ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายรัฐบาลทักษิณ

ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายรัฐบาลทักษิณ

 

อัมมาร สยามวาลา

สมชัย จิตสุชน

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์

จิราภรณ์ แผลงประพันธ์

 

 


บทวิเคราะห์นี้เป็นผลงานส่วนบุคคลของคณะผู้เสนอ  ข้อคิดเห็นต่างๆ ในบทความนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)

 

บทวิเคราะห์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบคำถามว่าการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ... ทักษิณ ชินวัตร นั้นมีผลงานเป็นอย่างไร โดยจำกัดการวิเคราะห์เพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่ประเมินแง่มุมทางสังคมและทางการเมือง

โดยทั่วไปแล้ว ผลงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หรือของนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง ไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนเด็ดขาดจากผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ หรือจากการขับเคลื่อนของกลไกอื่นในสังคมไทยและสังคมโลกได้ อย่างไรก็ตามในบทวิเคราะห์นี้จะพยายามแยกผลงานของรัฐบาลไทยรักไทยและของ พ...ทักษิณทั้งด้านบวกและด้านลบออกจากปัจจัยอื่น ๆ เท่าที่ทำได้

ผลงานทางเศรษฐกิจที่เลือกวิเคราะห์แบ่งออกเป็น สามด้านใหญ่ ๆ คือ ด้านความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ด้านความโปร่งใสในการบริหารเศรษฐกิจ และด้านนโยบายประชานิยมรวมทั้งนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค

1.        ผลงานด้านความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวของดัชนีหลักทรัพย์
[สมชัย จิตสุชน/ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์]

 

ข้อสรุปผลการวิเคราะห์:

1.    การฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของไทยนั้นขึ้นกับความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจ ประเทศส่วนใหญ่ฟื้นตัวก่อนไทย ยกเว้นเพียงอินโดนีเซียซึ่งประสบปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลทักษิณได้ประโยชน์จากความมีเสถียรภาพก่อนหน้าการเข้ามาบริหาร

2.    ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ในภาวะปกติ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลทักษิณสูงกว่าอัตราปกติของประเทศ หรือสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับพัฒนาการเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย

3.    มีหลักฐานสนับสนุนการใช้ทฤษฎี Dual Track Economy สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วงที่มีทรัพยากรส่วนเกินเหลืออยู่ แต่รัฐบาลทักษิณมิได้มีส่วนในการเพิ่มอุปสงค์ภายในมากนัก การเพิ่มขึ้นของการบริโภคมาจากปัจจัยอื่นมากกว่า เช่นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

4.    ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีผลตอบแทนแท้จริงในระยะที่รัฐบาลทักษิณบริหารค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดัชนีตกต่ำไปลึกมากก่อนรัฐบาลทักษิณ อย่างไรก็ตามพบว่าในระยะสองปีหลังของรัฐบาลทักษิณ อัตราผลตอบแทนของไทยติดลบและมีผลงานต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ผลรวมคือแม้รัฐบาลทักษิณจะบริหารมา 5 ปีเต็ม อัตราผลตอบแทนตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ยังไม่สามารถลบล้างความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจได้

 

รัฐบาลทักษิณได้รับเครดิตค่อนข้างมากในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะในเรื่องการนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากภาวะวิกฤติที่เริ่มในปี 2540 การล้างหนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด การกล่าวอ้างถึงความสามารถของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันประเทศพัฒนาแล้ว การนำเสนอทฤษฎีการบริหารเศรษฐกิจแบบ Dual Track Economy โดยอ้างว่าเป็นแนวคิดแบบใหม่ที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อน

บทวิเคราะห์ในส่วนนี้จะทำการประเมินว่าผลงานการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลทักษิณเป็นอย่างที่กล่าวข้างต้นมากน้อยเพียงใด โดยจะทำการเปรียบเทียบผลทางด้านเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลทักษิณเทียบกับประสบการณ์ในอดีตของไทย และเปรียบเทียบกับผลงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลและผู้นำประเทศเพื่อนบ้านที่มีลักษณะใกล้เคียงกับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

 

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ:

เครดิตที่รัฐบาลทักษิณได้รับในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษกิจไทยจากวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจปี 2540 น่าจะเกิดขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่ "รู้สึก" ว่าภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากรัฐบาลทักษิณเข้ามาบริหารประเทศไม่นาน เพื่อที่จะตอบคำถามว่าความรู้สึกนี้มีส่วนถูกต้องมากน้อยเพียงใด ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าแต่ละประเทศที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจนั้นได้ "ฟื้นตัว" อย่างเต็มที่ในปีใดบ้าง ซึ่งแสดงไว้ในตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1     การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ












ประเทศ


ปีที่ฟื้นจากวิกฤติ (พ.ศ.)


จำนวนปี
ในวิกฤติ (ปี)


ความ "รุนแรง" ของวิกฤติ

(วัดด้วยอัตราขยายตัว
ปี
2540-41)


นิยาม 1


นิยาม 2


ไทย


2545


2546


5.5


-6.1


อินโดนีเซีย


ยังไม่ฟื้น


2546


6.0


-4.6


มาเลเซีย


2542


2543


2.5


0.3


ฟิลิปปินส์


2542


2542


2.0


2.3


เกาหลีใต้


2542


2543


2.5


-1.3


สิงคโปร์


2542


2542


2.0


3.7

 

หมายเหตุ: นิยาม 1 หมายถึงปีที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่า "อัตราเฉลี่ยปกติ" (คำนวณจากช่วงปี 2523-2539 โดยไม่รวมปีที่ไม่ปกติ เช่นฟองสบู่หรือผลทางลบนอกเหนือการควบคุม) เป็นเวลาติดต่อกัน 2 ปี ส่วนนิยาม 2 หมายถึงปีที่รายได้ประชาชาติที่แท้จริงกลับเข้าสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤติเศรษฐกิจ

 

 

 

