บทความ: สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

โดย ชำนาญ จันทร์เรือง

 

 "...การที่ข้าฯมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น มิใช่เพราะข้าฯไม่เคารพกฎหมายบ้านเมืองไม่ แต่เป็นเพราะข้าฯต้องการปฏิบัติตามคำสั่งที่สูงยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือ คำสั่งแห่งความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดีของข้าฯเอง..."
(มหาตมะ คานธี/คำให้การต่อศาลอินเดีย)

 

เมื่อพูดถึงสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว บรรดานักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ทั้งหลาย คงพากันสะดุ้งว่าผมจะชักนำหรือปลุกระดมผู้คนไปทางไหนกันอีก เพราะในกระแสหลักที่เราถูกปลูกฝังมา โดยตลอดว่า "บุคคลต้องทำตามกฎหมาย" จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ คำสั่งของผู้ปกครองหรือรัฏฐาธิปัตย์ย่อมสูงสุด ประชาชนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามถือว่าผู้นั้นต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้เราลืมกันไปว่า รัฐเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และ กฎหมายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

 

จากหลักการพื้นฐานที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ของทฤษฎีสัญญาประชาคมที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อว่ารัฐมีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์ ที่ร่วมกันสร้างรัฐขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆของมนุษย์ และเครื่องมือที่รัฐใช้ก็คือ กฎหมายที่ออกมาบังคับกับประชาชนเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ในเมื่อรัฐและกฎหมายถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ แล้วเหตุไฉนเล่ามนุษย์จึงจะไม่สามารถปฏิเสธผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์ที่ไม่มีคุณภาพ หรือกฎหมายที่สร้าง โดยมนุษย์ซึ่งไม่เป็นธรรม

 

สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในสังคมไทยของเรา เกิดขึ้นเพระความล้มเหลวของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่มีความจำกัดของระบบการเมืองที่ต้องอาศัยกระบวนการทางการเมืองเฉพาะการเลือกตั้งที่เราเรียกกันว่า "one day democracy"หรือ "ประชาธิปไตยวันเดียว" ซึ่งที่เรากาบัตรเลือกตั้งเพื่อมอบอำนาจไปให้นักการเมืองหรือพรรคการเมือง เพื่อเข้าไปออกกฎหมายและเข้าไปบริหารประเทศ แล้วก็เป็นอันว่าจบกัน

 

สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือคำสั่งของผู้ปกครองที่ไม่ชอบธรรม คือการปฏิเสธอำนาจปกครองของรัฐ ถือได้ว่าเป็นการต่อกรกับความอยุติธรรมของสังคมโดยตรง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นมา เป็นการปฏิเสธไม่ทำตามกฎหมาย หรือการสั่งการของผู้ปกครอง โดยอ้างอิงถึงกฎเกณฑ์ที่สูงกว่ากฎหมาย ที่สำคัญก็คือ เป็นการที่สามัญชนธรรมดาดึงเอาอำนาจที่มอบให้แก่รัฐกลับคืนมา

สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม จะต้องทำด้วยสันติวิธีเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงการบีบบังคับขู่เข็ญด้วยกำลังที่เป็นเรื่องของการใช้ "กฎหมู่" เพื่อบีบบังคับรัฐให้กระทำตามความต้องการของกลุ่มตน โดยไม่สนใจความชอบธรรมหรือผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม

 

การต่อต้านกฎหมายและคำสั่งที่เป็นเป็นธรรมในที่นี้ มีเป้าหมายอยู่ที่การสื่อสารถึงสังคม ถึงปัญหาความเดือดร้อนและความอยุติธรรม โดยผู้ต่อต้านยินยอมรับการลงโทษอันอาจเกิดขึ้นตามกฎหมาย ดังเช่น

โสเครติสนัก คิดคนสำคัญของกรีกที่ปฏิเสธต่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งหมายเพื่อให้ศีลธรรมและความยุติธรรมให้ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังในสังคมสมัยนั้น สุดท้ายตนเองต้องถูกประหารชีวิตโดยถูกบังคับให้ดื่มยาพิษจนตาย

