Skip to main content
sharethis

หลังเลือกตั้งจะเกิดวิกฤติประชาธิปไตยทั้งระบบ เผด็จการพรรคเดียว


 พันธมิตรควรพักยก เพื่อชิ่งปัญหาให้ทักษิณ


 


ธีรยุทธ บุญมี


คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


1


ความเห็นต่อรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติทักษิณ


 


ข้อเสนอนี้เหมือนการตั้งรัฐบาลเสียสติแห่งชาติเพราะทักษิณเหมือนคนเสียสติ สร้างปัญหาทั้งหมดให้เกิดขึ้นจากโลภะ โทษะ โมหะของตนล้วนๆ จนต้องกะล่อนเอาตัวรอดไปวันต่อวัน เพราะก่อนยุบสภา ทักษิณมีอำนาจ มีความชอบธรรมสูงมากจนสร้างความสมานฉันท์ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชาติทุกอย่างได้กลับไม่ทำ แต่พอถูกเปิดโปงเรื่องทำผิดกฏหมาย โกงภาษี ทักษิณก็ทำสิ่งที่ใหญ่โตมากคือยุบสภาเสนอการปฏิรูปการเมือง และหลังสุกก็เสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา 


 


2


หลังเลือกตั้งปัญหาประเทศเปลี่ยนจากวิกฤติผู้นำ เพิ่มวิกฤติรัฐธรรมนูญ


นำไปสู่วิกฤติประชาธิปไตยทั้งระบบ


 


            พันธมิตรควรหยุดพักชุมนุมแบบยืดเยื้อก่อนการเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นการพักยก เลือกชกหนักเป็นคราวในช่วงหลังเลือกตั้ง 2 เมษายน ด้วยเหตุผล


            1. เป้าหมายสุดท้ายของการต่อสู้ก็เพื่อการปฏิรูปการเมือง เพื่อสร้างการตรวจสอบให้ระบบการเมืองมีคุณธรรม ความรับผิดชอบ ทั้งหมดต้องทำโดยผ่านรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คนจำนวนมากเห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมือง แต่ต้องการให้อำนาจของรัฐธรรมนูญต่อเนื่องไปโดยไม่ต้องเว้นวรรค จึงต้องการแสดงสิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ พันธมิตรควรพักยกชั่วคราวเพื่อแสดงวุฒิภาวะและความเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน แล้วนัดชุมนุมใหญ่ได้อีกหลังเลือกตั้ง อย่างไม่สยบยอมต่อคนชั่วโกงเมือง จะทำให้ได้แนวร่วมเพิ่มขึ้น


2. การชุมนุมบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว การชุมนุมซึ่งคือการแข็งขืนอารยะได้ทำให้อำนาจทักษิณเสื่อมถอย จึงควรเปลี่ยนยุทธวิธีเป็นการชุมนุมใหญ่เป็นคราวๆ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 


3. หลัง 2 เมษายน นอกจากวิกฤติจริยธรรมผู้นำที่ดำรงอยู่แล้ว ยังจะเพิ่มวิกฤติรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกดังนี้


            3.1 สถานะผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นอำนาจของประชาชนจะเกิดขึ้นทันที ในวันเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 117


            3.2 การเลือกตั้ง 2 เมษายน จะยังได้สมาชิกรัฐสภาไม่ครบทั้งส..เขตและส..บัญชีรายชื่อ จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วัน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้ ถ้าได้ไม่ครบก็จะเป็นที่ถกเถียงครั้งใหญ่ว่า ความเป็นสภาเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า เมื่อไม่ครบองค์ความเป็นสภายังไม่เกิด


            3.3 ถ้าได้ส..ไม่ครบและมีการตีความว่ารัฐสภาเกิดขึ้นแล้ว จะมีปัญหาว่า บางภาคโดยเฉพาะภาคใต้ไม่มีระบบตัวแทนที่เหมาะสมถูกต้อง (underrepresent) ภาวะภูมิภาคนิยมและความขัดแย้งเชิงภูมิภาคอาจก่อตัวขึ้น


            3.4 ถ้าทักษิณในฐานะนายกฯ รักษาการกราบบังคมทูลขอทรงเปิดรัฐสภา จะมีเสียงทักท้วงถึงความเหมาะสม เพราะสภาที่แล้วถูกทักษิณยุบอย่างไม่มีเหตุผล เพื่อหนีประเด็นจริยธรรมซุกหุ้น โกงภาษี และยังเอารัดเอาเปรียบคู่แข่งจนถึงขั้นถูกบอยคอต ซึ่งเกือบไม่เคยเกิดขึ้น เหตุการณ์ยังบ่งชี้ว่าการเลือกตั้ง 2 เมษา อาจเต็มไปด้วยความสกปรก ดังปรากฏข่าวการจัดฉาก ฉ้อฉลของพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ขององค์กรอิสระ เช่น ปลอมคุณสมบัติผู้สมัคร ซื้อพรรคและผู้สมัครส.. นอมินี ซื้อคะแนนเสียงให้ตัวเอง ให้คู่แข่ง การจะให้สภาเปิดประชุมได้ ยังต้องยืมมือกกต. รับรองการเลือกตั้งให้สะอาด และศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความขัดกับคำวินิจฉัยครั้งแรกของตัวเอง


3.5 พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 116 ถ้าจะมีการยุบสภาหลังเลือกตั้ง 2 เมษา จะต้องรอให้เกิดสภาก่อน และต้องมีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับ


4. วิกฤติยกระดับเป็นวิกฤติระบอบประชาธิปไตยไทยโดยรวม เพราะถ้ามองประชาธิปไตยเป็นกระบวนการหรือวงจร 2 ส่วน ขึ้นสู่อำนาจของพรรคการเมือง และการใช้อำนาจกับการตรวจสอบอำนาจ เราจะเห็นได้ว่าขณะนี้ ในซีกล่างคือ กระบวนการเลือกตั้งมีปัญหาจากนโยบายประชานิยม ส่วนในซีกบน มีปัญหาในเรื่องการใช้อำนาจและคอรัปชั่นอย่างขาดความละอาย และการตรวจสอบไม่ได้ผล เมื่อทักษิณเจอปัญหาในซีกบนก็จะยุบสภา หันมาใช้กระบวนการ (กติกา) ในซีกล่าง แล้วได้รับเลือกขึ้นไปใหม่ ทำซ้ำไปมาได้ไม่รู้จบ จนเป็นปัญหาประชาธิปไตยทั้งกระบวนการ


 


 



                     


 


 


 


 


ในเวลาข้างหน้าโจทย์ใหญ่นี้จะตกจะตกอยู่กับทักษิณ คนจะตั้งคำถามว่า ต้นเหตุเกิดจากเพื่อตัวทักษิณคนเดียว บ้านเมืองจึงปั่นป่วนขนาดนี้ เกิดวิกฤติขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทักษิณยังจะอาจเอื้อมขอให้พระราชทานเปิดสภาให้ประเทศมีการปกครองแบบสภาพรรคเดียว และหวนกลับมาเป็นนายกฯ อีก? หากมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนก็ยุบสภา อ้างกติกาเลือกตั้ง หวนกลับมาอีกไม่รู้จบ?


 


vvvv


3


 


"เราบ่ผิดท่านมาล้าง ดาบนั้นคืนสนอง"


 


โทษทัณฑ์ 10 ประการที่ทักษิณสร้างและย้อนกลับเข้าตัวเองรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ


 


            ทักษิณหมกเม็ดปัญหาหุ้นแอมเพิลริชและวินมาร์คไว้นาน จนปัญหามาโผล่เมื่อขายชินคอร์ป ด้วยความกลัวจะถูกต้อนจนมุมทักษิณจึงยุบสภา ใช้อำนาจการควบคุมสื่อ ใช้เล่ห์เหลี่ยมการเมือง ทำลายพลังคัดค้านของประชาชนโดยหวังให้การเลือกตั้ง 2 เมษายนฟอกตัวเองกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก แต่ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ "ดาบจะคืนสนอง" ทักษิณ เพราะโทษทัณฑ์ 10 ประการคือ


1.       ไม่ว่าจะได้รับคะแนนเสียงเท่าใด การขาดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศในแง่การไร้คุณธรรมและจริยธรรมจะยังคงอยู่ ไม่มีสิ่งใดมาลบล้างได้


2.       จะเพิ่มปัญหาว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ เป็นการโกงกติกา ฉ้อฉลอำนาจองค์กรอิสระ จ้างพรรคเล็ก ฮั้วคะแนนเสียง ฯลฯ


3.       เมื่อทอดเวลายาวขึ้น คนทั่วไปจะมองเห็นว่า เพื่อให้ตระกูลตัวเองไม่ต้องเสียภาษีของหุ้นชิน ทักษิณสามารถทำลายบั่นทอนองค์กรสถาบันต่างๆ ของประเทศให้คนเสื่อมศรัทธาลงได้เกือบหมด เช่น ทำลายความน่าเชื่อถือของวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. ปปง. กกต. กลต. กรมสรรพากร สื่อโทรทัศน์ของรัฐ ทำลายประเพณีการยุบสภา ประเพณีการเจรจาประนีประนอมตามเหตุผลพอสมควรระหว่างพรรคการเมือง ฯลฯ


4.       จะเพิ่มประเด็นว่า เพื่อให้ทักษิณอยู่ในอำนาจต่อไป กกต. จะต้องตะแบงในเรื่องทรท. โกงกติกา จ้างพรรคเล็กฮั้วคะแนนเสียงหรือไม่ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตะแบงตีความรัฐธรรมนูญให้ผลการเลือกตั้งใช้ได้ และเปิดรัฐสภาได้ ท่ามกลางการประท้วงเพิ่มเติมขึ้นของประชาชน ฝ่ายค้าน นักวิชาการ


5.       คนทั่วไปจะมองว่าในอนาคต การที่นายกฯ รักษาการทักษิณจะขอพระราชทานเปิดสภาใหม่ซึ่งเกิดจากการเลือกตั้งสกปรก และให้ประธานรัฐสภาคนใหม่กราบบังคมทูลเสนอชื่อทักษิณ ซึ่งมีปัญหาซุกหุ้น ปัญหาคอรัปชั่นโคตรานุวัตน์ ผลประโยชน์ทับซ้อน การเลี่ยงภาษี ปั่นหุ้น ขาดจริยธรรม ขึ้นเป็นนายกฯ อีกหน เป็นการกระทำที่อาจเอื้อมและไม่สมควรอย่างยิ่ง


6.       คนไทย กลุ่มองค์กร สถาบันต่างๆ ประเทศไทยจะทนอยู่ใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีที่ชมชอบผลประโยชน์ทับซ้อน ขาดคุณธรรม จริยธรรมในเกือบทุกด้าน และมอบอำนาจเป็นผู้เจรจาความเมือง สนธิสัญญาระหว่างประเทศ ต้อนรับทูตานุทูต ประมุขของประเทศอื่นอีก 4 ปี ? คนไทยจะยอมให้นายกฯ ที่ขายบริษัทตนเองที่เป็นกิจการเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ความผาสุกของประชาชนให้แก่ต่างชาติที่มีความขัดแย้งผลประโยชน์ด้านความมั่นคงกับประเทศไทย โดยไม่ทำหน้าที่ผู้นำติติงทักท้วงพฤติกรรมนี้เลย เป็นผู้รักษาความมั่นคง เอกราชของประเทศต่อไป?


7.       การปฏิรูปการเมืองไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ถ้าสภาเป็นสภาไทยรักไทย เพราะจะไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน ฯลฯ นักวิชาการ และภาคประชาชน วิกฤติการเมืองก็จะยืดเยื้อเป็นแรมปี


8.       พลังประชาชนไม่หยุดการเคลื่อนไหวต่อสู้ แต่จะยิ่งขยายรูปแบบไปเรื่อยๆ ธุรกิจและเศรษฐกิจจะทรุดต่ำลง แต่ประชาชนจะมองเห็นว่า การดื้อรั้นอยากอยู่ในอำนาจของทักษิณคือต้นตอของปัญหามากขึ้น


9.       ถ้าทักษิณจะถอยฉากให้คนอื่นเป็นนายกฯ นอมินี ตัวเองเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง กองทัพ ตำรวจ ข้าราชการ ชนชั้นสูงซึ่งถือเอาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีประเพณีว่านายกฯ จะต้องถวายรายงานขอพระราชทานความเห็น แง่คิดต่างๆ จะทนรับระบบการปกครองไทยที่เปลี่ยนไปคล้ายสิงคโปร์ คือ นายกฯ ต้องขอคำแนะนำ คำวินิจฉัยจากอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยอีกขั้นหนึ่งก่อนได้หรือไม่ ทักษิณสามารถทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยเป็นเรื่องตลกที่ตัวเองสามารถชักใยให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ได้อย่างสบายใจ หม่ำ จ๊กมก สร้างสิ่งที่ดีกับตลกเมืองไทย แต่แม้ว จ๊กมก ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสมเพชในสายตาต่างชาติ เพราะผู้นำที่โกงกิน ใช้อำนาจทำร้ายประเทศซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ยังมาเป็นตัวแทนของประเทศได้


10.   หากกลุ่มการเมืองภาคประชาชนต่อต้านทักษิณพ่ายแพ้ โครงสร้างอำนาจในประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไม่หวนกลับมาเหมือนเดิม กล่าวคือ เราจะอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำการเมืองที่เข้มแข็ง เพราะมีฐานการเงินสูงที่สุดในประเทศ มีฐานอำนาจเหนือข้าราชการ มีอำนาจเหนือกองทัพ ตำรวจ มีอำนาจทางอุดมการณ์ประชานิยม มีอำนาจเหนือสื่อมวลชน และอำนาจเหนือมวลชน เป็นการเมืองประชานิยมที่ชาวบ้านจัดตั้งกันเป็นภาค จังหวัด เขตเพื่อปกป้องทักษิณ ประเทศจะมีโครงสร้างอำนาจที่มั่นคง ภายใต้อำนาจทักษิณและทรท. ไปอีก 20-30 ปี เหมือนอาร์เจนตินาหรือฟิลิปินส์ในยุคมาร์กอส คนไทยที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาด้วยเลือดเนื้อชีวิตของตนเองจะทนรับได้หรือไม่?


มีแนวโน้มจะได้เห็นว่า โทษทัณฑ์และปัญหาที่ทักษิณทำกับบ้านเมืองร้ายแรงและมีสเกลใหญ่โตขึ้นตลอดเวลา ถ้าไม่มองปัญหาแบบวันต่อวัน แต่มองเชิงประวัติศาสตร์ ทักษิณคงจะรู้ว่าแรงตอบกลับในอนาคตจะสูงขึ้นตามสัดส่วนเช่นกัน


vvvv


4


 


ปัจจุบันอยู่ในวิกฤติขั้นที่ทุกฝ่ายต้องใช้สติปัญญามากที่สุด


 


