Skip to main content
sharethis


 


ในที่สุดวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมาชาวประมงบ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งจับปลาบึกทางธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ได้จัดทำพิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อปลาบึกซึ่งเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อมานาน ในวันเดียวกันนั้นยังมีการประกาศเลิกล่าปลาบึกในแม่น้ำโขงเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่ในหลวงทรงครองราชย์ครบ 60 ปีด้วย


 


การประกาศเลิกล่าปลาบึกของชาวประมงบ้านหาดไคร้ในวันนั้นถือได้ว่าสร้างความพอใจแก่นายวรชัย อุตมะชัย รักษาการผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย สุเทพ เตียวตระกูล นายอำเภอเชียงของเป็นอย่างมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ จ.เชียงรายใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะให้ชาวประมงกลุ่มนี้เลิกอาชีพดังกล่าวโดยอ้างว่าการล่าปลาบึกของชาวประมงคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปลาบึกในแม่น้ำโขงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว


 


เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำโขง


ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวมีความยาวเกือบ 3 เมตร และมีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม จึงได้รับสมญานามว่า "เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำโขง" เพราะมีถิ่นที่อยู่อาศัยเฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น


 


ว่ากันว่าคำว่า "บึก" นั้นแท้จริงแล้วเพี้ยนมาจากคำว่า "หึก"  ซึ่งเป็นคำในภาษาของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทยเหนือ ไทยอีสาน และลาว คำว่าหึกหมายถึงใหญ่ ดังนั้นจึงเรียกปลาที่มีขนาดมหึมาชนิดนี้ว่า "ปลาหึก" นานๆ ไปเสียงเพี้ยนกลายเป็น "ปลาบึก" จนถึงทุกวันนี้


 


ปลาบึกมีลักษณะลำตัวยาวและแบน หัวค่อนข้างใหญ่ ตาเล็กไม่มีฟัน มีหนวดสั้นๆ ที่ขากรรไกรบน 1 คู่ซ่อนอยู่ในร่องตรงเลยมุมปาก ในขณะมีชีวิตสีลำตัวจะเป็นสีเทาออกแดงทางด้านหลัง ค่อยๆ กลายเป็นสีเทาแกมฟ้าทางด้านข้าง และสีขาวทางด้านใต้ท้อง มีจุดดำจุดหนึ่งทางด้านข้างตรงตำแหน่งปลายสุดของครีบหู และจุดดำอีกสามจุดบนครีบหาง ครีบทุกครีบสีเทาจางๆ


 


ปลาบึกกินสาหร่ายที่ขึ้นอยู่ตามก้อนหินใต้น้ำเป็นอาหาร ฤดูวางไข่จะอยู่ราวเดือนกุมภาพันธ์ โดยปลาบึกจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่เหนือขึ้นไปจากประเทศไทย บริเวณที่มีน้ำลึกมีเกาะแก่งมากเพราะสะดวกในการผสมพันธุ์และจะวางไข่ในฤดูแล้ง พอถึงฤดูน้ำหลากจะว่ายตามน้ำลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยชอบบริเวณแม่น้ำที่มีความลึกมากกว่า 10 เมตร พื้นท้องน้ำเป็นกรวดและมีเพิงหินหรือถ้ำใต้น้ำ


 


ปลาบึกกับคนริมโขง


จากที่ชุมชนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทำให้ชาวเชียงของมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับแม่น้ำสายนี้มานาน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้านกันเกือบทุกหลังคาเรือน โดยเฉพาะปลาบึกกับคนริมโขงอย่างชุมชนบ้านหาดไคร้นั้นกล่าวได้ว่ามีความสัมพันธ์กันมาแต่โบราณ


 


การจับปลาบึกซึ่งเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านหาดไคร้เป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ในแต่ละปีชาวบ้านจะจับปลาบึกกันแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้นไม่ได้จับทุกวัน การจับจะเริ่มขึ้นเมื่อดอกซอมพอ (ดอกหางนกยูง) เริ่มบาน โดยก่อนจะมีการจับชาวประมงจะทำพิธีเซ่นไหว้เทพาอารักษ์ขอขมาต่อพระแม่คงคา พิธีนี้จัดขึ้นในวันที่ 18 เมษายนของทุกปี โดยเชื่อว่าปลาบึกมีเทวดาปกปักษ์รักษาอยู่ และเป็นปลาที่จำศีลไม่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร


 


ขณะที่เครื่องมือชิ้นสำคัญที่ใช้ในการจับนั้น ชาวประมงจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า"นาม"ซึ่งทำมาจากป่านตีเกลียวให้เข้ากันเป็นเชือกแล้วนำมาถักเป็นตาข่ายแต่ละตากว้าง 25-30 เซนติเมตร นามแต่ละผืนจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 6-7 เมตร ยาว 8-9 เมตร นอกจากนี้ยังมี "มอง" ลักษณะคล้ายนาม ต่างกันที่มองทำมาจากไนล่อน


 