 

มหาบุรุษ มหาตมะ คานธี เคยใช้วิธีอหิงสาต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษ จนอินเดียได้รับเอกราช หรือดอว์ อองซาน ซูจี ที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบันต่อรัฐบาลทหารพม่าจนทั่วโลกพากันแซ่ซร้อง สรรเสริญกันอย่างยิ่งใหญ่ ในโอกาสครบรอบวันกิดหกสิบปีของเธอไปเมื่อไม่นานมานี้

 

ตัวอย่างในอดีตของไทยก็เคยมีมาแล้ว เช่นกรณีของนายนรินทร์ กลึง หรือนรินทร์ ภาษิต ที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์ของรัฐจนถูกจองจำ และในยุคร่วมสมัย เช่นกรณีของยายไฮ ซึ่งต่อสู้กับอำนาจรัฐจนเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในข่ายของการคัดเลือก เพื่อที่จะนำไปสู้การเสนอชื่อรับรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หรือกรณีของสมัชชาคนจนที่เรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสันติ แต่ถูกพยายามแยกสลายด้วยกลการเมืองจนอ่อนแรง

 

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองหรือความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้เห็นได้ว่าระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรากฏการณ์ต่อต้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงการปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยหันกลับไปสู้ลักษณะของประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งเป็นรูปแบบการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้แก่ภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น

 

ในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปในด้านประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น เป็นไม่ได้ที่จะฝากอำนาจอธิปไตยให้แก่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปจนหมด เราจะต้องช่วยกันสร้างขึ้นมาถ่วงดุล หนึ่งในกลไกนั้นก็คือกลไกทางกฎหมายที่มิใช่ออกมาจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว แล้วไปบังคับใช้ทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงสภาพพื้นที่หรือสภาพเป็นจริงในสังคมที่เราเรียกกันว่า one law for all นั้นเอง

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการพยายามผลักดันให้ภาคประชาชนมีส่วนรวมในการร่างกฎหมายก็คือ กฎหมายป่าชุมชนที่กำลังถูกแช่แข็งอยู่ในสภาขณะนี้ ซึ่งกฎหมายป่าชุมชนนั้นแยกสิทธิออกเป็น 3 ส่วน

 

ส่วนแรก คือสิทธิการเป็นเจ้าของ ซึ่งถือว่าป่ายังเป็นของรัฐเหมือนเดิม
ส่วนที่สอง สิทธิการใช้และการจัดการ ถือว่าป่าเป็นของชุมชน มอบให้ชุมชนดูแล และ
ส่วนที่สาม เป็นสิทธิในการตรวจสอบและถ่วงดุลเป็นของภาคประชาสังคม แทนที่จะให้รัฐเป็นฝ่ายผูกขาดป่าไว้เป็นแต่เพียงฝ่ายเดียว จนทำให้พื้นที่ป่าลดน้อยถอยลงทุกวัน

 

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมกันปลุกจิตสำนึกที่จะต่อต้านกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการออกระเบียบ กฎเกณฑ์ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของตนเอง การออกกฎหมายที่มุ่งสนองแต่เพียงประโยชน์ต่อชนชั้นผู้ออกกฎหมาย เท่านั้น

 

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กระบวนการร่างกฎหมาย ควรจะต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนหรือภาคส่วนอื่น เช่น นักสังคมวิทยาหรือนักมานุษยวิทยา ฯลฯ แทนที่จะถูกยกร่างโดยเฉพาะแต่เพียงนักการเมืองหรือนักกฎหมาย ที่คำนึงถึงแต่อำนาจรัฐโดยละเลยสิทธิชุมชน หรือสิทธิของเสียงข้างน้อย

 

กล่าวโดยสรุป คนสร้างรัฐและกฎหมายได้ คนก็ต้องมีสิทธิที่จะปฏิเสธ หรือต่อต้านกฎหมายหรือคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมอย่างสงบและสันติได้เช่นกัน

กฎหมายก็ผิดได้นะครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท