Skip to main content
sharethis

ประชาไท—6 พ.ค. 2549 จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เปิดโอกาสให้ประชาชนชาวเม็กซิกันเข้าพบถึงทำเนียบขาว เพื่อเฉลิมฉลองวันรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวเม็กซิกันเอาชนะทหารฝรั่งเศสได้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2549 ในขณะที่ชาวอเมริกันจำนวนมากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของประธานาธิบดีเป็นเพียงความพยายามที่จะลดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและแรงงานผู้อพยพในอเมริกาซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในขณะนี้เท่านั้น


 


เนื่องจากวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบุชได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีที่มีผู้นำเพลงชาติสหรัฐฯ มาแปลงเป็นเนื้อร้องภาษาสเปน โดยบุชระบุว่าผู้อพยพที่ต้องการเป็นพลเมืองสหรัฐฯ สมควรที่จะต้องเรียนรู้การร้องเพลงชาติสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ทำให้ชาวฮิสปานิกจำนวนมากไม่พอใจ


 


ทั้งนี้ บรรดาผู้อพยพและผู้ใช้แรงงานในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฮิสปานิก หรือกลุ่มคนที่พูดภาษาสเปน และกลุ่มดังกล่าวถือเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอย่างยิ่ง แต่กลับไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม จึงมีการนัดกันหยุดงานและเดินขบวนในเมืองต่างๆ อย่างน้อย 60 เมืองทั่วสหรัฐฯ เมื่อวันแรงงาน หรือ "วันไร้ผู้อพยพ" ที่ผ่านมา


 


โฆษกกรมตำรวจสหรัฐฯ ระบุว่ากลุ่มผู้เดินขบวนที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ลอสแองเจลิสและชิคาโก ซึ่งมีผู้อพยพพร้อมใจกันเดินขบวนราว 400,000 คน ขณะที่ในเมืองอื่นๆ ก็มีผู้อพยพออกมาชุมนุมประท้วงตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักร้อย ซึ่งโดยรวมแล้วคาดว่าผู้อพยพที่ออกมาเดินขบวนเนื่องในวันไร้ผู้อพยพมีมากถึง 1.2 ล้านคน


 


นอกจากนี้ กลุ่มผู้อพยพซึ่งเป็นชาวฮิสปานิกได้รวมตัวกันต่อต้านร่างกฎหมายผู้อพยพของสภาคองเกรสด้วย เพราะกฎหมายดังกล่าวจะทำให้กลุ่มผู้อพยพซึ่งไม่มีเอกสารประจำตัวถูกผลักไสและส่งตัวกลับถิ่นฐานเดิม ซึ่งบรรดาผู้เดินขบวนกล่าวว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกันที่ช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศนี้ และแม้พวกเขาจะเป็นหนี้บุญคุณสหรัฐ แต่พวกเขาก็สมควรที่จะได้รับสิทธิในการทำงานและการมีที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมโดยไม่ถูกแบ่งแยกเป็นพลเมืองชั้นสองด้วย


 


เมื่อประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ออกมาเรียกร้องว่าเพลงชาติสหรัฐฯ จะต้องร้องเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น


ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดันทางการเมืองมากขึ้น จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าประธานาธิบดีเลือกปฏิบัติ เพราะที่ผ่านมามีผู้นำเพลงชาติสหรัฐฯ ไปดัดแปลงเป็นทำนองต่างๆ มากมาย ทั้งแรพ คันทรี่ และคลาสสิก แต่ไม่เคยมีใครถูกต่อต้านเลยสักครั้ง


 


ขณะเดียวกัน ลอร่า บุช สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้เป็นภรรยาของประธานาธิบดีบุชกลับออกมาให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นว่าตนมีความคิดเห็นแตกต่างจากสามี โดยกล่าวว่าสิ่งสำคัญของการร้องเพลงชาติก็คือ การที่คนร้องเพลงนี้ได้ร้องออกมาด้วยความเคารพในประเทศและวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาอย่างแท้จริง การนำเพลงชาติมาร้องในภาษาที่หลากหลายจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net