จะเห็นว่า (ก) ระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวจะนานหากวิกฤติเศรษฐกิจมี "ความลึก" หรือรุนแรงมากกว่า และ (ข) เกือบทุกประเทศฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก่อนประเทศไทย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าวิกฤติไม่รุนแรงเท่า (ค) มียกเว้นเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นซึ่งฟื้นตัวหลังไทยประมาณครึ่งปี ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าถึงแม้การหดตัวของ GDP จะไม่แรงเท่าไทยในช่วงสองปีแรกของวิกฤติ แต่อินโดนีเซียก็มีปัญหาอื่นเช่นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากในปี 2541-42 (ร้อยละ 58 และ 20 ตามลำดับ) ซึ่งไทยไม่มีปัญหานี้เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ความมีเสถียรภาพมากกว่าอินโดนีเซียตั้งแต่ก่อนรัฐบาลทักษิณ ซึ่งการมีเสถียรภาพในช่วงนั้นมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2545-46 ในช่วงรัฐบาลทักษิณอย่างปฏิเสธมิได้

ดังนั้นแม้การเปรียบเทียบการฟื้นตัวระหว่างอินโดนีเซียกับไทยจะดูเหมือนว่าไทยมีการบริหารจัดการที่ดีกว่าจนเป็นผลให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผลงานของรัฐบาลทักษิณทั้งหมด น่าจะเป็นผลงานร่วมระหว่างการมุ่งรักษาเสถียรภาพในรัฐบาลก่อนหน้าและการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงรัฐบาลทักษิณมากกว่า ส่วนการเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่ารัฐบาลทักษิณมีผลงานดีกว่าเช่นกัน เพราะทุกประเทศได้ฟื้นตัวก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะเข้าบริหารประเทศไทยเสียอีก

 

การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาวะปกติ

เมื่อเศรษฐกิจหลุดพ้นจากวิกฤติแล้ว คำถามถัดมาคือรัฐบาลทักษิณได้บริหารเศรษฐกิจจนทำให้เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเหนือกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตหรือเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ซึ่งได้ทำการเปรียบเทียบไว้ในตารางที่ 2 และ 3

 

ตารางที่ 2  เปรียบเทียบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่ละช่วงเวลา














ประเทศ


อัตราปกติ


ช่วงฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย


ยุคทักษิณ หลังวิกฤติ
(2547-2548)


ยุคทักษิณรวม
(2544-2548)


ก่อนทักษิณ
(2542-2543)


ยุคทักษิณ
(2544-2546)


ไทย


5.7


4.6


4.8


5.3


5.0


อินโดนีเซีย


5.9


2.8


4.4


5.2


4.7


มาเลเซีย


6.4


7.5


3.3


6.3


4.5


ฟิลิปปินส์


2.7


4.7


4.1


5.6


4.7


เกาหลีใต้


6.2


9.0


5.4


3.9


4.5


สิงคโปร์


6.8


7.9


0.9


7.5


3.5


จีน


7.9


7.5


8.4


9.5


8.8


เวียดนาม


6.7


5.8


7.1


8.0


7.5

หมายเหตุ: อัตราปกติ หมายถึงอัตราการขยายตัวช่วงปี 2523-2539 ที่ไม่รวมปีที่ขยายตัวต่ำมากไปหรือสูงมากไป

 

 

 

ตารางที่ 3  อันดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ







อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (%)


2530-2539


2544


2545


2546


2547


2548 (ประมาณ)


จำนวนประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่ขยายตัวสูงกว่าไทย (ยกเว้นจีน)


1


15


7


6


9


15


จำนวนประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่ขยายตัวต่ำกว่าไทย


20


9


18


19


16


10

ที่มา: IMF, World Economic Outlook (September 2005), และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หากดูรวม ๆ แล้ว เศรษฐกิจไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลทักษิณระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2544-2548) มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าประเทศในแถบอาเซียนประมาณร้อยละ 0.5-1.0 แต่เมื่อแยกเป็นสองช่วงจะพบว่าในช่วงระยะฟื้นตัวภายใต้รัฐบาลทักษิณ (ปี พ.ศ. 2544-2546) จะดีเป็นพิเศษ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกจากผลของฟองสบู่ IT แตกในปี 2544 (ซึ่งไทยก็รับผลกระทบเช่นกัน และเป็นปีแรกของรัฐบาลทักษิณด้วย แต่ผลกระทบน้อยกว่า) แต่ในช่วงที่สองคือปี พ.ศ. 2547-2548 ซึ่งเป็นระยะที่เศรษฐกิจพ้นจากวิกฤติแล้ว กลับพบว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมิได้โดดเด่นกว่าประเทศเพื่อนบ้านเลย คือขยายตัวใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย (ซึ่งยังคงมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้ออยู่เช่นเดิมในปี ) ต่ำกว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์  และสูงกว่าเกาหลีใต้ (ซึ่งฟื้นตัวก่อนไทยและมีการกระตุ้นการบริโภคภายในเกินตัวในช่วงปี 2541-43 จนส่งผลเสียให้อัตราการขยายตัวในระยะหลังแผ่วไปมาก) และหากดูอันดับการขยายตัวของไทยก็พบว่าในระยะสองปีหลังนี้ อันดับของไทยตกไปอย่างรวดเร็ว คือในปี 2548 อยู่ในอันดับที่ 15 จาก 26 ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย จากที่เคยอยู่อันดับที่ 6-7 ในระยะ 3 ปีก่อนหน้า

คำอธิบายหนึ่งของการขยายตัวที่ชะลอตัวลงของไทยอาจมาจากปัจจัยนอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลทักษิณเอง เช่นเรื่องไข้หวัดนกและเรื่องสึนามิเป็นต้น อย่างไรก็ตามผลของสองเหตุการณ์นี้ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมิได้มีมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดคิด ตัวอย่างเช่น รายได้จากการท่องเที่ยวที่ขาดหายไปในปี 2548 เนื่องจากสึนามินั้นคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.35 ของ GDP เท่านั้น

กล่าวโดยสรุป อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลทักษิณนั้นเมื่อทำการเปรียบเทียบกับประสบการณ์ในอดีตและกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ความแตกต่างในเรื่องของจังหวะเวลา และระดับการขยายตัวส่วนใหญ่ยังคงอธิบายได้ด้วยปัจจัยภายนอก ในขณะที่ผลทางเศรษฐกิจส่วนที่มาจากการบริหารนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าประเทศใดดีกว่าประเทศใดอย่างชัดเจน

 

