Skip to main content
sharethis


ชื่อบทความเดิม "ศาลสิทธิมนุษยชน" : สถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติของอินโดนีเซีย

โดย ศราวุฒิ ประทุมราช


 


 


ไม่น่าเชื่อว่าในปี 2543 หรือ 2 ปี ภายหลังการสิ้นอำนาจของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต อินโดนีเซียที่เพิ่งได้ลิ้มรสหอมหวานของประชาธิปไตยได้มีการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน ให้เป็นสถาบันหนึ่งในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ


 


ในสมัยประธานาธิบดี ซูฮาร์โตนั้นอินโดนีเซียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากในลำดับต้นๆของโลก ทั้งการฆ่า การทำลายสิทธิในชีวิตของประชาชน โดยทหารหรือตำรวจลับในอีสติมอร์ หรือ ประเทศติมอร์เลสเต้ ในปัจจุบัน การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานชนพื้นเมืองในปาปัวตะวันตก การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการแสดงออกทางการเมือง ของประชาชน และสื่อมวลชนหรือ มีการละเมิดสิทธิระหว่างชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ กับชาวอินโดเชื้อสายจีน หรือ ระหว่างชาวมุสลิมกับศาสนิกโปรแตสแตนท์ แต่ขณะเดียวกันซูฮาร์โต ก็เล่นการเมืองระดับสากลด้วยการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในปี 2533 อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ในปี  2537 และมีคำสั่งประธานาธิบดีจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในปี 2536 ต่อมาภายหลังการสิ้นอำนาจของ ซูฮาร์โต อินโดนีเซียจึงได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอีก 2 ฉบับในปี 2542 คือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และเมื่อเดือนกันยายน 2548 รัฐบาลพลเอกซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโนได้ส่งหนังสือแสดงความจำนงขอเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม


 


แม้ว่าการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขึ้นในปี 2536 นั้น เกิดจากแรงกดดันของนานาชาติ ที่มีต่ออินโดนีเซีย และเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งในด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก็ตาม แต่สังคมนานาชาติต่างเห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอินโดนีเซียนี้ไม่มีความเป็นอิสระเพียงพอในการดำเนินงาน เพราะหนึ่งจัดตั้งโดยคำสั่งประธานาธิบดี สองคณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ประธานาธิบดี(ซูฮาร์โต) จะตั้งให้ใครมีอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินงานของตัวเอง ที่ได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน (ในปี 2542 รัฐสภาอินโดนีเซียได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของประธานาธิบดีอีกต่อไป)


 


การจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนใน ปี พ.ศ. 2543 เป็นอีกความก้าวหน้าครั้งสำคัญของอินโดนีเซียในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมีรัฐบัญญัติ ฉบับที่ 26/ 2000 (Legislation No.26/2000 Concerning Human Rights Courts)เป็นกฎหมายที่ให้จัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน ในกฎหมายนี้ได้ให้นิยามความหมายของสิทธิมนุษยชนว่า สิทธิมนุษยชน หมายถึงสิทธิของมนุษย์ซึ่งเป็นนฤมิตรกรรมของพระเจ้า ที่ต้องได้รับการเคารพในฐานะที่เป็นมนุษย์ เป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐบาลและมีกฎหมายในการปกป้องคุ้มครอง เพื่อการเคารพ ศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ (มาตรา 1) มาตรา 2 บัญญัติให้ศาลสิทธิมนุษยชนเป็นศาลพิเศษ ภายใต้เขตอำนาจศาลทั่วไป สามารถตั้งขึ้นในเมืองหลวงของภูมิภาคหรือเมืองกึ่งเมืองหลวงของภาค เขตอำนาจศาลนั้นให้เป็นไปตามอำนาจของศาลจังหวัด เมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ให้เริ่มจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนที่ จาการ์ตาส่วนกลาง (Central Jakarta ) เมืองสุราบายา เมืองเมดาน และ เมืองมากัสซา


 


อำนาจของศาลสิทธิมนุษยชน


ศาลสิทธิมนุษยชนมีอำนาจพิจารณาคดีและออกกฎระเบียบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่(Gross violation of human rights) ที่กระทำโดยพลเมืองสัญชาติอินโดนีเซียอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่ว่าผู้กระทำการละเมิดสิทธิขนาดใหญ่จะอยู่ในหรืออยู่นอกเขตแดนประเทศ ศาลสิทธิมนุษยชนก็สามารถพิจารณาพิพากษาได้


 


การละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ ตามกฎหมายนี้ หมายถึง


1. อาชญากรรมต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ (Crime of genocide) ได้แก่ การกระทำใดๆ


โดยความมุ่งหมายที่จะทำลาย หรือทำให้หมดสิ้นทั้งหมดหรือบางส่วนของกลุ่มรัฐชาติเชื้อชาติ


กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มศาสนา โดยวิธีการหนึ่งวิธีการใด ดังนี้


·         การฆ่าสมาชิกของกลุ่ม


·         การกระทำให้บาดเจ็บสาหัสต่อร่างกายหรือจิตใจแก่สมาชิกของกลุ่ม


·         การคิดค้นหรือกระทำทางกายภาพให้สภาพที่จำเป็นหรือเงื่อนไขแห่งการดำรงชีวิต ของกลุ่มหมดสิ้นไปทั้งหมดหรือบางส่วน


·         การบังคับให้ยอมรับมาตรการการคุมกำเนิดภายในกลุ่ม หรือ


·         การบังคับให้โอนหรือเคลื่อนย้ายเด็กๆของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปยังชนอีกกลุ่มหนึ่ง


 


2. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes against humanity) หมายถึง การกระทำใดๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ หรือ กระทำอย่างเป็นระบบ มุ่งกระทำต่อพลเรือน ในรูปแบบ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 


·         การฆ่า


·         การทำลายให้หมดสิ้น


·         การบังคับลงเป็นทาส


·         การบังคับให้พลเรือนย้ายถิ่นหรือห้ามเดินทาง


·         การกระทำโดยไม่เป็นธรรมต่อความเป็นอิสระหรือเสรีภาพทางกายอื่นๆที่ขัดแย้งต่อกฎหมายระหว่างประเทศ


·         การทรมาน


·         การข่มขืน การนำคนลงเป็นทาสทางเพศ บังคับให้ค้าประเวณี บังคับให้ตั้งครรภ์ การบังคับไม่ให้ขยายเผ่าพันธุ์ หรือรูปแบบอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่มุ่งกระทำละเมิดทางเพศ


·         การทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเกิดความหวาดกลัวหรือสร้างความหวาดกลัวในการรวมกลุ่มต่างๆบนพื้นฐานของความคิดเห็นทางการเมือง เชื้อชาติ สัญชาติ ชาติกำเนิด วัฒนธรรม ศาสนา เพศ หรือ พื้นฐานอื่นๆ ตามหลักสากลที่ระบุไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ


·         การบังคับให้บุคคลหายสาบสูญ หรือ


·         อาชญากรรมแบ่งแยกสีผิว


 


ที่มา/จำนวนและคุณสมบัติของผู้พิพากษา


กฎหมายกำหนดให้การพิจารณา กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ กระทำโดยผู้พิพากษาศาลสิทธิมนุษยชน มีจำนวน 5 คน ซึ่งประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลสิทธิมนุษยชน 2 คน และผู้พิพากษาเฉพาะกิจ(ad hoc judges) 3 คน ผู้พิพากษาเฉพาะกิจ หมายถึงคนภายนอกที่มิได้เป็นผู้พิพากษา แต่ได้รับการแต่งตั้ง โดยคำสั่งประธานาธิบดี โดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา มีจำนวนไม่เกิน 12 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถได้รับการแต่งตั้งติดต่อกันอีกสมัยหนึ่ง


คุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะสมในการ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจ คือ  


 


1.       มีสัญชาติอินโดนีเซีย


2.       มีความเชื่อในพระเจ้า


3.       อายุไม่น้อยกว่า 45 ปี


4.       จบการศึกษาด้านกฎหมายหรือด้านอื่นที่ใช้กฎหมายได้อย่างเชี่ยวชาญ


5.       มีจิตปกติ


6.       บุคลิกภาพดี ซื่อสัตย์ ยุติธรรม มีความเป็นอิสระ(ความคิด เชื่อมั่นในตัวเอง)


7.       ภักดีต่อ ปัญจศิลา และรัฐธรรมนูญปี 1945 และ


8.       มีความรู้และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน


 


บทบาทและอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


กระบวนการเริ่มต้นตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่นั้น เริ่มจากที่


ผู้เกี่ยวข้องได้ส่งเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินกระบวนการตรวจสอบ (inquiries)  เพื่อพิสูจน์หรือ ชี้มูลความผิด แบบ การดำเนินงานของ คณะกรรมการ ปปช. ของไทย ว่าเรื่องที่ร้องเรียนนี้มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะระบุว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ หรือไม่ ซึ่งในการตรวจสอบ  กรรมการสิทธิฯสามารถแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วยกรรมการสิทธิฯและบุคคลที่เป็นที่ยอมรับต่อสาธารณะ  เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและให้มีอำนาจต่างๆ ได้แก่ รับรายงานหรือเรื่องราวร้องทุกข์จากบุคคล หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ รวมทั้งสามารถติดตามพยานเอกสารและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง เรียกผู้ร้องเรียน ผู้เดือดร้อน พยานหรือ วัตถุต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียนมาให้ถ้อยคำหรือรับฟังเอกสารเหล่านั้น รวบรวมหลักฐานต่างๆจากสถานที่เกิดเหตุและสถานที่อื่นๆตามความจำเป็น  เรียกให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้มอบหลักฐานหรือส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ ออกคำสั่งให้ตรวจสอบจดหมาย เข้าตรวจสอบในบ้าน บริเวณบ้าน อาคารและสถานที่อื่นๆ ที่มีผู้ครอบครองหรือเป็นเจ้าของ รวมถึงการส่งผู้เชี่ยวชาญออกไปทำการสอบสวนติดตามเอกสาร หรือพยานหลักฐานต่างๆ จนกว่าจะได้ทราบข้อเท็จจริงของกรณี


 


 


เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบแล้ว มีความเห็นว่ากรณีที่ได้รับร้องเรียนนี้เป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ กรรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องส่งเรื่องและความเห็นไปยังพนักงานอัยการให้ดำเนินการสอบสวน(investigation)และนำตัวผู้กระทำผิด ส่งฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชน การดำเนินการของอัยการในการสอบสวนนั้นมีอำนาจในการจับกุมใครก็ตามที่ต้องสงสัยว่ามีการกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ ทั้งนี้โดยอาศัยหลักฐานที่เหมาะสมเพียงพอที่จะทำการจับกุมได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักการทั่วไปของกฎหมาย นั่นคือ


·         การจับตามนั้นพนักงานสอบสวน ต้องออกคำสั่งให้จับและต้องแสดงหมายจับให้ผู้ถูกจับได้ทราบ ในหมายจับต้องมีข้อความว่า ใครคือผู้ต้องสงสัย เหตุผลในการจับกุม สถานที่ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ตลอดจนสรุปข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าผู้ถูกจับเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่


·         ให้มอบสรุปข้อเท็จจริงที่แนบมาพร้อมหมายจับ แก่ญาติผู้ถูกจับทันทีที่ได้จับกุม


·         หากมีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ขณะกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ตามกฎหมายนี้ และผู้ถูกจับได้ยอมให้จับ การจับกุมไม่ต้องออกคำสั่งให้จับหรือไม่ต้องมีหลักฐานใดๆ


·         มีอำนาจรับผิดชอบการควบคุมตัวและการขยายระยะเวลาควบคุมผู้ต้องหาในระหว่างการสืบสวนและรวบรวมหลักฐานเตรียมยื่นฟ้องต่อศาล (prosecution)


 


นับจากมีกฎหมายว่าด้วยศาลสิทธิมนุษยชนเป็นต้นมา มีกรณีที่ได้ผ่านการพิจารณาโดยศาลสิทธิมนุษยชน แล้วเพียง 3 กรณี คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในอีสติมอร์ เหตุเกิดเมื่อปี 2542  ใน อาเบปุระ ปาปัว เมื่อ ปี 2543 และกรณีการปราบปรามและฆ่าประชาชนที่ ตันจุง ปรีอ๊อก ในปี 2527 ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนเฉพาะกิจ เป็นผู้ดำเนินการพิจารณา โดยได้ลงโทษจำคุกเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร ที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งให้ฆ่า ในแต่ละกรณี


 


แต่ดูเหมือนว่าสังคมอินโดนีเซียยังคงไม่พอใจและยังคงมีความคาดหวังต่อบทบาทของศาลสิทธิมนุษยชน และการดำเนินการของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการเปิดประเด็นว่าเรื่องใดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก เพราะประชาชนอินโดนีเซีย ได้รับความทุกข์ทรมานจากระบอบซูฮาร์โต มานานกว่า 20 ปี แต่เมื่อทองฟ้าเริ่มเปิด หลังซูฮาร์โต สิ้นอำนาจ กลับไม่สามารถดำเนินคดีไปสู่ตัวการสำคัญในการเข่นฆ่า ประชาชน หรือ ผู้สั่งการตัวใหญ่ ๆ เช่น ซูฮาร์โต ได้ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนคนหนึ่ง และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ*  กล่าวอย่างท้อแท้ว่า " จนถึงทุกวันนี้ ประชาชนผู้ยากจนในชนบท ยังคงถามหาการปกครองแบบระบอบซูฮาร์โต อยู่เลย ใครว่าเรา( อินโดนีเซีย) มีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้น แต่ผมว่า มันยังไม่ไปถึงไหนหรอก ตราบใดที่องค์กรที่มีอำนาจ ไม่ใช้อำนาจของตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน"


 


 


 


* คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย เรียกว่า คอมนาส ฮัม หรือ Komisi Nasional Hak Asasi Manusia-Komnas HAM


 


 


…………………………………………………


ศราวุฒิ ประทุมราช


นักสิทธิมนุษยชน / ผู้รับทุนปัญญาชนสาธารณะ ระดับอาวุโส (API -Fellowship)ประจำปี 2005-2006 ติดต่อ : tuactive@yahoo.com


 


บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน API Fellowships ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องหรือรับผิดชอบ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net