Skip to main content
sharethis

 



ศ.ดร.อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์


 


 



ผศ.ดร.วรวิทย์  บารู  



 



เจะสะมิอิง บารู


 


 


 


วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2006 12:28น.




วิไลวรรณ จงวิไลเกษม, ณรรธราวุธ เมืองสุข, สุวัจนา ทิพย์พินิจ และปทุมวดี นาคพล


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


สายวันที่ 11 พ.ค. หลายคนในพื้นที่ของประเทศไทยยังซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มพร้อมฝันหวานถึงวันใหม่ของชีวิต แต่ที่จังหวัดปัตตานี สายของวันนี้ต่างจากวันอื่นๆ ในรอบ 3 ปีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


รถมากคันมุ่งสู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปัตตานี) ปลายทางที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา(วอส.) มอ.ปัตตานี สถานที่จัดงานสัมมนา "โครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องมลายูศึกษาเพื่อความสมานฉันท์" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำทัพโดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นักคิดนักเขียนจากแดนเหนือของประเทศไทยและวอส.


 


ภาพที่ปรากฏในวันนั้นกว่า 300 ที่นั่งถูกจับจองเต็มห้องประชุมอิสลามศึกษา นักวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่ ครูสอนศาสนา โต๊ะครู ครู ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน นักการเมือง นักวิจัย นักศึกษา เอ็นจีโอและชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ใครคนหนึ่งพูดลอยมาเข้าหูว่า "ทำไมถึงคนเยอะขนาดนี้"


 


เป็นคำถามน่าคิด........ "ทำไมถึงคนเยอะขนาดนี้"


 


 


ปริศนาถูกเฉลย ทันทีที่ "อาจารย์นิธิ" ที่คนทั่วไปเรียกติดปาก จบการบรรยายหัวข้อ "มลายูศึกษา" พร้อมกับเอ่ยถามผู้เข้าฟัง


 


"ใครมีอะไร สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้"


 


ทันทีจบคำพูด ผู้เข้าร่วมสัมมนาโดยเฉพาะที่เป็นนักประวัติศาสตร์ ปัญหาชนในพื้นที่ ต่างแย่งกันยกมือแสดงความคิดเห็นในแง่มุมข้อคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มลายูเพิ่มเติมจากที่ ศ.นิธิ บรรยาย


 


ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มอ.ปัตตานีให้ความเห็นตอนหนึ่ง ว่า เรื่องมลายูศึกษา คือเรื่องของการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติ พันธุ์ของคนส่วนใหญ่ในภาคใต้ตอนล่าง ต้องยอมรับว่าบางอย่างเรายังไม่รู้ วันนี้เหมือนการเปิดหน้าต่างแห่งความไม่รู้เพื่อรับความรู้ร่วมกัน


 


"แต่... วันนี้เหมือนที่อาจารย์พูด... บางทีเราพูดเรื่องตัวเองลำบาก ต้องให้คนอื่นพูด นี่คือสิ่งที่ทุกคนจะยอมรับเช่นเดียวกับผมที่อยู่ในพื้นที่ การที่อาจารย์ได้มาพูดในสิ่งเหล่านี้เป็นการดี และเป็นสิ่งซึ่งจะนำมาซึ่งความเข้าใจแก่คนส่วนรวมของประเทศและอยากจะเรียนกับพวกเราอีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า สิ่งที่เรามีอยู่จะต้องบอกให้คนอื่นได้ทราบ บางทีเราบอกว่าอยากให้คนอื่นเข้าใจก็ต้องบอก อาจจะบอกโดยผ่านตัวกลาง โอกาสนี้ที่อาจารย์มาก็บอกผ่านอาจารย์นิธิและนำไปเป็นงานเขียนต่อไป"


 


พื้นที่สาธารณะทางความคิดที่เปิดออกคือ คำตอบที่ชัดเจน


 


"อับดุลเลาะห์ ลออแมน" นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กล่าวว่า แม้การจัดพูดคุยในประเด็นเรื่องประวัติ ศาสตร์ชาติพันธุ์มลายูในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ลักษณะเป็นเวทีบรรยายทางวิชาการ และเปิดโอกาสให้มีการแลก เปลี่ยนถกเถียงในประเด็นดังกล่าวยังไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


เขายอมรับว่า ประเด็นประวัติศาสตร์ของมลายู เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นอันตรายอย่างยิ่งกับผู้พูด


 


"คนยังกลัวอันตรายที่จะพูดเรื่องนี้ กลัวเหมือนกรณี หะยีสุหลง หรืออย่างกรณีทนายสมชาย" เขาสรุป


 


ศ.นิธิ อธิบายถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า "เขาเผชิญกับความหวาดระแวงที่ถูก กระทำจากรัฐ กลายเป็นความกลัว ถ้าเป็นผม ผมก็กลัว เพราะการพูดถูกมองเป็นการต่อต้านรัฐ อาจถูกอุ้ม ถูกเตะเล่น วันนี้จึงเหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับพวกเขา แต่เรามาวันนี้ พรุ่งนี้เราก็ไป เขาต้องเปิดตัวเขาเองด้วย ไม่มีใครพูดแทนได้ คุณต้อง กล้า ทำอย่างไรเกาะกลุ่มกันได้ ที่ผ่านมาไม่มีพื้นที่ให้เขาพูด เขาจึงใช้ความรุนแรง ใช้ระเบิดเป็นตัวพูดแทน"


