Skip to main content
sharethis

 


ภาพที่เราจะได้เห็นกันจนชินตาตามหน้าหนังสือพิมพ์ไทยช่วงนี้คงจะหนีไม่พ้นภาพการสาดน้ำสงกรานต์ตามพื้นที่ต่างๆ (นอกเหนือจากนั้นก็คือรายงานอุบัติเหตุว่ามีสถิติผู้เสียชีวิตเนื่องในเทศกาลสงกรานต์เป็นจำนวนเท่าไหร่แล้ว รวมถึงภาพสถานีขนส่งต่างๆ ที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมายในยามที่เทศกาลนี้สิ้นสุดลง) และเชื่อได้เลยว่าสื่อต่างประเทศคงจะเสนอภาพการเล่นสงกรานต์ในเมืองไทยอย่างชุ่มฉ่ำไม่แพ้กัน


 


ส่วนภาพผืนดินแห้งแล้งของอีสานบ้านเราหรือไม่ก็ภาพทะเลทรายอันแห้งแล้งในซีกโลกแอฟริกาอาจจะถูกนำมาเสนอควบคู่กันเป็นการเปรียบเทียบ เพื่อให้เราได้เห็นว่าน้ำมีค่ามากแค่ไหนในบางพื้นที่ และการสาดน้ำเพื่อบรรเทาความร้อนตามประเพณีที่กล่าวอ้างกันมาก็ไม่อาจช่วยบรรเทาการขาดแคลนน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของสังคมโลกปัจจุบันได้เลย แต่น่าเสียดายที่ภาพอย่างหลังไม่ค่อยมีให้เราเห็นกันมากเท่ากับภาพความชุ่มฉ่ำในแบบแรก


 


ในโอกาสที่เป็นวันน้ำโลก (World Day for Water) เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา สมัชชาสหประชาชาติได้ตอกย้ำจุดยืนในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำด้วยการเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประเทศที่เป็นสมาชิกพอสมควร แต่ความเคลื่อนไหวที่สำคัญๆ อีกอย่างหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับ "วัฒนธรรม" ที่แต่ละชุมชนใช้ในการจัดสรรทรัพยากรน้ำ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ใช้น้ำตามวิถีทางที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตอย่างแท้จริง


 


องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) คือสองหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องการดูแลจัดสรรน้ำโดยตรง และในปี 2549 ยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องการดูแลน้ำละแปซิฟิก ()ฆษณาที่ได้ยินได้ฟังเช้นันมานั้น ไม่สามารถปเป็นการเปรียบเทียบ เพื่อให้เนี้ ยูเนสโกและเอสแคปได้รายงานผลการศึกษาเรื่องทรัพยากรน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยให้ข้อมูลที่น่าตกใจว่าแหล่งน้ำจืดเท่าที่มีอยู่ในโลกเหลือเพียงร้อยละ 0.25 ของแหล่งน้ำทั่วโลก ซึ่งไม่มีทางหล่อเลี้ยงพลเมืองโลกประมาณ 6 พันล้านคนได้อย่างทั่วถึงเลย


 


นอกจากนี้ ปัญหาโลกร้อนยังมีส่วนซ้ำเติมให้ภาวะขาดแคลนน้ำกลายเป็นตัวคุกคามต่อการพัฒนาประเทศยากจนต่างๆ อย่างรุนแรง เพราะสภาพอากาศจะแปรปรวนและก่อให้เกิดพายุ น้ำท่วม และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้โลกเกิดภัยแล้งนอกฤดูกาล โดยภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้


 


แม้ว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ของโลกจะเกิดจากข้อจำกัดทางภูมิประเทศ แต่ปัญหาเรื่องน้ำที่ใหญ่ที่สุดของชุมชนจำนวนมากในเวลานี้คือการถูกรุกคืบจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ซึ่งพยายามจะแปรรูปให้น้ำกลายสภาพ (จากทรัพยากรธรรมชาติ) ไปเป็นสมบัติส่วนตัวของบรรษัทต่างๆ