ทฤษฎี Dual Track Economy

ทฤษฎี Dual Track Economy ตามที่เสนอโดยรัฐบาลทักษิณนั้นสาระหลักคือการให้ความสำคัญกับอุปสงค์ภายในและภายนอกเท่าเทียมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ   แต่รัฐบาลทักษิณไม่เคยมีความชัดเจนว่าสมควรใช้ทฤษฎีนี้ในภาวะการณ์ใดบ้าง ในส่วนนี้จะทำการวิเคราะห์นัยสำคัญของทฤษฎีนี้ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด และรัฐบาลทักษิณมีส่วนมากน้อยเพียงใดในการดำเนินการตามทฤษฎีนี้

วิธีการคือการสร้างแบบจำลองขนาดเล็กที่อธิบายอัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านจากปัจจัยภายนอก (การส่งออก) และปัจจัยภายใน (การบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ) ซึ่งผลการประมาณการณ์เสนอในตารางที่ 4

พบว่าการกระตุ้นการบริโภคภายในจะได้ผลดีสำหรับประเทศไทยและเกาหลีใต้ เนื่องจากมีค่าสัมประสิทธิ์สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในขณะที่การกระตุ้นด้วยการใช้จ่ายภาครัฐมีผลไม่มากนัก โดยเฉพาะในกรณีของไทยมีผลต่ำ (เกาหลีใต้ไม่มีผลเลย) ส่วนประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ ได้ประโยชน์จากปัจจัยภายนอกสูงกว่าประเทศอื่น ๆ

 

 

ตารางที่ 4  ผลการประมาณการแบบจำลอง Dual Track Economy ในการอธิบายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ











ประเทศ


ปัจจัยภายนอก (การส่งออก)


ปัจจัยภายใน


ปัจจัย
"ยุคทักษิณ"


การบริโภค


การใช้จ่ายภาครัฐ


อินโดนีเซีย


0.17


0.29


0.47


ไม่มีผล


เกาหลีใต้


0.15


0.62


ไม่มีผล


ไม่มีผล


มาเลเซีย


0.28


0.37


0.16


ไม่มีผล


ฟิลิปปินส์


0.10


0.30


0.34


3.10


ไทย


0.11


0.80


0.10


ไม่มีผล

 

ผลตรงนี้แสดงว่าการกระตุ้นการบริโภคภายในสำหรับประเทศไทยจะมีส่วนช่วยเร่งการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิด Dual Track Economy แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ปัจจัย "ยุคทักษิณ"[1] มิได้มีผลในการอธิบายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยและประเทศเพื่อนบ้านเลย (ยกเว้นฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวที่สูงในช่วงเวลาตรงกับที่รัฐบาลทักษิณบริหารประเทศไทย) ตรงกับข้อสังเกตก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลทักษิณมิได้มีผลงานที่โดดเด่นกว่ารัฐบาลประเทศอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ผลงานด้านตลาดหลักทรัพย์

ตารางที่ 5 เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทน (ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ใน 3 ช่วงเวลา ซึ่งพบว่ามีข้อสรุปที่คล้าย ๆ กับกรณีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กล่าวคืออัตราผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงที่รัฐบาลทักษิณบริหารสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ โดยมีอัตราผลตอบแทนสูงมากในช่วงแรก (2544-46) ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่ตกต่ำลึกกว่าประเทศอื่นในช่วงก่อนหน้า (2540-2543) คือตกลึกถึงร้อยละ 30 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจนทดแทนได้หมดสิ้น ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ อัตราผลตอบแทนยังไม่ปรับเข้าสู่ภาวะปกติในระยะเวลาเดียวกัน ตรงนี้จึงถือได้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีผลงานดีกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด

 

ตารางที่ 5  อัตราผลตอบแทนตลาดหลักทรัพย์ (ปรับด้วยเงินเฟ้อ)












ประเทศ


ก่อนยุคทักษิณ


ยุคทักษิณ


2540-2548


2540-2543


2544-2546


2547-2548


ตลอดช่วง


ไทย


-30.5


33.2


-7.4


17.0


-4.1


อินโดนีเซีย


-27.5


6.8


16.5


10.7


-6.3


มาเลเซีย


-17.6


3.7


4.0


3.8


-5.7


ฟิลิปปินส์


-23.8


-5.1


11.2


1.4


-9.8


เกาหลีใต้


-9.8


11.9


22.8


16.2


4.7


สิงคโปร์


-1.4


-3.3


13.0


3.2


1.2

 

อย่างไรก็ตามในระยะสองปีหลังของรัฐบาลทักษิณ ดัชนีของไทยก็ปรับตัวลงต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก และเมื่อคิดจากตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ อัตราผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ยังคงติดลบอยู่ร้อยละ 4.1 ซึ่งแม้จะดีกว่าประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ แต่ก็ไม่ต่างมากนัก และต่ำกว่าประเทศเกาหลีใต้และสิงคโปร์พอควร

กล่าวโดยสรุปคืออัตราผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความผันผวนตลอดมาตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างยุคทักษิณ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนโดยรวมก็ยังคงติดลบอยู่แม้จะผ่านระยะเวลาการบริหารของรัฐบาลทักษิณมา 5 ปีเต็มแล้วก็ตาม

 

2.        ผลงานด้านความโปร่งใสในการบริหารเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาหุ้นกลุ่มชิน
[
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์]

 

ข้อสรุปผลการวิเคราะห์:

รัฐบาลทักษิณมีนโยบายและมาตรการหลายอย่างที่ให้ประโยชน์อย่างเฉพาะเจาะจงต่อธุรกิจที่ใกล้ชิดกับผู้นำรัฐบาล  นโยบายและมาตรการเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้หลักทรัพย์ของชิน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งถือครองโดยกลุ่มชินวัตรและดามาพงศ์มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นโดยรวม 41,258 ล้านบาท จนสามารถขายให้แก่นักลงทุนต่างชาติได้ในราคา 73,000 ล้านบาทในปี 2549

 

แม้ในภาพรวมจากมุมมองระดับมหภาค ผลงานของตลาดหลักทรัพย์ไทยจะไม่มีความแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้านนัก แต่หากวิเคราะห์แยกส่วนจะพบว่ามีลักษณะที่น่าสนใจบางประการ อันอาจเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงปัญหาความโปร่งใสในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณได้ โดยพบว่ามีธุรกิจจำนวนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์มากกว่าบางกลุ่ม  

ตารางที่ 6 แสดง บริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด   (market capitalization)  เพิ่มขึ้นสูงสุด 10 แห่งในระหว่าง 5 ปีของรัฐบาลทักษิณ  ซึ่งนับจากวันที่รัฐบาลทักษิณเริ่มบริหารประเทศ (9 กพ. 2544) ไปจนถึงวันที่มีการขายบริษัทชินคอร์ปให้แก่นักลงทุนต่างชาติ (23 มค. 2549)

จากตารางจะเห็นว่า บริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่นไม่ใช่บริษัทที่มีอัตราการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด     อย่างไรก็ตาม   บริษัทในเครือดังกล่าว 2 แห่งติดอันดับบริษัทจดทะเบียนที่มีการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์สูงสุด โดยบริษัทเอไอเอส (ADVANC) มีมูลค่าหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 180,558 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) มีมูลค่าหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 83,065 ล้านบาทในระยะเวลาเพียง 5 ปี  หรือ 41,258 ล้านบาท เมื่อคิดเฉพาะส่วนที่ถือครองโดยตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์

 

ตารางที่  6 บริษัทจดทะเบียนที่มีการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 แห่ง (หน่วย: ล้านบาท)















 

บริษัท


มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

(9 กพ. 2544)


มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

(23 มค. 2549)


มูลค่าที่เพิ่ม

 


อัตราการเพิ่ม

ร้อยละ (%)

 


1.          PTTEP


64,874


351,044


286,170


        441.1


2.          SCC


37,200


295,200


258,000


        693.5


3.          ADVANC


126,360


306,918


180,558


        142.9


4.          TPI


7,995


161,850


153,855


     1,924.4


5.          BBL


59,393


211,882


152,488


        256.7


6.          KBANK


60,578


160,730


100,152


        165.3


7.          SCB


20,981


110,084


89,103


        424.7


8.          SHIN


61,677


144,742


83,065


        134.7


9.          LH


13,564


78,958


65,394


        482.1


10.       SCCC


29,750


94,500


64,750


        217.6

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของบริษัทต่างๆ จะพบว่า   มูลค่าหลักทรัพย์ของปตท.สผ. (PTTEP) ซึ่งดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นในปี 2547-2548      ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทในกลุ่มวัสดุก่อสร้างคือปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และปูนซิเมนต์นครหลวง (SCCC) สูงขึ้นมาจากการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และการขยายของภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2546 ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ      ในขณะที่บริษัทในกลุ่มปิโตรเคมีคือปูนซิเมนต์ไทย  (SCC) และทีพีไอ (TPI)  ขยายตัวจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การเพิ่มขึ้นของมูลค่าหลักทรัพย์ของเอไอเอส (ADVANC) และชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของตลาดโทรคมนาคมโดยรวม ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ให้ประโยชน์ต่อบริษัทดังกล่าวซึ่งประกอบธุรกิจจากการรับสัมปทานจากรัฐ  (ดูตารางที่ 7)  โดยเฉพาะในปี 2546  ซึ่งเป็นปีที่มูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากที่สุด     มาตรการเหล่านี้ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์อย่างเฉพาะเจาะจงแก่บริษัทไม่กี่ราย  และมีความแตกต่างจากมาตรการของรัฐในด้านอสังหาริมทรัพย์ที่กระจายประโยชน์แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง


 

 

ตารางที่ 7  ตัวอย่างนโยบายและมาตรการของรัฐบาลทักษิณซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจเครือชินคอร์ป













ลักษณะการเอื้อผลประโยชน์


ธุรกิจที่ได้ประโยชน์


ประโยชน์ที่บริษัทในเครือได้รับ


1.     การออก พรก. ภาษีสรรพสามิต

(ปี 2546)

 


เอไอเอส และบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน


- ปกป้องบริษัทจากการแข่งขัน โดยอนุญาตให้ผู้รับสัมปทานนำเอาภาษีไปหักออกจากค่าสัมปทานได้


2.     การส่งเสริมการลงทุนโดยยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี  (ปี 2546)

3.     การให้เงินกู้แก่พม่าของ EXIM Bank เพื่อให้จัดซื้อบริการของบริษัทไทยกลุ่มหนึ่งโดยไม่กำหนดให้มีการแข่งขันทั่วไป (ปี 2547)

 


ไอพีสตาร์ (ชินแซท)

 

ไอพีสตาร์และบริษัทอื่นๆ จำนวนหนึ่ง

 

 


- ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 16,000 ล้านบาท

 

- โอนถ่ายความเสี่ยงจากการที่พม่าไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่บริษัทมายังประชาชนผู้เสียภาษี

- สามารถขยายบริการในต้นทุนต่ำ และไม่มีความเสี่ยง


4.     การไม่ดำเนินการยับยั้งตามอำนาจในสัญญาเมื่อบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องผังรายการ (ปี 2547)


ไอทีวี


- ผลประกอบการของบริษัทเปลี่ยนเป็นกำไรส่วนหนึ่งเพราะสามารถปรับผังรายการได้


5.     การแก้ไขสัญญาสัมปทานยินยอมให้เอกชนยกเลิกการจัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์หน้าขาว (ปี 2546)


เทเลอินโฟมีเดีย


- ลดต้นทุนของบริษัทในการจัดพิมพ์และแจกจ่ายสมุดโทรศัพท์ตามสัญญา

- เพิ่มโอกาสทางธุรกิจของบริการสอบถามเลขหมายของบริษัทในเครือ


6.     การเข้าไปแบกรับภาระแทน เมื่อขาดทุน (ปี 2545)


แอดวานซ์ เพจจิ้ง และบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน


- หมดภาระในการจ่ายผลประโยชน์ให้รัฐตามสัญญา

- หมดภาระในการให้บริการประชาชน


7.     การไม่ดำเนินการแก้ไขเมื่อพบความไม่ปรกติในโครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทของ ทศท. (ปี 2545)


ชินแซท และอคิวเมน


- มีรายได้จากการให้บริการแก่ ทศท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในราคาที่สูงกว่าเทคโนโลยีอื่น 8-9 เท่า


8.      การไม่ออกกฎระเบียบเพื่อบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า (ปี 2544-2549)


เอไอเอสและชินแซท ตลอดจนธุรกิจผูกขาดอื่นๆ


- สามารถมีพฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน และควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มอำนาจทางตลาดได้โดยไม่ขัดกับกฎหมาย


9.     การไม่เปิดเสรีโทรคมนาคมในการเจรจาการค้าเสรี (FTA) และไม่แก้กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมจนกระทั่งเดือนมกราคม 2549


เอไอเอส ดีพีซีและชินแซท และบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน


- ปกป้องบริษัทจากการแข่งขันจากต่างประเทศ  ทำให้ยังสามารถทำกำไรในระดับสูงได้เป็นเวลานาน

 

 

3.        ผลงานด้านนโยบายประชานิยม กรณีศึกษากองทุนหมู่บ้านและจดทะเบียนคนจน
[
สมชัย จิตสุชน/จิราภรณ์ แผลงประพันธ์]

 

1.                     นโยบายกองทุนหมู่บ้านประสบความสำเร็จพอควรในการเข้าถึงกลุ่มผู้ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากเงินกู้กองทุน คือเป็นเกษตรกรที่สามารถนำเงินไปลงทุนด้านการเกษตรได้ อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาในเรื่องการกู้ยืมซ้ำซ้อนและอาจไม่ทั่วถึง ตลอดจนยังมีผู้กู้จำนวนหนึ่งที่ต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นมาใช้คืนเงินกองทุน

2.         ในการประเมินผลต่อการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายนั้น พบว่ามีความแตกต่างกันพอสมควรระหว่างผู้กู้ที่ใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนได้และผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์จากเงินกองทุน ทำให้ในภาพรวมเงินกองทุนหมู่บ้านมิได้มีผลทำให้รายได้ของผู้กู้เพิ่มสูงกว่าผู้ที่มิได้กู้เงินกองทุนอย่างมีนัยสำคัญ

3.         ข้อมูลการจดทะเบียนคนจนมีปัญหาในเรื่องความสมบูรณ์และแม่นยำ เพราะมีคนจนถึงกว่าร้อยละ 70 ที่มิได้จดทะเบียนและผู้จดทะเบียนร้อยละ 85 ไม่ใช่คนจน อาจทำให้เกิดปัญหาการละเลยคนจนที่แท้จริงหากรัฐบาลยึดถือฐานข้อมูลนี้โดยไม่ตรวจสอบกับแหล่งอื่น

 

นโยบายกองทุนหมู่บ้าน (ในเขตชนบท)

นโยบายกองทุนหมู่บ้านถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน "เสาหลัก" ของชุดนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ทั้งนี้เพราะเป็นนโยบายที่ใช้เงินมากที่สุดและเบิกจ่ายเร็วที่สุด คือมากถึงเกือบ 8 หมื่นล้านบาท และเบิกจ่ายภายในเวลา 1 ปีเป็นส่วนใหญ่

คำนิยมของรัฐบาลไทยรักไทยในการแก้ปัญหาความยากจน คือ "เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส" ให้กับคนจน บทวิเคราะห์ส่วนนี้จึงจะเน้นไปที่การประเมินว่าเงินกู้จากกองทุนหมู่บ้านมีส่วนช่วยในทั้งสามด้านหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมปี 2545 และปี 2547[2] (เฉพาะผู้กู้เงินในเขตชนบท)

จากข้อมูลการสำรวจ (ตารางที่ 8) พบว่าผู้กู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านเป็นคนจนร้อยละ 11.2 ใกล้เคียงกับสัดส่วนคนจนที่ไม่ได้กู้เล็กน้อย (ร้อยละ 10.0) แสดงว่ากองทุนหมู่บ้านให้โอกาสทั้งคนจนและไม่จนในการกู้เงิน (แต่คาดว่าคนจนจะได้รับวงเงินกู้ต่ำกว่าคนไม่จน) ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหา เพราะนโยบายนี้มิได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นคนจนเสมอไป ไม่เหมือนกับนโยบายที่เคยมีมาก่อนหน้าที่เน้นให้คนจนกู้เท่านั้น

 

 

 

 

 

 

ตารางที่ 8  ลักษณะผู้ได้รับเงินกองทุนหมู่บ้านในเขตชนบท (ร้อยละ)
















 


ได้เงิน
กองทุน


ไม่ได้เงินกองทุน


 


ได้เงินกองทุน


ไม่ได้เงินกองทุน


แยกตามความจน (ปี 2547)


 


 


แยกตามสัดส่วนแหล่งรายได้


 


 


  คนไม่จน


88.8


90.0


   ค่าจ้างแรงงาน


30.4


52.0


   คนจน


11.2


10.0


   กำไรธุรกิจนอกภาคเกษตร


15.6


14.3


รวม


100.0


100.0


   กำไรจากการเกษตร


32.5


12.1


แยกตามสถานะอาชีพ


 


 


   อื่น ๆ


21.5


21.6


   นายจ้าง, ธุรกิจส่วนตัว


53.2


22.5


รวม


100.0


100.0


   ลูกจ้าง


38.8


44.3


การได้รับสวัสดิการรัฐด้านอื่น


 


 


   อื่น ๆ


8.0


23.2


   30 บาทรักษาทุกโรค


85.1


69.6


รวม


100.0


100.0


   ประกันสังคม


4.4


14.2


 


 


 


   เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ


4.2


39.0


 


 


 


   ลงทะเบียนคนจน


51.1


12.7

 

นอกจากนั้นพบว่าผู้ได้เงินกู้ มักจะเป็นเกษตรกรและมีกิจการของตัวเอง (รวมทั้งกิจการเกษตรด้วย) ซึ่งแสดงว่าผู้กู้ในเขตชนบทน่าจะเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการใช้เงินกู้ให้เป็นประโยชน์ได้โดยเฉพาะในทางการเกษตร เพราะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเอง แต่ก็ยังมีผู้กู้อีกร้อยละ 38.8 ที่เป็นลูกจ้าง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่ามีแผนการใช้เงินกู้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างเสริมอาชีพและรายได้ได้อย่างไร

ตารางที่ 9 แสดงว่าเกือบร้อยละ 75 มีการกู้ยืมเงินกองทุนมากกว่าหนึ่งครั้ง (ตั้งแต่มีเงินกองทุนในปี 2545) ซึ่งแสดงว่าการหมุนเวียนของเงินกู้ไปสู่คนในหมู่บ้านอาจจะยังไม่ทั่วถึงนัก เพราะเป็นการปล่อยกู้ให้กับผู้กู้เดิมเสียเป็นส่วนใหญ่