 


ศ.นิธิยังได้เสนอแนะทางออกสำหรับการเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นว่า อาจเริ่มจากการเปิดประเด็นที่ไม่เป็นปัญหาร้อน เช่น ปัญหาทรัพยากรริมอ่าวปัตตานี แล้วค่อยขยายเรื่องออกไปเพราะการเริ่มต้นในการรวมกลุ่มไม่ใช่ของง่าย ยิ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ของง่าย ตนอยากเห็นการทำงานในรูปแบบสมัชชาคนจนภาคอีสานเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


"ปัญหาปัจจุบันเป็นปัญหาโครงสร้างคือ ความอยุติธรรม แต่รัฐดันไปแก้ปัญหาเชิงเทคนิค เช่นห้ามนั่งซ้อนมอเตอร์ไซด์ จริงๆ แล้วรัฐต้องเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชน คนในพื้นที่นี้มีสิทธิใช้มลายูเวลาไปติดต่อราชการ ไม่ใช่พูดภาษาไทยไม่ได้ไม่สามารถติดต่อราชการ เป็นหน้าที่ของข้าราชการที่ต้องไปเรียนภาษามลายู เพราะถือว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ในเมื่อเขาไม่ต้องการรัฐ เขาจึงไม่คิดที่จะเรียนภาษาไทย แต่รัฐต้องการเขา ดังนั้นรัฐต้องพูดภาษามลายูให้ได้" ศ.นิธิกล่าวทิ้งท้าย


 


"ซูฮัยมีย์ อาแว" เลขานุการมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ หนึ่งในผู้แสดงความคิดเห็นในวงสัมมนาให้ความเห็นต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า วันนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการสร้างพลังให้ฐานล่าง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสังคมให้เป็นสังคมสมานฉันท์ เป็นการบ่งบอกชัดเจนว่ากระบวนการที่รัฐทำอยู่ขณะนี้ล้มเหลว ในการเปิดโอกาสให้คนมีโอกาสแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในทางประชาธิปไตย


 


เขายังบอกถึงสาเหตุที่ผ่านมาไม่มีการพูดว่า ถ้าขืนพูดผิดเวลา อาจมีการแปลไปเป็นบางอย่าง กลัวที่สุดคือ การตีความและการแปลความ ถ้าคุยในเชิงวิชาการจะสามารถโต้แย่งกันทางวิชาการได้ นั่นคือมุมอับ ถ้ามองมุมสว่าง กระตุ้นต่อมความคิดสำหรับผู้มีอำนาจได้รับรู้ว่าจริงๆแนวทางที่สามารถรวมความคิดเห็นให้เกิดแนวทางสมานฉันท์มีมากมาย เห็นชัดเจนกันอยู่ว่ารูปแบบการจัดการปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกัน เป็นการตอบสนองคนคุมนโยบาย ไม่ได้ตอบสนองแนวทางการแก้ปัญหาที่แท้จริงจากข้อมูลเชิงประจักษ์ แต่มาจากความประสงค์ของคนมีอำนาจมากกว่า


 


"ทุกวันนี้ปราชญ์ชาวบ้านไม่กล้าออกมา ตั้งแต่เริ่มที่รัฐบาลให้คำจำกัดความว่าผู้ก่อการร้ายคือ คนเคร่งศาสนา คือคนมีความรู้สูงสุด คนมีความรู้ถูกผลักไสออกมาเป็นคนชายขอบ ดังนั้นคนกลุ่มนี้มีความรู้สึกแปลกแยก คนฐานล่างไม่เชื่อใจ คนฐานบนไม่เชื่อใจ ปราชญ์ชาวบ้านไม่กล้าเพราะเสี่ยงต่อการตีความว่าเป็นพวกไหน ผลเกิดขึ้นคือต่างคนต่างอยู่ การแสดงความคิดเห็นวันนี้มีเกราะกำบัง เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์"


 


"เจะสะมิอิง บารู" ประธานมูลนิธิส่งเสริมจริยธรรม ปัตตานีกล่าวว่า ระยะหลังเวทีสำหรับบ้านเมือง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แคบลงมาก โดยเฉพาะช่วง 2 ปี เวทีในการแสดงความคิดเห็นเปิดกว้างไม่มีเลย ครั้งนี้เป็นเวทีแรกในช่วง 2 ปีที่เปิดสำหรับประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพ นอกนั้นเป็นคณะอนุกรรมการสมานฉันท์ที่เป็นหน่วยงานของรัฐมาพูดและครั้งนี้เป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับมลายูจริงๆ


 


"นโยบายรัฐผิดพลาดเรื่องมลายูตลอด พยายามกลบฝัง เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมโลก ชาติพันธุ์เดิมไม่ปิดปัง เขากลับถือว่าเป็นความดีงาม ที่มีหลายเชื้อชาติรวมกัน แต่บ้านเราถ้าพูดถึงเรื่องเชื้อชาติเป็นความมั่นคง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net