเทศไทย จากนั้นอับดุลอาซิดก็พาครอบครัวไปนั่งพูดคุยที่ม้านั่งหินอ่อนใต้ต้นหูกวาง


 


ไม่นานนัก มูฮำหมัดยาลาลูดินก็ตามออกมา เขาพาครอบครัวแยกไปนั่งที่โต๊ะอีกตัวหนึ่ง เพื่อพูดคุยกับปาริดะผู้เป็นภรรยา และลูกๆทั้ง 6 คน


 


0 0 0


 


ทั้งหมดพูดคุยกันด้วยภาษามลายูท้องถิ่นภาคใต้ อาแอเสาะ เล่าให้ฟังเป็นภาษาไทยภาคกลางภายหลังว่า ครอบครัวเคยมาอยู่กัมพูชา 3 ปี สามีเป็นครูสอนที่โรงเรียนอุมอัลกุร (Um-Al-Qura) ก่อนที่สามีจะโดนจับในวันอาทิตย์ วันเสาร์เจ้าหน้าที่มาจับผู้อำนวยการโรงเรียนชาวอียิปต์ไปก่อน แต่ครอบครัวไม่รู้เรื่องอะไร เพราะถ้ารู้เรื่องจริงคงหนีไปตั้งแต่วันที่จับชาวอิยิปต์แล้ว


 


"ครั้งนี้ได้พาคุณแม่ของอับดุลอาซิดมาด้วย เขาก็เห็นแล้วว่าเราพยายามแค่ไหน เพราะเมื่อปีก่อนๆ ที่มาเยี่ยม แม่อยู่ที่บ้านก็บอกว่าทำไมไม่พาเขากลับมาด้วย ท่านคิดว่าง่าย แต่พอท่านได้มาเห็นการสู้ของเราท่านบอกว่าภูมิใจในสะใภ้คนนี้ เห็นแล้วว่าเราเหนื่อย ท่านเห็นว่าเรายังเป็นสะใภ้คนเดิม มีคนถามเรื่องแต่งงานใหม่เหมือนกัน แต่เราคิดว่าสามีของเรายังอยู่ ยังไม่ตาย ถึงตายก็ยังรัก ยังเป็นสามีของเราเหมือนเดิม" อาแอเสาะบรรยายความรู้สึกของเธอให้ฟัง


 


ปกติสามีเป็นโรคหอบ และเคยผ่าตัดทอมซิน เวลาหนาวอาการก็จะทรุดทำให้เธอเป็นห่วงมากเพราะสามีต้องอยู่ในต่างแดนโดยที่ไม่มีใครรู้เห็นและกล้าเข้ามาเยี่ยม เพราะกลัวว่าอาจถูกจัดการไปด้วย


 


ส่วนอาแอเสาะเอง การที่จะมาจากจังหวัดนราธิวาสเพื่อมาเยี่ยมแต่ละครั้งนั้นเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะฐานะทางครอบครัวไม่ค่อยดีนัก ต้องเรี่ยไรเงินและขอความอนุเคราะห์จากคนอื่นจึงจะมาได้


 


"ก่อนหน้านี้เคยมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ.2547 ขอความอนุเคราะห์เงินจากผู้มีเงินมา พาลูกสาวคนเล็กสุดที่ครั้งนี้ไม่ได้พามาด้วยมา คนหนึ่งที่บริจาคคือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ไปหาที่บ้าน ท่านก็ให้เงินมา 20,000 บาท เลยนั่งรถยนต์มาพร้อมกับครอบครัวของปาริดะ โดยเข้าพนมเปญจากด่านปอยเปต


 


"ส่วนครั้งที่สองนั้นมาเมื่อ พ.ศ.2548 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นผู้พามา ส่วนครั้งต่อไปก็ไม่รู้ว่าจะได้มาพบกับสามีอีกเมื่อไหร่ เพราะครอบครัวไม่มีเงิน"


 


0 0 0


 


