Skip to main content
sharethis

ประชาไท—5 พ.ค. 2549 พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตยเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสางปัญหา 3 ประเด็น ตรวจสอบสมชาย วงษ์สวัสดิ์ กรณีอนุมัติค่าเช่าสำนักงานแรงงานไทยในฮ่องกงสูงกว่าเดิม 10 เท่า, เรียกร้องยกเลิกระเบียบกระทรวงแรงงานเอื้อประโยชน์บริษัทจัดหางานและตรวจสอบพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต และตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่กระทรวงกงสุลฝ่ายแรงงานประจำฮ่องกงใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ


 


จากกรณีที่พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย (พสป.) ได้ร้องเรียนต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้มีการตรวจสอบกรณีปลัดกระทรวงแรงงานนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อนุมัติค่าเช่าสำนักงานแรงงานไทย ณ เมืองฮ่องกง ที่สูงผิดปกติ โดยสูงกว่าเดิมถึง 10 เท่า, กรณีที่กระทรวงแรงงานออกระเบียบเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทหางาน และกรณีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของนางวรรณพร ชูอำนาจ ข้าราชการระดับซี 8 กงสุลฝ่ายแรงงาน และหัวหน้าสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา


 


ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 4 พฤษภาคม เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย (พสป.) นำโดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานพสป. ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีนายสมชาติ เทวะวโรดม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเป็นตัวแทนรับหนังสือไว้ โดยหนังสือดังกล่าวเรียกร้องให้กระทวงแรงงานตรวจสอบและแก้ปัญหาทั้ง 3 ประเด็นคือ


 


ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงแรงงานเอื้อประโยชน์บริษัทจัดหางานและตรวจสอบพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต


 


ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ได้ร้องเรียนมาทั้งหมด โดยในระหว่างนี้ให้นางวรรณพร ชูอำนาจ ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ในกรุงเทพหรือที่อื่น เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ หรือทำการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายหลักฐาน


 


ให้ระงับเงินค่าเช่าสำนักงานแห่งใหม่ โดยให้เช่าสำนักงานเดิมต่อไป และนำเงินงบประมาณที่เคยอนุมัติเป็นค่าเช่าดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อแรงงานไทยในฮ่องกง เช่น ตรวจสุขภาพ พัฒนาฝีมือแรงงาน ยกระดับการศึกษา


 


ให้ยกเลิกระเบียบราชการของกระทรวงแรงงานที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทจัดหางานให้เจ้าหน้าที่ทำงานให้บริการการจัดทำสัญญาจ้างโดยรวดเร็ว


 


และให้ยกเลิกการทำสัญญาจ้างปีต่อปีที่กระทำต่อพนักงานชั่วคราวที่ถูกว่าจ้างโดยกระทรวงแรงงานทุกคน ให้บรรจุเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีมาแล้วเป็นข้าราชการประจำของกระทรวงแรงงาน


 


นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เมษายนจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหรือความคืบหน้าใดๆ เลย ในวันนี้ (4 พ.ค.) จึงนำพยานสองคนมาแถลงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน


 


นายชยันต์กานต์ ศักดาเจริญกิจ อดีตลูกจ้างกระทรวงแรงงาน ตำแหน่งผู้ดูแลบ้านพักฉุกเฉิน กล่าวว่า จากกรณีที่นางวรรณพร ได้นำสัญญาจ้างปีต่อปีมาใช้ ทำให้สัญญาจ้างมีผลย้อนหลัง ทั้งที่ตนถูกว่าจ้างมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2538 นอกจากนี้ ในสัญญาจ้างยังมีข้อบังคับไม่ให้ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางไปกลับ และไม่สามารถเบิกเงินใดๆ ได้เลย ทั้งยังกำหนดให้ทำงานตามที่ผู้ว่าจ้างหรือหัวหน้าสำนักงานมอบหมายให้ทำ ทั้งการทำงานในวันหยุดและการปฏิบัติหน้าที่นอกสถานที่ โดยนางวรรณพร ได้บีบบังคับให้ทำสัญญาดังกล่าว โดยอ้างว่า หากไม่เซ็นชื่อลงนามในสัญญาจ้างจะไม่จ่ายเงินเดือน เงินรางวัลตามประเพณีท้องถิ่นให้


 


นายชยันต์กานต์จึงต้องยอมทำสัญญาจ้างดังกล่าว แต่ได้เขียนคำโต้แย้งไว้ที่ท้ายเอกสารของสัญญาจ้าง เนื่องจากเห็นว่าการนำสัญญาจ้างปีต่อปีซึ่งมีผลย้อนหลังมาใช้ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ทั้งยังทำให้ลูกจ้างไม่กล้าเรียกร้องสิทธิ์ใดๆ เนื่องจากกลัวว่าจะไม่ได้รับการว่าจ้างต่อ


 


จากการโต้แย้งในครั้งนี้เป็นเหตุให้ถูกกลั่นแกล้งและกดดันในเวลาต่อมา โดยถูกย้ายตำแหน่งจากเดิมทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารสัญญาจ้าง ให้ไปทำหน้าที่พิมพ์เอกสารเก็บข้อมูล และให้รับเรื่องราวร้องทุกข์


 


นายชยันต์กานต์ เปิดเผยว่า ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่สำนักงานแรงงานไทย นางวรรณพรได้มอบหมายให้ไปเรี่ยไรเงินจากบริษัทจัดหางานในฮ่องกง โดยอ้างว่าเพื่อนำมาจัดกิจกรรมในวันแรงงาน ทั้งที่กระทรวงแรงงานเองได้มีงบประมาณให้กับสำนักงานแรงงานไทย ณ เมืองฮ่องกงอยู่แล้ว ครั้งหนึ่งตนไปได้เงินจากบริษัทจัดหางานมา 200 เหรียญฮ่องกง นางวรรณพรกลับบอกว่าน้อยเกินไป ให้เอาไปคืนและจะย้ายตำแหน่งแต่สุดท้ายก็ดึงเงินนั้นกลับไป ซึ่งอยากให้ตรวจสอบว่าเงินนั้นถูกนำไปใช้ทำอะไร


 


นอกจากนี้ นางวรรณพรได้ใช้อำนาจออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำงานถ่วงเวลาในการออกหนังสือรับรองสัญญาจ้างซึ่งควรแล้วเสร็จใน 14 วันตามเวลาครบกำหนดวีซ่าของฮ่องกง ส่งผลให้แรงงานต้องมอบอำนาจให้บริษัทจัดหางานดำเนินการให้


 


นายชยันต์กานต์กล่าวด้วยว่า เมื่อมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือนักการเมืองมาเที่ยวฮ่องกง เป็นการส่วนตัวนายชยันต์กานต์ก็ถูกสั่งให้ไปคอยให้การต้อนรับ ทั้งที่เป็นเวลานอกราชการ โดยไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาแต่อย่างใด


 


สุดท้ายเมื่อทนแรงกดดันจากการทำงานไม่ไหว จึงตัดสินใจลาออก โดยได้ขอให้ทางสำนักงานแรงงาน ฮ่องกง ออกหนังสือรับรองการทำงานให้เพื่อนำไปใช้สมัครงานใหม่ แต่ปรากฏว่า ทางสำนักงานแรงงานไม่ยอมออกหนังสือราชการรับรองการทำงานให้


 


นายชยันต์กานต์ระบุว่า ขณะนี้มีลูกจ้างลาออกแล้ว 8-9 คนด้วยกันเนื่องจากทนแรงกดดันไม่ไหว ส่วนคนที่เหลืออยู่ก็คงไม่กล้าพูดอะไรเนื่องจากกลัวว่าจะไม่ได้ต่อสัญญา


 


ทั้งนี้ หลังจากที่ออกมาให้ข่าวเมื่อวันที่ 20 เมษายน ก็ได้มีการออกประกาศติดรูปของตนตามสถานที่สาธารณะประกาศว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานแรงงานอีก โดยสำนักงานจะไม่รับผิดชอบการกระทำใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการติดต่อไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้ระงับวีซ่าของตน และส่งจดหมายไปยังธนาคารเพื่อขอรับเงินเบี้ยประกันตนจากการทำงาน 10 ปีที่ผ่านมาทั้งที่ไม่สามารถกระทำได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง


 


"น่าแปลกที่เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานซึ่งควรต้องปกป้องลูกจ้าง กลับมาเอาเปรียบลูกจ้างเสียเอง" นายชยันต์กานต์ กล่าว


 


ด้านนางสาววีรยา ทาราศรี แรงงานหญิงที่มาทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้านในฮ่องกง เปิดเผยว่า เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่กระทรวงแรงงานออกระเบียบการห้ามแรงงานหญิงมอบอำนาจให้ญาติหรือเพื่อนขอยื่นเอกสารทำสัญญาจ้างกับนายจ้างที่สามารถหาได้เอง โดยเมื่อไม่สามารถทำสัญญาจ้างให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่ครบกำหนดวีซ่าของฮ่องกง ต้องมอบอำนาจให้บริษัทจัดหางานในฮ่องกงดำเนินการให้ ซึ่งต้องเสียเงินให้กับบริษัทจัดหางาน ประมาณ 1,500-2,000 เหรียญฮ่องกง ซึ่งหากสามารถมอบอำนาจให้คนอื่นดำเนินเรื่องแทนได้ จะเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 500 เหรียญฯ ค่าธรรมเนียมที่กงสุล 120 เหรียญฯ และค่าวีซ่าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง 135 เหรียญฯ


 


นางสาววีรยา เล่าปัญหากรณีแรงงานหญิงในฮ่องกงคนหนึ่งซึ่งถูกนายจ้างทุบตีว่า นางวรรณพรไม่อนุมัติให้แรงงานหญิงที่เดือดร้อนเข้าพักในบ้านพักฉุกเฉิน เนื่องจากไม่ได้เป็นสมาชิกของมูลนิธิบ้านพักฉุกเฉิน ทั้งยังบอกให้ไปพักกับบริษัทจัดหางานซึ่งต้องเสียค่าที่พักประมาณวันละ 30-100 เหรียญฮ่องกงหรือ 150-500 บาท


 


ส่วนตัวคิดว่า เพื่อมนุษยธรรมน่าจะอนุญาตให้แรงงานเข้าพักได้ โดยอาจเสียค่าที่พักให้กับสำนักงานแรงงาน 10-20 เหรียญฯ ในกรณีที่ยังมีที่พักเพียงพอให้สามารถพักได้


 


นอกจากนี้ นางสาววีรยา เล่าว่า สำนักงานแรงงานเรียกเก็บเงินจากตนและนักศึกษาทางไกลคนอื่นๆ ในโครงการศึกษาระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จำนวน 5 เหรียญฮ่องกง หรือ 25 บาทต่อคน เป็นค่าจัดส่งเอกสารลงทะเบียนเรียนในแต่ละเทอม โดยไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินให้ ทั้งๆ ที่แต่ละคนต้องเสียเงินค่าลงทะเบียนเรียนเทอมละ 7,000 บาท ซึ่งสูงมากอยู่แล้ว ทั้งยังต้องเดินทางไปรับเอกสารและหนังสือประกอบการเรียนด้วยตนเองอีกด้วย เมื่อสอบถามไปยังอาจารย์ของมสธ. ที่มาคุมการสอบก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน โดยบอกว่าขึ้นอยู่กับสำนักงานแรงงาน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net