รายงานพลเมืองเหนือ : ระเบิดเวลา "ขยะเชียงใหม่"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ใครไม่เป็นคนหายยา ไม่มีทางซึ้งและเข้าใจ ว่าการที่ต้องทนนอนดมกลิ่นเน่าเหม็นของขยะกองโตจากทั่วทุกสารทิศในตัวเมืองเชียงใหม่ทุกค่ำคืน จะเป็นความทรมานสักแค่ไหน ?

 

ที่สำคัญปัญหานี้มิใช่ครั้งแรก ได้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปี แต่ไม่มีทีท่าว่าผู้รับผิดชอบคือเทศบาลนครเชียงใหม่จะจริงจังแก้ไขหรือมีวิธีการที่ดีกว่าการผลัดวันประกันพรุ่ง           

 

ที่สุด ! ชาวชุมชนหายยาเลือกที่จะรวมตัวกันประท้วงเรียกร้อง ยื่นข้อเสนอให้เทศบาลแก้ไขเร่งด่วน  ก่อนจะรวมกลุ่มประท้วงใหญ่ขึ้นอีกรอบหลังสงกรานต์

 

โดยเมื่อวันที่  29  มีนาคม  2549 ราว  10.30 .  ชาวบ้านหายยาและชุมชนใกล้เคียงคือชุมชนทิพยเนตร  ชุมชนพวกเปีย  ชุมชนศรีสุวรรณ  ชุมชนศรีปิงเมือง  ชุมชนนันทารามและศูนย์วัฒนธรรม   รวมตัวประท้วงการจัดการขยะของเทศบาลบริเวณที่พักขยะภายในสุสานหายยา  ซึ่งได้สร้างเหม็นคละคลุ้งไปทั่วรัศมีกว่า  4  กิโลเมตร    โดยชาวบ้านได้ปิดทางเข้าออกโรงพักขยะและได้เรียกร้องข้อเสนอกับทางเทศบาลนครเชียงใหม่  โดยได้ออกแถลงการณ์ถึงปัญหาที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอดจากที่อดทนสูดกลิ่นขยะที่เน่าเหม็นมาหลายปี  จึงทนต่อไปไม่ไหวในการที่จะอยู่อาศัยต่อไป  ทำคนในชุมชนเสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต 

 

วรรณา  อิงคะระวะ   เจ้าของร้านเสริมสวยกล่าวว่ากำลังจะย้ายออกจากชุมชนแห่งนี้แล้ว  หลังจากอยู่ในชุมชนนี้  8 ปี  เพราะทนความเหม็นของขยะที่ส่งกลิ่นไม่ไหว 

 

"ลูกค้าที่มาทำผมที่ร้านก็หายหน้าหายตาไปหมด  จนไม่มีรายได้  เพราะทนกลิ่นขยะไม่ไหว  เราต้องเสียเวลา  สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้งๆที่มีร้านของตัวเอง  สำหรับตัวเองต้องสูดดมกลิ่นทุกวัน  เสียสุขภาพจิต "

 

อำภร  อินทร  เปิดกิจการร้านอาหารในชุมชนหายยา เผยว่า  ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม  ปี 2548    ตอนนี้สุขภาพเสียมาก  นอนก็นอนไม่ได้  ต้องไปนอนที่บ้าน  .สันทราย  ปวดหัว หงุดหงิด  ลูกค้าที่เคยมากินข้าวที่ร้านจากที่มาทุกวัน ตอนนี้เปิดประตูรถมาแล้วได้กลิ่นขยะ  ก็รีบขับรถออกไปทันที  รายได้จากวันละ 2,000 - 3,000 บาท  ก็เหลือวันละ 1,000 บาท  ซึ่งไม่พอกับค่าเช่าที่

 

"คนที่มางานศพที่สุสานใกล้ๆกับที่พักขยะ ก็มาได้ไม่นานพิธียังไม่เสร็จก็กลับกัน  อยู่ได้ไม่นาน  นานๆเห็นเอาน้ำยามาราดดับกลิ่นเหม็นของขยะ  แต่ก็ทำได้ไม่นาน ก็มีกลิ่นกลับมาอีก  และเวลาขนขยะออกก็จะทำขยะตกเกลื่อนถนน  ปลิวเข้าบ้าน  เข้าร้านที่อยู่ตรงข้าม  โดยไม่มีใครดูแลเก็บกวาด"