สำหรับ "ปาริดะ" เธอบอกว่า "รู้สึกดีใจที่ได้มาเยี่ยมจนไม่รู้ว่าจะขอบคุณอย่างไร ทั้งหลายฝ่ายที่พามาและหลายคนที่พยายามช่วยเหลือ ต่อไปจะสำเร็จหรือไม่คงขึ้นอยู่กับพระเจ้าแล้ว การมาครั้งนี้ก็ได้เจอกับทางราชการฝ่ายกัมพูชา เจ้าหน้าที่ในเรือนจำเขาก็สงสารเรา เพื่อนๆ ในเรือนจำก็บอกว่า สองคนนี้ดี คุณดาราฤทธิ์ที่เป็นล่ามจากสถานทูตไทยก็ช่วยเจรจากับทางหัวหน้าเรือนจำจนได้เข้าพบถึงสามวันนอกห้องขัง และทางเรือนจำก็อนุญาตให้ทานอาหารร่วมกันกับสามีในวันสุดท้ายก่อนเราจะกลับ


 


"สามีไม่รู้ว่าเราจะมานะ แต่เขาบอกว่าได้กลิ่น คงจะมาแน่ๆ ได้กลิ่นลูกๆ แล้วเราก็มาหาเขาจริงๆ " น้ำเสียงฟาริดะห์ดูมีความสุขหลังจากที่ไม่ได้พบกันตั้งแต่ปีก่อน


 


ปาริดะ มีลูกทั้งหมด 6 คน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เธอพาลูกทั้ง 6 คนมาเยี่ยมคุณพ่อ ตอนที่โดนจับกุมลูกสาวคนสุดท้องอายุเพียง 11 เดือน ยังไม่รู้จักพ่อเลยด้วยซ้ำ


 


ปาริดะบอกว่า มูฮำหมัดยาลาลูดีนผอมลง เพราะคิดถึงลูกจนนอนไม่ค่อยหลับ คราวนี้พอเห็นหน้ากันเขาก็ร้องไห้ ทั้งๆ ที่ปกติไม่ใช่คนร้องไห้ง่ายๆ ลูกบางคนก็บอกว่า จำพ่อไม่ได้ เพราะพ่อเปลี่ยนไปมาก พ่อเคยอ้วนกว่านี้และไว้เครายาวแต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว


 


มูฮำหมัดยาลาลูดีน ยังมีอาการที่เป็นเอฟเฟ็กของโรคเบาหวาน เวลาโดนแมลงกัดมากๆ จะมีผื่นขึ้นและคันมาก เธอจึงเอาน้ำมันที่ดูคล้ายๆ ยาหม่อง แต่เป็นตัวยาแบบที่คนมุสลิมใช้มาให้ทาหลายขวด นอกจากนี้เขายังมีอาการปวดหัวเนื่องจากอากาศในห้องขังที่ร้อนจัดจนขึ้นหัว และด้วยความที่เป็นคนคิดมากในเรื่องศาสนาเพราะแม้ยังอยู่ในเรือนจำเขายังฝันถึงการเรียนต่อปริญญาโทและการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม การที่มากัมพูชานี่ก็เนื่องจากเห็นว่ากัมพูชาไม่มีคนสอนศาสนา เขาสอบได้และมาพร้อมกับเพื่อน 4 คน ซึ่งอีก 3 คนตอนนี้กลับไปที่จังหวัดยะลาแล้ว


 


บางทีมูฮำหมัดยาลาลูดีนและอับดุลราซิดก็กินอะไรไม่ได้เพราะเป็นมุสลิม แต่หมูในกัมพูชามีราคาถูกเขาจึงทำเป็นอาหารให้ทาน เขาก็ขอโทษกับอัลเลาะห์แล้วนำน้ำหมูมาซดกิน เขาไม่ยอมกินเนื้อหมู เรื่องนี้พอมีเงินช่วยเหลือจากทางสถานทูตบ้าง และโชคดีที่เจ้าหน้าที่กัมพูชาอนุญาตให้ทำอาหารเองได้ แต่บางทีเงินก็ไม่พอ สถานทูตเองก็ช่วยเหลือได้อย่างจำกัด          


 