 


ข้ออ้างสำคัญที่บรรษัทข้ามชาติต่างๆ ใช้เมื่อต้องการบุกเข้าไปในชุมชนเพื่อจัดการแปรรูปน้ำคือการบอกว่าจะมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการเรื่องน้ำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำโฆษณาที่ได้ยินได้ฟังจากกลุ่มทุนต่างๆ ไม่ได้มีเพียงด้านเดียวเท่านั้น


 


หนทางการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่ตีบตันจนน่าเป็นห่วง


ความตื่นตัวเรื่องการจัดสรรทรัพยากรน้ำเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งสมัชชาสหประชาชาตินำเสนอรายงานเรื่องภาวะขาดแคลนน้ำจืดที่ส่อเค้าว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของพลเมืองโลกในยุคสหัสวรรษ ทั่วโลกจึงมีการวางแผนและนโยบายร่วมกันเพื่อรับมือกับแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนน้ำ


 


ธนาคารโลกและกองทุนกู้ยืมระหว่างชาติ (ไอเอ็มเอฟ) เข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงนี้เอง เพราะทั้งสององค์กรล้วนแต่สนับสนุนให้มีการแปรรูปกิจการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้น ด้วยเหตุผลว่าการแข่งขันทางด้านธุรกิจจะส่งผลให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มีตัวเลือกในการเข้าถึงน้ำได้อย่างสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น


 


เพราะความเชื่อดั้งเดิมระหว่างการจัดการทรัพยากรของรัฐบาลกับเอกชนมักจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในความรู้สึกของผู้อุปโภคบริโภค ถึงแม้การจัดสรรทรัพยากรซึ่งให้บริการโดยรัฐบาลจะมีข้อดีเรื่องความเท่าเทียมกัน แต่ภาพลักษณ์ด้านการบริการของเอกชนดูจะมีประสิทธิภาพดีกว่าในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ และความเชื่อนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่พลเมืองโลกเห็นพ้องต้องกันอย่างยิ่ง


 


การกระตุ้นให้เอกชนเข้ามาถือครองธุรกิจจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น แหล่งน้ำต่างๆ) จึงเกิดขึ้น และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (โดยเฉพาะธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ) จึงเร่งผลักดันให้ประเทศที่เป็นลูกหนี้แปรรูปสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านี้ให้เป็นของเอกชน ถึงขนาดที่มีเงื่อนไขในการกู้เงินข้อหนึ่งว่าประเทศที่เป็นลูกหนี้สามารถผ่อนจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าปกติ ถ้ารัฐบาลสนับสนุนให้มีการแปรรูปสาธารณูปโภคทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นของเอกชน


 


ประเทศยากจน (และประเทศ "อยากรวย" ทั้งหลาย) ที่กู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟหรือธนาคารโลกจึงยอมรับข้อตกลงด้วยเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อนำเงินกู้มาใช้ในการพัฒนาประเทศ การแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้จึงถูกเปลี่ยนถ่ายไปอยู่ในมือของบรรษัทเอกชนเป็นจำนวนไม่น้อย


 


ปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็คือประชาชนในประเทศยากจนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดที่บริหารจัดการโดยเอกชนได้เลย เพราะแต่เดิมกิจการสาธารณูปโภคเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เมื่อแปรรูปไปให้เอกชนจัดการจึงเกิดเป็นภาวะ "ไร้คู่แข่งขัน" เกิดขึ้น และนั่นคือชนวนเหตุของปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำที่เกิดขึ้นทั่วโลก


 


ภาวะไร้คู่แข่งขันเกิดขึ้นเพราะกิจการสาธารณูปโภคต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เมื่อกิจการเหล่านั้นหลุดลอยไปอยู่ในมือของเอกชนเสียแล้ว การผูกขาดทางธุรกิจจึงเกิดขึ้น และบริษัทเอกชนก็สามารถขึ้นราคาค่าบริการต่างๆ ได้ตามต้องการ ในขณะที่ผู้บริโภคไม่มีทางอื่นให้เลือก แต่ถ้าหากกิจการสาธารณูปโภคยังเป็นของรัฐ ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคก็พอจะสามารถต่อรองกับรัฐบาลได้ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งวิธีขั้นพื้นฐานที่สุดก็เห็นจะเป็นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้พรรคฝ่ายตรงข้ามลองขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทนบ้างก็ยังได้


 


แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่ประเทศที่ต้องเผชิญกับการผูกขาดน้ำโดยบริษัทเอกชนมีสถิติผู้เสียชีวิตจากภาวะขาดแคลนน้ำสูงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการอุปโภคบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด (เพราะไม่สามารถสู้ราคาค่าน้ำที่แพงขึ้นได้) มีจำนวนสูงกว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากสงครามถึง 10 เท่า


 


ความไม่เท่าเทียมกันในการจัดสรรทรัพยากรน้ำ


แม้บางประเทศจะยังไม่มีการแปรรูปกิจการน้ำให้เป็นของเอกชน แต่การจัดสรรทรัพยากรน้ำที่ไม่เท่าเทียมก็เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน และทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมจนนำไปสู่การทำสงครามน้ำได้


 


ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนของการจัดสรรน้ำที่ไม่เท่าเทียม คือ การที่รัฐบาลคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจของกลุ่มทุนมากกว่าจะคำนึงถึงประชาชน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งน้ำจนกลายเป็นข้อพิพาทใหญ่โต เช่นกรณีสงครามแย่งชิงน้ำที่เกิดขึ้นในประเทศโบลิเวียตั้งแต่ช่วงปี 2543 เป็นต้นมา


 


ส่วนกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นใกล้ตัวที่สุด ได้แก่ ข้อพิพาทระหว่างชาวเมืองเมดิกัญจ์ (Mehdiganj) ในอินเดีย ที่ต้องต่อสู้กับบริษัทโคคา-โคลาฮินดูสถานมาเป็นเวลานาน เนื่องจากรัฐบาลอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวตั้งโรงงานบรรจุขวดอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำในเมือง แต่บริษัทโคคา-โคลาฮินดูสถานกลับไม่มีระบบการจัดการน้ำเสีย และโรงงานก็มักง่ายด้วยการทิ้งน้ำเสียที่ไม่ได้บำบัดลงในพื้นที่ด้านหลัง ทำให้สารเคมีต่างๆ ซึมลงสู่ผืนดิน จากนั้นก็แพร่กระจายไปยังแม่น้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำเพียงแหล่งเดียวของเมือง


 


แม่น้ำในเมืองเมดิกัญจ์มีปริมาณสารพิษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และประชาชนได้ออกมาประท้วงให้บริษัทโคคา-โคลาฮินดูสถานรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว พนักงานในโรงงานก็เข้าร่วมประท้วงด้วย สุดท้ายก็ถูกบริษัทบีบให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม และชาวเมืองเมดิกัญจ์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสียก็ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือชดเชยใดๆ จากทางบริษัท ซึ่งรัฐบาลอินเดียก็ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาจัดการในเรื่องนี้อย่างที่ควรจะเป็น


 


เมื่อนักวิชาการคนหนึ่งนำปัญหาดังกล่าวไปพูดถึงในการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมดิกัญจ์กลายเป็นประเด็นสากล รัฐบาลอินเดียและบริษัทโคคา-โคลาฮินดูสถานจึงยอมออกมาเจรจากับผู้ชุมนุมประท้วงดังกล่าว แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติที่ลงตัว และแหล่งน้ำธรรมชาติของชาวเมดิกัญจ์ก็ยังคงมีสารพิษตกค้างอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ ประชากรอินเดียเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่มีโอกาสอุปโภคบริโภคน้ำสะอาดปลอดสารพิษ


 


บางครั้งการมุ่งพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำโดยไม่คำนึงถึงโครงสร้างการใช้น้ำในอนาคตก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษและญี่ปุ่นก็ยังประสบปัญหาการจัดสรรทรัพยากรน้ำไม่เหมาะสม เพราะเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทน้ำของเอกชนที่ดำเนินกิจการมากว่า 15 ปีอย่างเทมส์ วอเทอร์ ได้ประกาศห้ามไม่ให้ผู้บริโภคชาวอังกฤษใช้สายยางและสปริงเลอร์รดน้ำต้นไม้ตั้งแต่ 13 มีนาคม เป็นต้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายประหยัดน้ำของรัฐบาลอังกฤษ


 


การรณรงค์ห้ามไม่ให้ใช้สายยางและสปริงคเลอร์ในการรดน้ำต้นไม้ (แต่ควรจะรอให้ฝนตกลงมาแทน) ถือเป็นข้อถกเถียงในหมู่ชาวอังกฤษที่อยู่ในลอนดอน เคนท์ และกลอสเตอร์เชอร์ ซึ่งเป็นลูกค้าของเทมส์วอเทอร์ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ไม่อยากจะเสียความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันไป แต่รัฐบาลอังกฤษให้ความสนับสนุนแก่บริษัทน้ำมากกว่าการเข้าข้างประชาชน พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าการประหยัดน้ำจะเป็นการช่วยรักษาทรัพยากรน้ำอีกทางหนึ่ง


 


ตรงกันข้ามกับรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการอนุมัติโครงการสร้างเขื่อนอย่างบ้าคลั่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้าที่จะมีการลงนามในพิธีสารเกียวโต (นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา) รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนเก็บน้ำกว่า 200 แห่ง เป็นเหตุให้ประเทศญี่ปุ่นเสียเงินงบประมาณไปราวๆ 4 หมื่นล้านเยน (1 แสน 4 หมื่นล้านบาท) แต่ปริมาณการใช้น้ำของคนญี่ปุ่นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณลดลงถึงร้อยละ 10 เนื่องจากประชาชนตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์น้ำ เพื่อตอบสนองข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต ซึ่งมีเงื่อนไขเรื่องการประหยัดน้ำรวมอยู่ในนั้นด้วย


 


เซอิ คาโตะ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของญี่ปุ่น ออกมายอมรับว่าค่าใช้จ่ายในการทำนุบำรุงเขื่อนต่างๆ เป็นภาระที่ประชาชนและรัฐบาลต้องแบกรับ และถือเป็นการใช้ภาษีที่ไม่คุ้มค่า เนื่องจากปริมาณน้ำที่กักเก็บเอาไว้มีปริมาณมากเกินกว่าที่ชาวญี่ปุ่นจะใช้อุปโภคบริโภคได้ทัน


 


จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรน้ำกลับไปอยู่ในมือของประชาชน?


ข้อมูลการสำรวจสถิติของสหประชาชาติในปี 2542 รายงานว่าประชากรโลกกว่า 2,400 ล้านคน ไม่ได้รับความสะดวกสบายด้านสุขอนามัยเกี่ยวกับการใช้น้ำ ซึ่งทางยูเนสโกและเอสแคปได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การอนุรักษ์น้ำ การบำบัดน้ำเสียและปรับเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการทำวิจัยแหล่งทรัพยากรที่มีอยู่ และออกกฎหมายควบคุมการใช้น้ำที่ทันสมัยขึ้น เช่นเดียวกับการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการใช้น้ำให้กับประชากรโลก และออกมาตรการการจัดสรรน้ำอย่างเสมอภาค แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทฤษฎีเหล่านั้นอาจใช้ไม่ได้ผลเลยก็เป็นได้


 


การจัดสรรทรัพยากรน้ำให้ลงตัวและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุดจะต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย และหัวข้อการประชุมเนื่องในวันน้ำโลกประจำปีนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การใช้น้ำควบคู่ไปกับวัฒนธรรมในแต่ละชุมชน


 


ตัวอย่างการจัดสรรทรัพยากรน้ำในชุมชนที่ได้ผลมากที่สุด ได้แก่ การก่อตั้งแนวร่วมต่อต้านการแปรรูปน้ำแห่งชาติ (National Coalition Against the Privatization of Water) ในประเทศกานา ซึ่งมี รูดอล์ฟ อเมนก้า เอเตโก้ อดีตทนายความผู้ผันตัวเองมาเป็นแกนนำในการต่อต้านแผนการแปรรูปน้ำของรัฐบาลกานา และยับยั้งไม่ให้รัฐบาลกานาแปรรูปน้ำได้สำเร็จในปี 2546


 


นอกจากนี้ อเมนก้า-เอเตโก้ ยังเป็นผู้คิดค้นการบริหารจัดการน้ำแบบใหม่ที่ไม่ต้องอาศัยการแปรรูปน้ำไปสู่มือของเอกชน ซึ่งอเมนก้า-เอเตโก้เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยชุมชนรับผิดชอบเรื่องการจัดการน้ำด้วยตนเอง และให้รัฐวิสาหกิจขายน้ำให้กับชุมชนในราคาขายส่ง และคอยปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีพอ ส่วนการจ่ายน้ำ การตั้งราคา การเก็บค่าน้ำ และการบำรุงรักษาท่อน้ำจะเป็นหน้าที่ของประชากรในชุมชนทั้งหมด การมอบอำนาจในการจัดการน้ำคืนให้แก่ชุมชนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย


 


ในส่วนของประเทศไทย มีการจัดประชุมสัมมนาเวทีนโยบายสาธารณะว่าด้วยเรื่อง "การจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน: เมกะโปรเจกต์ การจัดสรร และมลภาวะ" เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549


(จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย)


 


 ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดถึงสถานการณ์เรื่องน้ำในประเทศไทยเอาไว้ว่า "เมืองไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่เปอร์เซ็นต์การใช้น้ำของเรามันอยู่ในข่ายที่ต้องสนใจการจัดการน้ำอย่างจริงจัง แต่เวลานี้เราไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร"


 


ในการประชุมดังกล่าวจึงได้มีการเสนอนโยบายการจัดการน้ำที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่


 


(1) ต้องมุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยจัดหาแหล่งน้ำต่างๆ อย่างระมัดระวังให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ควรสนใจแต่ประเด็นเมกะโปรเจกต์เพียงอย่างเดียว


 


(2) ต้องเน้นการจัดสรรการใช้น้ำให้เกิดความเป็นธรรม มีการจัดลำดับความสำคัญ เพราะฉะนั้น จะต้องมีการจัดน้ำอุปโภคบริโภคในลุ่มน้ำที่ขาดแคลนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงตามมาด้วยการรักษาระบบนิเวศ และการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร หรือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ตามลำดับ


 


(3) ต้องมีการเร่งอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดพันธกิจและกระบวนการทำงานอย่างจริงจัง


 


(4) ต้องเร่งแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดกับชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม โดยต้องมีแผนออกมาว่าจะสู้กับภัยธรรมชาติ หรือจะป้องกัน ตั้งรับ และหลบภัยธรรมชาติได้อย่างไร รวมถึงวางแผนว่าจะอยู่ให้สอดคล้องกับภาวะน้ำท่วมได้อย่างไร


 


(5) ต้องเร่งแก้ไขปัญหาน้ำเสียในทุกพื้นที่ เพราะน้ำเสียคือแหล่งเสื่อมโทรมตามธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขั้น จึงจำเป็นต้องประกาศเป็นนโยบายให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net