            ทฤษฎีสังคมวิทยาชี้ว่า วิกฤติมักมี 5 ขั้นใหญ่คือ 1. เริ่มต้น (ปิดกั้นเสรีภาพสื่อผู้จัดการ) 2. ขยายตัว (ขายชินคอร์ปให้เทมาเส็ก) 3. สังคมหาทางแก้ไข รอมชอม (พีเน็ท ทปอ. ประธานองคมนตรี) 4. แตกหัก 5. กลับสู่สภาพปกติหรือก้าวไปสู่คุณภาพใหม่ (ซึ่งนักคิด นักวิชาการของประเทศต้องทำงานหนัก เตรียมล่วงหน้าไว้) ปัจจุบันสังคมหาทางแก้ไขให้ลงรอยหรือถอยคนละก้าวไม่สำเร็จ เราจึงต้องเข้าสู่ขั้นที่ 4 คือแตกหัก คือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ ไม่มีกฎตายตัวว่าขั้น 4 จะใช้เวลาสั้นยาวเท่าไร ในอีกมุมหนึ่งของความขัดแย้งของการเมืองในระบอบประชานิยม เราจะพบว่าในช่วงต้นการคัดค้านมาจากนักวิชาการซึ่งวิพากษ์ประชานิยมและระบอบทักษิณ ช่วงถัดมาคือปัจจุบัน เป็นการคัดค้านของพลังศีลธรรมคุณธรรม จึงไม่ชอบการใช้อำนาจฉ้อโกง คอรัปชั่น ในช่วงอนาคต มีบทเรียนจากหลายประเทศว่า การคัดค้านมักเป็นพลังชาตินิยม ซึ่งมักเป็นพลังทหารที่เชื่อในอุดมการณ์ความมั่นคงของประเทศ ความเป็นระเบียบ ไม่แตกแยก ทฤษฎีสังคมวิทยาบอกความเป็นไปกว้างๆ ของสังคม ไม่ขึ้นอยู่กับว่าคนจะชอบหรือไม่ชอบ ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่บางครั้งประชาชนก็สามารถแก้ไขให้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดีงามและถูกต้องได้ โดยไม่ต้องใช้การรัฐประหาร


 


vvvv


 


5


 


ข้อแนะนำต่อพันธมิตรและผู้ชุมนุม


           


            1. ในกรณีที่ทักษิณสามารถรวบอำนาจอีกยาว ประชาชนมองเห็นคุณค่าของพันธมิตรและผู้ชุมนุมว่าเป็นพลังหลักที่เหลืออยู่พลังเดียวในการต่อต้านระบอบและลัทธิทักษิณ


            2. หลังเลือกตั้งปัญหาจะซับซ้อนมาก การต่อสู้ยืดเยื้อ แม้จะยากลำบากแต่ก็จะได้ผลคุ้มค่าในการให้ความรู้ความเข้าใจทางการเมืองแก่ประชาชน


            3. การชุมนุมของพันธมิตรฯ ได้สร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ คือ การแข็งขืนอารยะให้เป็นสมบัติของประชาชนไทย เป็นการต่อสู้ที่น่าชื่นชมที่พ่อแม่จูงลูกหลาน ตายายไปร่วมชุมนุมด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เพราะเชื่อมั่นในการต่อสู้ที่ถูกต้องของตน ชาวบ้านได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้การเมือง เชื่อมั่นในอำนาจตรวจสอบพฤติกรรมไม่ชอบของนักการเมืองนี้เป็นมรดกมีคุณค่าที่การต่อสู้ครั้งนี้มอบให้แก่สังคมไทยและมีความสำคัญยิ่งกว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเสียอีก  


            4. เพราะสถานการณ์เปลี่ยนวิกฤติเปลี่ยน พันธมิตรควรเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีให้สอดคล้องคือ 


4.1 เตรียมตัวเตรียมใจสำหรับการต่อสู้ที่ยาวนานเป็นหลายๆ เดือน คล้ายการต่อสู้ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก ต้องเริ่มด้วยการพยายามสร้างคำอธิบายที่ชัดเจนว่า ผู้ชุมนุมกำลังต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดี เพื่อคุณธรรม ความยุติธรรม ถ้าคนไทยเชื่อมั่นว่า ทำดีย่อมเกิดผลดี จะเข้าใจว่าความลำบากระยะสั้น เช่น เครียด รถติด รวมถึงการค้าขาย ธุรกิจการท่องเที่ยวซบเซา การบริโภคลดลง เป็นต้นทุนทางสังคม (social cost) ที่เราจำเป็นต้องจ่าย เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมเราไม่เข้มแข็งพอจะแก้ไขการคอรัปชั่น การแทรกแซงอำนาจตรวจสอบ จนเป็นปัญหาหมักหมม เมื่อจะแก้ไขก็ต้องเจ็บปวดคล้ายกับการผ่าตัดไปด้วย แต่เมื่อโรคหายแล้วจะคุ้มค่ามากกว่าต้นทุนที่เสียไป ดีกว่าปล่อยให้เกิดระบบเผด็จอำนาจพรรคเดียว นโยบายประชานิยมซึ่งใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเพื่อคะแนนเสียงทักษิณ ซึ่งระยะยาวจะทำลายเศรษฐกิจมากกว่า


4.2 ยกระดับจากพันธมิตรเป็นแนวร่วม (Front) ถาวร  โดยขยายตัวร่วมกับกลุ่มวิชาการ วิชาชีพ แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักกฎหมาย ทนายความ ดารานักแสดง ตัวแทนภูมิภาคต่างๆ เพื่อขยายความชอบธรรมของตัวเองมากขึ้นตลอดเวลา


4.3 เนื่องจากการต่อสู้อาจยาวนานจึงต้องผ่อนปรนตัวเอง โดยชุมนุมยืดเยื้อย่อยๆ หรือเลิกการชุมนุมยืดเยื้อ ใช้การชุมนุมใหญ่เป็นคราวๆ เช่น 10 วันหน "เป็นการพักยกชกหนัก" สร้างเนื้อหาให้แต่ละหนมีน้ำหนักและประเด็นสูง แต่ผู้ชุมนุมต้องมีความมุ่งมั่นทางการเมืองอย่างสูง ทุกหนที่นัดชุมนุมจะต้องให้มีคนมากกว่าเดิม (เพราะตามทฤษฎีการชุมนุมจะชนะต่อเมื่อขนาด ความมุ่งมั่นของผู้ชุมนุมโตขึ้นเรื่อยๆ และยืดเยื้อยันกันไปเมื่อพลังรักษาระดับคงที่ แต่จะพ่ายแพ้ถ้ากำลังความมุ่งมั่นหดตัวเล็กลง) ขณะที่ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากและมีความมุ่งมั่นสูง จึงสามารถที่จะนัดชุมนุมเมื่อไรก็ได้


4.4 พันธมิตรมีความชอบธรรมที่จะยกระดับการแข็งขืนอารยะให้เข้มข้นขึ้นอีกระดับในช่วงหลังเลือกตั้ง เพราะความชอบธรรมทักษิณจะลดลง การยกระดับทำได้ด้วยการที่ประชาชนจะเสียสละตัวเอง เช่น สไตร์คหยุดงาน เสี่ยงและยอมถูกจับ ฯลฯ ซึ่งเป็นวิธีแข็งขืนอารยะในขั้นที่หมดหนทางขจัดคนเลวออกไปจริงๆ และเพื่อพิสูจน์ให้ทักษิณเห็นว่า ประชาชน ไม่มีวันยอมแพ้ความเลว 


 


vvvv


 


 







ล้อมกรอบ



ประเด็นทางทฤษฎี


 


1. ทักษิณเป็นคนที่มีสิทธิน้อยที่สุดที่จะพูดถึงวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย หรือการเสียสละเลือดเนื้อของคนไทยเพื่อประชาธิปไตย เพราะสิ่งที่ทักษิณทำคือการทำให้ประชาธิปไตยเป็นสินค้า เอาประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือของครอบครัว ระบบตรวจสอบพิกลพิการ ข้าราชการเป็นผู้รับใช้ทรท. พรรคการเมืองเป็นบริษัท


ทรท. พยายามทำให้ประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวกับการเลือกตั้ง เป็นการปลิ้นปล้อนทางการเมือง แต่ถ้าจะให้เกียรติในเชิงทฤษฎีก็ต้องแย้งว่า การเลือกตั้งเป็นกระบวนการหนึ่งของประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แก่นของความคิดว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย ก็คือลัทธิเสรีนิยม ซึ่งมองประชาธิปไตยเป็นการใช้อำนาจของปัจเจกบุคคล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง


การเลือกตั้งของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ก็คือการส่งผ่านอำนาจประชาชนให้กับผู้แทน แต่เมื่อได้รับอำนาจแล้วผู้แทนไม่เคยยอมรับอำนาจของประชาชน แต่กลับเชื่อฟังอำนาจของพรรคหรือหัวหน้าพรรคอย่างเชื่องเชื่อ


2. ในทางวิชาการ พวกโฆษณาว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง เป็นพวกรู้ความคิดฝรั่งเพียงผิวเผิน มองว่าประชาธิปไตยเป็นการใช้สิทธิของบุคคล ไม่ศึกษาให้ลึกซึ้งพอว่า ในอเมริกา การใช้สิทธิบุคคลต้องควบคู่ไปกับการมีคุณธรรมทางสังคม (civic virtue) ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐเป็นผู้มีอำนาจตีความคุณธรรมสังคมเข้าไป อยู่ในรัฐธรรมนูญ ส่วนอังกฤษก็มีกฎหมายจารีตประเพณีแบบปฏิบัติแต่ครั้งก่อนประกอบ กลุ่มประเทศยุโรปก็มีอุดมคติความเป็นธรรมทางสังคมมากำกับอยู่ตลอด


ทั้งความคิดเรื่องสิทธิบุคคลที่ประกอบกับความรับผิดชอบและคุณธรรมสังคม ล้วนมีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์ของตะวันตกและศาสนาคริสต์ สิทธิคืออำนาจจากพระเจ้า และแสดงออกในวิญญาณของคนตะวันตก ส่วนคนไทยก็เป็นเมืองพุทธศาสนาที่เน้นในศีลธรรมคุณธรรม และไม่ได้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยเฉยๆ แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมเป็นประมุข ไฉนจึงจะอ้างเฉพาะการใช้สิทธิเลือกตั้งมาปิดปากประชาชน ปิดกั้นการพูดถึงศีลธรรมคุณธรรมเพื่อคัดค้านการใช้อำนาจในทางชั่วเล่า?


3. ประเด็นการขอพระราชทานพระมหากษัตริย์ และกรณีมาตรา 7


3.1 มีคำวิจารณ์พันธมิตรและผู้ชุมนุมว่าผิดพลาดในเชิงทฤษฎี ในการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 แต่ถ้ามองให้พ้นกรอบความคิดตะวันตกว่าผู้ชุมนุมเป็นชาวบ้านไทยๆ ก็จะพบว่าชาวบ้านไทยอยู่กับอำนาจบารมีของพระมหากษัตริย์ตลอดมา เช่น กษัตริย์เป็นจอมทัพไทย ศาลอยู่ภายใต้พระปรมาภิไธย


            ประชาธิปไตยของทุกประเทศเป็นการผสมผสานระหว่างกฎเกณฑ์สากลใหม่เรื่องสิทธิของปัจเจกบุคคล กับอำนาจตามจารีตประเพณีเก่า และอำนาจ ชุมชน ประชาคม สังคมเสมอ หนทางที่ถูกต้องคือผสมผสานให้สองพลังขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศประชาชน


3.2 ผู้ชุมนุมควรเข้าใจว่า ตามจารีตที่ปฏิบัติกันมาพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่เข้าข้างความขัดแย้งทางการเมือง การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางการเมืองเป็นหน้าที่ของกลไกอื่นๆ เช่น การอภิปรายในรัฐสภา ประชาพิจารณ์ ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบุรุษ แต่กษัตริย์ทรงเป็นผู้ตัดสินและคลี่คลายสุดท้ายของความขัดแย้ง (final conflict resolution หรือ conflict conclusion) เช่น กรณี 14 ตุลา หรือกรณีพฤษภา 2535 เป็นต้น หรือเป็นผู้คลี่คลายสุดท้ายของวิกฤติ ซึ่งทางวิชาการคือภาวะไม่ทำงาน (dysfunction) ของสถาบันกลไกต่างๆ ของประเทศ


ในโลกปัจจุบันยิ่งมีความจำเป็นยิ่งขึ้นที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ในแง่นี้ทรงเป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ (defender of the constitution) ไม่ใช่เป็นผู้ทรงล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคติของกษัตริย์หลายประเทศ เช่น อังกฤษ เป็นต้น


3.3 ทางออกจากวิกฤติทักษิณครั้งนี้จึงมี 2 ทางที่สามารถแยกหรือทำร่วมกันได้คือ () ผู้ชุมนุมควรยืนหยัดด้วยความพยายามของตนเองอย่างอดทนอย่างยิ่งต่อไป โดยมองเห็นประโยชน์ของการต่อสู้ภาคประชาชนซึ่งเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เช่น กรณีกลุ่มผู้บริโภคชนะคดีกฟผ. การขยายตัวเครือข่ายผู้ต้องการปฏิรูปการเมืองทั้งในกทม.และภูมิภาคต่างๆ ทั้งหมดจะสะสมเป็นต้นทุนและกลไกทางการเมืองที่แท้จริงของภาคประชาชน


() อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงตอนซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์ก็อาจทรงเป็นผู้ริเริ่มปฏิรูปประเทศ เช่น การปฏิรูปของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซีย การปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น หรือการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของพระพุทธเจ้าหลวง


            ดังนั้น ถ้าประชาชนมองเห็นว่า ปัจจุบันระบอบประชาธิปไตยอยู่ในภาวะวิกฤติตีบตันในเชิงระบบ วิกฤตินี้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง เพราะเป็นวิกฤติของประเทศของระบอบใหญ่ทั้งหมดและไม่อาจวางใจให้ พรรคการเมือง ซึ่งไม่จริงใจนำพาการปฏิรูป พวกเขาก็อาจเรียกร้องให้ปฏิรูปได้


            หรือถ้าประชาชนมองว่า ปัญหาประเทศไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่ภาคการเมืองใช้อำนาจการเงิน ผลประโยชน์ ซึ่งเป็นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญไปทำให้กลไกการเลือกตั้ง กลไกการตรวจสอบไม่ทำงาน ทำให้ตัวรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไม่อาจทำงานได้ตามปกติ (dysfunction) พวกเขาก็อาจมองว่า ตนเองมีความผูกพันทางสังคม (social bond) กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามจารีตประเพณีซึ่งไม่ได้จารึกไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นความสัมพันธ์ตาม ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย ซึ่งเน้นหลักทศพิธราชธรรมเป็นแก่นของความผูกพันนี้

            ถ้าประชาชนโดยเฉพาะผู้ชุมนุมและกลุ่มที่เคยร่วมกันถวายฎีกามาแล้วเห็นว่าบ้านเมืองมีวิกฤติคุณธรรม ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญเฉยๆ ไม่อาจคลี่คลายได้ก็อาจขอพระราชทานแรงบันดาลใจจากพระมหากษัตริย์เพื่อการปฎิรูปประชาธิปไตยคุณธรรมขึ้นก็ย่อมเป็นประโยชน์ประเทศชาติกับประชาชนได้ โดยไม่ผิดทั้งรัฐธรรมนูญและจารีตประเพณี ซึ่งถ้าเกิดขึ้นผู้ที่เกี่ยวข้องก็ควรใช้มโนสำนึกกันเองว่า ควรพิจารณาตนเองอย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net