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของเงินกู้กองทุนหมู่บ้านคือการช่วยประหยัดรายจ่ายดอกเบี้ย เพราะกองทุนส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนอกระบบมาก ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อัตราการจ่ายคืนเงินกองทุนค่อนข้างดี คือมีการจ่ายคืนได้ตามกำหนดถึงร้อยละ 92.3 ของผู้กู้ ซึ่งมีผู้กู้ร้อยละ 13.7 ที่ต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นมาจ่ายคืนกองทุนหมู่บ้าน

 

ตารางที่ 9  ผลการดำเนินงานในการให้กู้เงินกองทุน













 


สัดส่วนของผู้ได้เงินกู้


 


สัดส่วนของผู้ได้เงินกู้


การกู้ยืมซ้ำซ้อน


 


การแจ้งใช้เงินตามวัตถุประสงค์


 


    กู้ยืมครั้งเดียว


26.9


    ไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินกู้กองทุน


4.2


    กู้ 2 ครั้ง


51.6


     ร้อยละ 50-75 ของเงินกู้


4.8


    กู้ 3 ครั้งหรือมากกว่า


21.4


     เกินกว่าร้อยละ 75 ของเงินกู้


91.0


อัตราดอกเบี้ยเงินกองทุน


 


การจ่ายเงินคืนกองทุน


 


    ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี


33.5


     จ่ายได้ตามกำหนด


92.3


    ร้อยละ 5-6 ต่อปี


48.5


     ต้องยืมเงินแหล่งอื่นมาคืนกองทุน


13.7


    สูงกว่าร้อยละ 6 ต่อปี


18.0


 


 

แม้ว่าผู้กู้ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 91) จะแจ้งว่าได้ใช้เงินส่วนใหญ่ตามวัตถุประสงค์ แต่ในที่สุดแล้วต้องมีการประเมินผลต่อรายได้และรายจ่ายเปรียบเทียบระหว่างผู้กู้เงินและผู้ไม่ได้กู้เงินจากกองทุนหมู่บ้าน ดังแสดงไว้ในตารางที่ 10

ข้อมูลในตารางที่ 10 พบว่าหากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของรายได้และรายจ่ายระหว่างผู้ได้รับเงินกู้และไม่ได้รับเงินกู้กองทุน จะไม่แตกต่างกันมากนัก โดยผู้ที่ได้รับเงินกู้ทั้งในปี 2545 และในปี 2547 มีอัตราการเพิ่มของรายได้สูงกว่าคนทั่วไป (ร้อยละ 7.3 เทียบกับร้อยละ 5.8) และมีรายจ่ายเพิ่มช้ากว่าคนทั่วไปเช่นกัน (ร้อยละ 7.1 เทียบกับร้อยละ 7.6) แต่สำหรับคนที่ได้เงินกู้ในปีเดียว คือปี 2545 หรือปี 2547 กลับเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการเพิ่มของรายได้ต่ำสุด (ร้อยละ 4.3) จึงมีผลทำให้ในภาพรวมแล้วการได้รับเงินกู้กองทุนหมู่บ้าน

ข้อที่น่าสังเกตที่สุดก็คือ แม้ในภาพรวมรายได้จะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่พบว่ามีคนร้อยละ 41 ที่มีรายได้ลดลงในช่วงปี 2545-2547 และสัดส่วนนี้ไม่แตกต่างกันมากนักไม่ว่าจะได้รับเงินกู้กองทุนหมู่บ้านหรือไม่ก็ตาม (ตัวอย่างเช่น ผู้ได้รับเงินกู้ในทั้งสองปี แต่มีรายได้ลดลงมีร้อยละ 39) ซึ่งแสดงว่าการได้รับเงินกู้มิได้เป็นหลักประกันว่าจะสามารถป้องกันตัวเองจากปัจจัยทางลบอื่น ๆ ที่มีผลทำให้รายได้ลดลง

 

ตารางที่ 10        เปรียบเทียบผลต่อรายได้รายจ่ายของผู้กู้และผู้ไม่กู้ (ระดับบุคคล)


















การได้รับเงินกองทุนหมูบ้าน


รายได้
เปลี่ยนแปลง


สัดส่วน (%)


%เปลี่ยนแปลงต่อปี


รายได้


รายจ่าย


ได้ทั้ง 2 ปี


ลดลง


39


-21.1


-2.4


เพิ่มขึ้น


61


29.9


13.4


รวม


100


7.3


7.1


ได้ปี 45 หรือ 47


ลดลง


43


-23.5


-4.2


เพิ่มขึ้น


57


30.6


16.6


รวม


100


4.3


7.3


ไม่ได้กู้


ลดลง


41


-21.9


-7.2


เพิ่มขึ้น


59


29.2


19.4


รวม


100


5.8


8.2


รวม


ลดลง


41


-22.2


-5.0


เพิ่มขึ้น


59


29.8


16.8


รวม


100


5.8


7.6

 

ข้อสรุปของผลการศึกษาในส่วนนี้ก็คือ (ก) ผลของเงินกู้กองทุนหมู่บ้านมีลักษณะแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนและผู้ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และ (ข) ในภาพรวมแล้วการได้รับเงินกองทุนหมู่บ้านมิได้เป็นหลักประกันว่าจะสามารถป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงของรายได้ที่ลดลงได้

ตารางที่ 11 ยืนยันข้อสรุปข้างต้น กล่าวคือหากคำนวณว่าการได้รับเงินกองทุนหมู่บ้านมีผลทำให้รายได้ของผู้ได้รับเงินกู้เพิ่มมากขึ้นกว่ารายได้ของผู้ไม่ได้รับเงินกู้จริงหรือไม่ และเพิ่มมากเท่าไร กลับพบว่าในภาพรวมแล้วการได้รับเงินกองทุนหมู่บ้านมิได้ทำให้รายได้ของผู้ได้รับเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด

 

ตารางที่ 11        ภาพรวมของการเพิ่มรายได้ของเงินกองทุนหมู่บ้าน (ล้านบาท)










กลุ่มครัวเรือนชนบท


รายได้จริง


รายได้ปี 2547 ถ้าไม่ได้เงินกองทุน


ผลจากการได้เงินกองทุน


ปี 2545


ปี 2547


กลุ่มครัวเรือนที่ไม่ได้เงินกองทุน


517,216


579,166


579,166


-


กลุ่มครัวเรือนที่ได้กองทุน


673,597


753,852


754,278


-425


     ได้ปี 45 หรือ 47


335,485


364,729


375,668


-10,939


     ได้ทั้งสองปี


338,112


389,123


378,610


10,514

 

 

