Skip to main content
sharethis

โดย 'หอกหัก ถนัดมือ'


(ข้อเขียนนี้เหมาะแก่การพูดต่อ แต่ไม่ควรอ้างอิง)


 


 


 


ถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อนายกฯ พระราชทาน


 


เมื่อตอนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศขอนายกฯ พระราชทานมาเป็นแนวทางในการเคลื่อนไหวก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ผมก็สงสัยจริงๆ ว่า ทำไมบางคนบางส่วนที่อยู่ในกลุ่มแกนนำของพันธมิตรฯ (ที่มักเข้าใจกันว่าเป็นภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หรืออะไรทำนองนี้) จึงยังคงลอยหน้าลอยตาอยู่ร่วมกันต่อไปได้


 


เหตุที่ต้องสงสัยก็เพราะบางคนซึ่งได้สามารถเอ่ยชื่อเลยก็ได้ เช่น พิภพ ธงไชย สุริยะใส กตะศิลา ล้วนแต่เป็นบุคคลซึ่งสมาทานและประกาศตนอย่างชัดแจ้งมาโดยตลอดว่า เป็นผู้สนับสนุนการเมืองภาคประชาชนทั้งนั้น


 


ถ้าด้วยมันสมองอันน้อยนิดของผมเข้าใจไม่ผิด น่าจะหมายถึงแนวทางการเมืองที่มุ่งผลักดันให้ประชาชนมีที่มีทางมากขึ้นในสังคมการเมืองไทย หรือมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ พูดอีกอย่างก็คือให้ประชาชนสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้


 


แค่นี้ก็น่าจะเห็นได้ว่าระหว่างข้อเสนอนายกฯ พระราชทานกับผู้ที่แสดงตนว่า ยืนอยู่ข้างการเมืองภาคประชาชนมีความแตกต่างกันอย่างมากเหลือเกิน ฉะนั้นในฐานะที่ได้ติดตามการเมืองมาอยู่บ้างก็รู้สึกตะหงิดๆ ขึ้นมาทันที เพราะไม่น่าเป็นไปได้ที่ปรากฏการณ์ทั้งสองจะมาบรรจบกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ


 


แต่อย่างว่าแหละครับ ในยุค "โพโม" อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ก็ขนาดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" กับ "เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา" ก็ยังเอามาร้องร่วมกันได้ที่เวทีบนถนนราชดำเนิน เรื่องอื่นก็คงไม่เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด


 


คำอธิบายที่ผมได้รับกับข้อสงสัยนี้ เมื่อลองไปเลียบๆ เคียงๆ ถามบรรดาแกนนำและคนใกล้ชิดกับการเคลื่อนไหวก็คือ แม้จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางนายกฯ พระราชทาน แต่ถ้าหากมีการถอนตัวเกิดขึ้นก็อาจทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีอ่อนแรงลง เพราะผู้นำการชุมนุมจะเหลืออยู่เพียงสนธิ ลิ้มทองกุล จำลอง ศรีเมือง


 


การอยู่ร่วมในขบวนการพันธมิตรฯ จึงเป็นยุทธวิธีอันหนึ่งแค่นั้นที่สามารถกระทำได้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่พิภพ และสุริยะใส เคยปฏิเสธอย่างหนักแน่นก่อนหน้าว่าไม่มีแนวทางนี้ในการเคลื่อนไหวของพันธมิตร


 


แต่ท้ายสุดก็ดังที่รู้กันอยู่ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้แปรร่างเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อนายกฯ พระราชทานไปเรียบร้อย


 


ไม่รู้ว่าเคยประเมินกันหรือไม่ว่า แนวทางนายกฯ พระราชทานนั้นจะนำไปสู่จุดหมายปลายทาง ณ ที่ใด หรือถ้าถามให้ง่ายเข้าก็คือ กระทั่งก่อนหน้าวันที่ 25 เมษายน อะไรคือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจากการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องพูดถึงโครงสร้างหรือระบบอะไรที่มักชอบพร่ำบ่นกันหรอกครับ เงินสักสลึงจาก 73,000 ล้าน ได้ตกมาสู่ประชาชนมากขึ้นหรือเปล่า


 


ถามจริงๆ เถอะ ในเช้าวันที่ 26 เมษายน 2549 ไม่รู้สึกอับอายต่อการที่ต้องไปเจอใครต่อใครบ้างหรือครับ


 


อันที่จริงจะโยนความผิดให้แกนนำภาคประชาชน (ถ้ายังมีอยู่จริงๆ หมายถึงเชื่อด้วยความจริงใจไม่ใช่แค่เป็นบันไดไต่ไปสู่อนาคตนักการเมืองเลวๆ เหมือนนักการเมืองคนหนึ่ง) เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องไม่ลืมว่าข้อเสนอนายกฯ พระราชทานนั้น มาจากการปูพรมแดงให้ของนักวิชาการจำนวนมาก ทั้งขาใหญ่และขาอยากใหญ่ที่ต่างกันแสดงความคิดเห็นกันอุตลุดไปหมดว่าสามารถทำได้ ทำได้และทำได้


 


ณ วันนี้ยังสบายดีกันนะครับ ไม่ออกมายืนยันหลักการที่เคยสนับสนุนอย่างเข้มแข็งกันสักหน่อยหรือ หรือว่าขอหลบไปเก็บตัวเผาตำราทิ้งกัน


 


ว่ากันว่าอาจารย์ หรือนักวิชาการแอคติวิสต์แหละตัวดี บางคนบุกไปล็อบบี้แกนนำพันธมิตรบางคนถึงใต้เวทีอภิปรายเพื่อให้สนับสนุนแนวทางนายกฯ พระราชทาน กระทั่งทำให้บางคนต้องหันหลังพร้อมน้ำตาให้กับการเคลื่อนไหวจากการประกาศแนวทางนายกฯ พระราชทาน


 


บัดนี้ก็ได้มาถึงจุดที่จะได้เป็นบทเรียนกันเสียที สำหรับการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้ยึดหลักการเป็นหัวใจสำคัญนั้น ท้ายที่สุดสังคมแทบไม่ได้อะไรเลย เราควรต้องตระหนักกันให้มากว่าแม้จะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน ก็มิใช่สิ่งที่วางใจแต่ต้องช่วยกันด่าเพื่อไม่ให้พวกอีแอบหรือบ้ากล้องโทรทัศน์มาฉวยประโยชน์ไปอย่างไม่รู้สึกละอายใจเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net