การล่าปลาบึกที่บ้านหาดไคร้ นอกจากจะมีนามและมองซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้แล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือจะต้องมีพรานปลาบึกที่มีความชำนาญและสายตาไวหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "เสือตาไฟ" คอยสังเกตคลื่นและฟองอากาศเมื่อปลาบึกเดินทางผ่าน


 


อย่างไรก็ตาม  ในระยะ 10 ปีมานี้แม้ว่าบริบทของแม่น้ำโขงใน อ.เชียงของเปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาในหลายๆด้าน มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งเทคโนโลยีด้านการประมงที่เจริญรุดหน้า เครื่องมืออุปกรณ์การจับปลาบึกที่มีความทันสมัยขึ้น


 


แต่กระนั้นชาวประมงบ้านหาดไคร้ที่ได้รวมกลุ่มกันเป็นชมรมปลาบึกซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 68 คนยังคงยึดมั่นในวิถีดั้งเดิมเรื่อยมา แม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะได้รับการกล่าวหาจากทางจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่าชาวประมงกลุ่มนี้คือสาเหตุที่ทำให้ปลาบึกในแม่น้ำโขงลดจำนวนลง


 


การหายไปของปลาบึก


หากจะกล่าวถึงจำนวนปลาบึกในแม่น้ำโขงเขต อ.เชียงของ และอ.เชียงแสนกล่าวได้ว่ามีจำนวนที่จับได้ลดลงทุกๆ ปี  เช่นปี 2533 ชาวบ้านหาดไคร้จับปลาบึกได้ถึง 69 ตัว ปี 2539 จับได้ 7 ตัว ปี 2543 จับได้ 2 ตัว และปี 2548 จับได้เพียง 3 ตัวขณะที่ฝั่งลาวจับได้เพียง 1 ตัวเท่านั้น


 


การหายไปของจำนวนปลาบึก ที่ผ่านมาส่วนราชการหลายๆ ส่วนกล่าวว่าเป็นเพราะชาวประมงที่จับกันทุกปี จึงพยายามกดดันให้ชาวประมงเลิกอาชีพนี้เรื่อยมา


 


แต่แท้จริงแล้วเหตุผลอย่างอื่นที่จังหวัดรวมทั้งส่วนราชการอื่นๆไม่เคยนำมาพิจารณาถึงการหายไปของปลาบึกเลยนั่นคือโครงการพัฒนาต่างๆในแม่น้ำโขงที่แต่ละโครงการล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงโดยตรง เช่น โครงการระเบิดแก่งขุดลอกแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ภายใต้ความร่วมมือของจีน ไทย พม่าและลาว ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วในเขตจีนและพม่า


 


โครงการนี้เดิมทีจะเข้ามาดำเนินการในเขตไทยบริเวณโดยจะทำการระเบิดบริเวณแก่งคอนผีหลงเขต อ.เชียงของ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหาดไคร้มากนักด้วย แต่ภายหลังถูกองค์กรชาวบ้านอย่างกลุ่มรักษ์เชียงของต่อต้านอย่างหนักเพราะหวั่นเกรงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์โครงการนี้จึงยุติการดำเนินการไว้แค่นั้น


 


นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในเขตจีนโดยเฉพาะเขื่อนหมั่นหวั้นที่เป็นตัวควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำโขงและยังมีอีกหลายๆ เขื่อนที่จีนกำลังก่อสร้าง โครงการพัฒนาเหล่านี้ถือว่าส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในแม่น้ำโขงโดยตรง และนั่นหมายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจำนวนปลาบึกโดยตรงด้วย


 


และล่าสุดปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางศุลกากร อ.เชียงแสน ยังจะมีโครงการขุดลอกดอนทรายขนาดใหญ่ 4 จุดบริเวณสามเหลี่ยมทองคำเพื่อให้เรือสินค้าแล่นได้สะดวกอีกด้วย ทั้งนี้เพราะปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวน ขึ้นลงไม่เป็นปกติอันเนื่องมาจากการเปิดปิดเขื่อนในจีนส่งผลให้เกิดตะกอนทรายในแม่น้ำโขงหลายจุด


 


แน่นอนว่า โครงการพัฒนาเหล่านี้ซึ่งมีรัฐบาลไทยมีเอี่ยวอยู่ด้วยนั้นไม่มีส่วนราชการไหนกล้ากล่าวอ้างว่าเป็นเหตุให้ปลาบึกหายไป ดังนั้นผู้ที่ถูกจับตามองเป็นอันดับแรกในกรณีปลาบึกลดจำนวนลงก็คือกลุ่มชาวประมงบ้านหาดไคร้นั่นเอง


 


วิถีหลังเลิกจับปลาบึก


แม้ที่ผ่านมา ชาวประมงบ้านหาดไคร้จะกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุในการหายไปของปลาบึกมาโดยตลอด แต่กระนั้นชาวประมงกลุ่มนี้ได้พยายามอธิบายและทำความเข้าใจกับสาธารณะว่าการจับปลาบึกของชาวบ้านนั้นมิได้จับทุกวัน ปีหนึ่งๆ จะจับแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น ขณะที่การจับครั้งหนึ่งๆ จะจับปลาบึกได้ไม่กี่ตัว  ดังนั้น แท้จริงแล้วเหตุที่ปลาบึกหายไปเป็นเพราะโครงการพัฒนาของรัฐที่เข้าไปกระทำกับแม่น้ำโขงต่างหาก  แต่ทว่าคำอธิบายของชาวประมงบ้านห้วยไคร้ไม่ได้ทำให้คำกล่าวหาของส่วนราชการจางหายไปแต่อย่างใด


 


อย่างไรก็ตาม คำกล่าวหาที่เกิดขึ้นทำให้ชาวประมงกลุ่มนี้เริ่มกังวลในการสืบสานวิถีที่สืบต่อมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ รวมทั้งความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ที่ผ่านมามีการหารือกันหลายครั้ง จนในที่สุดต้นปี 2549 นี้ซึ่งเป็นปีที่ในหลวงทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ชาวประมงบ้านหาดไคร้จึงพร้อมใจกันละทิ้งวิถีการจับปลาบึกเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และแน่นอนว่า การประกาศเลิกจับปลาบึกครั้งนี้สร้างความชื่นมื่นแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก


 


ดังนั้น จะเห็นได้ว่าท่ามกลางฉากหน้าที่สร้างความชื่นมื่นแก่ส่วนราชการอย่างทั่วหน้า ทว่าเบื้องหลังความชื่นมื่นนั้นคือความเจ็บปวด ความวิตกกังวลของชาวประมงบ้านห้วยไคร้ถึงการสืบทอดประเพณีที่ได้สานต่อมาแต่ครั้งบรรพบุรุษที่มีอันต้องยุติลง นอกจากนี้ข้อกังวลเรื่องความมั่นคงในชีวิตก็ถูกชาวประมงกลุ่มนี้นำมาหารือกันอย่างเงียบๆ


 


นายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ เผยว่า การหยุดล่าปลาบึกที่ได้ทำพิธีไปเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมาอาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนในชุมชนบ้าง เพราะการล่าปลาบึกถือเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและยังมีการสืบต่ออาชีพนี้มาอย่างยาวนาน


 


 "ชาวบ้านที่นี่พร้อมใจประกาศให้ความร่วมมือกับทางการในการหยุดล่าปลาบึกหลังจากที่ผ่านมีมีการพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้ง การประกาศหยุดล่าปลาบึกครั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้แก่ในหลวงในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 60 ปี แต่สิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงหลังจากนี้คือหากหยุดล่าปลาบึกแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดหาอาชีพเสริมให้ชาวบ้านอย่างไร" นายพุ่ม กล่าว


 


ขณะที่นายสุเทพ เตียวตระกูล นายอำเภอเชียงของ กล่าวว่า ทางอำเภอมีความพยายามทำข้อตกลงกับชาวบ้านเรื่องการหยุดล่าปลาบึกเพื่ออนุรักษ์มาหลายปีแล้วแต่ไม่เป็นผล และปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จเพราะชาวบ้านให้ความร่วมมือ ส่วนผลกระทบเรื่องรายได้เสริมที่ชาวบ้านเกรงว่าจะลดลงหลังจากที่หยุดล่าปลาบึกนั้นตนคิดว่าจะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อรายได้ของชาวบ้าน เนื่องจากการจับปลาบึกเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น


 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวประมงบ้านหาดไคร้ยืนยันว่าแม้เลิกจับปลาบึกไปแล้ว แต่ในวันที่ 18 เม.ย.ของทุกปียังคงทำพิธีบวงสรวงปลาบึกต่อไป แต่ถึงกระนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า กลิ่นไอของประเพณีจับปลาบึกจะค่อยๆเลือนหายไปอย่างแน่นอน แน่ล่ะ! "นาม" และ "มอง" จะถูกเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ ฤดูดอกซอมพอบานคงมิได้ทำให้ชาวประมงบ้านหาดไคร้ตื่นเต้น เสือตาไฟผู้ที่สามารถมองเห็นปลาบึกได้ท่ามกลางความขุ่นข้นของแม่น้ำโขงก็อาจไร้ความสำคัญ


 


ดังนั้น ต่อไปจากนี้คงต้องจับตาดูกันไปว่าวิถีชีวิตของชาวประมงบ้านหาดไคร้จะออกมาในรูปใด ส่วนราชการต่างๆ ที่เคยกล่าวหาว่าปลาบึกหายไปเพราะการทำประมงจะดำเนินการอย่างต่อไป และที่สำคัญข้อวิตกกังวลของชาวประมงบ้านหาดไคร้กรณีการสร้างอาชีพเสริมรองรับ ทางราชการจะจัดการและรับผิดชอบอย่างไร .


 


อานุภาพ นุ่นสง


สำนักข่าวประชาธรรม


 


           


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net