Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จัดการสัมมนาเรื่อง "แรงงานไทยและต่างด้าว ความรับผิดชอบของสังคมไทยในปัจจุบัน" เนื่องในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม


 


จอนชี้แรงงานไม่เสรี


นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ กล่าวว่า ขณะที่เราพูดกันถึงโลกยุคโลกาภิวัตน์ เรื่องการค้าเสรี แต่กลับไม่มีใครพูดถึงแรงงานเสรี มีการกีดกันไม่ให้ประเทศที่เศรษฐกิจด้อยกว่าข้ามแดนมาทำงาน เรื่องนี้ต้องมองว่า แรงงานก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐาน ต้องมอบหลักประกันให้ และคุ้มครองความเป็นอยู่ให้เขา


 


เราต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น โดยด้านแรงงานไทยในไทย คิดว่า มีเรื่องต้องต่อสู้เรียกร้อง 3 เรื่อง คือ แรงงานควรได้เลือกตั้งในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ อำนาจในการบริหารประกันสังคมควรเป็นของผู้ประกันตนมากกว่า 50% โดยอาจมาจากการเลือกตั้งของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ และเมื่อนั้นเจ้าของตัวจริงจะเป็นคนกำหนดเองว่า ควรเก็บเงินเท่าไหร่ จะต่อรองกับรัฐอย่างไร และจะได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง สุดท้ายคือ สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน สิทธิในการนัดหยุดงาน โดยครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจและข้าราชการ


 


ส่วนแรงงานไทยในต่างประเทศก็ต้องต่อสู้กับระบบเอเยนซี่ส่งออกแรงงาน ซึ่งคิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์ แรงงานต้องขายที่นา กู้เงินดอกเบี้ยสูง เพื่อนำเงินมาจ่ายค่านายหน้า สุดท้ายแล้วถูกหลอกเอาเงินไป การจะแก้เรื่องนี้อาจให้รัฐเป็นคนจัดการ เพราะสามารถตรวจสอบการทำงานได้ ต้องตั้งหน่วยงานในทุกประเทศที่มีแรงงานไทย หรือตราบใดที่บริษัทยังเป็นผู้ดำเนินการอยู่ ก็ให้นำเงินค่านายหน้ามาไว้ที่กระทรวงแรงงานก่อน เมื่อแรงงานเดินทางกลับประเทศเรียบร้อยแล้ว บริษัทจึงจะได้รับเงิน


 


สำหรับแรงงานต่างชาติในไทย เห็นว่า ระบบการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวซึ่งต้องจ่ายเงินค้ำประกันไม่ควรให้นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการ แต่ควรให้องค์กรระหว่างประเทศเป็นคนจัดการ เพื่อป้องกันการยึดหนังสือเดินทางของแรงงานต่างด้าว และเพื่อให้สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม


 


นอกจากนี้ เสนอให้แรงงานต่างด้าวมีค่าแรงขั้นต่ำแต่น้อยกว่าแรงงานไทย เพื่อให้เป็นจริง เพราะตอนนี้แม้จะกำหนดให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันแต่ก็ยังไม่ได้ นอกจากนี้ ที่คนเลือกแรงงานต่างด้าวก็เพราะค่าแรงถูกกว่า


 


ด้านองค์กรต่างๆ ที่มาให้บริการกับคนต่างด้าว เช่น คลินิก โรงเรียน ก็ควรได้รับใบอนุญาตให้เปิดได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะเป็นองค์กรที่มีประโยชน์มาก โดยเมื่อสามารถดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวได้ดีก็จะช่วยลดโรคติดต่อลงได้ หรือเมื่อลูกๆ ของแรงงานต่างด้าวได้เรียนหนังสือ ปัญหาสังคมก็จะลดลง


 


แรงงานต่างด้าวช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย


นางไอรีนา โวแจคโควา-โซลโลราโน หัวหน้าสำนักงานและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความเห็นว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนมาจากแรงงานต่างด้าวทั้งนั้น โดยนอกจากจะได้ประโยชน์ด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของต่างชาติ ต่างภาษาแล้วยังได้ประโยชน์ทางการเมืองด้วย


 


"หากคนในประเทศเพื่อนบ้านมาเรียนหนังสือในไทย พอเรียนจบและกลับประเทศไปก็จะมีคนมาเรียนอีก หรือเมื่อแรงงานต่างด้าวทำงานได้เงิน และส่งกลับประเทศ เท่ากับไทยช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านมีความแข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลดีต่อการเมืองระหว่างประเทศด้วย" 


 


ยันแรงงานไทยยังถูกเอาเปรียบ


ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แสดงความเห็นในเรื่องการคุ้มครองแรงงานไทยว่า แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองการจ้างงานคุ้มครองอยู่ แต่ก็ยังมีโรงงานที่หาช่องว่างเอาเปรียบละเมิดสิทธิคนงาน อย่างการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง ซึ่งแม้จะคนงานจะมีงานทำ แต่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต เพราะหลักประกันและสวัสดิการต่างๆ ไม่คุ้มครองไปถึง


 


"เคยยื่นหนังสือเรื่องนี้ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน โดย พ.ต.ท.ทักษิณก็บอกว่าควรยกเลิกการจ้างแบบเหมาค่าแรงเพราะเป็นการจ้างแบบทาส แต่ถึงตอนนี้ก็ยังมีระบบนี้อยู่"


 


นอกจากนี้ เห็นด้วยกับ อ.จอนว่า ควรปรับโครงสร้างกรรมการในกองทุนประกันสังคมใหม่ให้ลูกจ้างมีส่วนตัดสินใจ ยิ่งตอนนี้รัฐกำลังถังแตก ยิ่งต้องคอยตรวจสอบว่าเอาเงินไปทำอะไร เพื่อใคร เพราะอาจมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองได้


 


สุดท้าย สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นที่สุดคือ การให้คนงานมีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่ทำงานได้ เพื่อให้มีอำนาจต่อรองเชิงนโยบายมากขึ้น พร้อมกันนี้อยากให้ยกเลิกการกำหนดวุฒิการศึกษาของผู้สมัคร ส.ส. ส.ว.ซึ่งต้องจบปริญญาตรีเพราะเป็นการกีดกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อเปิดโอกาสให้คนงานส่งผู้แทนของตัวเองเลือกตั้งได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net