 

ชาวบ้านคนหนึ่ง  ที่เปิดร้านขายของอยู่ในชุมชนหายยา ซึ่งเอ่ยถึงรายได้ที่ตกลงและกิจวัตรที่ต้องเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อม

 

"ขยะได้ถูกลำเลียงมารวมตรงนี้ได้ 4 - 5 ที่แล้ว  รถขนขยะเวลานำขยะมาจะส่งกลิ่นโชยไปไกลถึงโรงชุมชนทิพเนตร   วัวลาย  พยาบาลสวนปรุง   เดี๋ยวนี้ช่วงบ่ายต้องปิดร้านนอนเลยเมื่อก่อนลูกค้ามากินเหล้าที่ร้าน  ก็จะนั่งนานแล้วกลับ  แต่ตอนนี้มานั่งได้พักเดียวก็ไปกันหมด

 

ตอนที่รถขยะเข้ามา แล้วเอาขยะออก  เวลาเขี่ยขยะกลิ่นจะกระจายเหม็นมาก   ถ้าขยะเกินก็จะขับเข้าออกหลายรอบแล้วมันส่งกลิ่นไม่หยุด  จนทุกวันนี้กินข้าว  ต้องนำจานข้าวเก็บไว้ในล็อคใต้โต๊ะ เพราะกลัวกลิ่นขยะ  แมลงวัน

 

สุทัศน์  แดงติ๊บ  ชาวบ้านชุมชนหายยากล่าวว่า คนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง  แล้วฝ่ายบริหารของเทศบาลได้คำนึงถึงชาวบ้านที่สูดอากาศเสียบ้างหรือไม่  มาหาแนวทางแก้ปัญหาหรือไม่  เวลามาคัดค้านทางเทศบาลก็ส่งผู้รับผิดชอบมารับเรื่อง  แล้วสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาให้แต่เหมือนพูดลอยลม  พอเลิกประท้วงก็ไม่ได้มาแก้ไขตามที่ได้พูดไว้  นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนในชุมชนออกมาเรียกร้อง  แล้ววันนี้เขาบอกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาให้จบในวันที่  17  เมษายน  แต่ถ้าถึงวันนั้นจะรอดูว่าทำได้อย่างที่รับปากได้หรือไม่  อย่างไร 

 

"ขยะเป็นภูเขา  ในสุสานหายยา  เคยมีการประท้วงมาแล้วครั้งหนึ่งแล้วก็มีการจัดการไปเสร็จเรียบร้อย  แต่ถึงวันนี้ปัญหาได้เกิดขึ้นอีกครั้ง แล้วมาในลักษณะที่เป็นโรงเก็บ  ดูเหมือนว่าการมีโรงเก็บการจัดการจะเรียบร้อย  ในสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ  เรื่องกลิ่นขยะ น้ำขยะที่กลายเป็นน้ำเสีย  ถ้าฝนตกมาแล้วก็เลาะไปทั่วเชื้อโรค  แมลงวันที่มาจากกองขยะ  แล้วแขวงอื่นๆก็ไม่รู้ว่าชุมชนแห่งนี้ได้รับผลเสียมากขนาดไหน  แล้วตอนนี้ขยะของเมืองทั้งหมดมารวมอยู่ตรงนี้" 

 

ชาวบ้านบอกด้วยว่าเมื่อครั้งแรกการจัดตั้งที่เก็บขยะแห่งนี้  ทางเทศบาลได้ประกาศและประกวดราคาเรื่องการสร้าง  แต่ชาวบ้านไม่เคยทราบ  พอหลังจากที่ทำเสร็จจึงติดป้ายอย่างชัดเจนว่าเป็นสถานที่พักขยะชั่วคราว 

 

ข้อยุติการประท้วงวันนั้นคือข้อเสนอจากทางเทศบาลว่าจะแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยภายในวันที่ 17  เมษายน  แต่ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขตามที่ได้ตกลง  ก็จะทำการปิดถนนหน้าสถานที่เก็บขยะอีกครั้งโดยก่อนถึงวันที่ 17  เมษายน  ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนจะมีการจับตาการทำงานของเทศบาล  และในวันที่  18  เมษายน จะกลับมาชุมนุมอีกครั้งเพื่อดูผลการแก้ไขของทางเทศบาล