การจดทะเบียนคนจน

การจดทะเบียนคนจนเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ช่วยทำให้รัฐบาลทักษิณมีภาพพจน์ของความตื่นตัวในการแก้ปัญหาความยากจน ที่ชัดเจนคือมีผลในทางจิตวิทยากับประชาชนผู้มีปัญหาว่าจะได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล

หากจะทำการประเมินมาตรการจดทะเบียนคนจนอย่างครบถ้วน ก็ควรตรวจสอบว่านอกเหนือจากผลทางจิตวิทยาที่กล่าวถึงนี้แล้ว ในทางปฏิบัติได้มีการแก้ปัญหาให้กับผู้มาจดทะเบียนอย่างได้ผล ถูกจุด และมีความยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งในขั้นนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินอย่างลึกซึ้งระดับนั้น ในที่นี้จึงจะเพียงพิจารณาปัญหาที่ดูเหมือนเล็กแต่ไม่เล็กของการจดทะเบียนคนจน นั่นคือ "การจดทะเบียนคนจนมีผลทำให้คนจนที่แท้จริงถูกละเลยหรือไม่"

ปัญหานี้ดูเหมือนเล็ก เพราะรัฐบาลอาจมองว่าเป็นเพียงปัญหาทาง "เทคนิค" แต่จะเป็นปัญหาไม่เล็กทันที หากรัฐบาลยึดถือข้อมูลการลงทะเบียนคนจนว่าเป็นข้อมูลของคนจนที่ครบถ้วนแล้ว (ซึ่งมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะทำเช่นนั้น) และใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินว่าได้แก้ปัญหาจนสามารถ "กำจัด" ความยากจนให้หมดไปในเวลา 3 ปีตามที่ประกาศไว้

ข้อมูลในตารางที่ 12 แสดงถึงความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลการจดทะเบียนคนจนว่ามีปัญหาสูงมาก กล่าวคือ มีคนจนถึงร้อยละ 71.6 ที่ไม่ได้มาจดทะเบียน จึงมีความเสี่ยงว่าคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล ในขณะที่ในกลุ่มผู้มาจดทะเบียนก็ไม่ได้เป็นคนจนถึงร้อยละ 85

 

ตารางที่ 12        ผู้จดทะเบียนคนจนแยกตามความยากจนที่แท้จริง









การจดทะเบียนคนจน


คนไม่จน


คนจน


รวม


  ไม่ได้จด


82.0%


71.6%


 


  จด


18.0%


28.4%


 


รวม


100.0%


100.0%


 


สัดส่วนในกลุ่มผู้จดทะเบียน


84.9%


15.1%


100.0%

 

4.        ผลงานด้านนโยบายประชานิยม:  กรณีศึกษาการพักชำระหนี้สามปี
[
อัมมาร สยามวาลา]

ในการเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้เสนอโครงการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) พักชำระหนี้ของเกษตรกรไปสามปี ส่วนหนึ่งเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรได้ใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ยังซบเซาอยู่ในช่วงนั้น  อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินของเกษตรกรไทย ที่เชื่อกันว่าอยู่ในระดับสูงเกินไป

เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ได้ให้ ธกส. ดำเนินการตามสัญญาที่ได้ให้ไว้  ธกส.ก็ได้ดำเนินการโดยให้ทางเลือกแก่เกษตรกรในสองแนวทางกว้างๆ คือ เกษตรกรที่ประสงค์จะพักชำระหนี้จะสามารถเลื่อนการจ่ายเงินต้นไปได้สามปี โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยระหว่างนั้น ขณะเดียวกันในช่วงสามปีนี้ก็ไม่สามารถกู้เงินใหม่จาก ธกส. ได้ ส่วนเกษตรกรที่ไม่ประสงค์จะพักชำระหนี้ ก็สามารถกู้เงินจาก ธกส.ต่อไปได้ โดย ธกส. จะลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 3 จากระดับก่อนหน้านั้น

ผลกระทบต่อการใช้จ่ายของเกษตรกรเป็นอย่างไร งานวิจัยของสุชานันท์ แต้มบุญเลิศชัยได้แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบต่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของเกษตรกรจากการพักชำระหนี้นั้นแม้จะเป็นบวกแต่ก็ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ  ส่วนทางด้านการลงทุนในภาคเกษตรนั้น ปรากฏว่าเกษตรกรที่ขอพักชำระหนี้นั้นมีการลงทุนต่ำกว่าเกษตรกรที่มิได้ขอพักชำระหนี้ (ยกเว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ทั้งนี้เพราะเมื่อเกษตรกรตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการพักชำระหนี้แล้ว ก็ไม่สามารถกู้เงิน (ใหม่) มาลงทุนได้  เช่นเดียวกัน การลงทุนนอกภาคเกษตรก็ลดลง

ดังนั้นจึงสรุปในส่วนแรกได้ว่า การพักชำระหนี้ไม่มีผลที่คาดไว้ว่าจะกระตุ้นให้เกษตรกรใช้จ่ายเพื่อการบริโภคหรือการลงทุนมากขึ้น

ในส่วนที่สองที่กล่าวถึงเป้าหมายที่จะลดภาระหนี้ของเกษตรกรที่เชื่อกันว่ามีมากเกินไปนั้น นโยบายพักชำระหนี้ไม่มีผลแต่ประการใด  เพราะนโยบายนี้มิได้ลดปริมาณหนี้ที่มีอยู่ เพียงแต่เลื่อนระยะเวลาที่ต้องชำระคืนไปเท่านั้น  มิหนำซ้ำ หลังจากที่รัฐบาลอ้างว่าเกษตรกรมีภาระหนี้สินท่วนท้นจนต้องพักชำระหนี้ ก็ได้ออกนโยบายตามด้วยการเพิ่มสินเชื่อที่ให้แก่ชาวชนบท โดยผ่านกองทุนหมู่บ้านและธนาคารประชาชนอีก

5.        ผลงานนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
[
อัมมาร สยามวาลา]

เมื่อพรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศหลังจากชนะเลือกตั้งในปี 2544 ก็ได้เร่งนำเอานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคมาใช้ตามสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชน  นโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ประเทศไทยก้าวกระโดดไปสู่ระบบประกันสุขภาพที่ถ้วนหน้าอย่างสมบูรณ์  ปกติแล้ว ถ้าจะสร้างระบบประกันสุขภาพที่ประสบผลสำเร็จอย่างดี ก็จะต้องใช้เวลาเตรียมงานมากพอสมควร  แต่รัฐบาลไทยรักไทยประสงค์ที่จะทำตามสัญญาให้ได้เร็วที่สุด จึงได้รีบเร่งนำโครงการนี้มาดำเนินการอย่างสมบูรณ์ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปี โดยมีการเตรียมงานที่ค่อนข้างจำกัด

การเร่งรีบดำเนินการตามสัญญานั้นเป็นนิมิตหมายที่ดีและเป็นของใหม่สำหรับนักการเมืองไทย  แต่ถ้าจะเร่งรีบทำตามนโยบายเช่นนี้แล้ว ก็ต้องคำนึงว่านโยบาย 30 บาทนั้นเป็นนโยบายที่รัฐให้สัญญากับประชาชนไว้ว่าเมื่อใดป่วยก็สามารถมารักษาได้ในราคา 30 บาท โดยไม่ทราบว่าจะมีประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นจากเดิมมากน้อยเท่าใด เพราะไม่มีเวลาแสวงหาข้อมูล (เช่น ด้วยการทำโครงการนำร่องในสถานพยาบาลบางแห่ง)  แต่ถ้าไม่อยากรอจนได้ข้อมูลที่ดีกว่า ก็สมควรที่รัฐบาลจะต้องกันเงินเผื่อไว้เป็นจำนวนมาก

นับจากเริ่มโครงการก็ปรากฏว่ารัฐบาลเจียดเงินงบประมาณมาอย่างจำกัดให้แก่โครงการนี้  ในปีแรกได้รับเงินเพิ่มจากปีงบประมาณ 2544 (ก่อนเริ่มโครงการ 30 บาท) เพียงร้อยละ 7.8  ต่ำกว่าอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก  หลังจากนั้นเมื่อรัฐบาลได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการขาดแคลนงบประมาณ  รัฐบาลก็ได้เพิ่มงบประมาณทีละน้อยและไม่เป็นไปตามต้นทุนที่สูงขึ้นของสถานพยาบาล  ทุกต้นปีที่มีการเตรียมงบประมาณสำหรับปีถัดไป  ฝ่ายผู้บริหารโครงการก็จะประมาณการต้นทุนของโครงการ  เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็จะไปหานายกรัฐมนตรี และก็จะได้รับคำมั่นสัญญาจากนายกฯ ว่าจะได้รับงบประมาณตามที่ขอ  แต่เมื่อผ่านกระบวนการงบประมาณทั้งหมด  การปรับจำนวนเงินก็จะต่ำกว่าที่ขอไว้  และบางครั้งก็จะไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ทั้งๆ ที่ประจักษ์ชัดว่างบประมาณในแต่ละปีนั้นไม่เพียงพอ

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นโยบายที่ควรจะให้สิทธิ์แก่คนไทยทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานโดยไม่ต้องคำนึงว่ารวยหรือจน  และจะเป็นฐานที่ไทยจะมีระบบการรักษาพยาบาลที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคน  ได้กลับไปเป็นระบบที่มีสองมาตรฐานเหมือนเดิม  ระบบหนึ่งนั้นมีไว้ให้แก่คนมีฐานะที่สามารถจ่ายเองได้ และอีกระบบหนึ่งนั้นมีไว้สำหรับคนจน

กระนั้นก็ตาม นโยบาย 30 บาทได้ช่วยให้คนจนสามารถลดการใช้จ่ายเงินเพื่อการรักษาพยาบาลไปได้ค่อนข้างมาก ซึ่งครั้งหนึ่งค่ารักษาพยาบาลได้นำความหายนะทางเศรษฐกิจมาให้แก่ครอบครัวในระดับล่างค่อนข้างมาก  ผลการวิจัยโดยวิโรจน์ ณ ระนองจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยพบว่า นโยบาย 30 บาทได้ช่วยให้คนจนในประเทศลดลงไปถึง 300,000 คน หรือร้อยละ 7  มีเพียงไม่กี่นโยบายของรัฐบาลไทยไม่ว่าในสมัยใดที่มีผลโดยตรงที่จะลดจำนวนคนจนได้มากเท่านี้  ด้วยเหตุนี้ นโยบาย 30 บาทเป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทยที่ประชาชนโดยทั่วไปขานรับและชื่นชมเกือบจะมากที่สุด

แต่ความนิยมชมชอบที่พรรคไทยรักไทยได้รับจากประชาชนนั้นตั้งอยู่บนภาระอันหนักหน่วงที่ตกแก่บุคลากรในสถานพยาบาลของรัฐ  อีกทั้งฐานะทางการเงินของสถานพยาบาลเหล่านี้ก็อยู่ในสภาพที่น่าวิตก

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ  เพราะเหตุใดโครงการที่เป็นที่นิยมของประชาชนและที่พรรคไทยรักไทยสามารถอ้างความเป็นเจ้าของได้อย่างเต็มภาคภูมิ  จึงไม่ได้รับการเหลียวแลจากนายกรัฐมนตรีหลังจากปีแรกที่ได้จัดตั้งไป  และไม่ได้รับแรงสนับสนุนอีกต่อไป  ข้อสันนิษฐานก็คือ รัฐบาลได้รับคะแนนเสียงไปแล้วจากการริเริ่มและดำเนินการนโยบาย 30 บาท เมื่อได้คะแนนไปแล้ว รัฐบาลก็จะไม่ได้คะแนนอีกจากการจัดหาเงินเพิ่มเติมให้แก่โครงการนี้ เพราะปัญหาการเงินของโครงการนี้ยังไม่ประจักษ์ต่อประชาชน และแม้จะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอีก ก็จะได้ไม่มากเท่ากับนโยบายประชานิยมอื่นที่รัฐบาลจะสามารถไปคิดค้นมาหลอกล่อประชาชน เช่นนโยบายเอื้ออาทรต่างๆ







[1] เป็นตัวแปรหุ่น (dummy variables) ที่แทนช่วงเวลาที่รัฐบาลทักษิณบริหารเศรษฐกิจไทย


[2] โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่มีตัวอย่างครัวเรือนในชนบทประมาณครึ่งหนึ่งที่ถูกถามซ้ำในการสำรวจทั้งสองปี จึงเป็นฐานข้อมูลที่เหมาะต่อการวิเคราะห์ผลของเงินกู้กองทุนหมู่บ้านได้ดีที่สุดในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท