Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 พ.ค.2549    หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์ว่า ทางพรรคน้อมรับคำวินิจฉัย โดยจะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อช่วยกันคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองต่อไป และหลังจากนี้จะเดินหน้าในการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายในวันที่ 11 พ.ค.และมีเป้าหมายว่าจะส่งผู้สมัครให้ครบทุกเขต


         


ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันไม่ลาออก จะมีผลต่อความมั่นใจในการเลือกตั้งแค่ไหนนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะต้องรอรายละเอียดของคำวินิจฉัยกลางก่อนว่าการเลือกตั้งที่ไม่ชอบนั้นเกิดจากอะไร และใครมีบทบาทตรงนั้นบ้าง และสมควรจะทำอะไร


 


ส่วนขั้วทางการเมืองของฝ่ายค้านเดิมนั้นยังคงคุยกันเรื่องปฏิรูปการเมืองร่วมกัน และมั่นใจว่า การหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพราะขอบเขตการทำงานของแต่ละพรรคสามารถที่จะดำเนินการได้อย่างไม่มีปัญหา


 


ด้านมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) โดยพล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย นายวรินทร์ เทียมจรัส เลขานุการองค์กรกลาง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ประสานงานพีเน็ต ร่วมกันแถลงเรียกร้องให้ กกต.ลาออกแสดงความรับผิดชอบ


 


นายสมชัย กล่าวว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าการดำเนินการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง 2 ประการ คือ การกำหนดวันเลือกตั้งที่มาจากการปรึกษาหารือ ระหว่าง กกต.กับคณะรัฐมนตรี แสดงถึงความไม่เป็นกลางทางการเมือง เอื้อประโยชน์ต่อพรรครัฐบาล และการจัดคูหาเลือกตั้งไม่เป็นความลับ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ เรื่องการเลือกตั้งต้องดำเนินการโดยตรงและลับ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งมากกว่า 2,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งผู้เกี่ยวข้องคือรัฐบาล และ กกต.ควรแสดงความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวด้วยการลาออก


        


สำหรับการสรรหา กกต.ชุดใหม่ แม้องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาด้านการเมืองไม่ครบนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหา เพราะสามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (3) โดยให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมจนครบ และเข้าสู่กระบวนการลงมติของวุฒิสภา เพื่อให้ได้ กกต.ชุดใหม่จัดการเลือกตั้งต่อไป


 


ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบหมายให้ทนายไปเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายปริญญา นาคฉัตรีย์, นายวีระชัย แนวบุญเนียร, พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ซึ่งเป็น กกต. เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ม.157, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่พรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 โดยศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา และนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ครั้งแรกวันที่ 29 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.


 


 


ทั้งนี้ โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 20 มี.ค.49 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี จำเลยทั้งสี่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้องเรียนพร้อมยื่นแสดงหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ก่อนวันรับเลือกตั้ง ส.ส.พรรคไทยรักไทยหรือผู้บริหารพรรคไทยรักไทยได้กระทำการโดยไม่สุจริต จ้างวานหรือใช้ให้พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย จัดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่างๆ ในหลายจังหวัดเพื่อให้เป็นคู่แข่งกับผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยที่ลงสมัครในเขตนั้นด้วย โดยการกระทำทุจริตดังกล่าวยังพบข้อมูลว่าพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย กับผู้บริหารพรรค ยังร่วมกันกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.ทำการปลอมทะเบียนผู้มีสิทธิสมัคร ส.ส.อันเป็นเอกสารราชการ ด้วยการลบชื่อผู้มีสิทธิสมัครที่แท้จริงออกไปแล้วใส่ชื่อผู้ที่จะจัดให้ลงสมัครในนามของพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยแทน อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2541 ซึ่งเมื่อจำเลยทั้งสี่ได้รับหลักฐานอันควรเชื่อได้ดังกล่าวแล้วกลับได้ดำเนินการบางส่วนกับพรรคพัฒนาชาติไทย แลพรรคแผ่นดินไทยเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการใดกับพรรคไทยรักไทย


        


นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ค.49 จำเลยที่ 1 ได้กล่าวถ้อยคำใส่ความพรรคประชาธิปัตย์ต่อคณะบุคคลประมาณ 500 คน ที่ห้องประชุมสำนักงาน กกต. ที่จำเลยที่ 1 เชิญมาฟังคำบรรยาย ซึ่งข้อความตอนหนึ่งระบุว่า "หลังจากหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ กกต.เชิญมาให้ปากคำเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้กลับคำให้การว่าได้รับจ้างจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ให้ล้มการเลือกตั้ง ทำให้ต้องสอบพยานเพิ่มเติม" ซึ่งข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความหมิ่นประมาท และเป็นการพูดให้โทษกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งบุคคลทั่วไปทราบและเข้าใจว่าเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ นอกจากนี้ คำพูดของจำเลยที่ 1 ยังมีเจตนาให้คุณแก่พรรคไทยรักไทยด้วย โจทก์จึงนำคดีมายื่นฟ้องเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net