Skip to main content
sharethis

วุฒิสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 6 ปีก่อนจำนวน 200 คนได้หมดวาระลงแล้ว ตอนนี้ อาคารรัฐสภาคงกำลังรอการมาถึงของวุฒิสภาชุดใหม่ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งในวันที่ 19 เมษายนที่จะถึงนี้


 


ที่ผ่านมา เราเห็นความสำเร็จของ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ส.ว.กรุงเทพมหานคร ที่ยื่นเรื่องผ่านประธานรัฐสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการสรรหา พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นไปโดยมิชอบ และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 38/2545 ทำให้ พล.อ.ศิรินทร์ต้องพ้นจากตำแหน่ง


 


หรือเมื่อปลายปี 2547 ที่ ส.ว.เสียงข้างน้อยนำโดย พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ส.ว.กทม. ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้อำนาจมิชอบ กรณีออกระเบียบค่าตอบแทนเพิ่มเติมให้แก่ตนเอง และศาลได้ตัดสินว่ามีความผิดจริงตามคำฟ้อง ส่งผลให้ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา


 


คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ที่มี แก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กทม.เป็นประธาน ก็มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการบุกรุกทำลายป่าชายเลน ตำบลพังราด อำเภอแกลง จังหวัดระยอง จนนำมาสู่การยื่นฟ้องบริษัท ธุรกิจฟาร์มกุ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี


 


หรือกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา ที่มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นประธาน สอบสวนการจัดซื้อชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจจับวัตถุระเบิดประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ซีทีเอ็กซ์ 9000) พบว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อ โดยส่งเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคมเพื่อให้ดำเนินการทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญากับศรีสุข จันทรางศุ และพวก ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และเจ้าหน้าที่ของ บทม.ที่มีส่วนในการกระทำความผิด รวมถึงส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากทำให้ บทม.เสียหายเป็นมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านบาท


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับระยะเวลา 6 ปีในการดำรงตำแหน่งแล้ว คงต้องตั้งคำถามว่า พวกเขาได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่น่าพอใจแล้วหรือยัง


 


ดู "ฉายา" แล้วย้อนดู "ผลงาน"


แม้ว่า 6 ปีก่อน สื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งฉายา "อวสานสภาสูง" ให้กับวุฒิสภาชุดที่มาจากการแต่งตั้งที่กำลังจะหมดวาระ คล้ายเป็นนิมิตหมายที่ดีว่านับแต่นั้นวุฒิสภาจะเป็นอิสระ เป็นการยุติบทบาทของวุฒิสภาที่มาจากทหาร ข้าราชการ นายทุน และบุคคลที่พรรคการเมืองแต่งตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง …


 


แต่ในปีต่อๆ มา ฉายา"สภาจับฉ่าย" "สภาเป็ด-สามก๊ก" "ตรายางเอื้ออาทร" "สภาโจ๊ก" ที่วุฒิสภาได้รับกลับสะท้อนถึงการทำหน้าที่ที่ไม่ชัดเจน การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความไม่อิสระ การเอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง และการปฏิบัติหน้าที่ที่ล้มเหลว ซึ่งตรงข้ามกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อย่างสิ้นเชิง


 


จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว "สภาทาส" ฉายาสุดท้ายที่วุฒิสภาชุดนี้ได้รับก็ตอกย้ำภาพความไม่อิสระของตัวเองอีกระลอก เนื่องจากบางครั้งมีข่าวว่ามีการลงมติตามโผตามโพย เปรียบเหมือนทาสของนายเงิน และว่ากันว่านายเงินของวุฒิสภานั้นก็คือรัฐบาลพรรคไทยรักไทย อันกลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งภายใต้คำนิยามของสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" นั่นเอง


 


ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า การใช้อำนาจแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ นั้นมีปัญหา อาทิ การเลือกกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2544 ซึ่งที่ประชุมลงมติเลือก จรัล บูรณพันธุ์ศรี ปริญญา นาคฉัตรีย์ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ วีระชัย แนวบุญเนียร และ พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ เป็น กกต. มีข่าวลือและใบปลิวไปทั่วสภาว่ามี ส.ว.กลุ่มหนึ่งได้รับสินบนในการลงมติเป็นตัวเลข 6 หลัก


 


กรณีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่า สตง.) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 47/2547 ว่าการสรรหาเป็นไปโดยมิชอบ ปล่อยให้ตำแหน่งนี้ว่างอยู่เกือบ 2 ปี ซ้ำวุฒิสภายังให้ความเห็นชอบให้วิสุทธิ์ มนตริวัต เป็นผู้ว่าการ สตง.คนใหม่ และสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา นำเรื่องกราบบังคมทูลเกล้าฯ จนผ่านไป 100 กว่าวัน ก็ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จนวิสุทธิ์จำต้องประกาศถอนตัว


 


การเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่กรรมาธิการตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อของวุฒิสภา พบว่า กรรมการสรรหาและผู้ได้รับการเสนอชื่อบางคนมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจต่อกัน เป็นอีกกรณีหนึ่งที่วุฒิสภาตัดสินใจเดินหน้าเลือก ในที่สุดศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า การสรรหา กสช. ไม่ชอบ ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่


 


การสรรหา ป.ป.ช.ชุดใหม่ 9 คน (หลังจำต้องลาออกจากกรณีขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง) ที่แม้จำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อไม่ครบ 18 คนตามข้อกฎหมาย เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. ถอนตัวจากการเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อ แต่วุฒิสภาก็ดันทุรังเดินหน้าต่อ และก็เช่นเดียวกับกรณี กสช. ที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า กระบวนการสรรหามิชอบ


 


ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ อดีต ส.ว.กทม. บอกเล่าปัญหาการทำงานว่า เรื่องความเป็นกลางนั้นหาคนที่ยึดหลักความถูกต้องไม่ค่อยได้ เข้าค่ายกันไปหมด ทั้งค่ายของผู้มีอำนาจ ผู้เสียอำนาจ แต่ไม่มีใครยืนอยู่ข้างความถูกต้อง แม้จะมี ส.ว.บางส่วนที่ใช้ได้ แต่ก็ไม่เป็นเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา


 


ขณะที่ทองใบ ทองเปาด์ อดีต ส.ว. มหาสารคาม ให้ความเห็นว่า 6 ปีที่ผ่านมารู้สึกว่าวุฒิสภายังถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ทำให้ความเป็นกลางถูกเบี่ยงเบนไป แม้แต่สื่อมวลชนยังให้ฉายาว่า สภาทาส ซึ่งก็ไม่ได้โกรธ เพราะเขามองภาพเป็นอย่างนี้


 


"แม้แต่การเลือกบุคคลไปสังกัดองค์กรอิสระ 8 องค์กร ตามรัฐธรรมนูญ หลายครั้งที่เป็นประธานกรรมการตรวจสอบก็รู้ว่าผู้ที่ได้รับสรรหาเข้ามาไม่ได้คนตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ส่วนหนึ่งไม่ใช่ความบกพร่องของวุฒิสภา แต่เป็นเพราะกรรมการสรรหาส่งมาให้ จากนั้นเราก็คัดเลือกจากที่เขาส่งมาให้ เลือกจากที่มีจำกัด จึงไม่สามารถเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถและเป็นกลางเข้าไปทำงานได้ เพราะมีโผเข้ามาอย่างที่ปรากฏข้อเท็จจริงอยู่"


 


ทองใบ แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา ที่รู้สึกว่าดีหน่อยก็คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งมีความรู้ความสามารถพอสมควร เนื่องจากตอนนั้นเพิ่งได้เลือกเข้ามาใหม่ๆ จึงยังไม่ถูกแทรกแซง แต่ส่วนอื่นยังเห็นว่าเป็นปัญหา เช่น ป.ป.ช. กกต. เพราะเมื่อคนเริ่มเห็นประโยชน์ก็เข้ามาแทรกแซง


 


ไม่เพียงแต่การคัดเลือกองค์กรอิสระเท่านั้นที่ทำให้วุฒิสภาไม่สามารถทำหน้าที่ถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารได้ แต่ยังรวมถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบ ถอดถอน ซึ่งแทบจะไม่ปรากฏเป็นผลงานออกมา


 


แม้แต่การตรวจสอบโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ที่ให้ ส.ว.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ ส.ว.ทั้งหมด หรือจำนวน 120 คน ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจาก ส.ว. ชุดนี้


 


สำหรับการตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนเรื่องต่างๆ ของวุฒิสภา พ.อ.สมคิด ศรีสังคม อดีต ส.ว.อุดรธานี ซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา เล่าว่า มีการร้องทุกข์เรื่องการทุจริตมากว่า 200 กว่าราย แต่ที่สอบสวนเสร็จได้จริงมี 20 กว่าเรื่องเท่านั้น


 