 

นายพูลสวัสดิ์  วรวัลย์   รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่  อธิบายกับกลุ่มผู้มาประท้วงว่า  เรื่องนี้เทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง  เพราะพื้นที่ที่ใช้เก็บขยะเป็นของเทศบาล  และอากาศมีกลิ่นเหม็นจริง     แต่ ที่ลงมาแก้ไขให้เพราะอยากจะเห็นความคิดเห็นของคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  แล้วใกล้จะถึงเทศกาลสงกรานต์  แล้วจะมีคนเข้ามาในพื้นที่มาก 

 

"เราต้องมาพูดกันว่า  สิ่งไหนที่จะยืดหยุ่นให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ  ที่ผ่านมามีการพูดกันบ่อยในปัญหาที่เกิดขึ้นและก็ไม่มีข้อสรุปให้กับชุมชน   โดยก่อนที่จะมาตกลงกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ได้พูดกับ นายบุญเลิศ  บูรณุปกรณ์  นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ว่า   ถ้ามีการตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของชาวบ้าน  ถือว่าเป็นการตัดสินใจเด็ดขาดโดยตัวเอง  ถ้ารับปากแล้วไม่ทำตามที่รับปากก็ไม่ได้เรื่อง  ถ้าในการตกลงแก้ไขปัญหาได้แนวทางอย่างไร  ก็ทำการแก้ไขตามข้อเรียกร้อง  แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็จะทำการปิดสถานีขนถ่ายขยะ  แต่ต้องขอคนชุมชนให้เวลาทางเทศบาลในการศึกษาปัญหาว่าเกิดจากอะไร"

 

ในช่วงหลังวันที่  17เมษายนทางเทศบาลจะนำขยะไปทิ้งที่ไหนก็เป็นดุลพินิจของเทศบาล  หมายความว่าจะไม่ใช้สถานที่นี้อีก  ขยะที่อยู่บนลานเก็บขยะนี้ไม่ใช่ของพื้นที่เดียว  เป็นขยะอีก 3  แขวง  คือแขวงศรีวิชัย  แขวงนครพิงค์   แขวงเม็งราย  ที่นำมาจัดเก็บในพื้นที่  ถ้ามีปัญหาต่อไป  จะแยกให้มีการจัดเก็บในความรับผิดชอบของแต่ละพื้นที่  มีที่เก็บขยะของตัวเอง  จะมีการทำโครงการด่วนและจะมีการขนออกไปให้หมด  โดยขอเวลาแก้ไขปัญหาการจัดเก็บขยะและข้อเรียกร้องที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและรับปากว่าจะแก้ไขให้ได้ในวันที่  17  เมษายน ถ้าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะยินยอมยืนใส่หน้ากากประท้วงร่วมกับชาวบ้าน

 

เป็นอีกครั้งที่ผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่รับปากกับปัญหากลิ่นขยะที่ย่านหายยานี้  แต่จะทำได้จริงหรือไม่  ก่อนหน้านี้ไม่นานนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมเพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างเหมาเอกชนในการจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยจำนวน 72 ล้านบาทโดยเน้นย้ำว่าแต่ละกิ่งเทศบาลได้ใช้เงินจำนวนมากในการจ้างเอกชนจัดเก็บและกำจัดขยะ โดยเอกชนได้นำไปกำจัดในพื้นที่ที่ห่างจาก จ.เชียงใหม่กว่า 300 กม.และยังบอกอีกว่าได้รับการติดต่อจากบริษัทเซฟโก้ของอังกฤษที่จะจัดสร้างโรงงานแปลงพลังงานจากขยะเป็นไฟฟ้าว่าจะจัดส่งเครื่องจักรลงเรือจากประเทศอังกฤษมาประเทศไทยในเดือน มี..นี้

 

ปัญหาขยะที่เป็นวิกฤตของเมืองที่น่าอับอาย และรอฝีมือการบริหารของเทศบาลนครเชียงใหม่มาเนิ่นนาน  กำลังถูกท้าทายอีกครั้ง และจะชี้วัดกันในวันหลังสงกรานต์ว่าจะสามารถดับไฟได้สำเร็จ หรือจะปล่อยให้เป็นเสมือนระเบิดเวลาที่เตรียมจะปะทะขึ้นมาเพราะความละเลย!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท