Skip to main content
sharethis

ประชาไท—9 พ.ค. 2549 เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. ศาลปกครองกลางมีคำตัดสินเพิกถอนข้อชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกรณีสัมปทานไอทีวีทุกประเด็น ได้แก่ เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกรณีให้ลดค่าสัมปทานของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจ่ายเงินชดเชย รวมถึงเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการกรณีให้ลดสัดส่วนเนื้อหารายการของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในช่วงไพร์ไทม์ จากสาระ 70 เปอร์เซ็นต์บันเทิง 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือสาระ 50 เปอร์เซ็นต์ บันเทิง 50 เปอร์เซ็นต์


 


ก่อนหน้านี้อนุญาโตตุลาการได้เป็นผู้ชี้ขาดกรณีพิพาทระหว่างสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยมีคำชี้ขาดให้กับไม่ว่าจะเป็นกรณี ลดค่าสัมปทาน และลดสัดส่วนเนื้อหารายการในช่วงไพรม์ไทม์จากเดิมที่มีเนื้อหาสาระ 70 เปอร์เซ็นต์ บันเทิง 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือสาระ 50 เปอร์เซ็นต์ บันเทิง 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชดเชยค่าสัมปทานให้ไอทีวีด้วย


 


ภายหลังคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ยื่นคำร้องไปยังศาลปกครองกลางโดยระบุว่าอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจมีคำสั่งดังกล่าวได้


 


ภายหลังคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ทนายความของไอทีวีเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางไปยังศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน


 


ทั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)โดย นายกฤษฎา วิชพันธุ์ พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องบริษัทไอทีวี กรณีคำสั่งของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคดีนี้เริ่มจากเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547 อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ไอทีวีสามารถเปลี่ยนแปลงผังรายการ เพิ่มจำนวนรายการบันเทิง ลดค่าสัมปทาน 230 ล้านบาทและได้รับชดเชยความเสียหาย 20 ล้านบาท จากการปล่อยให้สื่ออื่นของรัฐมีโฆษณา แต่ สปน.เห็นว่า เป็นการชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำเกินขอบเขตแห่งสัญญา เพราะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจชี้ขาดประเด็นค่าเสียหายและสปน.ยืนยันว่าไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา ส่วนกรณีช่อง7 ต่อสัญญาและเสียค่าสัมปทานน้อยกว่าไอทีวี รวมถึงการที่ยูบีซีและช่อง 11 มีโฆษณาไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของไอทีวี อีกทั้งไอทีวีไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่รู้ หรือควรรู้เหตุแห่งการใช้สิทธิเรียกร้อง


 


นอกจากนี้ สัญญาเข้าร่วมการงานซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งข้อพิพาทมีการแก้ไขเพิ่มเติม ทำขึ้นมาในภายหลังคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยมิได้นำกลับเข้าไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ถือได้ว่าไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน ดังนั้น สปน.มอบหมายให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 เนื่องจากเป็นคำชี้ขาดที่ไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและเป็นข้อพิพาทที่ไม่สามารถระงับได้โดยอนุญาโตตุลาการ อีกทั้ง การที่จะยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้น จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคดีนี้ไอทีวีได้สู้ในประเด็นว่า สัญญาระหว่าง สปน.และไอทีวี มีข้อตกลงด้วยความสมัครใจที่จะนำข้อพิพาทเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ อีกทั้งคดีนี้ สปน.ทำผิดสัญญาเพราะไม่สามารถควบคุมส่วนราชการอื่นไม่ให้มาละเมิดไอทีวีได้ นอกจากนี้ ตามหลักการเมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้วจะถือเป็นที่สุด


 


ทั้งนี้ มีรายงานว่าสถานการณ์ในตลาดหลักทรัพย์ของหุ้นไอทีวีปรับตัวลดลงประมาณ 27.81 เปอร์เซ็นต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net