พ.อ.สมคิด เล่าว่า แม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจที่จะเรียกเอกสารต่างๆ หรือเรียกข้าราชการ คนภายนอกมาชี้แจงได้ แต่ก็ไม่เคยได้รับความร่วมมือเลย


 


"บางทีเชิญรัฐมนตรีมาชี้แจงเรื่องนโยบาย ก็ให้ข้าราชการประจำมาซึ่งก็ไม่สามารถตัดสินใจหรือให้คำตอบเด็ดขาดได้ เพราะการตัดสินใจอยู่กับรัฐมนตรี ตั้งแต่เป็นวุฒิสภามา 6 ปี นายกรัฐมนตรีไม่เคยมาตอบกระทู้ถามเลย ส่งรัฐมนตรีมาแทน รัฐมนตรีก็ส่งปลัดกระทรวงมาแทน ปลัดกระทรวงก็ส่งอธิบดีมา อธิบดีก็ไม่มาส่งผู้อำนวยการกองมาแทน อย่างนี้จะศึกษาอะไรได้ ท่านก็บอกว่ามีงานมีการ มีงานก็มีกันทุกคน แต่เรื่องสำคัญของบ้านเมือง ฝ่ายบริหารต้องให้ความร่วมมือกับฝ่ายนิติบัญญัติด้วย เพราะก็ถือเป็นอำนาจหนึ่งเท่าเทียมกัน ถ้าเชิญมาก็ควรจะมา"


 


พ.อ.สมคิดเปรียบเทียบอำนาจของฝ่ายยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ หรือศาล ว่ามีอำนาจบังคับได้ หากเรียกใครมาแล้วไม่มาก็ผิดกฎหมายอาญา ถูกปรับ หรืออาจจำคุก แต่ฝ่าย ส.ส. หรือ ส.ว. รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ว่าเรียกบุคคล ขอเอกสารหลักฐานมาได้ แต่พอเชิญมา เขาก็ไม่มา ก็ทำอะไรไม่ได้ แม้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว เขาก็ไม่ปฏิบัติตาม


 


"ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจะทำงานให้ได้ผลต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด แต่หัวหน้ารัฐบาลไม่เคยมาชี้แจงเลย มีเหตุเพศภัยอะไรเกี่ยวกับบ้านเมืองต้องมาแถลงต่อประชาชน แต่นายกฯ ไม่เคยมาสภาเลย ท่านอาจบอกว่า ไปหาราษฎรทั่วไปตามจังหวัดต่างๆ พูดอธิบายทุกวันเสาร์แล้ว ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเลือก ส.ส ส.ว. มาหรอก เพราะให้รัฐบาลทำฝ่ายเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย"


 


พ.อ.สมคิด กล่าวเสริมว่า จะไปเยี่ยมไปพูดกับราษฎรก็เรื่องหนึ่ง แต่ว่าจะหันหลังให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ อันนี้เป็นจุดอ่อนของประชาธิปไตยไทยที่มักขึ้นอยู่กับตัวบุคคล


 


ปัญหาคืออะไร คนหรือกฎหมาย?


หากจะต้องแก้ไขข้อกฎหมายในส่วนของวุฒิสภา ประทีป เสนอว่า ควรแก้ไขเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ


 


1.ควรจะมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยตั้งคำถามว่า ไม่เช่นนั้นแล้วจะตั้งวุฒิสภาให้มาตรวจสอบทำไม


 


2.ในการถอดถอนที่ต้องยื่นให้ ป.ป.ช. วินิจฉัย น่าจะมีการตั้งองค์กรเพิ่มเพื่อแยกมาตรวจสอบเป็นประเด็นๆ ไป เช่น เรื่องการละเมิดสิทธิ อาจให้กรรมการสิทธิฯ วินิจฉัย เป็นต้น เพราะหากผูกอยู่กับ ป.ป.ช.องค์กรเดียว เมื่อป.ป.ช. มีปัญหาก็ทำอะไรไม่ได้ ส่งผลให้รวนไปหมด


 


3.การเข้าชื่อกันเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ซึ่งต้องใช้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ ส.ว.ทั้งหมด หรือจำนวน 120 คน นั้น เห็นว่าสัดส่วนสูงเกินไป อยากให้ลดสัดส่วนของคนเข้าชื่อลง เพื่อจะเปิดอภิปรายได้


 


อย่างไรก็ตาม นอกจากตัวกฎหมายแล้ว ประทีป เสนอว่า อยากให้การตรวจสอบจากภาคประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น อย่างขณะนี้ที่ออกมาขับไล่ก็เป็นกระแสที่ดี เพราะประชาชนเกิดการตื่นตัว แต่ก็ไม่ควรใช้อารมณ์เหนือเหตุผล เพราะจะพาให้ประเทศบอบช้ำ


