Skip to main content
sharethis

ประชาไท—4 เม.ย. 2549 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อปฏิรูปสื่อ (คปส.)  ออกแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารและสิทธิทางวิชาการกรณี วารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายแจก ระบุเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้มีกระบวนการหรือให้เหตุผลอันชัดเจน และชอบธรรมเพียงพอก่อนที่จะสั่งเก็บวารสารฟ้าเดียวกัน หรือดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้เผยแพร่สื่อ 


 


 


.................................................................................................................


 


แถลงการณ์ คปส.


กรณี  "ฟ้าเดียวกัน กับสิทธิในการสื่อสารและสิทธิทางวิชาการ"


 


จากกรณี วารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2548 ได้ตีพิมพ์บทความหลายชิ้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย จนกลุ่มคาราวานคนจนซึ่งให้การสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ได้นำบทความบางบทมาอ่านในที่ประชุม จนกลายมาเป็นประเด็นการออกคำสั่งห้ามการขายหรือจ่ายแจก โดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอาศัยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการห้ามการขายหรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ด้วยเหตุผลที่ว่า ได้ลงโฆษณาข้อความอัน "อาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน"



จากนั้นในวันที่ 1 เม.ย.2549 ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ แจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยที่พนักงานสอบสวนนัดให้ไปสอบปากคำวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2549 เวลา 13.00 น.


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) มีความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องเพราะอาจเป็นการใช้อำนาจรัฐที่ขัดกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ซึ่ง รองรับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความโดยวิธีอื่น ทั้งนี้การให้เหตุผลเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกัน หรือระงับความเสื่อมทราม ทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน อันเป็นข้อยกเว้นตาม มาตรา 39 นั้น   ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้มีกระบวนการหรือให้เหตุผลอันชัดเจน และชอบธรรมเพียงพอก่อนที่จะสั่งเก็บวารสารฟ้าเดียวกัน หรือดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้เผยแพร่สื่อ 


 


ทั้งนี้วารสาร ฟ้าเดียวกัน ถือเป็นวารสารเชิงวิชาการที่เน้นการให้ความรู้ ข้อเท็จจริง (Fact) การวิเคราะห์ (Analysis) และ การแสดงความคิดเห็น (Opinion) ต่อประเด็นที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณชน (Public interest) ด้วยเจตนาสุจริต (Good faith) ตามสิทธิของพลเมือง (Political rights) ในการแสดงออก ( Freedom of expression) ผ่านสื่อสาธารณะ


 


การเผยแพร่วารสารเชิงวิชาการ ได้รับการรองรับสิทธิทางวิชาการตามมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญ คือ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ เห็นว่า การอ้าง พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ซึงเป็นกฎหมายโบราณนั้นย่อมขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 และการใช้อำนาจทางกฎหมายดำเนินคดีโดยทันทีกับกองบรรณาธิการฟ้าเดียวกันโดยไม่มีกระบวนการเจรจาเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้ชี้แจงก่อนนั้น ย่อมตอกย้ำปัญหาการคุกคามเสรีภาพการสื่อสารในสังคมไทยซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมายหลายกรณีภายใต้ระบอบทักษิณ จนนำมาสู่วิกฤตศรัทธาของภาคพลเมืองมีต่อรัฐธรรมนูญอยู่ในปัจจุบัน


 


คปส. ขอเรียกร้องให้ หน่วยงานรัฐ ยึดหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นตัวบทในการพิจารณา อีกทั้งเรียกร้องให้สาธารณชนติดตามการดำเนินคดีครั้งนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อการธำรงไว้ซึ่ง"สิทธิเสรีภาพการสื่อสาร"ตามสิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย


 


ขอแสดงความนับถือ


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)


4 เมษายน 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net