"ห้องที่สามีอยู่มี 13 คน เวลากินอะไรก็ต้องแบ่งกัน วันไหนผิด เขาจะบอกอัลเลาะห์เสมอ เพราะเขาเชื่อมั่น แม้อยู่ในคุก เขาก็คิดอยู่เสมอว่า อยากช่วยคน อยากทำงานศาสนา ตอนไปเยี่ยมตลอด 3 วันตำรวจที่เคยจับมาดูตลอด สามีชี้ให้ดู เห็นขับรถเชอโรกีมา เขาบอกว่าทุกครั้งที่มาเยี่ยมก็จะถูกจับตาแบบนี้


 


"ที่มาในครั้งนี้ก็อยากให้รัฐบาลกัมพูชาช่วยให้ความอนุเคราะห์ด้วย เพราะในประเทศไทยได้ทำทุกวิธี เคยแม้แต่ร้องเรียนไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว ทางรัฐบาลก็บอกว่าต้องแล้วแต่ทางประเทศกัมพูชาเท่านั้น


 


"สิ่งที่จะทำต่อไป คือยื่นหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชา เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ปล่อยตัว แต่คงต้องให้ทนายชาวกัมพูชาแปลความให้"


 


สำหรับความเป็นอยู่ของ ปาริดะ ในตอนนี้ เธอบอกว่า ทำขนมปัง กล้วยยำแล้วก็ข้าวเกรียบเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการสอนหนังสือ แต่เดี๋ยวนี้ก็ขายไม่ค่อยดีเพราะมีคนขายเยอะ บางทีได้เพียง 50 บาทต่อวันเท่านั้น


 


"สอนลูกว่าให้ประหยัด เราไม่ต้องกินให้เกินไป เพราะเราไม่มีเงิน แล้วก็ต้องส่งเงินไปช่วยพ่อด้วยเดือนละ 2000 บาท บางทีลูกก็บ่นว่า กินแบบเดิมทุกๆ วันเบื่อเหมือนกัน ก็บอกกับลูกว่า คนยากจนกว่าเราก็มีนะ เราโชคดีแล้วได้กินแค่นี้ก็ควรพอใจแล้ว พระเจ้าช่วยเราแล้ว ลูกก็ไม่ค่อยงอแงเท่าไร ลำบากหน่อยก็คนสุดท้องที่อายุเพียง 4 ขวบ"


 


รายได้จากการสอนศาสนาที่โรงเรียนสอนศาสนาจังหวัดยะลาตกเดือนละประมาณ 5,000 บาท ค่าเล่าเรียนคนที่ 1 และ 2 เบิกได้ ส่วนและคนที่ 3 และคนเล็กโรงเรียนให้ผ่อนค่าเทอม ค่าหนังสือก็ผ่อนกับทางโรงเรียนเช่นกัน บางทีโรงเรียนก็บริจาคเสื้อมาให้ คือคนรอบข้างก็ช่วยดูแลทำให้มีกำลังใจ


 


ปาริดะบอกว่า ความจริงสามีกำลังจะกลับมาอยู่ที่จังหวัดยะลาแล้ว เพราะแม้ที่กัมพูชาจะมีรายได้สูง เงินเดือนประมาณหมื่นกว่าบาท แต่เวลาคิดถึงลูกก็กลับบ้านเงินก็หมดอยู่ดี เลยบอกสามีไปว่าไม่ต้องไปอยู่แล้ว อยู่ก็ไม่ได้เงิน


 


"มาอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 9 เดือนก็โดนจับ ก่อนโดนจับเจอกันช่วงสงกรานต์ เขานำเงินมาให้ที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นไปกับลูกคนเล็ก เขาว่าเดือน 7 นี้คงเลิกสอนที่กัมพูชา เพราะคิดถึงลูก ตื่นนอนแล้วเห็นลูกติดตา แต่พอกลับไปอีกทีก็โดนจับในเดือน 5 ตอนนั้นดูทีวีเห็นข่าวพร้อมกับลูกๆ ที่บ้าน ลูกบอกไม่อยากกินข้าวแล้ว ไม่รู้พ่อจะกินข้าวได้หรือเปล่า ทำไมพ่อโดนจับ จึงดึงลูกทั้งหกคนมาอดหมดเลย


 


"จากนั้นก็มายื่นหนังสือที่รัฐสภา กรุงเทพ พร้อมกับอาแอเสาะ วันนั้นเองนายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ ก็โดนจับ นักข่าวก็มาถามว่า รู้จักไหมโดนจับคดีเจไอเหมือนกัน เราก็ตอบว่ารู้จัก แต่เคยได้ยินว่าเป็นหมอแค่นั้นเอง เจอคำถามแบบนี้ก็ตกใจ


 


"พอแฟนโดนจับไปแล้ว 1 ปี จึงได้ไปเยี่ยมครั้งแรก ตอนนั้นยังไม่ถูกตัดสิน ก่อนหน้านี้สามีไม่ได้อยู่ที่เรือนจำในพนมเปญนะ เขาบอกว่า 25 วันแรกที่ถูกจับ โดนเอาไปอยู่ในเรือนจำมืด ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เขาให้กะละมังหนึ่งใบไว้อาบน้ำกินข้าว ก็ต้องคลำเอา พอสถานทูตช่วยเหลือจึงได้ย้ายมาอยู่ที่สบายขึ้น"


 


0 0 0


 


ฟิระดาวส์  มะดิง อายุ 12 ปี เป็นพี่สาวคนโตที่สุดสำหรับบรรดาลูกๆ ในครอบครัวที่ถูกจับในคดีเจไอ และเธอคนนี้เคยเขียนจดหมายไปหานายกรัฐมนตรีด้วย เธอเล่าเนื้อความในจดหมายให้พังว่า "ขอให้ท่านนายกฯช่วยคุณพ่อกลับมาเร็วๆ คุณแม่อยู่บ้านดูแลน้องหลายคนด้วยตัวคนเดียว มีความลำบาก จึงอยากให้ท่านนายกฯช่วย"


 


 แต่ถึงตอนนี้ท่านนายกฯก็ไม่ได้ตอบอะไรกลับมาและเธอเองก็อยากได้ยินเสียงของท่านนายกฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่เธอคิดว่าน่าจะช่วยพ่อของเธอออกมาได้


 


เมื่อถามว่า ฟิระดาวส์ คุยอะไรกับคุณพ่อตอนไปเยี่ยมบ้าง เธอว่าคุณพ่อบอกให้ขยันเรียนและให้ช่วยคุณแม่ดูแลน้องๆ  พ่ออยากให้เก่งอังกฤษและอยากให้เป็นพยาบาล


 


"ถามคุณพ่อว่าสบายดีหรือไม่ ท่านว่าสบายดี หนูไม่เคยจากพ่อเลย" ฟิรดาวส์นั่งร้องไห้หลายครั้งหลังจากกลับจากที่คุมขัง เธอบอกว่าสงสารพ่อ กลัวพ่อลำบาก ฟิระดาวส์สนิทกับพ่อมาก ตลอดเวลา3 ปีที่ห่างกันนี้ เธอเขียนจดหมายไปเล่าเรื่องต่างๆให้พ่อฟังเสมอ เช่น เรียนชั้นไหน หรือทำอะไรอยู่ ส่วนพ่อเขียนตอบกลับมาว่า "ให้เรียนให้เก่ง เดี๋ยวพ่อจะได้กลับมาแล้ว"


 


0 0 0


 


วันที่ 3 พฤษภาคม หลังจากเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาครั้งที่ 2   ในช่วงเช้า ทั้งสองครอบครัวมีโอกาสได้เข้าพบกับ นายปิยวัชร นิยมฤกษ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ภายหลังขาดเสาหลักของครอบครัว รวมทั้งปัญหาของสามีภายในเรือนจำหลังจากการเข้าเยี่ยม โดยเฉพาะในเรื่องอาหารที่มีหมูและความกังวลในความเป็นอยู่ในช่วงถือศีลอด เดือนรอมฎอน


 


หลังการพูดคุยและร่วมรับประทานอาหารที่ทางสถานทูตเป็นเจ้าภาพเลี้ยงครอบครัวและคณะที่เดินทางไปด้วย ท่านทูตก็รับปากว่า จะติดต่อขอสำนวนคดีจากศาลประเทศกัมพูชามาเพื่อพิจารณาหาแนวทางการดำเนินการร่วมกัน เพราะการที่ผ่านมา 3 ปีนั้น คิดว่าเป็นเวลาที่นานพอแล้วสำหรับการอุทธรณ์ แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีกำหนดเวลาที่ต่างกันไปก็ตาม นอกจากนี้จะคอยติดตามข่าวคราวและดูแลด้านมนุษยธรรมให้กับผู้ต้องหาชาวไทยทั้งสองคนและคนอื่นๆที่ถูกจับกุมในประเทศกัมพูชา ส่วนในเรื่องอาหารที่เป็นหมูนั้นทางสถานทูตจะลองถามเพื่อตั้งข้อสังเกตไปทางรัฐบาลกัมพูชา


 


0 0 0


 


ในวันเดียวกัน ก่อนที่ครอบครัวจะเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาในช่วงบ่าย นายซอง สุแบ ที่ปรึกษาสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหโมนี พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา อนุญาตให้ครอบครัวและคณะเข้าเยี่ยม โดยมีนายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทย ซึ่งร่วมเดินทางไปด้วยเป็นตัวแทนในการพูดคุยและแนะนำครอบครัวทั้งสอง


 


นายซอง สุแบ ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นกันเองในห้องทำงานส่วนตัวของเขา พร้อมทั้งกล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่คุณพ่อของเด็กๆ ถูกจับ และหวังว่าจะช่วยกันให้กลับบ้านได้ นอกจากนี้ในสมัยที่เกิดการรัฐประหารในประเทศกัมพูชา นานาชาติมีความเข้าใจผิดไปต่างๆ นานาต่อกัมพูชา ครั้งนั้นทางประเทศไทย และดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ก็เคยช่วยชี้แจงให้อาเซียนเข้าใจในกัมพูชามากขึ้น


 


ก่อนจะกลับนายซอง สุแบ จับมือลาแบบมุสลิมกับเด็กๆ ในครอบครัวทั้งสองจนครบทุกคน และได้เดินมาส่งที่ประตูด้วยตัวเอง


 


0 0 0


 


วันที่ 4 พฤษภาคม ครอบครัวเตรียมอาหารที่จะนำไปรับประทานร่วมกับสามีในช่วงเที่ยง ในตอนเย็น "เกา โสภา" ทนายความที่ทำคดีให้กับอับดุลราซิด และมูฮำหมัดยาลาลูดิน กลับมาจากการไปว่าความที่เมืองศรีโสภณและนำเอกสารบางอย่างมาให้


 


เกา โสภา เชื่อว่าทั้งสองเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะหลักฐานในคดีค่อนข้างอ่อนมาก แต่ศาลกลับเห็นว่ามีความผิดและลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จึงได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อให้ศาลเปิดพิจารณาคดีอีกครั้ง แต่ล่วงเวลามาเกือบ 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทางไทยก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่อได้ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด เขาจึงอยากให้ทางรัฐบาลไทยเร่งรัดมาทางรัฐบาลกัมพูชาเพื่อให้เปิดพิจารณาคดีด้วย


 


ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในระหว่างการพิจารณาคดีก็ได้เคยขอประกันตัว แต่ทางศาลไม่อนุญาต จึงทำหนังสือไปยังสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุเพื่อโปรดให้รับเรื่องคนไทยไว้พิจารณา ท่านทรงเซ็นอนุมัติมาว่า ให้ศาลรับไปพิจารณา


 


เกา โสภากล่าวอีกว่า คดีนี้เป็นคดีที่ค่อนข้างแปลก เพราะปกติแล้ว จะมีองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ คอยจับตา แต่เมื่อคดีนี้พัวพันกับกับการก่อการร้ายสากลที่สหรัฐมีความหวั่นไหวมาก ทำให้รัฐบาลกับกลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสหรัฐสูงเพราะมีการสนับสนุนทางการเงิน คดีนี้จึงค่อนข้างเงียบในหมู่เอ็นจีโอกัมพูชา เกา โสภาจึงได้ทำหนังสือเรียกร้องไปยังองค์กรและเอ็นจีโอต่างๆ จับตาคดีนี้ก่อนจะมีการตัดสินของศาล แต่ก็ไม่เป็นผล


 


หลังการตัดสินของศาล เกา โสภาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อทันที และยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ไปอีกสองครั้ง จนบัดนี้ศาลก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ


 


นอกจากนี้ สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา เคยตอบโต้คำพูดของนาย เฮอรัลโด มูนอส ชาวสหรัฐที่กล่าวหากัมพูชาว่า เป็นที่ซ่อนตัวของผู้ก่อการร้าย สมเด็จฮุนเซ็นเคยปฏิเสธว่า "กัมพูชาไม่มีผู้ก่อการร้าย" เกา โสภาจึงได้ทำหนังสือชมเชยสมเด็จฮุนเซ็นในการแสดงการปฏิเสธ พร้อมระบุไปว่า ถ้าไม่มีผู้ก่อการร้ายตามคำยืนยันของนายกรัฐมนตรีก็ต้องปล่อยตัวลูกความของเขาด้วย อย่างไรก็ตามรัฐบาลกัมพูชายังเพิกเฉยต่อคดีนี้


 


0 0 0


 


วันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเดินทางกลับ ทั้งสองครอบครัวดูไม่ตื่นเต้นแล้ว แต่ความอาลัยและไม่อยากกลับเข้ามาแทนที่ อาแอเสาะ และปาริดะ บอกว่า อยากอยู่ที่นี่ต่อเพื่อดูแลสามี ทว่าในความเป็นจริงเธอทั้งคู่กลับทำอะไรไม่ได้เลย


 


หรือว่าเพื่อความมั่นคงของ "สหรัฐอเมริกา" จะหมายถึงการพรากลูกไปจากอกพ่อ พรากสามีไปจากภรรยา คดีที่เรียกว่าเจไอนี้ ยังมีเงื่อนงำอีกหลายสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ภายใต้ทฤษฎี "สมคบคิด"


 


อย่างไรก็ตามไม่ว่าอับดุลราซิด และมูฮำหมัดยาลาลูดีน จะผิดจริงหรือไม่ เขาจำเป็นต้องได้รับการดูแลด้านสิทธิมนุษยชนอันเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลไทยที่ต้องดูแลคนไทยทุกคน ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม


 


ทั้งนี้ สิ่งที่ครอบครัวคนไทย 2 ครอบครัวกำลังเผชิญ มีแนวโน้มว่าอาจเป็น "แพะ" ตัวอ้วนที่สังเวยให้กับความหวาดกลัวของอันธพาลในคราบตำรวจโลก และรัฐบาลไทยเองก็อาจสมยอมเพื่อสร้างข้อมูลและความชอบธรรมในการจับกุม "ฮัมบาลี" และการออกกฎหมายการก่อการร้ายสากล เมื่อ พ.ศ.2546


 


ที่ผ่านมา "แพะ" ในคดีเจไอในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่นายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะหรือ "หมอแว" ในประเทศไทยก็ล้วนยกฟ้องไปหมดแล้ว และ "หมอแว" ก็กำลังจะได้เป็น ส.ว.ด้วยความเชื่อใจของชาวจังหวัดนราธิวาส


 


ตอนนี้ผู้ที่ต้องติดคุกในคดีเจไอแบบ "ขังลืม" คงเหลือแค่ในประเทศกัมพูชาเท่านั้น


 


 


.................................................................................


โปรดติดตามอ่าน


ตอนที่ 2 คดีเจไอไทยในกัมพูชา : บางสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมไม่กล่าวถึง


ตอนที่ 3 คดีเจไอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 


 



ซองสุแบ ที่ปรึกษากษัตริย์กัมพูชา


 



ท่านทูตปิยวัชร


 



ที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์กัมพูชากับ สุรพงษ์ ชัยนามอดีตเอกอัครราชทูตไทย


 



ภาพครอบครัวและคณะทั้งหมดภายในสถานทูตไทย


 



รับประทานอาหารที่ทางสถานทูตเป็นเจ้าภาพเลี้ยง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net