 


ด้านพ.อ.สมคิด แสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ดีแล้ว แต่คนไม่ปฏิบัติตาม


 


"กฎหมายออกมากี่หมื่นกี่แสนฉบับแล้วไม่รู้ตั้งแต่เกิดเป็นประเทศไทยมา ถ้าจะเอากระดาษมาปูคงเต็มประเทศไม่รู้กี่ชั้น ถ้าผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็คือฝ่ายบริหารและข้าราชการประจำไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกไว้ให้ หรือปฏิบัติครึ่งๆ กลางๆ ก็ไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อย"


 


"จะแก้ไขให้มันเลิศลอยเท่าไหร่ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร การแก้ก็มีลักษณะเดียวกับกฎหมายต่างๆ ที่ทำกันมา แต่ต่างกันที่วิธีการเท่านั้น เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นออกมาขัดไม่ได้


 


"รัฐธรรมนูญมีหลายเรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติ มีเขียนไว้แล้วเยอะแยะ รัฐบาลหรือสภาต้องร่วมกันออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ออกตามกฎหมายบัญญัติ ไม่ออกกฎหมายมาก็ไม่มีอะไรจะปฏิบัติได้ ไม่มีเครื่องมือทำก็ทำอะไรไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นแม่บทเฉยๆ ต้องมีกฎหมายลูก กฎหมายย่อยเขียนรายละเอียดมา


 


"ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กกต. องค์กรอิสระต่างๆ ข้าราชการประจำ ฝ่าย ส.ส. ส.ว. ปฏิบัติหน้าที่เต็มที่รึยัง คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่รึยัง ถ้าแก้ไขเพิ่มเติมแล้วไม่ปฏิบัติตามก็เสียกระดาษ เสียเวลาเปล่าๆ


 


"หากใครคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องคิดก่อนว่าตั้งแต่มาตรา 1 ถึง 336 มาตราสุดท้าย ปฏิบัติตามที่กำหนดให้ปฏิบัติแล้วรึยัง"


 


พ.อ.สมคิด กล่าวทิ้งท้ายว่า บ้านเมืองจะฉิบหายก็เพราะคน บ้านเมืองจะพัฒนาก้าวหน้าก็เพราะคน คนคือผู้ปฏิบัติไม่ใช่เครื่องยนต์กลไก เพราะฉะนั้นต้องแก้ที่คน แก้ที่รัฐธรรมนูญมันก็เท่านั้น แต่คนในปัจจุบันแก้ได้รึยัง ผู้ใหญ่แล้วแก่แล้วดัดได้ไหม ไม่ได้แล้ว ต้องไปแก้ตั้งแต่อนุบาล ไล่มาถึงอุดมศึกษาให้มีความรู้คู่คุณธรรมโดยสถาบันพื้นฐานของสังคม 3 สถาบัน คือ บ้าน วัดและโรงเรียน ร่วมมือกันสร้างคนรุ่นใหม่ คนรุ่นนี้ใช้ไม่ได้แล้ว


 


สอดคล้องกันกับทัศนะของทองใบที่ยังมองว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนาดี ร่างมาอย่างดีแล้ว ปัญหาคือประชาชนไม่รู้กฎหมาย เรามีกฎหมายที่ดี การที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ถูก


 


แม้แต่ศีล 5 ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามเรายังปฏิบัติได้ไม่เต็มที่ ยิ่งรัฐธรรมนูญไปเกี่ยวข้องกับคนที่มีอำนาจตัณหามีผลประโยชน์มาก เราก็ยิ่งแก้กันยาก การเมืองใครยึดครองอำนาจได้มากก็ได้ประโยชน์เยอะ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญนี้ไม่สามารถควบคุมบุคคลต่างๆ เหล่านั้นได้


 


ต้องปรับคนให้เข้ากับกฎหมาย ให้การศึกษา ให้รู้จักสิทธิของเขา แล้วปฏิบัติตามกฎหมายอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา เข้าใจเจตนาของกฎหมาย ต้องปรับคนให้เป็นคนมากขึ้น ให้มีจริยธรรม ละอายต่อบาป ซึ่งจะสามารถทำให้ทุกอย่างดีได้


 


"แก้คนดีกว่า แก้ข้อบังคับทำได้ง่าย แต่พอแก้แล้วก็บังคับไม่ได้อีก ก็ต้องแก้กฎหมายอยู่เรื่อย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net