เครือข่ายประชาชนย้ำ ปฏิรูปการเมืองต้องขับเคลื่อนด้วยพลังประชาชน

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ห้องประชุมเปรมบุรฉัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเวทีเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองไทย" โดยเครือข่ายองค์กรประชาชน เพื่อการปฏิรูปการเมืองและสังคม 26 เครือข่าย, เครือข่ายนักวิชาการการเพื่อประชาธิปไตย, พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายทุกภาค เข้าร่วม

 

การประชุมแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 4 กลุ่มเพื่อหารือใน 3 ประเด็นคือ กลุ่ม 1 กับ 2 หารือในประเด็นเรื่องแนวคิดการปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนกับการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง  กลุ่ม 3 หารือเรื่องข้อเสนอการได้มาของกลไกและคณะกรรมกรรมการอิสระ และ กลุ่มที่ 4 หารือเรื่องแนวคิดการปฏิรูปการเมืองกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดแนวทางและจังหวะก้าวการเคลื่อนไหว เพื่อปฏิรูปการเมืองร่วมกัน 

    

ก่อนประชุมกลุ่มย่อย นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) กล่าวว่า เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ต้องถกเถียงกันจึงแบ่งกลุ่มแล้วนำความเห็นมารวมกันก็จะได้การเมืองทั้งภาคบริบทของประชาชน ในการสร้างกลไกขึ้นมาปฏิรูปการเมือง ทั้งนี้จะได้ดำเนินการอื่นต่อไป

 

ในช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอข้อสรุปของการประชุมกลุ่มย่อยในแต่ละประเด็น ตัวแทนกลุ่มที่ 1 และ 2 ซึ่งหารือกันในประเด็นเรื่องแนวคิดการปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนกับการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง กล่าวถึงหลักการของการปฏิรูปว่า ต้องสร้างอำนาจให้ประชาชน ลดอำนาจรัฐ สร้างเศรษฐกิจพอเพียงและพัฒนากระบวนการรับรู้ทางการเมือง โดยเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง ให้สิทธิชุมชนท้องถิ่น สิทธิที่อยู่อาศัย สิทธิในการจัดการทรัพยากร รวมทั้งต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์

 

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนกลุ่มกล่าวว่า หลักสำคัญต้องเร่งพัฒนาการรับรู้ทางการเมืองของภาคประชาชน ต้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม นำเสนอจากล่างขึ้นบน และต้องมีกระบวนการประสานความร่วมมือระหว่างชาวบ้าน ชุมชนและองค์กรโดยให้ระดับจังหวัดเป็นตัวประสาน

 

ส่วนประเด็นเรื่องการได้มาซึ่งคณะกรรมการอิสระ เป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง จากการรวบรวมประเด็นจึงได้ข้อสรุปเป็นแบบจำลองคณะกรรมการอิสระ 3 รูปแบบคือ รูปแบบแรกมีคณะกรรมการ 3 ชุด คือชุดแรกมีหน้าที่ในการร่างข้อกฎหมายและทำประชาพิจารณ์ ชุดที่สองเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองโดยมีคณะกรรมชุดแรกร่วมด้วยบางส่วน และชุดที่ 3 มีหน้าที่พิจารณารับหรือไม่รับ

 

คณะกรรมการรูปแบบที่สอง ประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มอาชีพและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ในสัดส่วน 70 ต่อ 30 มีผู้เชี่ยวชาญเป็นคณะกรรมการกลาง รวบรวมข้อมูลและทำประชามติ หลังจากนั้นส่งให้รัฐสภาเป็นผู้รับรอง ส่วนรูปแบบที่สาม มีคณะกรรมการ 2 ชุด โดยชุดแรกมีหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและประสานงานเชื่อมโยงกับรัฐสภา และชุดที่สองรับฟังความคิดเห็นและร่างกฎหมายเอง ในแบบหลังนี้ตัวแทนกล่าวว่าน่าจะเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด เพราะมีการตรวจสอบกันเอง

 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม นักพัฒนาเอกชนเครือข่ายเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า ลักษณะสำคัญของคณะกรรมการองค์กรอิสระ คือต้องมาจากประชาชนที่แท้จริงและไม่ถูกครอบงำ และทำอย่างไรข้อเสนอของประชาชนจะไม่ถูกบิดเบือน

 

ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมาก เนื่องจากไม่สามารถทำได้จริงในหลายเรื่อง และเห็นว่าตัวแทนจากกลุ่มอาชีพอาจไม่เป็นอิสระจริง พร้อมทั้งเสนอให้ทำประชามติ หากร้อยละ 60-80 เห็นด้วยแปลว่าใช้ได้

 

ทางด้านนางรสนา โตสิตระกูล เครือข่ายองค์กรเอกชนเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า ต้องหาช่องทางที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เพราะการนำ 50,000 รายชื่อเพื่อถอดถอนแทบจะไม่มีความหมายในระบบการเมือง และเสนอให้ทำประวัติการทำงานของวุฒิสมาชิก เพื่อประชาชนจะได้ตรวจสอบการทำงานว่า โหวตอย่างไร โหวตให้ใคร และมีกลไกเรียกคะแนนคืนได้หากปฏิบัติงานไม่เป็นที่พอใจ

 

ประเด็นสุดท้ายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัวแทนกลุ่มยังย้ำในหลักการว่า ต้องเพิ่มอำนาจภาคประชาชนและลดอำนาจรัฐ เช่น บัญญัติให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายโดยตรงในปัญหาการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง ปฏิรูปสื่อให้ทุกคนมีส่วนได้ง่ายหลายช่องทาง สื่อต้องเป็นอิสระและมีบทลงโทษเจ้าของสื่อที่ไม่เป็นอิสระ มีการกระจายอำนาจ ลดการผูกขาด มีกลไกถ่วงดุลอำนาจทั้งการเมืองส่วนกลางและการเมืองท้องถิ่น รวมถึงการให้สิทธิชุมชน และบัญญัติให้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบโครงการที่จะเกิดผกระทบต่อประชาชน

 

นายประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ประเด็นเนื้อหาหลักวันนี้คือ เราจะทำอย่างไรในการย้ายอำนาจจากนักการเมือง กลุ่มทุน ผู้เชี่ยวชาญมาสู่ภาคประชาชน ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ต้องขึ้นอยู่กับพลังของภาคประชาชนว่าจะสร้างการเรียนรู้ในสังคมประชาธิปไตยเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของประชาชนได้มากน้อยเพียงไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท